The Brighter Future,  Together

The Brighter Future, Together

ชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เด็กปกติทั่วไปสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ได้อย่างเต็มที่ แล้วถ้าเป็นผู้พิการทางสายตาเรียนมหาวิทยาลัยล่ะ? พวกเขาจะอ่านหนังสือเตรียมสอบกันแบบไหน? ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไร? จะดีแค่ไหนหากมีพื้นที่สำหรับคนตาบอด นั่นจึงเป็นการจุดประกายให้ “จูน–เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ” คิดก่อตั้ง The guidelight 

The guidelight โครงการที่สร้างขึ้นเพื่อขยายทางเลือกให้เด็กตาบอดมีโอกาสเรียนหนังสือด้วยสื่อการสอนที่เหมาะสมและเข้าถึงง่าย เป็นตัวกลางกับเสียงสะท้อนที่ช่วยกระชับช่องว่างของเด็กตาบอดและสังคมให้แคบลง ทั้งยังเป็นการสร้างระบบที่ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้นักศึกษาตาบอดประสบความสำเร็จในการเรียนไปพร้อม ๆ กับเด็กตาดี 

“พวกเราใช้เวลาเก็บข้อมูลสำหรับคนตาบอดเยอะมาก เพราะเราไม่สามารถมโนได้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วที่เราเลือกทำประเด็นของคนตาบอด ส่วนหนึ่งก็มาจากเพื่อนตาบอดของเรา เหมือนเป็นการแก้ปัญหาของคนใกล้ตัวเรา คนที่เราแคร์ สำหรับจูนถ้าให้เราไปแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ไกลตัว เราอาจจะไม่อิน เหมือนมันไม่ใช่ปัญหาของเรา พอเราสนใจเรื่องนี้ความยากของมันก็คือ จะเอายังไงดี ธุรกิจก็ไม่ใช่ เพื่อสังคมก็ไม่เชิง เพราะเราไม่ได้เรียนด้านนี้มาโดยตรง ก็มีปรึกษาพี่นุ้ย Ashoka Thailand และทีมงาน จนตัดสินใจว่าอยากช่วยคนตาบอดที่อยู่ในมหาลัย จริง ๆ แล้วเราเคยไปคุยกับเด็กมัธยมแต่เด็กบอกว่าไม่อยากเรียน เพราะถึงเรียนไปก็ต้องกลับมาทำอาชีพเดิม ๆ อย่างเช่น นวด ขายล็อตเตอรี่ หรือ Call Center เลยรู้สึกว่าเรียนไปทำไม น้องบอกว่าวันนี้น้องไปร้องเพลงก็ได้เงินสองสามหมื่นแล้ว เรียนมหาลัยยังไม่รู้เลยว่าจะได้เท่านี้หรือเปล่า 

“ถ้าเราช่วยเด็กมหาลัยที่เขาเลือกแล้วว่าจะเรียนให้จบ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หางานเลี้ยงตัวเองได้ ถ้ามีคนตาบอดกลุ่มนี้เยอะ ๆ มันก็จะเป็นไอดอลให้เด็กตาบอดรุ่นต่อไปเห็นว่าเส้นทางสายนี้มันมีอนาคตนะ ได้รับการยอมรับ อย่างเพื่อนจูนที่เป็นเด็กตาบอด เขาเรียนจบมหาลัย ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คือเขามีเงินเลี้ยงตัวเองได้ มีเงินผ่อนรถ ส่งกลับบ้าน แล้วตอนนี้ก็เรียนปริญญาโทอยู่ที่จุฬาฯ มันเหมือนกับว่าคุณภาพชีวิตมันต่างกันแล้ว เราต้องปั้นคนแบบนี้เยอะ ๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้แปลว่า
เราจะผลักดันคนตาบอดที่เขาไม่ยอมเข้าระบบมหาลัย ให้เข้ามหาลัยและมีชีวิตที่ดีขึ้น มันจะส่งผลระยะยาวมากกว่า”

หน้าที่หลัก ๆ ของ The guidelight ทำอยู่ 4 ด้าน อย่างแรก Material Hub เว็บไซต์รวบรวมสื่อการเรียนทุกชนิดเพื่อให้นักศึกษาตาบอดและนักศึกษาทั่วไปเข้าถึงสื่อการเรียนได้มากขึ้น ตลอดจนสร้างชุมชนเพื่อให้นักศึกษาทั้งตาบอดและตาดีช่วยกันเรียน อย่างที่สอง Toolkit เครื่องมือที่เด็กตาบอดจะส่งมอบให้อาจารย์เพื่อแนะนำตัวให้อาจารย์รู้จัก และช่วยให้อาจารย์เข้าใจวิธีการเรียนของเด็กตาบอดมากขึ้น อย่างที่สาม Buddy ระบบจับคู่เพื่อนตาดีช่วยเพื่อนตาบอดเรียน และอย่างสุดท้าย Workshop 
จัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพ เติมความมั่นใจให้นักศึกษาตาบอด

“ตอนนี้เราเริ่มทำที่ ม.ธรรมศาสตร์ มีเด็กอยู่กับเรา 30 คน ปีนี้เราเพิ่งเริ่มทำได้เทอมเดียว แล้วที่ผ่านมาก็มีเด็กมาบอกกับเราว่าเขาได้รับชีทเรียนเร็วขึ้น เพราะเมื่อก่อนกว่าจะได้สื่อการเรียนเขาต้องไปขอเพื่อน อย่างคณะนิติฯ ต้องอ่านหนังสือเป็นพันหน้า 
ซึ่งตอนนี้เขาเพียงแค่เข้าเว็บไซต์เราก็จะมีสื่อการเรียนรอเขาอยู่เลย คือเขาสามารถใช้คอมฯ ได้อยู่แล้ว เพราะมีโปรแกรมอ่านหน้าจอ (Screen Reader) ทีนี้พอใช้โปรแกรมนี้อ่านหน้าจอ หน้าที่เราคือเราทำเว็บไซต์ที่รวมสื่อการเรียนทุกอย่าง ถ้าเป็นไฟล์ PDF นี่จะอ่านไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงต้องแปลงสื่อทุกชนิดให้อยู่ในรูปแบบไมโครซอฟต์เวิร์ด แล้วก็จะมีอาสาสมัครมาช่วยกันพิมพ์ เพียงแค่เด็กตาบอดเข้ามาค้นหาไฟล์ก็จะเจอเลย อันนี้นอกจากเด็กตาบอดได้ประโยชน์แล้ว เด็กตาดีก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน คือเด็กต่างจังหวัดเข้ามาใช้ชีทของเราค่อนข้างเยอะ

“อุปสรรคของเราจะอยู่ที่เรื่องเงิน เพราะเราทำเรื่องคนตาบอด มันไม่ได้มีโมเดลที่จะหาเงินยังไงให้มาหล่อเลี้ยงได้อย่างยั่งยืน เราไม่ได้มีโปรดักส์แต่เราเป็นโซลูชั่น ตอนนี้เราก็ได้ทุนจากการสนับสนุนของ Ashoka Thailand และการประกวดบ้านปู ยอมรับนะว่าหัวข้อที่เราเลือกมันทำเป็นธุรกิจค่อนข้างยากนิดนึง มันไม่ใช่อะไรที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ถ้าเราเลือกกลุ่มคนตาบอดทั้งหมดเราอาจจะมีตลาดหกแสน แต่เราเลือกกลุ่มคนตาบอดในมหาลัยมันคือหนึ่งพัน สเกลมันเล็กจะให้เก็บเงินคนตาบอดอย่างนี้เหรอ 
เราก็ทำไม่ได้ คือสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่คนตาดีทำได้ฟรี ๆ เลย ฉะนั้นการให้คนตาบอดจ่ายเงินมันก็ดูไม่แฟร์ เราก็เลยพยายามคิดโมเดลอื่นว่าจะทำยังไงให้มาหล่อเลี้ยงได้ ก็มาคุยกันในทีมว่าจะตั้งโปรเจ็กต์หนึ่งขึ้นมาคือ “Dress the dream” เป็นโปรเจ็กต์ที่แยกจาก The guidelight เป็นแพลตฟอร์มที่จะหาเงินเข้ามาให้เรา

“เราวางแผนไว้ อย่างปีนี้ถ้าเกิดเราทำโมเดลอันนี้สำเร็จได้ผล ก็อยากขยายไปที่มหาวิทยาลัยอื่น อยากให้มหาลัยอื่นได้ใช้โปรแกรมหรือโซลูชั่นนี้ของเรา เพื่อช่วยให้เด็กของเขาเรียนจบและมีงานทำ ที่สำคัญอยากให้องค์กรหรือบริษัทเข้าใจคนตาบอดมากขึ้น แล้วการทำงานร่วมกันมันก็จะง่าย อีกอย่างเราก็พยายามหาโมเดลสร้างรายได้ที่มันยั่งยืนกว่านี้ การศึกษาทั่วไปใช้เวลาสี่ปีในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่วนการศึกษาที่ทำกับคนตาบอดย่อมใช้เวลามากกว่านั้น แปลว่าขั้นต่ำเราต้องอยู่ได้ถึงสี่ปีถึงจะเกิด
การเปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้เราช่วยคนตาบอดได้ 30 คน ถ้าเกิดอย่างต่ำปีนึงคนตาบอดมีหนึ่งพันคนแปลว่ามันน้อยมาก ยังมีคนอีกเยอะที่เราจะต้องไปให้ถึง ปีนี้เราจึงต้องพยายามวางรากฐานให้แข็งแรง เหมือนเรากำลังเป็นแค่จุดเริ่มต้น”

ประกายไฟแห่งความหวังดวงเล็ก ๆ ที่จะทำให้หัวใจของคนตาบอดพองโต แม้อาจจะเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็ส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคนอย่างแน่นอน 

Know Them 

•    ช่วงที่คุณจูนเรียนปริญญาโทที่มศว. หลักสูตรกิจการเพื่อสังคม ประกอบกับจูนมีเพื่อนตาบอดพอดี เลยลาออกจากงานประจำเพื่อมาจับงานเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว
•    ภายในปีนี้จะเกิด Workshop โปรเจ็กต์ “Talk in the dark” งานเสวนาที่เด็กตาบอดและเด็กตาดีจะร่วมกันจัด โดยจะเปิดให้คนทั่วไปปิดตาแล้วเข้าไปทำความรู้จักโลกของคนตาบอด ซึ่งนักศึกษาตาบอดจะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นจริงและยังทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจการใช้ชีวิตของคนตาบอดมากขึ้น
•    โปรเจ็กต์ “Dress the dream” เป็นการนำชุดหนึ่งชุดของเหล่าคนดังมาปล่อยให้เช่า โดยจะให้คนดังเลือกว่าเงินของเขาจะบริจาคเข้ามูลนิธิไหน ถ้าโปรเจ็กต์นี้สำเร็จพวกเขามองว่าจะเป็นแหล่งหาเงินหมุนเวียนไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ให้กับมูลนิธิหรือองค์กรที่ไม่มีรายได้
•    ติดตามต่อได้ที่ theguide-light.com หรือ www.facebook.com/theguidelights

The guidelight เพื่อนช่วยเรียนของคนตาบอด