Raise the Red Lantern

Raise the Red Lantern

Raise the Red Lantern เป็นหนังปี 1991 กำกับโดย จางอี้โหมว ตัวหนังประสบความสำเร็จมากในด้านคำวิจารณ์ และมีส่วนสำคัญในการเปิดศักราชหนังจีนแผ่นดินใหญ่ให้กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในโลกตะวันตก จนถือเป็น ‘ยุคทอง’

โดยแนวทางและอารมณ์หลักๆ ที่ปรากฏ Raise the Red Lantern แทบไม่มีสิ่งใดเข้าลักษณะของหนังอีโรติกเลยสักนิด กล่าวได้ว่าเป็นหนังชีวิตเข้มข้นจริงจัง มุ่งเน้นกลวิธีทางด้านศิลปะการนำเสนอ รวมทั้งเจตนาสะท้อนเนื้อหาสาระในทางลึก

อย่างไรก็ตาม แง่มุมในเชิงอีโรติกนั้นยังคงมีอยู่ และแปลกจนเกิดความโดดเด่นน่าสนใจมาก มักปราศจากฉากโป๊เปลือยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีฉากรักเลิฟซีนใดๆ ให้เห็นกันเลย แต่เล่าแสดงผ่านธรรมเนียมเก่าแก่ประจำตระกูลอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งพิธีกรรมและสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย

Raise the Red Lantern ดัดแปลงจากเรื่องสั้นขนาดยาวชื่อ Wives and Concubines เขียนโดยซู่ถง เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 หญิงสาววัยสิบเก้าปีชื่อซ่งเหลียน ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งสำคัญ เมื่อบิดาเสียชีวิต ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน เพื่อแต่งงานตามการตัดสินใจของแม่เลี้ยง

เรื่องเริ่มต้น เมื่อหญิงสาวเดินทางมาเป็นภรรยารายล่าสุดของนายใหญ่แห่งตระกูลเฉิน ซึ่งพำนักอยู่ในคฤหาสน์กว้างขวางใหญ่โตมโหฬาร เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ ธรรมเนียมต่างๆ มากมายที่ยึดถือสืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน เหตุการณ์คร่าวๆ ส่วนใหญ่ ว่าด้วยการชิงดีชิงเด่นระหว่างซ่งเหลียนกับภรรยาคนก่อนหน้าทั้ง 3 

พูดง่ายๆ คือ เป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเมียน้อยเมียหลวง พล็อตแบบเดียวกับละครโทรทัศน์หลังข่าวที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคย (ข้อยืนยันสนับสนุนอีกประการก็คือ โครงเรื่องของ Raise the Red Lantern เคยถูกหยิบยืมนำมาแปลงโฉมเป็นนิยายไทยเรื่อง ‘มงกุฎดอกส้ม’แล้วต่อมาก็ดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์อีกทอด ผลก็คือ ได้รับความนิยมฮิตถล่มทลาย)

ถึงกระนั้น พล็อตเรื่องเดียวกันที่กลายเป็นนิยายและละครไทย กับเรื่องสั้นดั้งเดิมของจีนและหนังฉบับที่กำกับโดยจางอี้โหมว ก็มีมุมมองวิธีคิดผิดแผกเป็นคนละขั้ว เนื่องจากมีเป้าหมายต่างไปอีกทาง คือ ใช้เค้าโครง ‘น้ำเน่า’ ในเชิงเปรียบเปรย เพื่อสะท้อน
แก่นสารสาระในทางลึก

Raise the Red Lantern ของจางอี้โหมว ยังก้าวรุดหน้าไปอีกขั้น ด้วยการประดิษฐ์ปรุงแต่งรูปแบบทางศิลปะเข้ามารองรับเนื้อหาเรื่องราวอย่างวิจิตรบรรจง

อาจกล่าวได้ว่า ในฉบับหนังของจางจางอี้โหมว จุดใหญ่ใจความของเรื่องราวทั้งหมดว่าด้วยเส้นทางชีวิตหักเหของตัวเอก ซึ่งค่อยๆ ก้าวย่างสู่จุดจบอันเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ

หนังแสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นตอนต่างๆ โดยถี่ถ้วน ว่าชีวิตของหญิงสาวนามซ่งเหลียน ค่อยๆ ปีนป่ายขึ้นสู่จุดรุ่งเรืองสูงสุด แล้วถัดจากนั้นต่อมาก็กลับพลิกผันตกต่ำ จนต้องลงเอยด้วยความพินาศย่อยยับได้อย่างไร?

ลีลาปรุงแต่งในลักษณะวิจิตรศิลป์นั้น เห็นได้ชัดตั้งแต่การกำหนดโครงสร้างวิธีเล่าเรื่องเป็น ต้น กลาง ปลาย โดยเทียบเคียงแต่ละช่วงฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ซึ่งมีบรรยากาศห้อมล้อมของดินฟ้าอากาศ สอดคล้องสัมพันธ์กับสถานการณ์แปรเปลี่ยนไม่คงที่ของตัวละครได้อย่างเหมาะเจาะ

เหตุการณ์หลักๆ ในช่วงฤดูร้อน เล่าถึงการเดินทางมารับตำแหน่ง ‘คุณนายที่สี่’ ของซ่งเหลียน การเผชิญกับโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดความเป็นอยู่เฉพาะตัว เต็มไปด้วยธรรมเนียมปฏิบัติอันพิลึกพิลั่นพิสดาร ตัวอย่าง เช่น ทุกคืนผู้เป็นสามีจะตัดสินใจเลือกหลับนอนกับภรรยาคนไหน? ก็จะมีพ่อบ้านป่าวประกาศอย่างเป็นทางการก่อนพลบค่ำ จากนั้นก็จะมีการจุดแขวนโคมแดงจนสว่างพราวไปหมดในบริเวณบ้านของภรรยาที่ถูกเลือก รวมทั้งมีการมอบสิทธิพิเศษ ‘นวดเท้า’ ให้แก่ฝ่ายหญิง ก่อนจะปรนนิบัติปรนเปรอสามีในยามค่ำคืน

หนังให้ข้อมูลไว้เด่นชัดว่า เท้าของสตรีเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของอิสตรี (สอดคล้องกับความเชื่อโบราณของชาวจีนที่นิยมให้ผู้หญิงรัดเท้า จนลีบเล็กเป็นรูปกลีบบัว ตามค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องทางเพศและความงาม)

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดที่หนังมีการขยายความลำดับถัดมา ทั้งการจุดโคมแดงและการนวดเท้า นอกจากจะมีแง่มุมพาดพิงถึงความปรารถนาทางเพศของฝ่ายหญิงที่รอคอยการตอบสนองแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงมองได้กว้างไกลไปอีก นั่นคือ บ่งถึงสถานะคนโปรดของผู้เป็นใหญ่สูงสุดในบ้าน และนำไปสู่การที่ภรรยาผู้นั้นจะมีอำนาจ (รองลงมาจากสามี) เหนือภรรยาคนอื่นๆ ส่งผลต่อท่าทีอ่อนน้อมหรือแข็งกระด้างในการรับใช้ของบรรดาบ่าวไพร่ รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยอย่างเช่น หากจุดโคมบ้านใด เช้าวันต่อมาคุณนายบ้านนั้นสามารถมีสิทธิเป็นผู้เลือกกำหนดรายการอาหารตามที่ตนเองชื่นชอบ

เรื่องราวในฤดูร้อนจบลงตรงที่ ซ่งเหลียนผ่านพ้นระยะข้าวใหม่ปลามันหลังแต่งงาน แต้มต่อต่างๆ เช่น ความสาวและการเป็นผู้มาใหม่เริ่มหมดความหมาย ตกอยู่ในสภาพเท่าๆ กับภรรยารายอื่น การแก่งแย่งเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้ได้รับการจุดโคมแดง จึงเหมือนการแข่งขันที่ทุกฝ่ายไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเด่นชัด

ฤดูใบไม้ร่วง เล่าถึงการก้าวสู่จุดสูงสูดของซ่งเหลียน จากนั้นความผิดพลาดพลั้งเผลอเพียงเล็กน้อยก็นำไปสู่หายนะ ความลับของเธอถูกคู่แข่งเปิดโปง กลายเป็นความผิดฉกาจฉกรรจ์ จนต้องโดนลงโทษสถานหนักด้วยการคลุมโคมแดงอย่างไม่มีกำหนด อันหมายถึง การหมดสิทธิเป็นผู้ถูกเลือก ปราศจากอำนาจ กลายเป็นคุณนายที่สี่แต่เพียงในนาม และมีฐานะเหมือนเป็นแค่ผู้อาศัย

ฤดูหนาว เหตุการณ์ปมความขัดแย้งต่างๆ ขมวดเข้มข้นจนนำไปสู่บทสรุปที่เศร้าสะเทือนใจ ความตกต่ำและการพยายามดิ้นรนเพื่อคืนสู่สถานะเดิมของคุณนายที่สี่ ส่งผลให้เธอก่อความผิดพลาดโดยไม่เจตนาอยู่เนืองๆ และที่หนักหนาสาหัสสุด คือ คำพูดบอกเล่าบางอย่างที่หลุดปากในขณะเมามาย ก่อให้เกิดเรื่องร้ายแรงบานปลายเกินกว่าที่เธอจะคาดคิด

เรื่องร้ายและน่าสะพรึงกลัวดังกล่าว กลายเป็นฝันร้ายคอยหลอกหลอน และเปิดแผลความรู้สึกผิดบาปในใจของซ่งเหลียนชนิดกรีดลึกไม่มีวันจางหาย

จนกระทั่งในบทสรุปปิดท้าย คือ ฤดูร้อนปีต่อมา ครอบครัวตระกูลเฉินก็แต่งภรรยาคนใหม่มาเป็นคุณนายที่ห้า ห้วงขณะที่บรรยากาศกำลังรื่นเริงเนื่องในงานมงคล บริเวณมุมหนึ่งของบ้าน ก็เผยให้เห็นซ่งเหลียน - คุณนายคนที่สี่ ในสภาพชำรุดแตกสลาย จนไม่หลงเหลือคราบคนเดิมอีกต่อไป

นอกเหนือจากการใช้โครงสร้างแบ่งเรื่องเล่าตามฤดูกาลแล้ว หนังยังสมทบเพิ่ม ด้วยบทเกริ่นสั้นๆ ตอนเริ่มต้นและบทสรุปทิ้งท้ายในลักษณะเดียวกัน

ความยอดเยี่ยมของ Raise the Red Lantern มีอยู่หลายประการ เบื้องต้นสุดคือ ลีลาทางศิลปะ ซึ่งนำเอาการจัดองค์ประกอบภาพ มุมกล้อง แสง - เงา การตัดต่อลำดับภาพ การใช้สี การออกแบบงานสร้าง รวมถึงการใช้เสียงและดนตรีประกอบ ทั้งหมดนี้ผสมรวมจนทำให้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคฤหาสน์ ดูเหมือนการจำลองสร้างโลกเฉพาะขึ้นมาใหม่ เป็นโลกอันแปลกประหลาดที่เต็มไปด้วยบรรยากาศเคร่งขรึม เย็นชา และแฝงไว้ด้วยความน่าสะพรึงกลัวซ่อนอยู่ลึกๆ

ความโดดเด่นต่อมา คือ เนื้อหาสาระที่เปิดกว้าง สามารถตีความอ่านประเด็นไปได้สารพัดสารพัน สุดแท้แต่มุมมองความเข้าใจของผู้ชมแต่ละท่าน เช่นว่า เป็นการเล่าสะท้อนถึงโศกนาฏกรรมในชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งการพูดถึงปัญหาสิทธิสตรี การกดขี่ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ การโจมตีแสดงด้านลบของสังคมจีนยุคสมัยศักดินา เรื่อยไปจนถึงประเด็นเรื่องการแก่งแย่งและช่วงชิงอำนาจ ฯลฯ

ที่น่าทึ่งคือ ขณะที่หนังพาผู้ชมเข้าไปสู่ประเด็นต่างๆ อย่างหลากหลายและซับซ้อน โครงเรื่องหลักกลับดูง่าย สนุกชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนหนังชีวิตเข้มข้นปกติทั่วไป

ประการสุดท้าย โดยรวมส่วนใหญ่แล้ว หนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรม มักทำออกมาดีสู้ต้นเรื่องเดิมไม่ได้ แต่ Raise the Red Lantern เป็นข้อยกเว้นส่วนน้อยที่หนังทำออกมาได้ดีกว่าหนังสือ 

เหตุผลสำคัญน่าจะอยู่ที่ขนาดและความยาวจากเรื่องเดิมกำลังพอเหมาะ สามารถเก็บความรายละเอียดมาถ่ายทอดได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น

อีกประการหนึ่งก็คือ ในระหว่างการดัดแปลงเป็นหนัง มีการเพิ่มเติมสิ่งสำคัญที่ไม่ปรากฏในตัวเรื่องเดิม นั่นคือ รายละเอียดเกี่ยวกับธรรมเนียมพิธีการจุดโคมแดงและการนวดเท้า ซึ่งช่วยให้หนังเกิดความหลักแหลมเฉียบคมขยายความจนผู้ชมเกิดความกระจ่างเกี่ยวกับแรงจูงใจของตัวละครทั้งหมดได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดแง่มุมความงามทางศิลปะในการเปรียบเปรย และมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายในทางลึก 

 

 

จุดโคม - นวดเท้า