金庸 “กิมย้ง”

金庸 “กิมย้ง”

เพิ่งผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่จีนมาหมาด ๆ ครับ เราจะเห็นได้ว่าทั่วทุกหนทุกแห่งของประเทศไทยต่างล้วนอยู่ในเทศกาลเฉลิมฉลองกันทั่วหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเยาวราชที่ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เราจะสังเกตเห็นได้ในทันทีเลยครับว่ามีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากครับ แทบจะทั่วทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ ความผูกพันระหว่างประเทศไทยกับจีนนั้นถือว่าแน่นแฟ้นมาก ซึ่งประเทศจีนนั้นมีบทบาทกับประเทศไทยอย่างมากมายในหลาย ๆ เรื่อง

โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจการค้าขาย และมีอีกอย่างหนึ่งครับที่คนไทยเราผูกพันมากทีเดียวและเป็นที่ชื่นชอบอย่างหาที่สุดไม่ได้นั่นก็คือ ภาพยนตร์จีนหรือหนังจีนกำลังภายใน เรียกว่าดูกันมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น และเรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเป็นที่นิยมมากที่สุดและนำมา Remake ฉายซ้ำอยู่บ่อยครั้งที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่อง “มังกรหยก” ทั้งสามภาค 

ไม่ว่าจะเป็นในภาค “จอมยุทธล่าอินทรีย์”, “ลูกมังกรหยก” หรือ ภาคสุดท้ายอย่าง “ดาบมังกรหยก” แต่วันนี้ Legend ของเราไม่ได้มากล่าวหรือเล่าเรื่องราวของตัวละครหรือเนื้อเรื่องแต่อย่างใด แต่เราจะขอเล่าความเป็นตำนานยิ่งกว่านั้นคือเรื่องราวของผู้แต่งอย่าง “กิมย้ง” ที่เป็นตำนานยิ่งกว่านั่นเองครับ 

“กิมย้ง” นั้นเป็นนามปากกาที่ใช้ในการแต่งนวนิยายครับ แต่ “กิมย้ง” มีชื่อจริงว่า ดร.หลุยส์ ฉา หรือ จา เหลียง หยง เป็นนักเขียนวรรณกรรมหรือนิยายกำลังภายในที่กล่าวกันว่ามีชื่อเสียงที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศจีนหรือของโลกก็ว่าได้ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม กิมย้งเป็นทั้งต้นแบบของบรรดานักเขียนรุ่นใหม่ รวมไปถึงบรรดานักวาดการ์ตูนนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่ อย่าง Tony Wong, หม่าหย่งเฉิง, หวงยี่หลาง ต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจและยึด “กิมย้ง” เป็นต้นแบบ 

กิมย้ง เกิดเมื่อปี ค.ศ.1924 ในครอบครัวบัณฑิตที่มีชื่อเสียง ดังนั้นด้วยการอบรมของครอบครัวทำให้  กิมย้ง มีความรู้ในเรื่องภาษาและสามารถใช้ภาษาหรือถ้อยคำได้อย่างสละสลวย ซึ่งแรกเริ่มเดิมที กิมย้ง ได้เริ่มต้นการทำงานกับหนังสือ ซิ่นหวางเป่า เขาได้รู้จักกับ เฉินเหวินถง ซึ่งเป็นนักเขียนกำลังภายในท่านหนึ่ง ด้วยความที่เป็นคนชื่นชอบนวนิยายกำลังภายในเหมือนกัน ทั้งคู่จึงเป็นเพื่อนสนิทกันไม่ยาก และเฉินเหวินถงนี่แหละครับที่เป็นคนชักชวนให้ กิมย้ง เริ่มต้นเขียนนวนิยายกำลังภายในของตัวเองออกมา ด้วยหน้าที่การงานที่ค่อนข้างรัดตัว กิมย้งจึงใช้เวลาว่าง ทั้งช่วงเวลาพักเบรก พักทานข้าว เข้าห้องน้ำ หรือ ก่อนนอน เขียนนวนิยายออกมา 

ด้วยความพยายามกว่า 2 ปี นวนิยายเรื่องแรก “จอมใจจอมยุทธ” หรือ Book and Sword ก็ออกมาสู่สาธารณะชนในปี 1955 แค่นวนิยายเรื่องแรกก็ประสบความสำเร็จ ทำให้บรรดานักอ่านฮิตติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองเสียแล้ว ซึ่งจากความสำเร็จในครั้งนี้ได้ทำให้กิมย้งมั่นใจว่าเขาเลือกถูกทาง และตัดสินใจที่จะเขียนและสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมนิยายกำลังภายในต่อไป ปีต่อมา (1956) “กระบี่เลือดเขียว” ก็ได้ออกมาสู่ท้องตลาด และอีกหลาย ๆ เรื่องที่มีชื่อเสียง ต่างทยอยออกมาสู่สายตาสาธารณชน 

สิ่งที่สร้างให้กิมย้งเป็นตำนานนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เพราะความสนุกสนานจากนวนิยาย แต่เป็นความลึกซึ้งที่แฝงอยู่ในตัวละครในแต่ละเรื่อง อย่างเช่นเรื่องแรก จอมใจจอมยุทธนั้นตัวละครเด่นคือ “หัวหน้าพรรคดอกไม้แดง” ที่มีชื่อว่า “ตั้งแกลก” ตัวละครตัวดังกล่าวนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของตัวกิมย้งเสียเอง มีความเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งความเป็นหนุ่มไฟแรง เป็นคุณชายร่ำรวย เก่งทั้งบุ๋นและบู๊ ยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่สุดท้ายแล้วกิมย้งมองว่าตัวละครตัวนี้ยังมีจุดอ่อน มีการแบ่งแยกนิสัยขาวกับดำอย่างชัดเจนและเป็นคนดี Perfect ที่ออกจะเกินจากโลกความเป็นจริงไปเสียหน่อย 

ดังนั้นกิมย้งจึงไม่เขียนตัวละครใดที่มีลักษณะเหมือน “ตั้งแกลก” อีกเลย แต่จะเขียนตัวละครที่มีพื้นฐานนิสัยจากคนจริง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมตามหลัก “Nobody Perfect” เช่น “มารบูรพา” จากเรื่องมังกรหยก ที่มีนิสัยเอาแต่ใจคุ้มดีคุ้มร้าย, “ก๊วยเจ๋ง” ที่ดีแต่ซื่อบื้อ หรือ “ตงฟางปุ๊ป้าย” (บูรพาไร้พ่าย) จากเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่มีสองอารมณ์ไม่หญิงไม่ชาย และร้ายที่สุดคือ “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ที่มีความกะล่อน มีลิ้นคำโกหกพลิกแพลงเป็นอาวุธ มีภรรยามาก และมีท่าเท้าที่เอาไว้หนีอย่างเดียว ซึ่งอุ้ยเสี่ยวป้อ นี้มีความขัดแย้งจากตัวเอกอื่น ๆ ทุกตัวและห่างไกลจากคำว่า “วีรบุรุษ” อยู่มาก และด้วยความหลากหลายดังกล่าวนี้ก็ได้ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเดาได้เลยว่าทิศทางของเนื้อเรื่องจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งเสน่ห์และความสนุกของนวนิยายจากการประพันธ์ของกิมย้งก็อยู่ตรงนี้แหละครับ 

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่กิมย้งได้สอดแทรกลงไปในนวนิยายที่เขาแต่งนั้นก็คือ “แนวคิดทางการเมือง” โดยผลงานในช่วงแรก ๆ ของกิมย้ง นั้นจะออกไปในแนวความรักโรแมนติกเสียมาก แต่ช่วงหลังนับตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา กิมย้งได้สอดแทรกแนวคิดด้านการเมืองเข้าไปอยู่ในบทประพันธ์อย่างแยบยล โดยเฉพาะเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่กิมย้งสะท้อนให้เห็นถึงเหล่าตัวละครหลักที่ต้องการชิงดีชิงเด่นในสังคม และเป็นกระจกสะท้อนมายังผู้คนและสังคมการเมือง ที่มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกิมย้งได้ให้สัมภาษณ์และกล่าวประโยคสำคัญออกมาประโยคหนึ่งว่า 

“เพียงเพื่อการแย่งชิงอำนาจแล้ว คนเราสามารถเปลี่ยนเป็นชั่วหรือเลวทรามแค่ไหนก็ทำได้หมด ถ้าคนใดไม่ยึดติดในยศ อำนาจ หรือชื่อเสียง คนคนนั้นก็จะเป็นอิสระจากทุก ๆ สิ่ง แต่ถ้าเมื่อใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจ ก็ไม่มีวันได้เป็นอิสระ” ซึ่งจากตรงนี้ กิมย้งมองว่า “คนที่ไม่ติดในยศ อำนาจ เงินทองหรือชื่อเสียงนั้น ช่างหาได้ยากในสังคมจริง ๆ” 

กิมย้งได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมกำลังภายในจีน ไว้มากถึง 15 เรื่อง และวางมือจากการเป็นนักเขียนเมื่อปี ค.ศ.1972 แล้วใช้เวลาที่เหลือในทศวรรษนั้นในการปรับปรุงงานเขียนเก่าของตนเอง โดยผลงานของกิมย้งได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรี่ส์ละคร ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะมังกรหยกไตรภาค ได้ถูกนำมาสร้างหลายต่อหลายรอบ และตัวละครต่าง ๆ ได้ถูกนำมาสร้างเป็น Game Online จนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเกษียณกิมย้งได้ทำการขายหุ้นสำนักพิมพ์ของเขาออกไป และได้มีการประเมินทรัพย์สินของกิมย้งทั้งหมด ซึ่งสามารถประเมินได้ถึง 600 ล้านเหรียญฮ่องกงทีเดียว 

ผลงานทั้ง 15 เรื่อง 

•    จอมใจจอมยุทธ หรือ ตำนานอักษรกระบี่ Book and Sword: Gratitude and Revenge (พ.ศ.2498)
•    เพ็กฮวยเกี่ยม หรือ กระบี่เลือดเขียว Sword Stained with Royal Blood (พ.ศ.2499)
•    มังกรหยก ภาค 1 The Legend of the Condor Heroes (พ.ศ.2500)
•    จิ้งจอกภูเขาหิมะ Flying Fox of Snowy Mountain (พ.ศ.2502)
•    มังกรหยก ภาค 2 The Return of the Condor Heroes (พ.ศ.2502) จิ้งจอกอหังการ The Young Flying Fox (พ.ศ.2503)
•    เทพธิดาม้าขาว Swordswoman Riding West on White Horse (พ.ศ.2504)
•    ดาบนกเป็ดน้ำ Blade-dance of the Two Lovers (พ.ศ.2504)
•    มังกรหยก ภาค 3 Heaven Sword and Dragon Sabre (พ.ศ.2504)
•    กระบี่ใจพิสุทธิ์ A Deadly Secret (พ.ศ.2506)
•    แปดเทพอสูรมังกรฟ้า Semi-Gods and Semi-Devils (พ.ศ.2506-2509)
•    มังกรทลายฟ้า Ode to Gallantry (พ.ศ.2509-2510)
•    กระบี่เย้ยยุทธจักร The Smiling, Proud Wanderer (พ.ศ.2510-2512)
•    กระบี่นางพญา Sword of the Yue Maiden (พ.ศ.2513)
•    อุ้ยเสี่ยวป้อ Deer and the Cauldron (พ.ศ.2512-2515)

ตำนานเจ้าแห่งนิยายกำลังภายใน