ทวารบาล

ทวารบาล

สองข้างประตูศาลเจ้าหรือศาลประจำตระกูลของจีนจะมีรูปทวารบาลติดเอาไว้ เชื่อกันว่าทวารบาลทั้ง 2 จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองให้ผู้ที่เข้าออกประตูอยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ นานา 

ทวารบาลที่เราเห็นคุ้นตา คือ เสินถู 神荼 กับ อวี้เหล่ย 郁壘 เป็นเทพนักรบ 

คติความเชื่อเรื่องทวารบาลของจีนแบ่งเทพทวารบาลออกเป็น 3 ประเภท คือ ทวารบาลฝ่ายบู๊ 武門神 , ทวารบาลฝ่ายบุ๋น 文門神 และทวารบาลเพื่อขอพร 祈福門神 ที่เราคุ้นเคยที่สุดน่าจะเป็นทวารบาลฝ่ายบู๊ 

ทวารบาลฝ่ายบู๊มีลักษณะขึงขัง เข้มแข็ง องอาจ ผึ่งผาย ที่เห็นบ่อยที่สุดน่าจะเป็น เสินถู กับ อวี้เหล่ย แต่ก็ยังมีทวารบาลฝ่ายบู๊อีกคู่หนึ่งที่รู้จักแพร่หลายมาก คือ ฉินฉง 秦瓊 กับ เว่ยฉือกง 尉遲恭 นอกจากนั้นก็อาจเจอรูปเทพใส่เสื้อแดงหน้าตาถมึงทึง หนวดเครารกครึ้ม ที่ชื่อ จงขุย 鍾馗  เสินถู 神荼 กับ อวี้เหล่ย 郁壘 เป็นเทพนักรบ ฉินฉง 秦瓊 กับ เว่ยฉือกง 尉遲恭 ก็เป็นนักรบ เกี่ยวกับทวารบาลฉินฉง กับ เว่ยฉือกง นี่แพร่หลายมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับการนอนฝันร้ายของถังไท่จง 唐太宗 เล่ากันว่ากษัตริย์ถังไท่จงมักจะนอนฝันร้ายบ่อย ๆ เวลาจะนอนก็เลยสั่งให้นายทหารใหญ่ที่ไว้วางใจมายืนยามที่ข้างประตู แต่ว่าบ้านเมืองขณะนั้นนักรบเก่ง ๆ ใช่ว่าจะว่างมาเป็นยามเฝ้าหน้าประตูให้คนนอนฝันร้ายได้บ่อย ๆ หน้าที่การดูแลนักรบและการต้องออกไปทำศึกสงครามทำให้ไม่ว่างมาปฏิบัติภารกิจเหลวไหลแบบนี้ได้ตลอดเวลา ครั้นจะไม่มีคนเฝ้าดูแลอยู่ใกล้ ถังไท่จงก็ไม่วางใจกระทั่งทำให้ผวาและนอนฝันร้าย ต่อมาจึงได้มีการวาดรูปนักรบที่เก่งกล้าสามารถ 2 คนเอาไว้ที่ประตูแทนนักรบ 2 คนนี้คือ ฉินฉง 秦瓊 กับ เว่ยฉือกง 尉遲恭 เรื่องเล่าเรื่องนี้เล่ากันอย่างแพร่หลาย และการวาดทวารบาลติดไว้ที่ประตูก็ทำกันแพร่หลายออกไป 

เทพทวารบาลที่ประตูไม่ได้มีเฉพาะตามศาลเจ้าหรือศาลประจำตระกูล (มูลนิธิตระกูลแซ่ต่าง ๆ ในประเทศไทยก็คือศาลประจำตระกูล ใครต้องการสืบสาแหรกครอบครัวของตนถ้ารู้ว่าตนเองแซ่ใด ก็สามารถไปเริ่มต้นสืบค้นย้อนกลับไปว่ารุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นทวด หรือย้อนกลับไปไกล ๆ ชื่อเรียงเสียงใด ขอเพียงหาข้อมูลเริ่มต้นได้สักชื่อว่าชื่อแซ่ใด เป็นลูกเต้าเหล่ากอของใครจากเมืองจีน หรือกระทั่งเพื่อนของคนรุ่นพ่อรุ่นปู่ที่มาจากเมืองจีนเป็นคนชื่อแซ่ใดก็ยังใช้ได้ จากนั้นเอาข้อมูลเบื้องต้นนี้กลับไปสืบต่อที่ศาลประจำตระกูลแซ่ของตนก็จะหาความกระจ่างชัดได้) 

ในบ้านคนจีนจำนวนหนึ่งก็มีรูปทวารบาลติดเอาไว้เช่นกัน ในเมืองไทยนั้นการติดรูปทวารบาลไว้ที่ประตูไม่นิยมแพร่หลาย แต่ถ้าเป็นที่เมืองจีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ ยังเป็นประเพณีที่ทำกันในวงกว้าง 

นอกจากทวารบาล เสินถู 神荼 กับ อวี้เหล่ย 郁壘 และ ฉินฉง 秦瓊 กับ เว่ยฉือกง 尉遲恭 แล้ว ถ้าสังเกตละเอียดสักหน่อยจะพบว่าบางทียังมีรูปเสืออยู่ในรูปทวารบาลด้วย เพราะว่าในคัมภีร์ซานไห่จิง 三海經 อันเป็นหนังสือโบราณที่เล่าเรื่องภูติผีปีศาจและเทพเจ้าต่าง ๆ ได้เขียนเอาไว้ว่า เวลาที่เทพเสินถูกับอวี้เหล่ยจับผีได้แล้วก็จะโยนให้เสือกิน ในความเชื่อนี้ เสือจึงเป็นสัตว์ที่ปราบภูติผีปีศาจไปด้วย 

เทพเจ้าที่มีโอกาสได้เห็นที่บานประตูในฐานะทวารบาลที่คุ้นตาไม่น้อย แต่ไม่เท่ากับ 2 คู่ข้างต้น คือเทพเจ้าจงขุย 鍾馗 

จงขุย 鍾馗 เป็นเทพเจ้าใส่เสื้อผ้าสีแดง หนวดเครารกครึ้ม มักวาดให้ถลึงตาโต ๆ และอยู่ในลีลาเคลื่อนไหว เป็นเทพปราบมารที่กินผีเป็นอาหาร ถ้าคนสะสมรูปปั้นเซรามิคจีนจะหารูปปั้นจงขุยได้ไม่ยาก พวกเชื่อเรื่องโชคลางชอบเอามาประดับบ้านหรือสำนักงานร้านค้า เชื่อกันว่าช่วยข่มขวัญและขจัดภูตผีปีศาจและสิ่งที่ไม่เป็นมงคลทั้งหลายได้ ยังมีทวารบาลอำนวยพร กลุ่มนี้จะใช้รูปที่เป็นมงคล เช่น ฮก ลก ซิ่ว (ซึ่งสามารถเลือกเอาว่าจะเอารูปที่ทั้ง 3 เทพอยู่ด้วยกัน หรือเลือกเฉพาะเทพใดเทพหนึ่งตามความชอบส่วนตัว) 

ในศาสนาเต๋า 道教 ใช้รูปมังกรเขียว 青龍 กับ เสือขาว 白虎 เป็นรูปทวารวาล เห็นรูปมังกรเขียวคู่กับเสือขาวก็สามารถบอกได้ทันทีว่านี่เป็นคติความเชื่อแบบศาสนาเต๋า 

เมืองไทยคุ้นกับทวารบาลขนาดใหญ่ ๆ เพราะมักเห็นเฉพาะตามประตูศาลเจ้าหรือศาลประจำตระกูล แต่ความจริงแล้วบ้านคนทั่ว ๆ ไปก็ติดรูปทวารบาลไว้ที่ประตูบ้านได้ เพียงแต่เขามักติดขนาดเล็กลงมา 

ในชุมชนที่มีคนจีนอยู่กันมาก ๆ มีรูปเทพทวารบาลขาย ปัจจุบันนี้มีทั้งที่พิมพ์สีสวยงามด้วยเทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ และที่เป็นลักษณะฉลุกระดาษ ย่านเยาวราชก็น่าจะหาซื้อได้ไม่ยาก สมัยก่อนนั้นแต่ละบ้านจะเอากระดาษแดงมาตัดฉลุเอาเอง เป็นงานศิลปะประดับตกแต่งบ้านเรือนที่เขาจะเปลี่ยนของใหม่ปีละครั้ง กระดาษแดงฉลุลายที่ติดตามประตูหน้าต่างเหล่านี้ช่วยสร้างบรรยากาศช่วงตรุษจีนให้สดใสคึกคัก คำจีนเรียกกระดาษแดงฉลุลายที่ติดช่วงตรุษจีนนี้ว่า เหนียนฮว่า 年畫 

เหนียนฮว่า 年畫 เป็นของราคาไม่แพงที่สร้างบรรยากาศสดใสให้กับบ้านได้ไม่แพ้โคมแดง และมันมีโอกาสให้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบ้านเป็นการเฉพาะมากว่า  

 

ทวารบาลทั้ง 2