Organic and joyful valley
หนุ่มสาวหลายคนเมื่อได้ออกจากบ้านสู่โลกกว้างแล้ว น้อยคนนักที่จะกลับมาปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง แต่มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่คิดต่าง นั่นคือ Happy Field Happy Farm ที่มองว่าอยากจะรักษาผืนแผ่นดินที่ได้ปลูกข้าวเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กให้ยังคงอยู่ และอยากยกระดับอาชีพเกษตรกรให้มีเกียรติในฐานะผู้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ โดยมี ‘อุ๋ย-นิโลบล ประมาณ’ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อน
กิจการเพื่อสังคม Happy Field Happy Farm มุ่งที่จะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรจากชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ชุมชนภาคเกษตร โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชนตำบลน้ำชำ จังหวัดแพร่ เริ่มตั้งแต่ร่วมพัฒนากระบวนการปลูก การแปรรูปสินค้า และสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของกิจการเพื่อสังคมที่ชนะเลิศจากโครงการ ‘Banpu Champions for Change 5’
“สิ่งที่เราคำนึงถึงมากที่สุดก็คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ผลิตข้าว, ความยั่งยืนของชุมชน และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม พวกเราทำด้วยใจที่อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งภายนอกและภายใน เราวางเป้าให้ Happy Field Happy Farm เป็น Consultant หรือที่ปรึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการยกระดับผลิตภัณฑ์อันนั้นให้สามารถไปวางขายที่อื่นได้ เรียกอีกอย่างว่าเป็น ProductDeveloper อะไรก็ตามที่อยู่ในชุมชนเราก็จะพัฒนาทั้งหมดเลยครอบคลุมทั้งปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, ยารักษาโรค และที่พัก
“ทำไมต้องเป็นตำบลน้ำชำ จังหวัดแพร่ เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิด ซึ่งเราเป็นคนในพื้นที่ เรารู้จักพื้นฐานของที่นั่นมันสำคัญทั้งลักษณะผู้คน สังคม ความเชื่อและวิถีชีวิต ต้องเข้าใจทุกอย่าง เลยให้ที่นี่เป็นโมเดลสำหรับจุดเริ่มต้นกับสิ่งที่เราจับต้องได้ เหมือนเป็นพื้นฐานเอาไว้ไปปรับใช้กับชุมชนอื่น หลัก ๆ การทำงานของเรามีอยู่สามส่วนคือ เกษตรยั่งยืน, พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด”
ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่พวกเขาทำคือ ‘ข้าวกล้องเพาะงอกไร้มอด’ ซึ่งเป็นงานวิจัยจากคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ ที่มาเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยในชุมชนตำบลน้ำชำ จึงได้นำผลิตภัณฑ์นี้มาพัฒนาตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป และการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า ตลอดจนถึงกระบวนการเพื่อส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ข้าวกล้องเพาะงอกไร้มอด ก็แตกออกมาเป็นข้าวกล้องเพาะงอกผสม 7 สายพันธุ์ คัดสรรจากพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมือนกินวิตามินรวม การเพาะงอกทำให้ข้าวมันนุ่มแล้วหุงง่ายขึ้น เก็บได้นานไม่มีมอด ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์ ความหอม ความนุ่มก็จะต่างกัน สินค้าของเราไม่ใช่แค่ข้าว 7 สายพันธุ์ หรือข้าวกล้องเพาะงอกไร้มอดเท่านั้น แต่เป็นข้าวทุกชนิดที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่,ข้าวหอมมะลิเพาะงอก, ข้าวหอมมะลิธรรมดา หรือข้าวเหนียวดำทุกอย่างเป็นอินทรีย์หมด
“กลุ่มลูกค้าของเราจะเป็นผู้หญิง, กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนทำอาหาร, กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มสถาบัน อย่างพวกโรงเรียน, โรงพยาบาล, โรงแรม และร้านอาหาร ตอนนี้เรากำลังอยู่ในกระบวนการเพิ่งขออย. เสร็จ และเราก็ได้ทำแบรนด์เพิ่มขึ้นมาชื่อว่า ‘ม่วนจอย (Muanjoy Valley)’ เป็นการทำผลิตภัณฑ์จากจังหวัดแพร่ทั้งหมดเลย พื้นที่ของแพร่เป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีแม่น้ำผ่านตรงกลาง เราก็อยากจะขายความเป็นออแกนิค วิถีชีวิตที่ยังไม่มีอะไรปรุงแต่ง Joyful ก็คือคาแรกเตอร์ของคนภาคเหนือที่เป็นคนสนุกสนาน
“เราจะทำเท่าที่เราทำได้ ไม่ได้คำนึงว่าของจะหมดเมื่อไหร่ หมดคือหมด ถ้ากระแสตอบรับดีก็ต้องรอ เพราะเราก็ทำได้เท่าที่เรามี เราเน้นคุณภาพ ถ้าเราเน้นปริมาณเราก็จะคุมคุณภาพยาก ไม่ใช่ว่าเราจะทำแค่นี้ แต่เราจะค่อย ๆ ขยาย ตอนนี้เราโฟกัสแค่ตำบลน้ำชำ แต่ม่วนจอยจะรวมทั้งจังหวัด สเกลมันจะใหญ่ขึ้น ตอนนี้เราตัวแค่นี้เราก็ทำแค่นี้ไปก่อน แต่เติบโตแน่ ๆ แล้วอนาคตก็จะมีโปรเจ็กต์ใหม่เกี่ยวกับด้านการตลาด คิดว่าถ้าโมเดลนี้โอเคแล้วเราก็จะส่งประกวดอีกรอบ อาจส่งประกวดที่ต่างประเทศ เพราะเขาน่าจะโฟกัสทางด้านธุรกิจ เรารู้สึกว่าเป้าหมายทางสังคมเราชัดเจนอยู่แล้ว เลยพัฒนาด้านการตลาดเพื่อที่จะตอบโจทย์ด้านการทำเงินให้ดี มันก็จะส่งผลไปในอนาคตว่าเราจะดำรงชีวิตยังไงต่อไป เราจะทำงานร่วมกับเขาไปได้นานขนาดไหน หรือจะเจริญเติบโตแค่ไหน”
อนาคตของ Happy Field Happy Farm อยากเพิ่มจากแค่ชุมชนเดียวให้เป็นสองสามสี่ชุมชน จนทั่วประเทศไทยแต่เป้าหมายที่ชัดเจนที่สุด เธอบอกว่าอยากทำให้ม่วนจอยเป็นที่รู้จัก อยากให้จังหวัดแพร่เป็นเหมือนจังหวัดหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เล็ก ๆ แต่น่าอยู่ อยากให้คนมาสัมผัสโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่พวกเธอมีความเชื่อว่าจะต้องทำได้อย่างแน่นอน
Know Them
• ทีมงานมีทั้งหมด 4 คน แบ่งเป็นฝ่ายบริหารจัดการ, ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์, ฝ่ายการตลาด และฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยทีมงานเป็นคนภาคเหนือเกือบทั้งหมด
• Happy Field Happy Farm เริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2013 เคยมีความคิดว่าถ้าประกวดโครงการบ้านปูครั้งที่ 5 แล้วไม่ได้ ก็จะยุบกิจการเพื่อสังคมทิ้ง แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็เป็น 1 ใน 4 ของผู้ชนะเลิศโครงการนี้
• ติดตามต่อได้ที่ www.facebook.com/HappyFieldHappyFarm