กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์
นิยามของ ‘คนตาบอด’ ในสังคมอาจมองที่การไร้ซึ่งความสามารถในการมองเห็น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็คือส่วนหนึ่งในสังคมที่ไม่ควรมีการจำกัดสิทธิ์อะไรที่ผิดแผกแตกต่างจากกัน ในหลายครั้งที่สังคมมักหยิบยื่นหลายสิ่งให้กับกลุ่มคนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนพิการ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดกลับเป็นเพียง “โอกาส” ที่เท่าเทียมกันในสังคม
ดังนั้นจึงยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เฝ้าดู มองเห็น และพยายามสร้างโอกาสให้แก่คนในสังคมเท่าๆ กันในรูปแบบที่แตกต่างออกไป โดย หลุยส์ กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์หนึ่งในผู้กำกับละครเวทีคนตาบอด “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ซึ่งเป็นละครเวทีสำหรับเชื่อมโลกของคนตาดีและคนตาบอดเข้าด้วยกัน ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ที่ แตกต่างให้กันและกัน ...
“เราเริ่มต้นจากหัวใจที่บอกว่าคนตาดีกับคนตาบอดที่ต้องทำงานร่วมกันได้ เพื่อส่งต่อละครไปยังคนตาดีและคนตาบอดได้ดูด้วยกันได้ เพราะเราเชื่อว่าเรามีจุดเชื่อมคือความมืดมิดที่เราทุกคนต้องเคยมีเหมือนกัน เช่น เมื่อเราหลับตา”
หลุยส์ เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่มีมีความฝัน และเชื่อมั่นในจิตวิญญาณและความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน เขาบอกว่าชีวิตนั้นเปลี่ยนไปเมื่อแปดปีที่แล้ว ที่ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาสาขาละครและการแสดง จากมศว ประสานมิตร มันทำให้เขาได้ค้นพบว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขารักและมีความสุขมีความมุ่งมั่นที่จะเดินบนเส้นทางนี้ต่อไป ดังนั้นทันทีที่เราเรียนจบก็ยังคงมุ่งเดินหน้าสู่เส้นทางสายละครด้วยการทำละครเวทีและเป็นครูสอนละครอีกด้วย
“ผมมองว่าชีวิตเรา สังคมของเรานั้นมีทางเลือกไม่มากนัก ดังนั้นผมจึงอยากให้ละครเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของศิลปะที่คนไทยควรจะทำความรู้จักและเลือกที่จะเสพได้ และการที่หันมาทำละครเวทีสำหรับคนตาบอดนั้น ก็มีแนวคิดมาจากการที่ผมสนใจละครในสังคมไทยเป็นพิเศษ แล้วมองเห็นว่าสิ่งที่มันขาดไปในสังคมไทยนั้นก็คือ ‘ทางเลือก’ ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขามีทางเลือกจำกัดที่จะอยู่ในสังคม ผมจึงมองเห็นว่าในเมื่อเรามีความตั้งใจที่จะอยู่กับละครเพราะมันคือชีวิตของเรา มุมมองเริ่มต้นของผมแบบนี้มันจึงทำให้ครั้งหนึ่งเมื่อผมได้มีโอกาสไปสอนการบ้านใหคนตาบอด ก็ได้คุยกันกับน้องๆ เหล่านั้น ถึงแนวความคิดชีวิตต่อไปในอนาคตของพวกเขา ซึ่งได้พูดถึงทางเลือกกับอาชีพว่าสำหรับพวกเขาแล้วมันมีน้อยมาก คนบางก็ยังไม่รู้เลยว่าอยากจะทำอะไรแล้วมันจะได้ทำอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ผมก็มองว่าเราได้มองเห็นจุดเดียวกันในเรื่องของทางเลือกในชีวิตที่ต่างคนก็มีกรอบบังคับกันอยู่ ก็เลยคิดว่าเราลองมาทำละครเวทีร่วมกันไหมระหว่างคนตาบอดกับคนตาดี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น ...
ว่ากันว่าสำหรับละครเวทีเรื่องนี้ คนตาบอดและคนตาดีที่เป็นทั้งเบื้องหลัง นักแสดง และผู้ชมจะมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นในขณะที่เข้าชมละครจึงจัดให้มีการใช้ผ้าปิดตาให้ละครเวทีในความมืดได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับแสงสว่างในจิตใจของทุกคน
“ส่วนการทำงานระหว่างกัน ผมมองว่าจากแนวความคิดว่าผมจะทำละครเวทีเพื่อคนตาบอด จุดเริ่มต้นมันง่ายเลย คือ เราไม่รู้ว่าเราต้องทำตามใคร เราไม่มีกรอบ เราได้ทดลองทำด้วยตัวเอง เราได้มีทางเลือกได้อีกล้านทางเลยให้เราได้ลองทำ แต่สิ่งที่ยากก็คือระหว่างทางที่มันจะมีปัญหามาโดยตลอด ส่วนใหญ่แน่นอนว่ามันต้องเป็นเรื่องของการสื่อสารระหว่างกัน เอาง่ายๆ แค่คนตาดีสื่อสารกับคนตาดียังมีปัญหาเลย ซึ่งปัญหามันมีมาให้ได้แก้ไขทุกวัน แต่ข้อดีของมันก็คือเรามีปัญหาใหม่ๆ มาให้ได้แก้ไขเสมอ
หมายความว่าเราได้เรียนรู้ในแต่ละปัญหาที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วและแก้ไขจนไม่เกิดขึ้นมาอีก เรามองข้อดีของการเรียนรู้ตรงนี้มากกว่า เราเลยไม่มีการท้อใจ
“สิ่งที่ยากก็คือการปิดใจ ไม่เปิดรับทางเลือก หรือสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นชิน เช่นเวลาที่เราทั้งคนตาดีและตาบอดนั่งคุยร่วมวงเดียวกัน ในขณะที่เราคนตาดีพูดคุยหัวเราะกันอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนตาบอกเขานั่งนิ่ง ไม่ได้หัวเราะไปกับเรา เขาไม่ได้เห็นภาพการรับรู้อย่างที่เคยเห็น ซึ่งถ้าเราไม่สังเกตดีๆ เราก็จะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมมองเห็นว่ามันมีอีกหลายจุดเล็กจุดน้อยที่เราต้องไม่มองข้าม เพราะเราไม่ได้ทำงานร่วมกันเพื่อคนตาบอดหรือคนตาดี แต่เราทำเพื่อคนทั้งสองกลุ่ม นี่คือโอกาสที่คนทั้งสองกลุ่มได้มาใช้ประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกัน
“ทั้งหมดต้องเปิดใจ ... ในฐานะผู้กำกับ เราต้องแทนตัวเองทั้งในฐานะคนตาดีและคนตาบอดให้ได้ ผมจะบอกกับทุกคนว่าที่เราทำกันอยู่นี้ เราไม่ได้ทำเพื่อใคร 100% นะ เราทำเพื่อทุกคนเท่าๆ กันต่างหาก เราต้องเข้าใจและยอมรับในความจริงให้ได้ว่าทั้งคนตาดีและคนตาบอดต้องอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อเราไปทำอะไรให้เขามากถึง100 % นั่นมันไม่ใช่แล้ว มันเป็นการทำอะไรที่เหลื่อมล้ำความต้องการเขาเสียมากกว่า”
ด้วยพลังที่ยิ่งใหญ่ของแรงปรารถนา ... ปรารถนาที่จะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคม และเขาเลือกที่จะก้าวออกมาจากการเป็นผู้เฝ้ารอดูการเปลี่ยนแปลงนั้น ด้วยการออกมาเป็นผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเคลื่อนไหวแม้จะเป็น เพียงส่วนหนึ่งที่เล็กน้อยในสังคมที่กว้างใหญ่ แต่วันนี้ก็เป็นหนึ่งในแสงสว่างในหัวใจของใครอีกหลายคนแน่นอน
Know Him
การทำละครเพื่อคนตาบอด คือการทำงานที่เราแชร์กันระหว่างคนตาดีและคนตาบอด
การซ้อมจะให้คนตาดีใส่ที่ปิดตาทุกคนตลอดการฝึก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผู้ที่มีความแตกต่าง
ทำความรู้จักกับความคิดของเขาได้ที่นี่ www.facebook.com/krisdiary