มงคล อุทก

มงคล อุทก

“ชีวิต เหมือนพิณกรีดสาย...เล่นไปตามไลน์ ไปตามสายเสียงเพลง...” เสียงแหบพร่าที่เปล่งจากลำคอขณะที่มือทั้งสองข้างของเขาบรรจงดีดสายเหล็กด้วยท่าทางมุ่งมั่น แววตาเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยนและความหวัง

มงคล อุทก หรือ น้าหว่อง คาราวาน นักร้อง-นักดนตรีเพื่อชีวิต ผู้เป็นตำนานในวงการเพลงเพื่อชีวิตของเมืองไทย หนึ่งในสี่สมาชิกหลักของวงคาราวาน เขาตั้งวงดนตรีบังคลาเทศแบนด์ขณะเรียนหนังสือที่เทคโนฯ โคราช   (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) ก่อนร่วมสร้างตำนานในชื่อคาราวาน เรียนจบมาด้านศิลปะโดยตรง และนอกเหนือจากผลงานเพลงมากมายหลายชุด อีกบทบาทหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก เขาคือจิตกรฝีมือดีอีกท่านหนึ่งของบ้านเรา  

“ช่วงนี้คือช่วงที่ผมตั้งใจเขียนหนังสือ เขียนรูป และทำงานศิลปะ เพราะเดือนเมษายนนี้ คิดว่าน่าจะเป็นวันที่ 24 เม.ย. ตั้งใจจะนำรูปภาพไปแสดงเป็นนิทรรศการย่อม ๆ ที่ร้านแซกโซโฟน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รูปที่ผมเขียนส่วนใหญ่จะเป็นแนว Abstract ก็คือใช้ความประทับใจมาเขียน ประทับใจเรื่องอะไร เรื่องใกล้ตัว Impressต้องมองจากงานจริงแต่ไม่ต้องเหมือนจริง เอาแค่ความประทับใจ ไม่ต้องเห็นก็ได้นึกถึงเรื่องดนตรี เรื่องเพลง แต่คนเขียนต้องมีเรื่องของตัวเองที่จะวาดอยู่ในใจ ก็มีเขียนรูปและแสดงงานอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงเรียนก็แสดงกับเพื่อน ห่างพู่กันไปนานมากตั้งแต่เรียนจบ ผมเรียนแผนกศิลปกรรม เทคนิคโคราชผมเรียนจิตรกรรม ประติมากรรมหลักสูตร 5 ปี เพิ่งกลับมาเขียนรูปอีกทีตอนเบื่อดนตรี 

“ผมเคยหยุดเล่นดนตรีไปเลยช่วงหนึ่ง เพราะผมเบื่อความซ้ำซาก ผมทำเพลงใส่ในอัลบั้มใหม่เยอะแยะแต่คนเขาไม่ฟังเท่าเพลงเก่า ๆ สิ่งที่เป็นพลังที่สุดคือการเมืองสมัยก่อนเพลงการเมืองบางทีก็ถูกใช้งานกิจกรรมมากไปทำให้เบื่อได้ แถมเป็นช่วงที่เบื่อบริษัทเทปด้วย ผมก็เลยหยุดดนตรีไปทำร้านอาหารกึ่งผับ แต่พอมาช่วงหนึ่งก็คิดได้ตอนช่วงอายุประมาณ 50 ปี ว่าที่คนรู้จักผมและมีชื่อเสียงมาตลอดก็เพราะดนตรี คือการเป็นคาราวานนั่นเอง แทนที่จะเบื่อก็ต้องต้องทำให้ดีที่สุดสิ เพราะว่ากับพี่น้องเราไม่สามารถกลับมาเล่นได้ทุกวัน ไม่ว่าเวทีไหนก็ต้องทำให้ดีที่สุด ตอนนี้ผมอายุ 65 ปี พักทำเพลงไปสักพักหนึ่ง คือตอนอายุ 59 กำลังจะขึ้น 60 ปี ผมป่วย เล่นก็ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ขนาดร้องเพลงตอนแรกคิดว่าพูดไม่ชัดแล้ว แต่ตอนหลังก็ร้องได้ อย่างผลงานเพลงอัลบั้มล่าสุด ผมทำขายเองไม่ได้ขายกับบริษัทค่ายเพลง ใส่ย่ามไปขายตามคอนเสิร์ต”

ชีวิตเหมือนพิณกรีดสาย

“ผมเป็นลูกคนที่ 4 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน เริ่มหัดเล่นกีตาร์ตอนเรียนที่โคราช เป็นยุคแคมป์ G.I. ฐานทัพอเมริกัน คือยุคฮิปปี้พอดี ยุคความใฝ่ฝัน ชอบฟังเพลงฝรั่งฝั่งอเมริกา เพลงไทยก็ชอบ ช่วงก่อนจบ มศ.3 ก็มี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ตอนประถมก็ ชาย เมืองสิงห์ แต่ว่าพอมาอยู่โคราช เริ่มชอบเพลงฝรั่ง ฟังแผ่นเสียงเยอะ ตู้เพลงเยอะ เล่นกีตาร์ก็ต้องร้องเพลง ตอนขึ้นปี 2 ผมประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ รักษาอยู่สัก 4 เดือนไม่ไหวก็ต้องตัดขา เสียเวลาไปหนึ่งปีก็กลับมาเรียนต่อ ใส่ขาเทียมได้ แล้วก็ฝึกเดิน-วิ่ง ยิ่งเที่ยวยิ่งอยากเดินยิ่งอยากไป 

“กำลังใจดีครับ คิดว่ามันก็คงเหมือนอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆในร่างกายมันไม่กระทบกระเทือนไปถึงสมองหรือหัวใจเราหรอก สมัยนี้มันทำอุปกรณ์แขนขาเทียมได้แล้ว เราคิดแบบสมัยใหม่ ไม่กลัวที่จะใช้ ทดลองขนาดไปขึ้นภูเขา ขึ้นเขาใหญ่ก็ลองโบกดูก็ไปถึง โบกรถไปถึงเสม็ดถึงเลยไปถึงน้ำตกพริ้ว โบกไม่ได้ก็ไปหาตำรวจ เขาก็ฝากรถโดยสารให้ ดูแลตัวเองได้ เคยขึ้นภูกระดึง มีครั้งหนึ่งไปกับวงคาราวาน เป็นภูเขาทางภาคใต้ ไปเล่นให้สหายฟัง ขึ้นไปเล่นทางภาคใต้วันเสียงปืนแตก เวลาเดินในป่าผมต้องเดินนำหน้า ความเร็วของการเดินทางขึ้นอยู่กับผม พวกพี่หงาก็เดินตาม จนหลัง ๆ ขามันพัง จะเอาไปซ่อมที่ฝั่งลาว เขาให้เอาไปด้วยเผื่อไปซ่อม ให้เพื่อนแบกให้ ส่วนผมใช้ไม้ค้ำเป็นไม้ไผ่ผ่าครึ่งแล้วมีที่จับ ผ้าพันจักแร้ ปีนหน้าผาชันยังง่าย ก้าวยาววิ่งได้เท่าเขาอีก ไม่ต้องมีขาเทียมก็วิ่งได้เร็วกว่า คล่องตัวกว่าด้วยเวลาเดินป่า

กองเกวียนคาราวาน

“วงคาราวานเริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ตอนนั้นพี่หงาเป็นนักเขียน ชอบแวะเวียนไปคุยกับเพื่อนเขาที่เทคนิคโคราช อย่างอาจารย์สีสัน นพรัตน์ และอาจารย์ทวี รัชนีกร ซึ่งเป็นรุ่นพี่ศิลปากรที่รุ่นน้อง ๆ นับถือกัน ไปเริ่มต้นสร้างวิทยาลัยศิลปะแห่งใหม่ พวกนักคิดนักเขียนก็จะแวะไป พี่สีสัน นพรัตน์ เป็นอาจารย์สอนสถาปัตยกรรม   และตัวผมเป็นนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรม ก็มีการเชิญนักคิดนักเขียนอย่าง ลาว คำหอม, ท่านอังคาร มีอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ไปพูดเรื่องศิลปะ จนในที่สุดก็พูดเรื่องการเมือง คือพวกเราจะจัดกิจกรรมเรื่อย ๆ มันได้ความรู้ จนในที่สุดเชียงใหม่ออกหนังสือภัยเหลือง ฝนเหลือง ก็รับสู่กัน จนธีรยุทธ บุญมี เริ่มเคลื่อนไหว ผมก็เคลื่อนไหว เขามีหนังสือมหาวิทยาลัย ผมก็ออกหนังสือวิทยาลัย ขานรับกันตลอด จน จิระนันท์ พิตรปรีชา เขียนบทกวี ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ เราก็รู้สึกอยากจะบานแถวโคราชบ้าง 

“จนในที่สุดเกิดม็อบที่ลานย่าโม พี่หงามาเผยแพร่ประชาธิปไตย ผ่านไปทางยโสธร แวะโคราชพวกเราก็เล่นดนตรีแจมกัน ตอนนั้นผมทำวงบังคลาเทศกับทองกรานทานา มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ใครอยากทำอะไรก็เริ่มทำ คนที่บริจาคส่วนหนึ่งเขาให้ทำกิจกรรมต่อก็ทำ เริ่มมีเพลงเปิปข้าวแจมไปแจมมาตอนนั้นผมมีนักศึกษารุ่นน้องไปออกค่ายอาสาแล้วเอาพิณมาให้ผมตัวหนึ่ง ผมว่าผมเล่นเป็น ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก จูนสายเป็น ผมก็เล่นเลยเพลงกุลา เอาเพลงพี่หงามาเล่นใหม่ ผลสุดท้ายผมก็เอาดินทรายเอาอะไรมาเขย่าเป็นเพลงสไตล์นักศึกษาศิลปะ เสียงคือสี สีคือเสียง นั่นคือจินตนาการ กลายเป็นว่าพี่หงาชอบ 

“หลังจากนั้นประมาณเดือน สองเดือน พี่หงาโทรเลขให้มาเล่นในกรุงเทพฯ ก็ขนวงบังคลาเทศไปเล่นที่ธรรมศาสตร์เลือกเพลงกุลามาเล่น ได้ยินเสียงปรบมือครั้งแรก การแสดงครั้งแรก หลังจากนั้นพี่หงาก็ชวนทำวงคาราวาน เพื่อไปเล่นในงานสินค้าจีน สมาชิกบังคลาเทศบางคนก็ชวนกันกลับไปเรียน แต่ผมกับทองกรานไม่ไป คิดว่าเล่นดนตรีดีกว่า ก็เลยกลายเป็นคาราวาน 4 คน  พี่แดง วีระศักดิ์ สุนทรศรี เขามีบ้านพักนายทหาร พ่อแกเป็นทหาร อยู่กันมาจนที่สุดก็มีวง ทำซ้อมมาเรื่อย ๆ ซ้อมกันที่โคราช ไปที่ตึกเรียนผม เพราะผมยังเรียนไม่จบ ซ้อมกันที่นู้นแล้วก็เปิดเล่นที่โคราชบ้าง บุรีรัมย์บ้าง

“เมื่อเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง ก็มีคนพาไปออกทีวีกับพี่สุเทพ วงศ์คำแหง กับพี่รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ที่ขอนแก่น ช่อง 5 พวกเราเป็นวงที่มอมแมมที่สุด พี่หงาก็จะสนิทกับพี่สุเทพอยู่แล้ว ก็เลยพ่วงเอาคาราวานออกเล่นด้วย ไปทุกที่ก็ได้รับการตอบรับพอสมควร จากที่คนมองภาพว่ามอมแมมก็ได้ออกแผ่นเสียง กลายเป็นว่าขายดีติดอันดับ ชีวิตมันดีขึ้นตรงที่ว่าพอหลังออกเทปก็มีเงินเข้ามา แต่พวกเรายังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ต้องใช้เงิน อุปกรณ์เขาก็มีให้ ข้าวปลาก็มีให้บ้านก็ไม่ต้องเช่า ตอนนั้นค่ายเพลงให้รถตู้เราคันหนึ่งไปส่งเราที่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ไปถึงนักศึกษาก็มีหอพักให้นอน ถือถาดเข้าแถวกินเข้าเหมือนกับพวกกับเขา”

 เมืองสู่ป่า

“หลังจากทำวงมาได้พักหนึ่ง ตอนปี 2518 ประมาณเดือนสิงหาคม  ก็มีข่าวว่าชาวนาถูกฆ่าก็เยอะ  นักศึกษา พวกสังคมนิยมก็เริ่มถูกฆ่า ชาวบ้านก็อยู่ยาก เพราะหมู่บ้านที่ติดต่อกับคอมมิวนิสต์ อย่างพวกสหายลงมาซื้อข้าว ถ้าไม่รายงานเจ้าหน้าที่ หมู่บ้านนั้นก็เป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยถ้ารายงานเจ้าหน้าที่ คอมมิวนิสต์ก็มองว่าเป็นสาย มันอยู่ยากกระแสรุนแรงมาก ประเทศรอบ ๆ เราก็ด้วย มีจีนสังคมนิยมเป็นศูนย์ เวียดนามชนะอเมริกา เราก็เริ่มเกลียดอเมริกา เริ่มเป็นสังคมนิยม กระทั่งตอนเข้าป่าพวกนี้ช่วยเหลือเรา
เมื่อหนังสือพิมพ์เริ่มชี้นำว่าต้องเข้าป่า คาราวานเล่นที่ธรรมศาสตร์ ต่อด้วยที่จุฬาฯ แล้วก็ไปเล่นโคราช-อุบล-ขอนแก่น วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เล่นอยู่ขอนแก่นพอดี เหตุการณ์ในกรุงเทพฯ รู้สึกรุนแรง อยู่ไม่ได้แล้วตายอย่างเดียวเพราะฟังวิทยุมาทั้งคืนมันแรงมาก ถึงขอนแก่นพอกลางคืนกำลังจะเล่นก็ประกาศรัฐประหาร แค่นี้จบแล้ว พวกเราทุกคนตัดผมสั้น มีอะไรทิ้งให้หมด ไปถึงเมืองเลยก็เช้า ติดต่อสายก็บอกถ้าจะข้ามลาวต้องผ่านสหาย ที่นี้เตรียมตัวติดอยู่นั่น 2-3 วัน ดูข่าวแล้วมันเข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้แล้ว ในที่สุดเขาก็ออกข่าวว่าสมาชิกวงคาราวานตายหมดแล้ว กำลังจะเข้าป่าแต่โดนยิงทั้งหมด บ้านก็ถูกค้นหนังสือและเอกสารเอาไปเผาหมด  

“เรียกว่าพอเกิดเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2519 พวกเราก็เข้าป่ากันหมด เข้าไปวันแรกก็ประทับใจแล้ว ตั้งแต่เขาร้องเพลงต้อนรับเรา ผมชื่อสหายน้ำ ช่วงอยู่ในป่าก็ได้ไอเดียเขียนเพลงสหาย เขียนย้อนหลังเมื่อออกมาแล้ว ตอนนั้นเขียนเพลงรำวงเอาไว้เยอะ เพราะว่าเป็นการบันเทิงตอนกลางคืนผมเป็นแนวร่วม เป็นวงคาราวาน ซึ่งเขาต้องดูแล เขาไม่อยากให้เกิดเหมือนแบบยุค จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยศิลป์ ผมอยู่ในป่าแค่ปีเดียวพอปี 2521 ย้ายไปอยู่ในลาว พอปี 2522 ไปอยู่ในจีน 
อยู่ในจีนตอนแรกก็ไปเรียนดนตรีด้วย 4 เดือน ที่ต้องออกจากลาวเพราะมีกรณีจีนสั่งสอนเวียดนาม พรรคไทยเห็นด้วยกับจีน แต่ลาวเห็นด้วยกับเวียดนาม ตอนอยู่จีนได้เข้าไปทำงานในสถานีวิทยุกระจายเสียง สปท. คืออยู่ในสตูดิโอ พออัดเสร็จเขาจะมารับเทปไปออกอากาศ ก็อยู่อย่างนั้นได้6 เดือน จากนั้นก็ไปเป็นครูสอนลูก ๆ เหล่าสหาย พอมายุคป๋าเปรมถึงได้กลับบ้าน ออกนโยบายนักศึกษากลับบ้านไม่มีวันผิดผมก็กลับบ้าน ตอนกลับจากจีนผมไม่มีพาสปอร์ตด้วยซ้ำ ผมบินจากกวางตุ้งมากรุงเทพฯ ขอรายงานตัวในคดีการเมืองเจ้าหน้าที่เขาถามผมว่าจะทำอะไรต่อ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาก็แนะนำว่าพวกคุณควรจะเล่นดนตรีต่อ ผมออกมาเจอพงษ์เทพ เจอประเสิร์ฐ จันดำ แต่พี่หงายังอยู่ในป่า มีแดง วีรศักดิ์ สุนทรศรี ออกมาก่อน เขียนคอลัมน์ในโลกหนังสือ”

คืนสู่รัง 

“หลังจากพี่หงากลับบ้าน เราก็ได้ทำเพลงกันต่อ ตอนแรกทำกับค่าย EMI ก่อน คือ CONCERT FOR UNICEFต่อด้วยชุดบ้านนาสะเทือน และชุดคนตีเหล็ก หลังจากนั้นก็ออกจาก EMI ช่วงนั้นการเมืองก็ยังไม่ค่อยนิ่ง ช่วงแรกตอนคาราวานออกจากป่าใคร ๆ ก็อยากดู แต่ตอนหลังมีปัญหากับระบบเสียง เพราะเราเป็นวงอะคูสติก เซ็ตเสียงยาก ต้องเล่นไฟฟ้าถึงจะรับงานได้ ก็เลยกลายเป็นคาราวานยุคใหม่ เริ่มหาเบส หากลอง ทำชุด 1985 ออกกับค่ายแกรมมี่ ในที่สุดคนก็ลืมภาพคาราวานแบบเก่า อยู่แกรมมี่มาหลายชุดหลังจากนั้นผมก็ออกผลงานเดี่ยว  คิดว่าไปอยู่มาแทบทุกค่ายใหญ่ ๆ ในเมืองไทยแล้วครับ

“ผมว่าเพลงคาราวานคือเพลงการเมือง ที่ฝรั่งเรียก Politics Song คำว่าเพื่อชีวิตคือศิลปะ จิตร ภูมิศักดิ์เป็นคนกำหนดมา ศิลปะเพื่อศิลปะ หรือศิลปะเพื่อประชาชน คำว่าศิลปะเพื่อประชาชนคือศิลปะเพื่อชีวิตนั่นแหละ มันจะมีสะท้อนสังคม สะท้อนการเมือง คาราวานถูกกำหนดเรียกว่าเพื่อชีวิต เพราะมันก็มาจากที่ว่า ศิลปะต้องรับใช้ แต่จริง ๆผมว่าศิลปะมีทั้งบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ทั้งรับใช้และไม่รับใช้ บางครั้งศิลปะต้องรับใช้การเมือง ต้องรับใช้ประชาชน ก็เลยมีคำว่าศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน หรือศิลปะเพื่อศิลปะ จนในที่สุดเราก็มาทำเพลงเพื่อเสรีภาพ ทำเพลงอนุรักษ์ ผมก็มาดูว่าเส้นแบ่งมันน่าจะอยู่ที่จิตสำนึกเพื่อสังคม เพลงทุกเพลงก็ไม่จำเป็นต้องรับใช้การเมือง บางทีรับใช้อารมณ์ตัวเองบ้าง มันถึงมีเพลงรัก รักในทัศนะอะไร มันอยู่ที่ตัวงานและตัวศิลปิน”

พิณรำพึง

“ความสุขในช่วงนี้คือได้ทำงาน เขียนเพลงได้ เขียนได้เราก็มีความสุข เขามีงานในวาระอะไรก็เขียนให้เขาหน่อย เขียนไม่เยอะ แต่พวกนักเขียนก็อยากให้ผมเขียนหนังสือ คือผมเขียนได้คือตอนป่วยแค่นั้นเอง ตอนน้ำท่วมก็ไปอยู่เมืองกาญฯ ไม่มีกระดาษก็เอาไอแพดจิ้มทีละตัว ตอนแรกเอามาเขียนรูปเล่น แล้วก็อยากอธิบายว่าตัวเองเขียนอะไรอธิบายเฉย ๆ ก็ไม่ชอบต้องเป็นกลอน ผมก็ลองให้พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่าน เขาบอกไม่ได้เรียกเขียนกลอน เขาเรียกว่าเขียนกวี ส่วนเพลงตอนนี้เขียนสั้น ๆ ก่อน ชอบเขียนจากความรู้สึก อย่างไปบุรีรัมย์คราวนี้มันมีความสะเทือนใจกับงานศพ พี่ชายที่ทำงานรถไฟ ก็เลยเขียนเพลงเกี่ยวกับรถไฟ ภาพที่เราเคยเห็นเมื่อก่อนรถไฟใช้ฟืน ก็มีอารมณ์ที่จะเขียนอะไรที่มากระแทกใจเรา การเดินทางก็สำคัญ ที่จะต้องเจออะไรใหม่ ๆ มีเรื่องสะเทือนใจ ประทับใจ หรือจุดประกายอะไรสักอย่าง เราก็จะทำต่อได้ 

“ผมนับถืออาจารย์ทวี รัชนีกร เป็นอาจารย์ครับ อย่างตอนแกอายุ 60 ปี ทางสถาบันจะจ้างแกสอนต่อเพราะเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพมาก ผมบอกอาจารย์น่าจะเป็นศิลปินดีกว่า ลูกสาวแกก็ส่งเสริม ซื้อสี ซื้อเฟรม อายุ 60 ปี ทำงานยังไม่สาย เกษียณแล้วทำงานศิลปะยังไม่สาย เพราะสะสมประสบการณ์มาเยอะ แล้วสมัยแกไปเรียนศิลปากร แกก็ระดับเหรียญทอง ตอนนี้แกเลยเป็นอาจารย์พิเศษ และทำหน้าที่เป็นศิลปินเต็มตัว แล้วศิลปะยิ่งเขียนยิ่งเห็น คือถ้าไม่ทำมันจะขึ้นสนิม พอได้ทำมันจะต่อเนื่อง มันจะเห็นอีก
มันคือการปฏิบัติ งานศิลปะต้องทำเยอะ ทำเกินมนุษย์ 

“นิทรรศการแสดงภาพเขียนของผมจะมีประมาณวันที่ 24 เมษายนนี้ครับ แสดงร่วมกับศิลปินอีกท่านหนึ่งคือ ชัย บลูส์ คือตอนแรกเราคิดว่าจะจัดแสดงกันเล็ก ๆ แต่ไม่แน่อาจมีกิจกรรมรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ก็ได้ ถ้ามีสมาชิกมากพอ มีการแสดงดนตรีในแซกโซโฟนผับ และคิดว่าเร็ว ๆ นี้จะทำเพลงอีกสักชุดหนึ่ง เป็นเพลงรำวง อาจจะเล่นพร้อมกันบันทึกเสียงทั้งวง มีแอคคอเดี้ยน มีกีตาร์ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่จังหวะ รำวงที่ผมฮิตกันในป่ามันติดจังหวะแบบลาวตอนนั้นในป่าเขาห้ามฟังเพลงในเมือง เขาเรียกเพลงสังคมเก่า
เพลงลาวนั้นเนื้อหาเป็นการสร้างสรรค์ประเทศ จังหวะมันได้แต่ทั้งป่ามีแต่เพลงลาว ผมก็เลยต้องเขียนเพลงไทย เพลงปลุกใจที่ไม่ใช่เพลงมาร์ชอย่างเดียว” 

Redemption Song เพลงพิณพนมไพร