ทนง โชติสรยุทธ์

ทนง โชติสรยุทธ์

การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ของเด็กไทยจำเป็นต้องได้รับสารอาหารแห่งความรู้ที่ดี ซึ่งรากฐานอันสำคัญยิ่งที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ของเด็กไทยเติบใหญ่กลายเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ก็คือ ‘การอ่าน’ ณ วันนี้คุณทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักดีในชื่อสั้นๆ ว่า ‘ซีเอ็ด’ ถือได้ว่าเป็นอีกบุคคลสำคัญหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นพร้อมที่จะเป็นต้นกล้าที่เติบโตต่อไป

วันวานในวัยเยาว์

ใครจะคิดว่ากรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น ผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือที่มีสาขากว่า 500 แห่งทั่วประเทศ จะเติบโตมาจากครอบครัวธรรมดา แต่มันกลับทำให้เขาตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการศึกษาและตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างบริษัทที่เอื้ออำนวยต่อการหาความรู้ในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการศึกษา

“ผมเกิดจากครอบครัวคนจีนธรรมดา คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพค้าขาย ชีวิตเริ่มต้นในครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินทองอะไรมากมาย แต่โอกาสอย่างหนึ่งที่คุณแม่ให้ผมมาตลอดก็คือให้ซื้อหนังสือได้เต็มที่ ตอนมัธยมต้นผมอยากเรียนรู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ อยากรู้ว่าซ่อมวิทยุทรานซิสเตอร์ทำอย่างไรก็ซื้อหนังสือมาอ่านเอง อ่านหมดทุกเล่มที่มีขายตอนนั้นจนคิดว่าตัวเองรู้เรื่องแล้วเดินไปที่ร้านซ่อมวิทยุเพื่อขอฝึกงานโดยไม่เอาเงินสักบาท หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ผมจ่ายเงินผมก็ยอม ซึ่งในที่สุดเจ้าของร้านสงสารก็ยอมให้มาฝึกงานด้วย

ทนง โชติสรยุทธ์
ทนง โชติสรยุทธ์

“ทางร้านเขานำวิทยุเครื่องนึงมาให้ผมลองซ่อม แต่ครึ่งวันผ่านไปก็ไม่สำเร็จแม้จะเปิดตำรากางไว้ดูประกอบเต็มไปหมด ขณะเดียวกันก็มีพี่คนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาทำงานในร้านได้ไม่นานมาช่วยดูให้ ปรากฏว่าใช้เวลาแค่ 5 นาทีก็ซ่อมเสร็จเรียบร้อย ทั้งๆ ที่พี่คนนี้เรียนรู้การซ่อมแบบช่างพื้นฐานแบบชาวบ้านๆ จากช่างในร้านที่สอนด้วยกระดานชนวนเท่านั้น ผมกลับมาคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นระหว่างผมซึ่งการเรียนดี อ่านหนังสือมาเต็มที่ แต่ในขณะที่พี่คนนั้นมีการศึกษาแค่ระดับประถม แล้วก็ได้เรียนรู้จากครูที่สอนแบบครูลักพักจำ ไม่มีหนังสือให้อ่าน ซึ่งก็พบว่าผมเรียนรู้แต่ไม่เข้าใจการทำงานนึกเป็นภาพไม่ออกว่ามันเกิดอะไรขึ้นทำไมถึงเสีย เสียเพราะอะไร ผมจึงต้องเรียนรู้ใหม่เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไป

“แล้วด้วยความที่สมัยเด็กๆ ไม่ค่อยมีหนังสือให้อ่านผมจึงต้องดิ้นรนสอบเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนที่อยู่ใกล้หอสมุดแห่งชาติมากที่สุด เพื่อหวังว่าสักวันจะได้อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ทุกเล่มจนหมดหอสมุดแห่งชาติ ในที่สุดก็ได้เรียนโรงเรียนวัดราชาธิวาส อยู่ติดกับท่าวาสุกรีตอนเรียนผมชอบเข้าไปอ่านหนังสือที่หอสมุดจนถึงเวลาที่หอสมุดปิด ค้นหาวารสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศย้อนหลัง 10 ปี จนบรรณารักษ์เบื่อหน้า ทำให้ผมมีข้อมูลเยอะ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้ผมเป็นอย่างทุกวันนี้

“นอกจากนั้นผมยังต้องไปที่บ้านหม้อซึ่งเป็นย่านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกคืน แล้วรอให้คนขายพูดคุยกับลูกค้าจนเสร็จเรียบร้อย จนกระทั่งเขาว่างพอที่จะมาบอกผมว่าอุปกรณ์ตัวนี้คืออะไร ทำงานยังไงบัดกรียังไง จนสามารถซื้ออุปกรณ์เหล่านั้นแล้วมาประกอบทำเครื่องวิทยุทรานซิสเตอร์ขายครูที่โรงเรียนและพวกแม่บ้านได้ เพราะช่วงนั้นทรานซิสเตอร์เพิ่งเกิด ผมจึงรู้สึกว่าแต่ละเรื่องกว่าได้เรียนรู้มันช่างยากเย็นเหลือเกิน เด็กคนอื่นไม่ควรต้องมาลำบากแบบผม ฉะนั้นถ้าผมมีความรู้เมื่อไหร่ผมจะเป็นบันไดให้คนอื่นได้เหยียบขึ้นไปหาความรู้ได้เร็วขึ้น”

ความฝันอันแรงกล้า

ซีเอ็ดเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากความฝันหรืออุดมการณ์ของหนุ่มวิศวฯ จุฬา จำนวน 10 คน จากทั้ง3 รุ่น ที่หลายคนเคยทำกิจกรรมชุมนุมวิชาการมาก่อน เพราะอยากจะเห็นภาพคนไทยได้อ่านหนังสือดีๆ มีความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศไทย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 40 ปี ถ้าไม่มีพลังของคนกลุ่มนั้นคอยขับเคลื่อนอุดมการณ์ คงไม่มีซีเอ็ดที่ตั้งตัวเองว่าเป็น Knowledge Provider อย่างทุกวันนี้

“ตอนเรียนอยู่ปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จุฬาฯ ผมเขียนบทความเรื่องการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เคยมีนิสิตปี 1 เขียนมาก่อนเพราะตอนนั้นคนที่เขียนได้ส่วนมากคือนิสิตปี 4 แต่ผมอ่านหนังสือมาเยอะ หลังจากนั้นจึงเริ่มก่อตั้งชมรมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาแล้วก็เป็นบรรณาธิการทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์ออกเผยแพร่

ทนง โชติสรยุทธ์
ทนง โชติสรยุทธ์

“พวกเราทำกิจกรรมด้านวิชาการมาเยอะ เลยเกิดคำถามว่าถ้าเราไม่ทำต่อแล้วประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ในช่วงสี่สิบปีก่อนยุคนั้นประเทศไทยยังไม่ค่อยมีหนังสือความรู้สักเท่าไหร่ มีแต่หนังสือการเมือง นิยาย จึงกลายเป็นความเชื่อตามมาว่าคนไทยไม่รักการอ่านหนังสือ ใครที่ทำหนังสือความรู้วิชาการออกมาคงขายไม่ได้แน่ๆ แต่ผมกลับรู้สึกว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อยากอ่านหนังสือพวกนั้น แล้วในฐานะที่เคยอยู่ชุมนุมวิชาการมาก่อน ที่เคยยุ่งเกี่ยวกับการทำหนังสือฟิสิกส์ นิยายวิทยาศาสตร์ แล้วมาทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์เองก็พบว่ามันขายดีมาก แสดงว่าลึกๆ แล้วคนไทยยังมีความต้องการที่จะอ่าน เพียงแค่มันไม่มีให้อ่านเท่านั้นเอง 

“ดังนั้นหน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้มีหนังสือความรู้ดีๆ ออกมาต่อเนื่อง รุ่นพี่รุ่นน้องที่จบวิศวฯ จุฬา ทั้ง 3 รุ่นก็เลยตกลงกันว่าจะก่อตั้งบริษัทชื่อ“ซีเอ็ดยูเคชั่น” (Science, Engineering and Education หรือ SE-ED) ขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะเผยแพร่ความรู้ในฐานะที่เราเป็นผู้มีความรู้แล้วระดับหนึ่ง ซึ่งเราก็เริ่มจากด้านการทำหนังสือวิชาการ หนังสือด้านวิศวกรรมศาสตร์ แล้วก็แตกแขนงมาเรื่อง How to ด้านธุรกิจ หนังสือด้านคอมพิวเตอร์ หนังสือชุดคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่นำการ์ตูนญี่ปุ่นมาใช้เพื่อทำให้เรื่องยากๆ กลายเป็นเรื่องง่าย สนุก เรียนรู้ง่าย กระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากอ่าน อยากเรียนรู้ได้ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เด็กๆ อยากเรียนวิทยาศาสตร์

“เรามีความเชื่อว่าการจะทำให้คนไทยรักการอ่านได้นั้น ร้านหนังสือจำเป็นต้องตั้งอยู่ในวิถีสัญจรของเขา แล้วหนังสือส่วนใหญ่ที่ขายได้ไม่ใช่เพราะความตั้งใจที่จะซื้อเล่มใดเล่มหนึ่ง แต่มันเกิดจากความไม่ตั้งใจ นั่นหมายความว่าถ้าร้านหนังสือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่คนทั่วไปสามารถไปเดินได้บ่อยๆ ก็อาจจะทำให้เขามีโอกาสได้เห็นหนังสือที่น่าสนใจเยอะขึ้น แล้วก็จะเริ่มอ่านหนังสือ ซึ่งจะทำให้นิสัยรักการอ่านเกิดขึ้นได้”

การศึกษาสร้างคน สร้างชาติ

เมื่อจำนวนร้านหนังสือมีเพิ่มมากขึ้น แต่กลับพบว่าประสิทธิภาพทางการศึกษาของเด็กไทยไม่ดีขึ้นอย่างที่คิดไว้ ดัชนีและผลการสำรวจทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าการศึกษาของไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าศักยภาพของเด็กเจนเนอเรชั่นใหม่ไม่อาจสู้ประเทศอื่นได้แม้แต่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเดียวกันก็ตาม ดังนั้นความตั้งใจที่อยากพัฒนาประเทศมีอยู่หนทางเดียวก็คือต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย

“ผมตั้งใจร่วมเปิดโรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกแนวใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะอยากจะล้างความเชื่อที่ว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนทางเลือกจะมีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่สู้โรงเรียนอื่นไม่ได้ แต่ผมก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าขณะนี้ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนเราอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยที่เด็กไม่เอาเป็นเอาตายเรื่องการเรียน ไม่ต้องติวและไม่ต้องกวดวิชา ซึ่งถ้าเด็กเรียนรู้และเข้าใจผลสัมฤทธิ์ที่ดีก็จะตามมาเอง

“คำว่าทางเลือกของเราคือยืดหยุ่นทุกเรื่อง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นตามสิ่งที่เราอยากได้ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กของเรา ถึงแม้จะใช้โครงสร้างหลักสูตรของการศึกษาไทยก็ตาม โดยจะพยายามให้เรียนทุกวิชาที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในอนาคต อย่างเด็กของเราทุกคนก่อนเปิดเทอมขึ้น ป.2 จะต้องเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดเป็นเวลา10 วัน ซึ่งปกติในประเทศไทยไม่มีใครสอน เราเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนว่าทำอย่างไรเด็กถึงจะมีความมุมานะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์การตัดสินใจ ทำอย่างไรถึงจะขายไอเดียเป็น ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญของอาชีพทั้งหมด

ทนง โชติสรยุทธ์
ทนง โชติสรยุทธ์

“อย่างไรก็ตามผลิตผลที่ออกมาจากโรงเรียนเราอย่างมากก็มีจำนวนปีละไม่เกิน 100 คน ซึ่งเราก็คงเปลี่ยนประเทศไทยไม่ได้ จึงได้ก่อกำเนิด ‘มูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น’ โดยมูลนิธินี้จะรวบรวมเศษเงินทอนจากกล่องบริจาคที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ของร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ทุกสาขา เพื่อนำมาเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทยและสร้างเด็กไทยให้เก่งขึ้น ตอนนี้เงิน 30 กว่าล้านบาทที่เราได้มาจากกล่องบริจาคทุกบาททุกสตางค์ที่นำไปใช้ผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งสิ้น

“ห้องสมุดโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง เกิดขึ้นเพราะเศษเงินทอนจากลูกค้าซีเอ็ดทุกคน และในขณะนี้เราก็กำลังสร้างโครงการทดลองที่ทำให้เด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษขึ้นโดยที่โรงเรียนไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท ซึ่งมูลนิธิเป็นผู้ซัพพอร์ตการทดลองครั้งนี้ให้ทั้งหมด หลังจากที่เราได้ทดลองกับโรงเรียนด้อยโอกาส 20 กว่าโรงเรียนแล้วพบว่ามันได้ผลเราจึงขยายผลกับโรงเรียนที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เพียงแค่ 1 ปี เด็กจะสามารถพูด ฟัง อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้ในระดับที่คุณต้องตกใจ จนตอนนี้มีโรงเรียน
เข้าร่วมโครงการกับเราหลายร้อยโรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนชั้นนำต่างๆ ด้วย ซึ่งในอนาคตเรากำลังจะทดลองอีกหลายๆ เรื่อง เพราะถือว่าเรามีหน้าที่สำคัญในการสร้างคน

“ด้วยเหตุนี้ซีเอ็ดจึงได้รับรางวัลด้าน CSR (CorporateSocial Responsibility) อยู่บ่อยๆ แต่เป็น CSR ที่ไม่เหมือนองค์กรอื่นๆ ตรงที่เป็น CSR in process คือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในการทำงานชีวิตประจำวันของเราเลย อยู่ในวัตถุประสงค์การก่อตั้งบริษัท อยู่ในเป้าหมายการดำเนินงานของเราอยู่ในเนื้องานที่เราทำกันทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มงานให้ตัวเองโดยการไปปลูกป่า ดำน้ำปลูกปะการัง เก็บขยะซึ่งทุกวันนี้เราก็ดีใจและมีความสุขที่ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อสังคม ประเทศชาติเองก็ได้ประโยชน์” 

ก้าวย่างที่สำคัญในแวดวงน้ำหมึก

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอตัวลง เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งทุกแวดวงต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจในแวดวงสิ่งพิมพ์ที่แต่เดิมก็เป็นธุรกิจที่กำไรน้อยอยู่แล้ว และยิ่งในสภาวการณ์ที่สื่อดิจิตอลกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมแบบนี้ ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกันยกใหญ่

“ที่ผ่านมาซีเอ็ดถือว่าเติบโต และได้รับการยอมรับว่ามีราคาหุ้นที่ดีในธุรกิจสิ่งพิมพ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาเราก็เจอสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเรื่องค่าแรงงานที่สูงขึ้นถึง 300 บาท ค่าเช่าที่ในศูนย์การค้าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังประสบปัญหาค่าขนส่งที่แพงขึ้น เพราะมีอัตราเหลือคืนหนังสือจำนวนมาก ทำให้ต้องเสียค่าขนส่งมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจของเรามาก

“แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือเราเจอภาวะกำลังซื้อสุทธิลดลงเพราะโครงการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างรถคันแรกบ้านหลังแรกที่ทำให้กำลังซื้อถูกลดทอนลงไป ซึ่งภาวะนี้กระทบถึงธุรกิจการค้าทั้งหมด ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ผมว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเร็วจนปรับตัวไม่ทัน ขณะเดียวกันแน่นอนว่าเราก็ต้องแก้ปัญหาโดยการปรับให้รายได้ของเราสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทางซีเอ็ดจึงตั้งเป้าหมายให้มีสินค้า Nonbook มากขึ้นถึง 20 - 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งร้าน ทั้งนี้การเพิ่มสัดส่วน Nonbook ก็ไม่ได้หมายความว่าจำนวนหนังสือในร้านจะลดลงไปเป็นสัดส่วนเดียวกันด้วย เพราะ Nonbook มีมูลค่าที่สูงกว่าหนังสือเยอะและอัตราการหมุนเวียนสูงกว่าหนังสือ ทำให้ใช้พื้นที่สำหรับแบ่งให้สินค้าเหล่านี้ไม่เยอะ แต่สามารถสร้างรายได้ได้เยอะ

ทนง โชติสรยุทธ์
ทนง โชติสรยุทธ์

“นอกจากนี้เรายังพยายามเพิ่มและปรับปรุงในเรื่องบริการของร้าน ลูกค้าอยากได้หนังสืออะไรก็ตาม เพียงแค่จองหนังสือที่สาขาไหนก็ได้ หรือสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นในมือถือ แล้ววันรุ่งขึ้นก่อนเที่ยงคุณก็จะได้รับหนังสือทันที เพราะเราเป็นร้านหนังสือที่มีฐานข้อมูลเยอะที่สุดในประเทศไทย มีสต็อกสินค้าพร้อมส่งเยอะที่สุด นั่นหมายความว่าระบบโลจิสติกส์ของเรามีจุดเด่นมากพอที่จะสามารถส่งหนังสือให้ลูกค้าได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย หรือเกาะสมุยก็ตาม ที่สำคัญคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

“ส่วนเรื่องการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคดิจิตอล จริงๆ ผมว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์มันเข้ามานานแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ทำให้คนวิตกกันเยอะพอสมควร แน่นอนว่าเราหลีกเลี่ยงกระแสของมันไปไม่ได้ ทั้ง E-Magazine หรือ E-Newspaper ถูกรุกคืบมากสุดในขณะนี้ แต่ก็โชคดีว่าในช่วงที่ผ่านมาเราพบว่ามันไม่ได้น่าเป็นห่วงมากขนาดนั้น เพราะในตลาดของอเมริกาที่ถือว่าเป็นคนนำร่องในเรื่อง E-book ขณะนี้มีการเติบโตชะลอตัวลง ขณะที่หนังสือเล่มยังคงเติบโตอยู่ ฉะนั้นตอนนี้ปัญหาจริงๆ ไม่สำคัญว่าจะอ่าน Book หรือ E-book เพราะมันคือได้อ่านเหมือนกัน แต่ปัญหาหลักคือคนมีเวลาอ่านน้อยลง เนื่องจากด้วยวัฒนธรรมก้มหน้าที่ทำให้คนเราใช้เวลาในการอ่านน้อยลงและจะอ่านเฉพาะอะไรที่สั้นๆ

“ดังนั้นวงการหนังสือทั่วโลกขณะนี้จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนมีเวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ไม่งั้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศนั้นเอง ทั้งความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการใฝ่รู้ก็จะหายไปด้วย หากทุกคนมัวแต่ก้มหน้าแชทกันก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในระยะยาวด้วย เราจึงต้องช่วยกันเพื่อให้แต่ละประเทศอยู่รอด ไม่ใช่เพื่อให้ธุรกิจหนังสืออยู่รอดอย่างเดียว” 

 

เพาะต้นกล้าแห่งการเรียนรู้