EDITOR’S PAGE
ภาพยนตร์เรื่อง Dawn of the Planet of the Apes จบลงพร้อมกับความคิดจินตนาการของผมที่เริ่มต้นเห็นถึงการอ้างเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของตนเองไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือวานรก็ตาม ทั้งๆ ที่ข้ออ้างดังกล่าวก็เพียงเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจซึ่งไม่เว้นแม้แต่วานรที่เป็นไพรเมต (Primates) ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด หรือที่เราเรียกว่าชิมแปนซี (Pan Troglodytes) นั่นแหละครับ
ผมอดคิดต่อไม่ได้จริงๆ ว่าถ้าวันหนึ่งจอมอหังการอย่างมนุษย์ที่คิดว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ และเหนือกว่าสัตว์ชนิดใดในโลกนี้ เกิดถูกเหล่าวานรจับมาขังเพื่อทดลองยาขึ้นมาบ้างจริงๆ เหล่ามนุษย์จะรู้สึกอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็คงคิดว่ามันก็มีแต่ในโลกภาพยนตร์เท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้
แต่ลองคิดให้ดีแล้วโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้แตกต่างกับภาพยนตร์เท่าใดนักหรอกครับ เพราะว่าทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเปรียบเทียบกันด้วยความยากดีมีจนอยู่ไม่ใช่หรือ เอาตั้งแต่เกิดเลยก็แล้วกันต้องเลือกที่จะคลอดโรงพยาบาลอะไร จองโรงเรียนกัน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์กันเลย เรื่องจริงนะครับ โตขึ้นหน่อยช่วงปิดเทอม บางโรงเรียนยังเปรียบเทียบกันว่าไปเที่ยวที่ประเทศอะไร แม้แต่ยานพาหนะอย่างรถยนต์ก็ยังถูกแบ่งประเภทของรถยนต์ในที่จอดอย่างชัดเจนในห้างดังอยู่หลายแห่ง หลายหน่วยงานยังมีข้อจำกัดในการเลือกเข้าทำงานเฉพาะสถาบันการศึกษาบางแห่งเท่านั้น หรือในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ยังแบ่งเกรดของวัดที่จะไปเลย ยังไม่พอแค่นี้
นะครับ สุดท้ายการลอยอังคารยังต้องเลือกว่าไปด้วยเรืออะไรและไปลอยที่ปากน้ำไหนเลยครับ
เห็นไหมล่ะครับว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นจริงทั้งๆ ที่ความดี ความชั่วไม่ได้วัดจากการเป็นมนุษย์หรือเดรัจฉาน คนรวยหรือจน เพราะว่าจะสูงหรือต่ำก็อยู่ที่ทำตัวนั่นเอง ผมชอบวลีหนึ่งของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2538 ผู้มีนามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “คนเราสูงเท่าเสมอกัน บนเตียงนอนและในหลุมศพ”
คิดกันเอาเองก็แล้วกันนะครับว่าวันนี้ดัชนีชี้วัดคุณค่าของมนุษย์ต้องมีองค์ประกอบด้วยอะไร
ชโลทร ศิวารัตน์
บรรณาธิการบริหาร