เซกอง - อัตตะปือ

เซกอง - อัตตะปือ

เกือบอาทิตย์ในแดนดินลาวตอนใต้ เราพาตัวเองเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับอากาศร้อนอย่างร้ายกาจ สู่ไอหมอกและความเหน็บหนาวบนที่ราบสูง ไล่เลยไปถึงฝนกระหน่ำหนักราวกับจะหลอมรวมเส้นทางกลางขุนเขาและผู้คนของสองประเทศเข้าด้วยกัน
ตัวตนของคำว่าชายแดนไม่เคยลบเลือนหาย แม้ว่าโลกของเหล่านักเดินทางโรแมนติกจะพยายามบิดพลิ้วหรือตีความร้อยสานมันเข้าด้วยกันไม่ว่าจะมิติใดก็ตาม

1 ...

ด่านช่องเม็ก - วังเต่าในเช้าวันนั้นเต็มไปด้วยความคึกคักเรืองโรจน์ ยากที่ใครสักคนซึ่งผ่านพาตัวเองมาสู่แดนดินลาวใต้ในยุคหลังสงครามเย็นจะจินตนาการได้ถึงวันนี้ การค้าขายทำมาหากินผลักพาชีวิตให้หลากไหลไปตามคืนวันและการเปลี่ยนแปลง

ขอบรั้วเขตแดนคล้ายไม่มีจริงในดวงตาของผู้คนทั้งสองประเทศ พวกเขาเดินข้ามไปมาตามแต่ห้วงเวลากำหนดของรัฐบาล มีเพียงด่านตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้นที่เป็นสิ่งตอกเตือนให้รู้ว่า วังเต่ากับช่องเม็กนั้นอยู่คนละดินแดน เราและเขาต่างก้าวเดินอยู่กันคนละฟากฝั่งของเชื้อชาติ

กว่า 40 กิโลเมตร หลังผ่านพ้นวังเต่าที่คนลาวเรียกกันว่า “ต่อเขต” ถนนลาดยางเรียบกริบไร้ที่ติพาเราเข้าสู่เมืองปากเซ ห้วงยามที่ข้ามสายน้ำโขงเหนือขัวลาว - ญี่ปุ่น ใครบางคนพรึงเพริดเอากับภาพตรงหน้าที่ซุกซ่อนความเจริญของปากเซ เมืองเอกของแขวงจำปาสักไว้ หลังจากที่มันเคยเป็นเสมือนขนมหวานแห่งการเปลี่ยนแปลงนับแต่ลาวเปิดประเทศราว 20 ปีก่อน

สายน้ำเซโดนไหลบรรจบน้ำโขง ก่อเกิดเป็นเมืองที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของจำปาสัก 1 ใน 4 แขวงหลักของลาวใต้ ร่วมกับสาละวัน เซกอง และอัตตะปือ พูดได้ว่าความเติบโตของปากเซที่เรากำลังผ่านเข้าไปหานั้น คือศูนย์กลางความเจริญ ไม่เพียงแต่ด้านการค้าขาย หากแต่หมายรวมไปถึงการรักษาพยาบาลและศูนย์รวมด้านการศึกษาของลาวใต้

เราใช้ทางหลวงหมายเลข 16 อันแล้งร้อนออกจากปากเซ ห้วงยามที่มันค่อยๆ ยกตัวขึ้นสู่กายภาพเหนือระดับทะเลปานกลาง รายรอบล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวผ่านไหลไปในกรอบหน้าต่างเมื่อไปถึงหลัก 40 ริมทางเย็นชื่นตามความสูงที่เริ่มฉีกห่างจากพื้นราบ ร้านกาแฟเล็กๆ เรียบง่ายกลายเป็นที่พักของคนขับรถทางไกล 

ภายใต้เรือนไม้เรียบๆ ยกพื้นกรุ่นหอมไปด้วยอาราบิกาที่มีที่มาจากเรี่ยวแรงของคนบนนี้ สวนชาและโรงเรือนคั่วใบชาส่งกลิ่นหอมยามบ่ายในสวนกาแฟเล็กๆ เหนี่ยวรั้งเราไว้อย่างอ้อยอิ่งเหนือความงดงามและเขียวรื่นของที่ราบสูงบอละเวนนั้นห่มคลุมอยู่ด้วยอดีตอันขมหวาน ที่เมืองปากซ่อง แดนดินที่ว่ากันว่าคือต้นทางของกาแฟรสชาติดีแทบทั้งหมดทั้งมวลในนามกาแฟลาวนั้นเต็มไปด้วยการเติบโต ค่อยๆ ลบเลือนความเลวร้ายของสงครามและชีวิตทุกข์ยากในอดีตอันผ่านพ้น

ผ่านหมู่บ้านชนเผ่าละเหินอันตกทอดเป็นชีวิตตามมีตามเกิดอย่างที่เคยเป็นมา มันดูแข็งแรงมั่นคงขึ้นบ้างหากเทียบกับแต่ก่อน แต่โดยรวมคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายากไร้เราเข้าไปถึงพื้นที่ที่วันนะลีเลือกเดินผ่านระบบสัมปทานของรัฐ แต่ปลายทางนั้นไม่ใช่เขื่อนและการตัดไม้

เหนือความสูงร่วม 1,000 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ไอหมอกห่มคลุมเทือกเขา สีเขียวครึ้มของผืนป่าราวผืนพรมนุ่มละมุน เราก้าวลงทางชันดิ่งสู่ตาดตะเยิกเสือที่เมื่อไปถึงความรู้สึกประเภทอยากก้มลงกราบความงดงามนั้นอย่างเต็มหัวใจ สายน้ำแผ่ผืนจากผาสูงโปรยละอองราวกับไม่ใยดีต่อหน้าเลนส์ของเพื่อนช่างภาพ ความลื่นชันกว่าจะลงมาถึงไม่เคยใส่ใจกับสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยว

กว่าจะผ่านพ้นออกมาจากตาดตะเยิกเสือ เราก็พบว่ายามค่ำคืบคลุมเมืองปากซ่องเอาไว้ก่อนที่เราจะไปมีโอกาสไปกันอีกไกล ค่ำคืนเย็นเยียบ ณ ภูเทวดา คือห้วงเวลาน่าจดจำ

คืนนั้นกลางดาวเกลื่อน ผมนึกถึงบางเรื่องราวระหว่างหนทางขึ้นมาสู่บอละเวน นึกถึงกาแฟและผลไม้สักต้นและใครสักคนที่มองมันด้วยดวงใจบริสุทธิ์ ท่ามกลางการย่อยสลายของวันเวลาอย่างเงียบเชียบกลางอากาศหนาวเหน็บ 

2 ...

ตลาดเช้าของเมืองปากซ่องคล้ายที่พบกันของเมืองและป่าเขา สินค้าจากแดนไกลทั้งจีนและไทยปะปนอยู่กับของป่า กระจงตัวย่อมๆ นอนเรียงเหนือโต๊ะไม้ผสมผสานด้วยภาพคึกคักที่เกิดขึ้นชั่วคราวในยามเช้า

เราผละจากทางหลวงหมายเลข 16 ไปที่เมืองท่าแตง หลังจากแวะเที่ยวสวนกาแฟสีหนุกอันแสนร่มรื่นและทันสมัย รอยยิ้มของหญิงสาวชาวตะเรียงในชุดประจำเผ่ากลางสวนกาแฟมีเสน่ห์พอๆ กับอาราบิกาที่คั่วได้มาตรฐานสากล น่าดีใจที่โลกอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทับซ้อนมีที่ทางให้คนเล็กๆ บนนี้พอจะมีที่ยืน

ไม่นานเราลงจากความสูงของบอละเวนเข้าสู่เขตแขวงเซกองด้วยทางหลวงหมายเลข 1 หนทางราบเรียบอันไม่ใส่ใจอดีตอันผ่านพ้นพาเรามาถึงเมืองละมาม 

เมืองเอกของแขวงเซกองที่รายรอบเป็นบ้านอันจริงแท้ของพี่น้องชาวลาวเทิงอันแสนหลากหลายด้วยความคิดความเชื่อ วัฒนธรรม และชีวิตประเภท “พลเมืองชั้นสอง” อันไม่เคยเปลี่ยนแปลงเมืองละมามพลิกผันไปจากตัวหนังสือของนักเดินทางหรือเอ็นจีโอในยุคหลังสงครามเย็น ความเป็น “The Zone” หรือพื้นที่ด้อยพัฒนาทั้งความเจริญและวิถีชีวิต ล้วนตรงกันข้ามกับตัวอักษรและเรื่องเล่า ผังเมืองละมามขีดด้วยถนนสามสี่สายเป็นโครงข่ายสี่เหลี่ยมอย่างง่ายๆ ไร้ร่องรอยของตึกเก่าในยุคอาณานิคม หรือบ้านไม้
ในสวนหมากหรือสวนมะพร้าวอย่างที่พบเห็นทั่วไปในเมืองส่วนใหญ่ของประเทศลาว ทุกอย่างค่อยๆ เติบโตเปลี่ยนแปลง    

เรามุ่งลงใต้ตามทางหลวงหมายเลข 11 ทิ้งละมามไว้ในเปลวแดด เราใช้ 80 กิโลเมตรไปในถนนหนทางอันแสนราบเรียบ ไม่น่าเชื่อว่านี่คือแดนดินที่ห่างจากความเจริญที่ปากเซนับร้อยกิโลเมตร เต็มไปด้วยการพบกันของโลกเก่าและโลกใหม่มาเนิ่นนาน

สายภูหลวงเหยียดยาวทบซ้อนอยู่เบื้องขวา สภาพป่าเขาสายน้ำหลากล้น และความอุดมสมบูรณ์ของแขวงทางตอนล่างสุดของลาวอันมีชายแดนติดต่อทั้งเวียดนามและกัมพูชา อย่างอัตตะปือฉายชัดอยู่ด้วยความใหญ่โตและผู้คนลาวเทิงอันประกอบกันขึ้นเป็น
ความหลากหลายอย่างถึงที่สุดในเขตแขวงอัตตะปือรวมไปถึงเซกองที่เราผ่านพ้นนั้นคือบ้านของชาวลาวเทิงหลายเผ่า เช่น ละเวน ละแว ตะเรียง กะตู อาลัก หรือโอย พวกเขาพูดจากันในภาษาตระกูลมอญ - ขแมร์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากทรัพยากรป่าไม้อันเป็นอาหารอันโอชะของระบบทุน ความน่าสนใจของวัฒนธรรมดึงดูดให้นักภาษาศาสตร์ นักมานุษยวิทยา จากหลายมุมโลกเดินทางมาถึงที่นี่ก่อนหน้าเราหลายปีนัก

ปลายบ่าย ... เมืองสามักคีไซเหยียดขยายความเป็นเมืองเอกของแขวงอัตตะปืออยู่อย่างที่มันควรจะเป็น ห้องการราชการใหญ่โต ห้างสรรพสินค้าประเภทช้อปปิ้งมอลล์รอการก่อสร้าง โรงแรมสไตล์เวียดนามเสียดตั้งเกาะกลุ่มกันเป็นดาวน์ทาวน์ ขณะที่ผู้คนลาวลุ่มดูจะพบเจอกันได้น้อยกว่าคนเวียดนามที่เข้ามาปักหลักทำมาหากิน

มันแตกต่างกับข้อมูลเบื้องต้นที่ไกด์บุ๊กหลายเล่มให้คำจำกัดความเมืองไกลชายแดนแห่งนี้ไว้สิ้นเชิง สายน้ำเซคะหมานและเซกองโอบล้อมสามักคีไซไว้อย่างเก่าแก่ ย่านตลาดเชิงสะพานดูจะเป็นความงดงามแบบพริมีทีฟที่ยังหลงเหลือ เช่นเดียวกับที่เราเลาะไปริมลำน้ำ เสียงกี่ทอผ้าเงียบหายไปพร้อมกับบ้านใต้ถุนสูง ทว่าการเติบโตที่เมืองไกลแห่งหนึ่งควรจะมีก็เชื้อเชิญให้เราเดินเล่นทำความรู้จักอยู่ถึงสองวัน

วันเวลาเคลื่อนหมุนทุกอย่างไปด้วยความเท่าเทียม เต็มไปด้วยการย่อยสลายจากยิ่งใหญ่สู่เสื่อมถอย ชะตากรรมของบ้านเมืองสักแห่งก็เช่นกัน ที่ถูกผลักพาไปด้วยทิศทางและเหตุผลอันแสนซับซ้อนที่ยากจะแจกแจงอธิบายโดยมนุษย์ตัวเล็กๆ เช่นเรา

3 ... 

มิตรภาพของคนสร้างทางครั้งยุคลาวเริ่มเปิดประเทศตกทอดเป็นเส้นทางอันน่าทึ่งที่พาเราฉีกออกจากสามักคีไซเพื่อไปสู่เขตภูเขาอันเป็นที่ตั้งของสิ่งที่เรียกว่าชายแดนหนทางแปลกเปลี่ยวลัดเลาะไปในความชันและคดโค้ง หากไม่นับรถโดยสารประจำทางที่เต็มไปด้วยผู้คนท้องถิ่นของลาวและเวียดนาม ถนนสายยาวไกลเส้นนี้ไร้ซึ่งการสัญจรประเภทเดินทางท่องเที่ยว และเนืองแน่นไปด้วยรถพ่วงขนาดใหญ่พร้อมภาพการโอนถ่ายทรัพยากรป่าไม้ออกสู่เวียดนาม

เราร่วมไปเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขาอย่างไม่รู้จุดหมายและภาพที่รอคอย ทว่าการสวนความสูงลัดขึ้นลัดลงไปตามความคดโค้งก็น่าตื่นตาไม่น้อย ที่หลัก 52 บนเส้นทางสู่ชายแดน ปรากฏเป็นหมู่บ้านชาวเวียดนามที่เข้ามาทำมาหากินผูกโยงทั้งแคมป์สร้างทางในอดีต ไล่เลยไปถึงการทำไม้ รวมไปถึงผู้คนทุกเพศวัยไม่เว้นแม้แต่ร้านบาร์เบอร์และกาแฟสไตล์เวียดนามอันเต็มไปด้วยนัยยะเคลือบแฝง

ที่ด่านพูเกือ การมาถึงของรถราขนไม้ รถโดยสาร รวมไปถึงผู้คนตามชายขอบของทั้งสองแผ่นดินตกทอดอยู่ที่ด่านอันใหญ่โต ที่อีกฟากเขาคือเมืองเปลคานของเวียดนาม ทว่ารอบด้านคือร้านอาหารเล็กๆ ไม่กี่ร้าน โลกตรงหน้าราวกับจุดเล็กๆ บนภูมิประเทศอันไพศาลที่เต็มไปด้วยการพบกันของความงามอันจอมปลอมและความดีชั่วอันแท้จริง 

How to go?

การเดินทาง
แดนดินลาวใต้นั้นเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวอันน่าสนใจสำหรับคนหลงใหลการท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ

หากสนใจมาเที่ยวปากเซ จำปาสัก เซกอง อัตตะปือ ควรมุ่งตรงมาตั้งต้นที่เมืองปากเซเป็นแห่งแรก เพราะเพียบพร้อมไปด้วยที่พัก จุดต่อรถ และแหล่งข้อมูลมากมาย

สำหรับการเดินทางไกลสู่แขวงอัตตะปือ หากไม่นำรถข้ามเข้าประเทศลาวเอง ที่สถานีขนส่งวีไอพีปากเซ (เกียงไก) มีรถบัสวีไอพีออกจากปากเซเวลา 06.00 น. ราคาค่าโดยสาร 60,000 กีบ โทร. 0 - 3121 - 2228 

การติดต่อ 

หากต้องการข้อมูลท่องเที่ยวที่แน่นอน นอกจากไกด์บุ๊ก เว็บไซต์ท่องเที่ยวอันมากมายแล้ว ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว (Information Center) / พะแนก (แผนก) ท่องเที่ยว หรือห้องการท่องเที่ยวจะมีอยู่ตามเมืองหลักของแต่ละแขวง โดยปกติศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวแทบทุกแขวงในลาวจะเปิดให้บริการในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 น. - 11.30 น.และ 13.30 น. - 16.00 น.

สู่ความเป็นไปแห่งชายแดน