The Legend of Postcard
ในขณะที่ผมนั่งเขียนบทความนี้อยู่ ความเข้มข้นของฟุตบอลโลกเริ่มเข้าขั้นจุด Climax ในปี 2014 จนได้แชมป์เป็นอินทรีเหล็กเยอรมันตามคาดของใครหลายคน แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยอย่างผมเห็นอยู่ในทุกๆ ครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกและการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เจ้ายุโรป สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงแบรนด์สินค้าดังๆ ต่างก็ร่วมลงแคมเปญทายผลฟุตบอลโลก เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมลุ้นของรางวัลทางบ้าน ส่งไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอลอย่างถูกกฎหมายมาชิงโชคที่ตู้ ปณ. ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ เพื่อจับรางวัลหาผู้โชคดี จะเป็นเงินล้านหรือรถยนต์ ก็ตามแต่ที่ของรางวัลกำหนด
สิ่งที่สร้างความตื่นตะลึงในทุกๆ ปีคือ จำนวนไปรษณียบัตรที่ส่งเข้ามาทายผลชิงโชคในแต่ละครั้งนั้น มากมายมหาศาลชนิดขนาดเช่าโกดังใหญ่ขนาดโรงสีเป็นที่เก็บคัดแยกกันเลยทีเดียว ทางผู้จัดจะต้องอ่านผลคัดแยกว่าใบไหนทายถูกทายผิด ใบที่ทายผลถูกก็จะนำไปคัดแยก ต่อมาก็จะมีเจ้าหน้าที่มาโกยโยนให้ฟุ้งกระจาย ให้ท่านผู้มีเกียรติเอื้อมมือไปคว้า และประกาศรายชื่อผู้โชคดีผ่านสื่อให้มารับรางวัล ซึ่งไปรษณียบัตรในแต่ละปีที่ทายผลถูกนั้น มีจำนวนนับสิบล้านแผ่นทีเดียว
กล่าวมาถึงขนาดนี้แล้ว The Legend เล่มนี้จะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้หรอกครับ มันต้องเป็นเรื่องของไปรษณียบัตรอย่างแน่นอน ซึ่งไปรษณียบัตรมีจุดกำเนิดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยไปรษณียบัตรนั้นมีการเริ่มต้นใช้งานอย่างจริงจังในยุโรปมาตั้งแต่ช่วงปีคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน จุดประสงค์ของการใช้งานไปรษณียบัตรก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการเวลา แต่จุดเริ่มต้นของการกำเนิดไปรษณียบัตรนั้น มีที่มาที่ไปจากนามบัตรแนะนำตัวของนักธุรกิจเรานี่แหละครับ
The Legend of Postcard
ในสมัยนั้นที่โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์ประจำสำนักงานยังเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่จะนัดหมายล่วงหน้า การจะติดต่อธุรกิจในแต่ละครั้งก็ยากแสนยากวิธีการติดต่อนัดหมายที่ง่ายที่สุดและจริงใจที่สุดมีอยู่สองวิธีก็คือส่งจดหมายนัดล่วงหน้าไปก่อน แต่การจะทำธุรกิจมันช้าไม่ได้ จึงต้องเลือกอีกวิธีหนึ่งก็คือ การเดินทางไปพบโดยตรง ซึ่งบ่อยครั้งมากครับที่ไปแล้วไม่พบเจอกับเจ้าตัวดั่งที่ต้องการ นักธุรกิจเหล่านี้ก็เลือกที่จะทิ้งนามบัตรของตนเอาไว้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโปสการ์ด ที่ด้านหน้าเป็นชื่อที่อยู่ ส่วนด้านหลังก็เขียนวัตถุประสงค์ของการมาเข้าพบนั่นเอง
จวบจนกระทั่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไอเดียของการทิ้งข้อความผ่านนามบัตรนี้ก็ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อ โดยกรมไปรษณีย์ในประเทศออสเตรียในปี 1869 ให้กลายเป็นไปรษณียบัตรในที่สุด แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนที่ได้มาซึ่งการทำไปรษณียบัตร
และการพิมพ์ออกจำหน่ายนั้นช่างเหนื่อยแสนเหนื่อย เพราะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองของบอร์ดคณะกรรรมการเห็นชอบ หลายต่อหลายครั้งกว่าที่จะอนุมัติก็ปัดตก
ไปหลายครั้ง โดยเหตุผลหลักๆ ก็คือความไม่เป็นส่วนตัว และการที่ไปรษณียบัตรไม่สามารถรักษาความลับของข้อความไว้ได้นั่นเอง แต่แล้วในที่สุดก็ผ่านการเห็นชอบออกมาจนได้ เพราะยังไงหากจะเขียนอะไรที่มีความลับ ประชาชนก็ยังมีการเขียนจดหมายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน ไปรษณียบัตรหลังพิมพ์ออกมาจำหน่ายแล้ว ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และกระจายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 4 ปี ก็ได้มีการเปิดโอกาสให้เอกชน หรือบุคคลธรรมดาสามารถทำไปรษณียบัตรออกวางจำหน่ายและใช้ได้เช่นกัน แต่ต้องเสียค่าภาษีอากรแสตมป์ต่างหาก ซึ่งก็เป็นอีกวิธีการสื่อสารหนึ่งที่นิยมไม่แพ้โทรศัพท์มือถือในเวลานี้กันเลยทีเดียว
The Legend of Postcard
ซึ่งมาถึงตรงนี้เราก็จะแยกไปรษณียบัตรได้ออกมาเป็นสองประเภทหลักๆ นั่นก็คือ ประเภทแรกเรียกว่า Postal card เป็นไปรษณียบัตรที่ผลิตโดยกรมไปรษณีย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบสีขาวตัดลายธรรมดาไม่มีลวดลายหวือหวาใดๆ ส่วนอีกแบบหนึ่งเรียกว่า Post card ผลิตโดยบริษัทเอกชน มีลวดลายสีสันสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายของวิวทิวทัศน์ของประเทศนั้นๆ
“โปสการ์ด” นั้นนอกจากจะใช้ในการส่งข้อความหากันแล้ว ประโยชน์ของมันอีกอย่างหนึ่งที่เป็นผลดีนั้นก็คือ ภาพบนโปสการ์ดเป็นอีกช่องทางการโฆษณาที่สำคัญอีกด้วย เพราะมีไม่น้อยที่ภาพบนโปสการ์ดเป็นภาพของสินค้าอุปโภคบริโภค การที่ผู้บริโภค ใช้ หยิบ จับ เห็น โปสการ์ดก็เปรียบเสมือนการได้เห็นสินค้าในโฆษณาไปด้วย ส่วนภาพที่เป็นภาพวิวทิวทัศน์ก็เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปตัวอีกเช่นกัน นับเป็นประโยชน์ที่ส่งผลต่อทั้งภาครัฐและเอกชนเลยทีเดียว
จนมาถึงยุคนี้แม้การติดต่อต่างๆ จะเปลี่ยนวิธีไปมาก แต่ความสำคัญของไปรษณียบัตรก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปมากมายสักเท่าใด ไปรษณียบัตรยังคงมีหน้าที่ส่งข้อความสาระที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการแจ้งสิทธิ์ การแจ้งหนี้ การแจ้งข่าวสารลงทะเบียนข้อมูลต่างๆ ไปยังผู้รับอีกช่องทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เราเห็นชัดๆ ก็คือการส่งไปรษณียบัตรชิงโชคดังเช่นที่ผมกล่าวไว้ และท้ายสุดการันตีคำทำนายได้เลยว่าไปรษณียบัตรยังคงความสำคัญไม่จากเราไปไหนเร็วเหมือนดังเช่น ‘โทรเลข’ ที่ปิดตัวไปเมื่อปีก่อนอย่างแน่นอน ...