“พร้อมเพย์”

“พร้อมเพย์”

เรื่องเงินอิเล็กทรอนิกส์ดูเหมือนจะใกล้ตัวคนไทยขึ้นมาอีก เมื่อรัฐบาลได้เห็นชอบในแผนระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) เมื่อปลายปี 2558 ทำให้เรื่องของ “พร้อมเพย์” (PromptPay) กำลังจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแล้ว

พร้อมเพย์คือการนำเลขที่บัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือไปผูกกับบัญชีธนาคาร เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรม เช่นการรับเงินจากหน่วยงานของรัฐ จะเป็นเรื่องคืนภาษี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ นานาก็แจ้งเพียงเลขที่
บัตรประชาชน ระบบก็จะเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารให้เรียบร้อย ไม่ต้องวุ่นวายแนบสำเนาหน้าสมุดธนาคารทุกครั้งที่เปลี่ยนหน่วยงาน ลดความยุ่งยากระบบงานรัฐบาล และประชาชนก็จะได้รับเงินเร็วขึ้น

การผูกบัญชีกับ PromptPay

PromptPay ของแต่ละคนจะสามารถผูกกับบัญชีธนาคารได้ 4 บัญชี โดยเชื่อมโยงกับ 1 หมายเลขประจำตัวประชาชน และ 3 เบอร์โทรศัพท์มือถือ (เช่นให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบัญชีเงินออม ส่วนเบอร์มือถือเป็นบัญชีเงินเดือน) แต่บัญชีธนาคารหนึ่งจะสามารถผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ได้หลายเบอร์ แม้ว่าเราจะมี 3 เบอร์โทรศัพท์ ก็เชื่อมโยงทั้งหมดไปยังบัญชีธนาคารเดียวกันได้ แน่นอนว่าผู้ใช้สามารถเปลี่ยนบัญชีธนาคารที่ผูกกับหมายเลขต่าง ๆ ได้เสมอ ซึ่งต่อไปผู้ใช้เพียงแค่บอกเบอร์มือถือก็ทำธุรกรรม รับเงิน โอนเงินได้

อนาคตของ PromptPay

ในเฟสต่อไปหลังจาก PromptPay เริ่มต้นใช้ในสังคมไทย รัฐบาลจะขยายเครื่องรับชำระเงินหรือ EDC ไปทั่วประเทศอีก 2 ล้านจุด เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถรับการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นยุคสังคมไร้เงินสดอย่างเป็นทางการ แล้วในช่วงต่อไปรัฐบาลก็จะปรับระบบภาษีและธุรกรรมทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วยทำไมรัฐบาลถึงต้องกระตุ้นให้เกิดสังคมไร้เงินสด ก็เพราะว่าสังคมที่ใช้เงินสดนั้นมีต้นทุนสูงมาก เช่นต้นทุนการตั้งตู้ ATM ต้นทุนการขนเงิน ต้นทุนความเสี่ยงที่เงินถูกขโมย ต้นทุนการเก็บรักษา แถมยังไม่สามารถติดตามการใช้เงินได้ง่าย ๆ รัฐจะเก็บภาษีให้ครบถ้วนก็ตามหลักฐานได้ยาก

ข่าวดีของคนที่จ่ายภาษีอยู่แล้ว อาจจะจ่ายน้อยลง

ฟังดูเหมือนข่าวร้ายสำหรับประชาชนที่รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้นถ้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นข่าวดีต่างหาก โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำ เป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีกันอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้จากประชากร 65 ล้านคน รัฐสามารถเก็บภาษีได้ราว 10 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งถ้ารัฐสามารถเก็บภาษีได้เท่าเทียมกัน รัฐก็ได้เงินไปพัฒนาประเทศมากขึ้น คนที่เสียภาษีอยู่แล้วก็เสียน้อยลง เพราะมีเงินที่เก็บได้จากส่วนต่าง ๆ มาเสริม รัฐก็สามารถลดภาษีในจุดต่าง ๆ ได้โดยพร้อมเพย์จะเริ่มให้บริการรับโอนเงินระหว่างประชาชนตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2559  

 

อนาคตธุรกรรมของคนไทย