อินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย

วันพุธที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ขณะที่เขียนแม้ว่าผลที่เป็นทางการจะยังไม่ประกาศ แต่ผมก็ฟันธงไปนานแล้วว่า นายโจโค วิโดโด หรือที่คนอินโดนีเซียชอบเรียกว่า ‘โจโควี่’ จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย MiX ฉบับนี้ผมเลยขอเขียนถึงสายสัมพันธ์ของนักการเมืองที่โน่นว่า เขามีความสัมพันธ์โยงใยกันมากน้อยแค่ไหน ...

เริ่มกันที่ผู้สมัครหมายเลข 1 กันก่อน นายพลปราโบโว สุเบียนโต อดีตนายทหารใหญ่ นอกจากพ่อของเขาจะเคยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจในสมัยของประธานาธิบดี ซูการ์โน และประธานาธิบดี ซูฮาร์โต แล้ว ตัวนายพลปราโบโว เองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต เพราะเขาเป็นอดีตลูกเขย เคยแต่งงานกับลูกสาวของซูฮาร์โต แต่ภายหลังได้หย่าร้างกันไป

ส่วนความสัมพันธ์กับประธานพรรค PDI-P คือนางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ที่ส่งนายโจโควี่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับเขา ก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นายพลปราโบโวเคยลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับนางเมกาวาตีมาแล้ว

ส่วนคู่สมัครกับเขาในตำแหน่งรองประธานาธิบดีคือนายฮัตตา รายาซา นั้น นอกจากจะเคยเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐมนตรีกับนายซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน หรือ SBY ในสมัยที่นางเมกาวาตีเป็นประธานาธิบดีแล้ว ในสมัยที่สองของการเป็นประธานาธิบดีของ SBY ในช่วงปี พ.ศ.2553 - 2557เขาก็ได้ดึงเอานายฮัตตามารับตำแหน่งรัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ ให้มารับผิดชอบดูแลแผนพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของอินโดนีเซีย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้เติบโตติดหนึ่งในสิบของโลกที่ชื่อ MP3EI ด้วย สัมพันธ์กันทางการงานยังไม่พอในด้านส่วนตัวนายฮัตตา ยังมีฐานะเป็นพ่อตาของลูกชายคนเล็กของ SBY อีกทางหนึ่งด้วย

มาดูกันที่ผู้สมัครหมายเลข 2 นายโจโควี่ นั้น เขาเป็นเพียงคนเดียวในวงการการเมืองของ อินโดนีเซียที่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองคนอื่นๆ เลย เพราะเขาเติบโตมาจากครอบครัวธรรมดาๆ ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อสุราบายา หรือ โซโล เรียนในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เรียนจบก็ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ก่อนจะกระโดดเข้าสู่วงการการเมืองท้องถิ่นบ้านเกิด ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี เมื่อได้รับเลือกตั้งโจโควี่ได้พัฒนาและยกระดับจากเมืองเล็กๆ ที่คนไม่สนใจ ให้กลายเป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ประชาชนได้รับสวัสดิการที่ดีทั้งทางด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข สุดท้ายเมืองโซโลก็ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองแห่งมรดกโลกอีกแห่งหนึ่ง

ด้วยฝีมือที่โดดเด่น การบริหารที่โปร่งใสและถึงลูกถึงคน โจโควี่ก็เลยถูกชักชวนให้มาสมัครเป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ซึ่งก็ได้รับเลือกตั้งเสียด้วย เมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ โจโควี่ ก็ได้ปฏิรูปการบริหารจัดการเมืองให้โปร่งใส และมีประสิทธิภาพด้วยการนำเอาระบบไอทีเข้ามาช่วยในการบริหาร ทำให้การยื่นขออนุญาตของประชาชนในการลงทุนทำธุรกิจก่อสร้างหรือการขออนุญาตต่างๆ เป็นไปด้วยความโปร่งใสและรวดเร็ว ปัญหาต่างๆ ของกรุงจาการ์ตาที่หมักหมมมานานก็ถูกนายโจโควี่แก้ไขอย่างรวดเร็ว ด้วยสไตล์การทำงานแบบเน้นการลงมือและตรวจสอบ

บริหารกรุงจาการ์ตาได้แค่สองปี ผู้คนก็เรียกร้องให้เขาลงสมัครเป็นประธานาธิบดี พรรค PDI-P ซึ่งนางเมกาวาตีเป็นประธานพรรคก็ได้ไปชักชวนนายโจโควี่มาลงสมัครในนามพรรค ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างมากเพราะเพียงประกาศชื่อออกมา หุ้นก็ขึ้น คะแนนนิยม
พรรค PDI-P ก็ขึ้น ...

แม้ว่านายโจโควี่จะเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่ผู้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับโจโควี่ที่ชื่อ นายยูซุฟ คัลลา นั้นกลับไม่ธรรมดา เพราะนายยูซุฟซึ่งเป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งของอินโดนีเซียในอดีต นอกจากจะเคยเป็นรัฐมนตรีทั้งในรัฐบาลของประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มาน วาหิด และรัฐบาลของประธานาธิบดีเมกาวาตีแล้ว นายยูซุฟยังเป็นผู้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับ SBY ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกของอินโดนีเซียในปี พ.ศ.2547 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นคู่ของ SBY กับนายยูซุฟ ชนะการเลือกตั้ง นายยูซุฟจึงได้เป็นรองประธานาธิบดีคู่ใจของประธานาธิบดี SBY

แต่เมื่อบริหารประเทศมาครบเทอมคือ 5 ปี ประธานาธิบดี SBY ก็ได้เลือกคนอื่นมาลงสมัครคู่เป็นรองประธานาธิบดีแทนเขา ในการสมัครสมัยที่สองในปี พ.ศ.2552 นายยูซุฟจึงได้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีเสียเอง โดยลงคู่กับนายพลวิรันโต ประธานพรรคฮานูรา ในการเลือกตั้งครั้งนั้นประธานาธิบดี SBY ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องเป็นสมัยที่สอง

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้พรรคฮานูราของนายพลวิรันโต ประกาศสนับสนุนทีมของนายโจโควี่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพราะความสัมพันธ์กับนายยูซุฟ คัลลา ยังแนบแน่นดีอยู่หรือเพราะนายพลวิรันโตยังจำเรื่องราวในอดีต ระหว่างเขากับนายพลปราโบโว ที่เคยมีการแย่งชิงอำนาจกันตอนที่ทั้งคู่ยังอยู่ในกองทัพกันแน่

อีกคนที่ต้องเขียนถึงเพราะเป็นหญิงเหล็กผู้ทรงอิทธิพล นั่นคือประธานพรรค PDI-P นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี นั่นเอง อ่านแค่ชื่อก็พอรู้แล้วว่าเธอเป็นบุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียที่ชื่อ ซูการ์โน นางเมกาวาตีนั้นเคยเป็นรองประธานาธิบดีสมัยประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มาน วาหิด ต่อมาก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังจากนายวาหิดถูกสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ในสมัยที่นางเมกาวาตีเป็นประธานาธิบดีนั้น เธอเคยแต่งตั้ง SBY เป็นรัฐมนตรีมาดูแลงานด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งพอหมดสมัยทั้งสองฝ่ายก็แยกทางกัน ฟอร์มทีมลงแข่งเป็นประธานาธิบดีเสียเอง โดยนางเมกาวาตีลงคู่นายพลวิรันโต และ SBY ลงคู่นายยูซุฟ คัลลาคู่สมัครของโจโควี่คราวนี้

เห็นชัดเลยนะครับว่าสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองของอินโดนีเซียนั้นเขาโยงใยผูกพันกันน่าดู ผูกพันเหนียวแน่นแบบนี้ เลยทำให้อำนาจทางการเมืองของอินโดนีเซียถูกมองว่าผูกขาดอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ มาโดยตลอด การเมืองจึงอาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้นเอง

การก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของคนธรรมดาๆ เช่น นายโจโควี่ ก็เลยเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่มากๆ ของอินโดนีเซีย และก็ต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมากของการเมืองสมัยใหม่เป็นพัฒนาการก้าวที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่นั่น ซึ่งในอดีตเคยมีความขัดแย้งทางความคิดระบอบการปกครอง การแย่งชิงอำนาจจนเกิดการสูญเสียการฆ่ากันตายเพราะความขัดแย้งเหล่านี้หลายแสนคนเลยทีเดียว

แต่มาวันนี้อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจาก อินเดียและสหรัฐฯ กำลังแสดงให้โลกเห็นว่าประชาธิปไตยของเขาพัฒนาไปได้ไกลกว่าใครๆ ใน AEC ด้วยกัน กระบวนการจัดการเลือกตั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบและการคานอำนาจระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรอิสระ ระบบตุลาการ การปราบปรามคอร์รัปชั่น มีความชัดเจน เป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากกว่าไทยเรานัก ... แล้ววันหลังจะเขียนให้อ่านครับ 

 

การเมืองเรื่องของความสัมพันธ์