มองอดีตสู่ปัจจุบันของ VR

มองอดีตสู่ปัจจุบันของ VR

อาจพูดได้เต็มปากว่าปี 2016 นี้ถือว่าเป็นปีแรกที่ VR ก้าวเข้าสู่ตลาดได้อย่างเต็มตัว หลังจากที่เราวาดฝันถึงโลกเสมือนกันผ่านภาพยนตร์ นิยายวิทยาศาสตร์กันมานานร่วมครึ่งศตวรรษ

นับตั้งแต่ Sensorama เครื่องดูหนัง 4D เครื่องแรก ๆ ของโลก ผลงานการพัฒนาของ Morton Heilig ในปี 1962 ที่แม้จะเป็นแค่เครื่องต้นแบบทำออกมาเพื่อทดสอบแนวคิด The Cinema of the Future ของเขา และไม่เคยได้เงินทุนสนับสนุนจนสร้างเป็นเครื่องเพื่อการค้าจริง ๆ แต่ Sensorama ก็สามารถแสดงภาพยนตร์ 3 มิติพร้อมเสียงสเตอริโอ แถมยังมีระบบปล่อยลม ปล่อยกลิ่นตามที่ภาพยนตร์กำหนด และที่นั่งก็เคลื่อนที่ตามจังหวะภาพยนตร์ได้ ซึ่งน่าทึ่งมากสำหรับเครื่องกลไกในยุคนั้น

ต่อมาในช่วงยุค 90’s เทคโนโลยี VR ก็เข้าใกล้ตัวผู้ใช้มากขึ้น เมื่อ Sega เปิดตัว Sega VR ในปี 1991 และขึ้นเวทีโชว์ในงาน CES เมื่อปี 1993 โดยเคลมว่ามีความสามารถในการตรวจจับศีรษะของผู้เล่น และแสดงภาพเกมแบบ 3 มิติ ซึ่งมีเกมที่กำลังพัฒนาอยู่ 4 เกม แต่จนแล้วจนรอด Saga VR ก็ไม่สามารถออกสู่ตลาดจริงได้ เพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในยุคนั้นที่ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีพอ การทดสอบภายในบริษัทระบุว่าผู้ใช้มีอาการปวดหัว วิงเวียนเนื่องจากการใช้ ซึ่งต่อมา Sega ก็ออกเครื่องอาร์เคด VR-1 ในปี 1994 สำหรับเล่นภายใน SegaWorld เท่านั้น ไม่มีเครื่องของ Sega สำหรับผู้ใช้ตามบ้านอย่างที่เคยวางแผนกันไว้

เครื่อง VR ที่เข้ามาใกล้ผู้ใช้ตามบ้านมากที่สุดคือ Nintendo Virtual Boy ที่วางจำหน่ายในปี 1995 ด้วยรูปลักษณ์แปลกประหลาด เครื่องเกมมีลักษณะเป็นแว่นตั้งโต๊ะให้ผู้ใช้นั่งส่องเข้าไปในแว่นเพื่อเล่นเกมที่เห็นความลึกตื้นเหมือนมองด้วยสายตาจริง เพียงแต่ว่าไม่มีสี ภาพในเกมจะวาดด้วยเส้นสีแดงเท่านั้น ด้วยความไม่พร้อมของ Virtual Boy ทั้งการเล่นที่ลำบาก ใครเล่นเกมจบด้วยท่านั่งมุด ๆ ก้มมองแว่นได้นี่มีความพยายามเป็นเลิศ ภาพในเกมก็ไม่ดึงดูดผู้เล่น ทำให้จำหน่ายได้ราว 770,000 เครื่อง (มองดูเหมือนเยอะ แต่เป็นเครื่องเกมที่ขายได้น้อยเป็นอันดับ 2 ของ Nintendo) และเลิกจำหน่ายอย่างรวดเร็วในเวลาราว 6 เดือนเท่านั้น แถมยังโดน Palmer Luckey ผู้สร้าง Oculus Rift แว่น VR ยุคปัจจุบันด่าซ้ำว่าเป็นหนึ่งในตัวการทำให้เทคโนโลยี VR ก้าวช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะเร่งวางตลาดจนเครื่องไม่สมบูรณ์ และทำให้ตลาดเข็ดกับเทคโนโลยีนี้จนทำให้เทคโนโลยีนิ่งอยู่เป็นสิบ ๆ ปี

VR ในปัจจุบัน Google Cardboard, Gear VR

หลังจากที่ Oculus Rift ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน Kickstarter ในปี 2012 กระแสของ VR ก็เริ่มมีมากขึ้น Google จึงออก Cardboard แว่นตากระดาษที่ใส่สมาร์ทโฟนลงไปเป็นจอภาพและหน่วยประมวลผล ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน Google I/O 2014 ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูก ตกอันละไม่กี่ร้อยบาท และเปิดแบบแพลตพร้อม API ให้นักพัฒนาภายนอกสามารถพัฒนาต่อได้ เมื่อต้นปี 2016 Google ได้ประกาศว่าส่งมอบ Cardboard ไปมากกว่า 5 ล้านชิ้นแล้ว และมีแอพฯ ที่รองรับทั้งบน iOS และ android มากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งถือว่า Cardboard ประสบความสำเร็จมากในการพาโลก VR ระดับเริ่มต้นไปสู่คนทั่วโลก

ในขณะเดียวกันทั้งค่ายมือถือรายใหญ่อย่าง Samsung ก็ได้จับมือกับ Oculus เพื่อพัฒนา Gear VR แว่นตาที่ใช้มือถือ Samsung Galaxy แทนจอและหน่วยประมวลผล รวมถึงโปรเจ็กต์ร่วมกันของ Valve ค่ายเกมที่เป็นเจ้าของร้านเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Steam กับ HTC ก็ได้เปิดตัว Vive และแน่นอนว่าขาดไม่ได้กับ PlayStation VR จากค่ายเกมคอนโซลยักษ์ใหญ่อย่าง SONY ทำให้ตลาดการแข่งขันของการเข้าสู่โลกเสมือนจริงยิ่งร้อนระอุมากยิ่งขึ้น 

ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ส่วนบุคคลกันแล้วล่ะครับ เนื่องจากอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้นราคาก็ไม่เบาเหมือนกัน และผมเชื่อว่าทุกคนต้องอยากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกเสมือนจริง Visual Reallity กันอย่างแน่นอน 

 

เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต