ธนพ ตันอนุชิตติกุล

ธนพ ตันอนุชิตติกุล

ย้อนไปราวสิบกว่าปีที่ผ่านมา เด็ก ๆ ในยุคนั้นต่างตั้งหน้าตั้งตารอดู รายการไฮไลท์การ์ตูน 9 ที่มีพี่นัทกับน้องนพเป็นพิธีกร ในวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 8 นาฬิกา ทางช่อง 9 อสมท ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นรายการที่มีเรตติ้งดีที่สุดรายการหนึ่งของช่อง เมื่อเวลาผ่านไปแม้จะไม่ได้เห็นทั้งสองคนในบทบาทพิธีกรแล้ว แต่พวกเขายังคงทำงานอยู่เบื้องหลังจอการ์ตูนตลอดเวลา.

น้องนพ หรือ คุณธนพ ตันอนุชิตติกุล ผู้ที่คลุกคลีกับวงการการ์ตูนมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้มีประสบการณ์สูง เขาเปลี่ยนบทบาทจากคนเบื้องหน้ามาเป็นผู้บริหารในตำแหน่งกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท เอฟฟ์ จำกัด และ บริษัท การ์ตูน คลับ มีเดีย จำกัด ที่ให้ความบันเทิงกับเด็ก ๆ มานานหลายปี 

“การที่เคยอยู่เบื้องหน้าแล้วมาทำงานบริหารอยู่เบื้องหลัง ทำให้ผมเข้าใจธุรกิจการ์ตูนในภาพรวมได้ง่ายมาก เพราะเรารู้เรื่องของระบบการทำงานทุกขั้นตอนอย่างครบเครื่อง เช่นเรารู้ว่าต้องนำเสนอการ์ตูนในรูปแบบใดให้คนดูประทับใจ เพราะเราเข้าใจงานเบื้องหน้ามาก่อน จึงทำให้เราโฟกัสวางแผนการทำงานเบื้องหลังได้ง่ายขึ้น”

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าในยุคแรกการ์ตูนญี่ปุ่นที่ฉายทางทีวีของประเทศไทย มาจากบริษัท เอฟฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับทางช่อง 9 โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งรายการช่อง 9 การ์ตูน ซึ่งการ์ตูนเรื่องแรกมาออกอากาศคือโดราเอม่อน โดยมีทีมนักพากย์การ์ตูนชื่อดังอย่าง คุณนิดศันสนีย์ วัฒนานุกูล ผู้ให้เสียง โนบิตะ หรือ น้าต๋อย เซมเบ้ ที่พากย์การ์ตูนดังหลายเรื่องในช่อง จนมาถึงราว 15 ปีก่อน รายการไฮไลท์การ์ตูน 9 ได้ถือกำเนิดขึ้น ยุคนี้เองเราจึงได้เห็นพี่นัทกับน้องนพทางหน้าจอทีวี ที่เป็นผู้นำเสนอไฮไลท์และเพลงการ์ตูน โดยเพลงดิจิม่อนที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยก็เกิดจากรายการนี้  

เมื่อการ์ตูนเริ่มเข้ามาสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงราว 5 ปีที่ผ่านมา การ์ตูนจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงช่องฟรีทีวีอีกต่อไป เพราะมีช่องดาวเทียมเกิดขึ้นเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงทำให้ต้องมีการสร้างช่องออกอากาศของตัวเอง การ์ตูนคลับ ชาแนล จึงถือกำเนิดโดยทำในรูปแบบบริษัท การ์ตูน คลับ มีเดีย จำกัด ในอีกด้านหนึ่งบริษัท เอฟฟ์ จำกัด ยังคงทำงานร่วมกับช่องฟรีทีวี โดยมีการ์ตูนดังออกอากาศอย่าง โปเกม่อน, วันพีช, ฟิวเจอร์การ์ด,บัดดี้ ไฟท์ ฯลฯ

“เราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย เพราะตอนนี้เราเอาแบรนด์การ์ตูนคลับของเราบุกไปยังกลุ่มอาเซียน อย่างการไปออกอากาศที่กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม โดยเอารูปแบบที่เราเคยทำในประเทศไทยสำเร็จแล้วมาใช้ ซึ่งเราไปเป็นพาร์ทเนอร์กับช่องฟรีทีวี และสร้างทีมพากย์เป็นภาษาของประเทศเหล่านั้น

“โดยหน้าที่หลักในการทำงานส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตพี่ชายผม คือพี่นัทเขาจะดูแลเรื่องการบริหารการขายและติดต่อกับลูกค้าทั้งหมดส่วนผมจะทำในส่วนของแบ็คออฟฟิศ เช่นดูเรื่องคอนเทนต์การ์ตูนที่จะนำมาออกอากาศ เรื่องระบบการทำงานทั้งหมด เรื่องของงบประมาณ งานผลิตการ์ตูน แต่โดยภาพรวมจะดูคอนเทนต์การ์ตูนครับ

“กว่าจะได้การ์ตูนแต่ละเรื่องผมต้องเดินทางไปญี่ปุ่นปีละ 2 ครั้งไปดูเรื่องคอนเทนต์การ์ตูน ติดต่อกับบริษัทอนิเมชั่นเพื่อหาเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งผมจะยึดหลักการว่าการ์ตูนที่นำเข้ามาต้องดูสนุกและไม่มีพิษมีภัยและสร้างสรรค์สังคม อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของงบประมาณว่าคุ้มค่าหรือไม่ ซื้อมาแล้วต้องเลือกช่องเลือกช่วงเวลาลงให้ถูกจังหวะ แล้วทำอย่างไรให้สปอนเซอร์มาสนับสนุนการ์ตูนในช่องของเรา คือมันต้องมีการวางแผนในทุก ๆ เรื่อง

“ในการทำงานตรงนี้เรื่องของเรตติ้งสำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีเรตติ้งลูกค้าจะไม่เข้ามา คนภายนอกอาจมองว่าถ้าอยากให้เรตติ้งดีก็แค่ซื้อการ์ตูนเกรดเอทั้งหมดมาออกอากาศ แต่ความจริงทำไม่ได้ด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งความยากมันอยู่ที่การบริหารเงินในจำนวนจำกัดให้คุ้มค่า เพราะเราคาดเดาได้ว่ายอดขายของเราอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ถ้าหากเราใช้คอนเทนต์ที่ต่ำเกินไปเรตติ้งตกยอดขายก็ตกตาม มันจึงต้องบริหารให้สมดุลและต้องเตรียมแผนงานสำรองเอาไว้ด้วยครับ 

“มาวันนี้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเร็วมาก แล้วการอยู่วงการสื่อมันทำให้เราแก่ไม่ได้เพราะเราต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด ตอนนี้เราจึงเน้นไปในส่วนของสื่อดิจิตอลมากขึ้น ถ้าในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่น ที่เติบโตได้อีกเยอะแม้จะไม่ได้พร้อมมากขนาดนั้น แต่สื่อดิจิตอลต้องเติบโตไปด้วยกัน 

“ผมคิดว่าในยุคนี้เราต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด เราเริ่มตั้งแต่ยุคโทรทัศน์ดาวเทียม จนมาถึงทีวีดิจิตอล รวมทั้งในส่วนของออนไลน์ อินเตอร์เน็ต ไอที โทรศัพท์มือถือ เป็นสิ่งที่เราต้องเดินไปให้เร็วที่สุดอย่างแน่นอน ผมบอกได้ว่าการ์ตูนมันอยู่ได้ แต่อยู่ในรูปแบบไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง คือคนยังดูการ์ตูนเหมือนเดิมแต่เราจะนำเสนอออกไปให้มันอยู่ตรงไหนและทำธุรกิจด้วยวิธีไหนนี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องปรับตัว เรามองว่าเราเป็นผู้บริหารคอนเทนต์ที่สามารถไหลไปได้ในสื่อทุกรูปแบบ เราจะอยู่ในรูปแบบทีวีอย่างเดียวไม่ได้ เราเอาฐานการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีอยู่ของเราขยายไปในส่วนอื่น ๆ ทุกช่องทาง แต่อะไรที่เราไม่รู้จักมันดีเราจะยังไม่เสี่ยงไปทำมัน

Did you know? 

• ปริญญาตรีบริหารธุรกิจระหว่างประเทศและการตลาด University of Illinois Urbana-Champaign 
• ปริญญาโทด้านการตลาด 2 ใบ จาก Columbia University และ London Business School 
• ในอีกมุมหนึ่งเขาคือแฟนฟุตบอลพันธุ์แท้สโมสรบางกอกกลาส ที่ว่างเมื่อไหร่ต้องไปชมในสนามเมื่อนั้น

 

The Icon of childhood บทบาทใหม่ในเส้นทางสายเดิม