คลองจินดา

คลองจินดา

ลมบ่ายต้นฤดูร้อนไล้ระบายเนื้อตัว ขณะใครสักคนปล่อยตัวเองล่องลอยไปลำคลองสายโบราณแห่งอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ใบหน้าของชาวสวนเต็มไปด้วยรอยยิ้มในพืชพรรณผลไม้หลากหลายที่ผลัดเวียนกันออกผลตามฤดูกาล แต่ละเรือกสวนคล้ายจิกซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่กระจัดกระจายไปตามการหมุนเปลี่ยนของวันเวลา ทว่าเมื่อเรียงร้อยต่อประสาน ภาพของชุมชน ณ ลุ่มน้ำแห่งหนึ่งของนครปฐมก็กระจ่างชัดคงทน

ที่ตำบลคลองจินดา พี่น้องชาวสวนที่นี่รู้จักและมั่นใจว่าสายน้ำไม่มีวันอ่อนแรง แม้จะห่างพ้นมันมานาน ทว่ามันยังสมบูรณ์มีค่าเสมอกับต้นไม้ของพวกเขา และไม่แตกต่างจากผืนแผ่นดินที่โอบอุ้มชีวิตให้แข็งแรงยั่งยืน

1 ...

ยามสายสะท้อนแดดแรงร้อนวิบวับลงบนถนนสายย่อยที่ลากผ่านหน้าวัดวังน้ำขาว เมื่อเราเข้ามาเยือนพื้นที่กว้างขวางราว 16,378 ไร่ ของตำบลคลองจินดา ผืนแผ่นดินที่เปรียบราวตะกร้าผลไม้ของคนนครปฐม 

โลกรอบด้านเขียวครึ้มเมื่อเราผ่านพ้นถนนใหญ่ และเลียบเลาะตัวเองเข้าริมลำคลองที่รายล้อมไปด้วยร่องสวนกลางฟ้าใสสดแห่งฤดูร้อน ความเคลื่อนไหวตกหล่นเรียงรายอยู่ในหมู่บ้านราว 14 หมู่ของคลองจินดา

แผ่นดินโบราณแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรีผืนนี้ตกทอดความเก่าแก่ไว้ในเวลาหลายร้อยปี ด้วยความที่มี “ดินดำ น้ำดี” แผ่นผืนริมคลองจึงสั่งสมเรื่องราวด้วยการหักร้างถางพงเพื่อทำกิน จากทุ่งนากว้างไกลไพศาล สู่แดนดินที่ว่ากันว่าปลูกอะไรก็งอกงาม 

ในอดีต พื้นที่คลองจินดาคือที่ดินของเจ้ามณฑลนครชัยศรีที่ปล่อยให้ชาวบ้านเช่าทำกิน ก่อนจะมีการซื้อขายเปลี่ยนแปลงโฉนดของราษฎรราวสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในยุคที่ราคาทองคำมีราคา 400 บาท และการซื้อขายและเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ว่ากันว่าบางแปลงซื้อขายกันด้วยผ้าขาวม้าเพียงผืนเดียว

หากมองกันด้วยสายตาของนก โลกอีกใบของคนคลองจินดาแยกย่อยออกมาตามสายคลองสาขา โดยมีคลองจินดาที่ขุดให้ตัดตรงเพื่อผันน้ำเข้ามาสู่พื้นที่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเส้นสายหลัก จากปากคลองที่ต่อกับแม่น้ำท่าจีนแถบตำบลบางช้าง ผ่านพ้นมาถึงที่ตั้งอันแสนสมบูรณ์ของคลองจินดาอันเป็นช่วงกลางคลอง และด้านปลายคลองคือตำบลตลาดจินดาที่ถัดออกไป

รองรับนิยามของคำว่าแดนดินอันแสนสมบูรณ์และเก่าแก่ ที่มาของชื่อคลองจินดาตกทอดอยู่ในเรื่องเล่าโบราณที่ว่าชาวบ้านแต่เดิมเรียกคลองสำคัญสายนี้ว่า คลองสองวา ด้วยความกว้างแต่เดิมอันน้อยนิด ยามน้ำลงตื้นเขิน ชาวจีนที่ล่องเรือเข้ามาซื้อพืชผลต้องลงเรือเข็นไปด่าไป ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่าคลองจีนด่า และเพี้ยนผันเป็นคลองจีนดาในภายหลัง

บ้างก็เปรียบเปรยที่นี่ว่าสมบูรณ์ดุจเพชรนิลจินดา ปลูกสิ่งใดก็งอกงาม และในเรื่องที่เก่าแก่เคียงคู่ผู้คนของที่นี่ คือตำบลนี้ดกดื่นไปด้วยต้นจันทน์ และแต่เดิมมีชาวชวาล่องเรือเข้ามาค้าขายถึงลุ่มน้ำท่าจีน พวกเขาเรียกต้นจัทน์ว่า “จินดาหนา” และอาจเป็นชื่อชุมชนเก่าแก่แห่งลุ่มน้ำท่าจีนแห่งนี้

กลางสวนฝรั่งร่องสวนลากแนวยาวไปตามคันดินที่ขีดแบ่ง แนวมะพร้าวขึ้นอยู่ที่ปลายตาเพื่อยึดโยงคันดิน อันเป็นอัตลักษณ์หลักของสวนที่นี่ จากปลูกมันปลูกแตงโมในสมัยคนรุ่นก่อร่างปักหลัก ส่งต่อสู่การขยับขยายยกดินเป็นร่องสวนใหญ่ พืชพันธุ์ผลไม้ยืนต้นหลากหลายได้แทงรากหยัดยืนกว่า 50 ​ปี ทั้งมะพร้าวน้ำหอมอันเลื่องชื่อ ละมุด องุ่นไวน์มะละกา ส้ม พุทรา มะนาว รวมไปถึงสารพันผักสวนครัว 

แทบทุกนาทีผู้คนในหลายหมู่บ้านของคลองจินดาก็มีชีวิตคล้ายคลึงกัน เรือกสวนและเหล่าผลไม้เปรียบดุจลมหายใจ การก้าวเดินและชีวิตแต่ละวันนั้น คำว่าเกษตรกรรมเป็นเหมือนแรงผลักดันให้การก้าวต่อมีความหมาย

เป็นทิศทางชีวิตที่คนท้องถิ่นนี้เลือกหย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังลงทุกฤดูกาล

2 ...

ภายใต้สแลนครึ้มดำที่กรองแสงนั้นคือโลกอีกใบ ที่นี่มีหลายคนที่มีความสุขยามได้เห็นใบไม้ใบเติบโตงดงาม ด้วยชีวิตอันผูกพันอยู่กับสวนผลไม้นั้นส่งผลแตกหน่อให้มีทางเลือกเดินเป็นของตนเอง ไม้ใบที่ใช้ประดับอย่างพลูจีบ มอนไจแอนต์ ล้วนเต็มไปด้วยความเอาใจใส่

ลมบ่ายไล้ระบายภายในสวนไม้ใบ หากเลาะเวียนไปตามสวนต่างๆ เราจะเห็นถึงความหลากหลายของการเพาะปลูก ไม่นับผลไม้และผักที่ผลัดเวียนไปตามฤดูกาล แต่บางสวนนั้นเน้นหนักไปที่การขายกิ่งพันธุ์และต้นพันธุ์

ขณะเดินเข้าไปตามสวนของพี่ป้าน้าอา ดูเหมือนโลกใบเล็กของคนคลองจินดาจะเต็มไปด้วยส้วนเสี้ยวอันหลากหลายที่ประกอบกันขึ้นและเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

คืนวันในโลกผลไม้และการเพาะปลูกราวเหรียญสองด้าน แม้มวลน้ำในคลองจินดาและคลองย่อยหลากหลายที่หล่อเลี้ยงคนที่นี่ยังสะอาดใส ทว่าการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองทั้งเรื่องการระบายน้ำ สวะ การปิดกั้นการไหลเวียนจากการพัฒนารอบนอกทำให้ดินตะกอนที่มากับน้ำหลากอันเป็นธาตุอาหารลดน้อยถอยหายไปจากร่องสวน “จนหลายคนต้องหันไปพึ่งปุ๋ยวิทยาศาสตร์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” 

ระหว่างอยู่ในลำคลองสายโบราณ เราพายเรือลัดข้ามคลองจินดาไปที่หมู่ 7 ลมเย็นชายคลองระบายร้อน และมันยิ่งเย็นรื่นเมื่อเราป่ายปีนท่าน้ำเข้าไปในพื้นที่สีเขียวของสวนเตยแห่งหนึ่ง

นอกเหนือจากไม้ผล หลายต่อหลายคนของตำบลนี้หันหน้าเข้ามาหารือและร่วมก่อตั้งกลุ่มเกษตรยั่งยืนคลองจินดา และหันมาหาเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางของกลุ่ม ร่องสวนฝรั่งเดิมถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนเตย ไร้สารเคมีเปี่ยมพิษร้าย ตามคันดินไม่ได้เตียนโล่งเหมือนสวนผลไม้อื่นๆ เพราะต้องปลูกพืชคลุมดินเพื่อให้แร่ธาตุ 

กลางความร่มรื่นของสวนเตย ใครสักคนบอกเล่าถึงหลักคิดให้คนนอกที่ห่างไกลเรื่องพืชพรรณได้ทำความเข้าใจโลกอีกใบที่พวกเขาเลือกเดิน

“หลักคิดคือเปลี่ยนพืชพรรณ เปลี่ยนเทคนิค ค้นหาภูมิปัญญาดั้งเดิม” คล้ายย้อนกลับไปหาคืนวันเก่าก่อน โลกเกษตรของคนรุ่นปู่ย่าถูกพลิกฟื้นส่งต่อ ทั้งการโกยดินทำคันล้อมร่องสวน ทำค้างกลางน้ำให้ไม้ยึดเหนี่ยว ผูกกิ่งแบบไม่ล็อก ให้ลู่ลม หรือปลูกหญ้าเล็บนก น้ำนมราชสีห์ เพื่อคลุมดินทั้งที่หลายคนว่ามันคือวัชพืช

ภาพตรงหน้าราวเรือกสวนอุดมคติ ยากจะมีอยู่จริงในยุคคืนวันหลากไหลเปลี่ยนแปลง หากแต่ยามเมื่อเราบ่ายหัวรถเข้าสู่ทางดินเล็กๆ ในเขตบึงบางช้าง พื้นที่หลักในคลองจินดาที่พวกเรียกแทนกายภาพของสายคลองเล็กๆ มากมายที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร ภาพตรงหน้าก็ราวคำตอบของหลักคิดที่ชุติมาพยายามอธิบาย

ทางดินสายนั้นพาเราเข้าไปสู่บ้านไม้หลังร่องสวนครึ้มร่มรกเรื้อ ที่หลังบ้าน ผักหญ้านานาถูกเป็นกอบกำ ลมสวนลำประโดงเล็กๆ ชวนให้นั่งดูปลาแรดเวียนว่าย ขณะที่พืชสวนครัวอย่างกะเพรา ใบชะพลู โหระพา ตำลึง พริก นั้นมัดรวมกันเป็นกลุ่มๆ 

รอบบ้านคือสวนโบราณที่เก็บกินได้แทบทุกอณู ทองหลางและพลูยืนต้นใหญ่ พื้นล่างคือพืชสวนนานา รวมไปถึงพืชสมุนไพรอันพร้อมจะเยียวยาพวกเขาแทนหยูกยาสมัยใหม่ที่เปี่ยมสารเคมี

เย็นย่ำระหว่างเดินออกมาจากสวนสีเขียวอันรกเรื้อ คล้ายใครสักคนตรงนั้นบอกกับเราว่า ทางเดินของคนที่นี่ล้วนหลากหลายและหลอมรวมไปด้วยกัน ทั้งพืชพรรณ สายน้ำ และเนื้อดิน

เป็นทางเดินที่มีอยู่จริง ทางเดินสีเขียวอันแสนบริสุทธิ์กลางเรือกสวนที่แลดูสามัญธรรมดา ไม่รีบเร่ง ทว่าแสนมั่นคงไร้การโยกคลอนตกหล่น

3 ...

ในโพล้เพล้ของต้นฤดูร้อน โลกของเรือกสวนเหนือตลิ่งริมลำคลองจินดากระจัดชัดเจนด้วยหลากชีวิตที่ไหลไปตามทิศทางการเพาะปลูก

อาจบางที ด้วยดวงตาของผู้อยู่ ท่ามกลางสวนผลไม้ที่กำลังออกผลและปรับเปลี่ยนไปตามการหมุนเคลื่อนของวันเวลา ดูเหมือนผู้คนของที่นี่จะค้นพบทั้งรากเก่าและดอกใบใหม่

ที่ต่างก็พร้อมจะแตกยอดเติบโตร่วมกันไปในคืนวันที่พวกเขาเชื่อว่ามันแสนมั่นคง ... 

How to Go?

การเดินทาง

สะดวกที่สุดคือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านเขตหนองแขม พุทธมณฑลสาย 4 อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ข้ามแม่น้ำท่าจีน ผ่านแยกอำเภอสามพราน จากนั้นแยกซ้ายที่แยกคลองใหม่ แล่นไปตามถนนคลองใหม่ เมื่อถึงแยกโรงเรียนนาคประสิทธิ์ เลี้ยวขวาไปตามป้ายตลาดน้ำคลองจินดา อีกราว 9 กิโลเมตร ถึงตำบลคลองจินดาอิ่มอร่อย

ที่ตำบลคลองจินดามีร้านอาหารตามสั่งเจ้าดั้งเดิม รสชาติจัดจ้าน เมนูปลารสชาติเป็นเลิศ แนะนำร้าน ส. โภชนา ไม่ไกลจาก อบต. คลองจินดา โทร. 0 - 3430 - 7439

เที่ยวชมสวน

ปัจจุบันตลาดน้ำคลองจินดาปิดให้บริการ แต่สามารถขับรถเที่ยวตามสวนผลไม้ต่างๆ และสวนดอกไม้ที่เรียงรายอยู่ในทุกหมู่บ้าน หรือติดต่อล่องเรือนำเที่ยวคลองจินดา สอบถามข้อมูลได้ที่อบต. คลองจินดา โทร. 0 - 3430 - ​7988, 0 - 3439 - 7060 

เดินตามวันเวลาและผืนแผ่นดิน