ปลาเทราท์
วันที่ MiX เล่มนี้ออกวางแผงนั้น บอลยูโร 2016 น่าจะเพิ่งจบไป และกำลังรอการมาถึงของ “แบรนด์” พรีเมียร์ลีก ที่ประกาศว่าปีนี้ ฤดูกาลนี้ จะมีการเตะ “คืนวันศุกร์” แบบเต็มตัวเป็นครั้งแรก (อ้างอิงจาก The Telegraph)
มีอะไรน่าสนใจบ้างล่ะ มันคงมีหลายประเด็นมาก แต่ผมมองไปที่การขยายสนามย้ายสนามของบางทีม แอนฟิล์ดของลิเวอร์พูลรีโนเวทจะเสร็จแล้ว จึงขอไม่เตะในบ้าน 2 นัดแรก ขณะที่เวสต์แฮมไป “เช่า” สนามโอลิมปิก สเตเดี้ยมแบบจ่ายค่าเช่าตาม “ความสำเร็จ-ความล้มเหลว”
สเปอร์ เชลซี ก็กำลังจะเพิ่มจำนวนที่นั่งเช่นกัน โดยที่ทีมแรกอาจจะต้องไปเตะที่อื่น ๆ ก่อนสัก 2 ปี สนามและที่นั่งจะเป็น “พระเอก” ปีนี้ก็จริง แต่เทรนด์ของ “ตั๋วบอล” ก็ไม่ใช่พระรอง และอาจจะเป็น “พระวุ่น” เนื่องเพราะราคาตั๋วจะแพงมากขึ้นแน่นอน
คำถามที่ตามมาก็คือ ตั๋วบอลนัดละเกือบ “แสนใบ” ทำไมถึงแพง ทำไมถึงหายไปไหน และทำไมถึงหายากจัง
ยกตัวอย่างเช่นนัดที่ “เวสต์แฮม” เล่นในสนาม “โบลีน กราวนด์” แมทช์สุดท้ายปีที่แล้ว เจอแมนยูและเชือดไป 3-2 นั้น ตั๋วราคาแค่ 2,000 กว่าบาท ขายกันไป 42,000 บาท (จากพ่อค้าหน้าเลือดที่ส่งข้อมูลมา)
“ตั๋วบอล” นั้น จะถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน แบ่งเป็น “แบ่งให้สปอนเซอร์”
“แบ่งให้โรงแรม ร้านอาหาร ไปทำแพ็คเกจ” “แบ่งให้ทัวร์” “แบ่งให้เมมเบอร์”
“แบ่งให้แฟนบอล” และ “แบ่งให้แขก VIP”
ทำให้ในหนึ่งเกม ตั๋วจะเหลือออกมาขายจริง ๆ น้อยมาก อาจไม่ถึง 1 ใน 4 ของที่นั่ง ขึ้นอยู่กับ “ขนาด” ของสนาม นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่บอกว่าทำไมตั๋ว Season Ticket ของลิเวอร์พูลหายาก (เนื่องจากสนามเล็ก 4 หมื่นกว่าที่นั่ง)
“ตั๋วบอล” จึงเป็นทริคและเล่ห์กลของทัวร์ เป็นชั้นเชิงของคนที่ทำมาหากินกับคนดูบอลแบบ “ชอบธรรม” ไม่ได้ผิดอะไร
มันจึงเกิดเรื่องแบบบอลนัดเดียวกัน คนหนึ่งซื้อมาได้ 4,000 บาท แต่อีกคนอาจจะซื้อมา 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่า ซื้อกับใคร ซื้อมายังไง
ฝรั่งมังค่าเปรียบอาชีพคนขายตั๋วบอลผี ที่ชอบโก่งราคา เป็นพวก “ปลาเทราท์” เพราะปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกับ “ปลาแซลมอน” ชนิดนี้ ว่ายทวนน้ำ ไว คล่อง และตามกระแสน้ำ (แม้จะอยู่ในลำธาร)
พวกคนขายตั๋วเจ้าเล่ห์เหล่านี้ มีลักษณะของการ “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” มันจึงเข้ากับคาแรคเตอร์ของปลาเทราท์ ที่มีบุคลิกไม่ต่างกัน สามารถเปลี่ยนทิศทาง และเคลื่อนที่แบบเปลี่ยนภาพฉับพลันได้อย่างทันที
ทุกวงการก็มีปลาเทราท์ หมอ รปภ. นักข่าว คนจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับกีฬา ล้วนมีปลาชนิดนี้ถ้าจับตาดูดี ๆ (เพียงแต่ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ไปเถอะ เดี๋ยวปลาเทราท์วิทยุก็หลุดออกมาเอง)
ทว่า บางที ก็มี “ปลาเทราท์หน้าใหม่” ที่อยากลงมาว่ายเล่นในลำธาร ในแม่น้ำ กับ “ปลาเทราท์หน้าเก่า” บางตัวมาว่ายใหม่ ๆ ไม่รู้อะไรมาก ไม่รู้ว่าน้ำเวลาบ่ายสามแรง ไม่ทราบว่าเพื่อน ๆ ที่ว่ายเจอในน้ำ อาจ “หักหลัง” ได้หากเกิด “คลื่นใต้น้ำ” จึงเคยมีปลาเทราท์ตายน้ำ ว่ายไปตายบนฝั่ง แบบชาวประมงมองแล้วงง แล้วก็ปลง บ่อย ๆ
วิธีแก้ปัญหาการเป็น “ปลาเทราท์ตายบนฝั่ง” คือต้องหาประสบการณ์ทำงานไปเยอะ ๆ แล้วจะรู้เองว่า อ๋อ น้ำบ่ายสามมันแรงมันเชี่ยว ควรจะลงว่ายตอนเช้า ๆ ดีกว่า หรือ การหามิตรในวงการปลาเทราท์นั้นต้องคบ “ปลาต่างสายพันธุ์” ไว้บ้าง เพราะอาจจะช่วยดำน้ำ ว่ายนำทาง หรือคอยเจรจากับ “ปลาใหญ่” ให้อีกที
เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบากแล้ว เกิดเป็น “ปลาเทราท์” ใน “สายน้ำพรีเมียร์ลีก” อาจลำบากกว่า