หลุมเดียว

หลุมเดียว

ตอนที่เริ่มเล่นกอล์ฟใหม่ ๆ เมื่อร่วม 40 ปีที่แล้ว อุปกรณ์การเล่นกอล์ฟจัดความเป็นเซเลบ เศรษฐี ยาจก แค่เพียงยี่ห้อ “Brand” ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่ทุกบริษัทไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างพัฒนา Technology ของวัสดุ การออกแบบ และการค้นคว้าหาวัตถุที่มีน้ำหนักเบา แข็งแกร่ง ยืดหยุ่นไปตามแรงเหวี่ยง แรงอัด จนสามารถสร้างพลัง แรงดีดมหาศาลขับเคลื่อนลูกกอล์ฟไปได้ไกล แน่นอน และแม่นยำ

ภาษากำลังภายในที่บอกว่า เมื่อฝึกปรือฝีมือให้ถึงจุดสำเร็จสูงสุดแล้ว “แม้หญ้าก็เป็นอาวุธ”

ใช้ไม่ได้กับการเล่นกอล์ฟในปัจจุบัน

ยอดฝีมืออย่าง Tiger Woods, Jason Day, Jordan Spieth และ Phil Mickelson ลองไปเอาอุปกรณ์กอล์ฟยุค 70’s มาใช้เป็นเครื่องมือหากิน รับรองไปไม่รอด จอดป้ายไม่ผ่านการคัดตัวสักรายการ

คำว่าหัวไม้ที่ใช้กับ Driver ซึ่งนักกอล์ฟไทยเรียกว่า “กระบอง” ยุคดั้งเดิมเป็นไม้จริง ๆ ทั้งหนัก ทั้งแข็ง แรกเริ่มเดิมทีเป็นไม้ชิ้นเล็ก ๆ มาอัดเรียงกัน ต่อมาพัฒนาเป็นกลึงจากก้อนไม้ Persimmon ทั้งก้อนขึ้นรูปเป็นหัวไม้

ก้านก็เป็นเหล็กชุบโครเมียม ตีแต่ละครั้งแต่ละทีสะเทือนตั้งแต่ข้อมือ ข้อศอกจนสะท้านต่อไปยังหัวไหล่

โรครุมเร้านักกอล์ฟยุคนั้นที่เรียกกันว่า Golfer Elbow จึงระบาดเป็นกันถ้วนทั่วทุกตัวคน

นอกจากอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นที่ไม่ทันสมัย ด้อยพัฒนาหรือเชยสุด ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับอุปกรณ์สมัยนี้ วิธีการเล่นพนันขันต่อในยุคนั้นก็ “เชย” อย่างหาที่เปรียบมิได้

จะว่าไปแล้วคนคิดเกมส์เดิมพันในการเล่นกอล์ฟยุคนั้น ไม่รู้ไปสรรหามาจากไหน ไม่ว่าฝีมือดี-เลวต่างกันสุดขั้ว คนแพ้-เสียเปรียบมาตลอด แต่พอถึงหลุมสุดท้ายก็เบียดแซงเอาชนะได้ในหลุมนั้นเพียงหลุมเดียว ก็จะปลดหลุมที่แพ้มาก่อนหน้านั้นทั้งหมด และ “กินหาง” คว้าเดิมพันเข้ากระเป๋ากลับบ้านไปสบายใจเฉิบ ปล่อยให้คู่ต่อสู้ที่ Up มาตลอด 17 หลุมกลับไปกินน้ำข้าวปลอบใจ

แล้วเขาเล่นกันอย่างไร?!?

เอาง่าย ๆ แดงกับดำ ตกลงเล่นเดิมพันกอล์ฟติดปลายไม้เพื่อรสชาติหนุกหนาน จะต่อกันกี่หลุมก็แล้วแต่  การแพ้ชนะแต่ละหลุมจะถูกกำหนดเรียงลำดับเป็นแมทช์ (Match)

การแพ้-ชนะ หรือเสมอในแต่ละแมทช์ก็เป็นไปตามเกมส์ แต่สิทธิของผู้แพ้จะสามารถเปิดแมทช์ใหม่ได้ตลอด

เป็นต้นว่า แดงแพ้ดำหลุมแรก ดำ Up แมทช์แรก 1:0 หลุม 2 แดงแพ้อีก ดำ Up 2:0 แดงจะร้องขอให้เปิดอีก 1 แมทช์ โดยคงแมทช์แรกไว้ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงหลุมสุดท้าย

บางรายสามารถ Up คู่แข่งมาตลอดตั้งแต่แมทช์แรกจนถึงแมทช์ล่าสุด แต่เมื่อถึงหลุมสุดท้ายผู้แพ้ขอเปิดแมทช์อีก และสามารถชนะได้ ก็จะปลดแมทช์ที่เปิดก่อนหน้านั้นไปหมดและกินหางในหลุมสุดท้าย

เท่ากับให้โอกาสคู่ต่อสู้ที่เสียเปรียบจนถึงที่สุด คนแพ้ตลอดตีชนะหลุมสุดท้ายเพียงหลุมเดียวทั้ง ๆ ที่ตีลุ่ม ๆ ดอน ๆ แพ้มากกว่าชนะ อย่างเก่งก็เสมอในแต่ละหลุมก่อนหน้านั้น 17 หลุม ผู้ที่นำมาตลอดหมดความหมายโดยสิ้นเชิง

ชีวิตจริงใน Golf Tournament ระดับโลก เพียงหลุมเดียวก็ชี้เป็นชี้ตายขาด ชนะเป็นแพ้ได้ทันที ถ้าวงสวิงหลุดตีรูดสกอร์บานทะโรค

ก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นกับ Greg Norman หลุมสุดท้าย The Master ที่โดน Larry Mize ชิบลูก Down Hill แบบ Fast Speed ลงหลุมคว้าชัยชนะไป

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนุ่มฝรั่งเศสชื่อ Jean van de Velde ในกอล์ฟ The Open หวดหลุมที่ 18 ตกน้ำตกท่า ทั้ง ๆ ที่นำมาถึง 3 Stroke ต้องไปแพ้ในการดวล Play Off

รายล่าสุดคือ Jordan Spieth ในรายการ The Master 2016 นำโลดมาตลอด 3 วัน จบหลุม 9 ในวันสุดท้ายนำถึง 4 Stroke แต่ฝันร้ายมาเยือนที่พาร์ 3 หลุม 12 ตีตกน้ำถึงสองครั้ง จบสกอร์หลุมนี้ด้วยการตีถึง 7 ครั้งเกินไป 4 Stroke ต้นหายกำไรหด อดเป็นแชมป์สองสมัยต่อเนื่อง

ท่านนักกอล์ฟอยากจะไปทดสอบว่า หลุมเดียวก็ “เจ๊ง” ได้ง่าย ๆ ได้อย่างไร?

ไม่ต้องไปรื้อฟื้นการเล่นกอล์ฟพนันแบบเก่าให้ปวดกะโหลกครับ โน้น! ตรงไปสนามกอล์ฟอมตะ ไปหวดหลุมพาร์ 3 ลอยน้ำ ต้องนั่งเรือไปพัทกอล์ฟ แล้วจะรู้ว่า พาร์ 3 ตี 7 ที 8 ที ลงหลุมไม่ใช่เรื่องยาก หลายคนออกเลข 2 หลักก็เยอะ

สำคัญแต่ว่า ต้องกำเงินไปจ่ายค่า Green Fee และสิ่งอำนวยความสะดวก สนนราคาสูงลิบลิ่ว

ถ้าจะให้ดีหาสปอนเซอร์ที่เป็น Member สนามอมตะ รับรองว่า สนุก คุ้มสุด ๆ แม้จะต้องเสียเงินติดปลายไม้ให้เจ้าภาพเบิกบานใจ ก็มีความสุขด้วยกันทุกฝ่ายครับ 

Golf tips 2016 JULY By PROPUI

ในกรณีการแข่งขัน เมื่อ T-off ลูกออกไปแล้วพบว่า ลูกกอล์ฟที่ตีออกไปนั้นเกิดการเสียหาย เห็นว่าจะเป็นข้อเสียเปรียบหากทำการเล่นลูกต่อไป ในกรณีนี้ท่านนักกอล์ฟต้องเรียกคณะกรรมการสนามเมื่อทำการมาร์คลูก(ในกรณีที่ลูกกอล์ฟไม่ได้อยู่บนกรีน) และทำการเปลี่ยนลูกเท่านั้นครับ ไม่สามารถหยิบเปลี่ยนลูกโดยพละการ ซึ่งฝ่าฝืนมีโทษหนักปรับสองแต้มครับ

ก็ “เจ๊ง” ได้