ภูหินร่องกล้า
เรารู้จักภาพบางภาพ สัมผัสเรื่องราวบางซอกมุม หรือดื่มด่ำกับรอยยิ้มของใครสักคน อาจก็ต่อเมื่อหน้าปฏิทินเปลี่ยนผ่านเรื่องราวเหล่านั้นเป็นวันวาน
เป็นภาพที่ตกลับและผ่านพาบางเรื่องให้ลับหาย ทว่าก็เปลี่ยนผ่านอดีตสู่ภาพปัจจุบันอันงดงาม ณ ทิวดอยแห่งหนึ่ง ระหว่างรอยต่อของหลายพื้นที่ สายลมหนาว หมอกขาวและม่านดอกไม้ห่มคลุมอดีตของผู้คนจำนวนหนึ่งไว้บนนั้น
ท่ามกลางปัจจุบันอันงดงาม และอดีตหลากหลายที่ตกหล่นเป็นเรื่องราวให้หลายต่อหลายคนได้เดินตาม
...
ทางหลวงหมายเลข 12 ที่ลากขนานกับเทือกเขาสลับซับซ้อนเบื้องบนพาเราออกจากกลางเมืองพิษณุโลก ถนนยกตัวขึ้นสู่โอบล้อมขุนเขา ผ่านผืนป่าและสายน้ำเบื้องล่างภู ย่านอาหารและรีสอร์ตกระจายเรียงตัวไปตามทางหลวงที่เชื่อมภาคเหนือกับอีสานเข้าด้วยกันเส้นนี้
เราแยกเข้าสู่อำเภอนครไทย ชุมชนพื้นราบข้างล่างราวกับที่พบกันของเมืองและป่าเขา ตลาดสด รถนักท่องเที่ยว รถกระบะโฟร์วีลกรำฝุ่น รวมไปถึงสินค้านานาทั้งจากเมืองเบื้องล่างหรือพืชผักอย่างกะหล่ำปลี แครอทที่สะท้อนถึงการเกษตรด้านบน
รวมถึงภาพบางอย่างที่ตกลับไปกับความทรงจำมาร่วม 30 ปี
เราขึ้นมาถึงพื้นที่หนาวเย็นในท่ามกลางภูมิประเทศอันงดงาม อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ากอดเก็บทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทยไว้กับอากาศหนาวเย็น หมู่สนขึ้นคลุมลานหินเหนือขุนเขา รวมไปถึงผืนป่าที่ค่อยคืนความสมบูรณ์ ความหลากหลายทั้งป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังชัดแน่น และเมื่อขึ้นถึงยอดภู ป่าสนเขาปรากฏเหนือที่ราบบนสันเขา สะท้อนเป็นสนสามพันปี ก่วมแดง (เมเปิ้ล) หว้า และสารภี ขึ้นเรียงรายกลางลมหนาว
รอบด้านล้วนเต็มไปด้วยฉากด้านและสิ่งหลงเหลือที่ชวนให้นึกย้อนไปถึงผู้คนนับพันที่เคยอยู่ข้างบนนี้ ทั้งพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เหล่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รวมไปถึงเหล่านักศึกษาจากเมืองกรุงที่หวังถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519
ราวปี พ.ศ. 2511-2525 เขตเคลื่อนไหวบนภูหินร่องกล้าล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวของความแตกต่างทางอุดมการณ์ กลายเป็นพื้นที่ที่รวมไปถึงฐานที่มั่นบนแดนดอยอันเต็มไปด้วยหนทางทางการเมือง เรื่องเล่าของเหล่า “สหาย” รวมไปถึงฉากผ่านของเสียงปืนและความแตกต่าง
สิ่งหลงเหลือพาเราไปเห็นโลกบางด้านในคืนวันบนภูหินร่องกล้าของพวกเขา ที่โรงเรียนการเมืองการทหาร ปรากฏเป็นกลุ่มกระท่อมไม้ในแวดล้อมของเมเปิ้ลแลป่าสน มันคือโรงเรียนที่พวกเขาใช้ศึกษาแนวคิดทางการปกครอง เป็นฝ่ายพลเรือน พลาธิการ ฝ่ายทหาร รวมไปถึงเรื่องการสื่อสาร เป็นบ้านพัก สถานพยาบาล เป็นแม้กระทั่งโรงพยาบาลขนาดเล็ก
ไม่ไกลกันเพียงข้ามลำธารเย็นรื่น กังหันน้ำโบราณผันน้ำจากลำธารสายเล็ก โดยต่อเข้ากับแกนของครกตำข้าว ใช้พลังน้ำขับเคลื่อน ที่นี่คือโรงสีข้าวของ พคท. ยามที่หนุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พาตัวเองขึ้นมาถึงภูหินร่องกล้า
ห่างไปอีกราว 3 กิโลเมตร โลกแห่งการเมืองการทหารในอดีตของ พคท. ฉายชัดตัวเองอยู่ที่สำนักอำนาจรัฐ ที่นี่ราว “ศูนย์บัญชาการ” ที่เป็นหัวใจของพวกเขา มันมีทั้งโรงทอผ้า โรงอาหาร เป็นที่ดำเนินการทางทหารและการจัดการมวลชน เป็นที่ตัดสินคดีความกลางป่า ที่คุมขังคนทำผิดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
ท่ามกลางอดีตที่ผ่านเลยหลังนโยบาย 66/2523 และคำสั่งที่ 65/2525 ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้ “การเมืองนำการทหาร” ผู้คนข้างบนล้วนวางปืนและสืบเท้าลงจากภูเขา เหลือไว้เพียงเรื่องราวหน้าหนึ่งของความแตกต่างในอุดมการณ์ และความงดงามที่พวกเขาได้พบเห็นล้วนเปิดโอกาสให้ผู้คนข้างล่างได้สัมผัส
ทางเดินสายนั้นทอดไปตามสันดอย ระหว่างทางที่พืชอย่างดุสิตา กระดุมเงิน ผลิดอกงาม ลานหินปุ่มสะท้อนภูมิทัศน์แปลกตาอันเกิดจากการกัดเซาะของหยาดน้ำและกระแสลม เป็นผาที่อยู่เหนือที่ราบนครไทย วิวกว้างไกลเช่นนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักฟื้นไข้ของเหล่า พคท. เนื่องจากอากาศสดสะอาดและลมเย็นชื่นเหมาะยิ่งที่จะใช้พักผ่อน
ไม่เพียงวิวสูง ทว่าสัณฐานแผ่นผืนภูเขาของภูหินร่องกล้ายังเต็มไปด้วยความหลากหลายและน่าทึ่ง ที่ลานหินแตก แผ่นหินปรากฏรอยแยกเป็นร่องเป็นแนวราวภูเขาถูกกรีดเป็นร่องเส้น บางจุดแคบเพียงให้หญ้าลอดชอนไช ขณะที่บางร่องก็กว้างขวางจนคนก้าวข้ามไม่พ้น
ไม่เพียงแต่ป่าสน อากาศเย็นชื่น และเรื่องราวของอดีตอันผ่านเลย ทว่าโลกสีเขียวและเย็นชื่นในเขตอุทยานฯ ภูหินร่องกล้ายังมอบความงามของธารน้ำตกหลากหลายที่ซ่อนตัวเองอยู่ตามหุบเขา ความชันดิ่งของน้ำตกร่มเกล้า-ภราดร น้ำตกฝาแฝดที่พร่างพรูสายน้ำอยู่ใกล้กัน เป็นความงามแรก ๆ ที่ใครสักคนที่มาถึงภูหินร่องกล้าไม่เคยผ่านเลยที่จะไปสัมผัส
ไล่เรียงไปตามถนนสายป่าเขา น้ำตกหมันแดงถือเป็นหัวใจของธารน้ำในเขตอุทยานฯ มันพร่างพรูสายน้ำทั้ง 32ชั้น อย่างไม่มีวันเหือดแห้ง โขดหินสะท้อนความชุ่มชื้นด้วยการห่มมอสสีเขียวเข้มอยู่แทบตลอดปี ยิ่งยามที่ดอกลิ้นมังกรผลิบานในหุบลึก ฉากหน้าสีหวานกับมวลน้ำนุ่มเย็นล้วนเป็นภาพตรึงใจที่ได้บากบั่นผ่านทางชันลงมาพบเห็น
เหนือภูหินร่องกล้า ล้วนกระจัดกระจายอยู่ด้วยความเป็นจริงที่ผันผ่านและตกหล่นเป็นภาพเปี่ยมค่าอันเต็มไปด้วยคืนวันอันน่าจดจำ
บางภาพสะท้อนคืนวันแห่งความคิดแตกต่างอยู่ในโรงเรือน เศษซากอาวุธ รวมไปถึงอดีตของใครสักคนที่เคยอยู่ “ในป่า”
บางภาพก็งดงามและเต็มไปด้วยรายละเอียด ราวดอกไม้บนลานหญ้าที่ผลิบานยามต้นฝน
ขณะที่ภาพอีกหลายใบก็ชัดเจนตัวตน ทั้งในวิวเปิดกว้างสัณฐานแปลกตาของภูเขา รวมไปถึงภาพชีวิตเปี่ยมเสน่ห์ของคนม้งแห่งแดนดอย
ที่เมื่อหยิบจับมาเรียงร้อยต่อกัน ก็อาจเห็นคืนวันบนทิวดอยแห่งหนึ่งทอดยาวและเต็มไปด้วยความทรงจำ
How to go?
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ไล่เลยมาถึงนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ถึงพิษณุโลก แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอวังทอง ที่สามแยกบ้านแยง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 มุ่งหน้าอำเภอนครไทย จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2331 ขึ้นสู่อุทยานฯ ภูหินร่องกล้า