ชินกร ไกรราช

ชินกร ไกรราช

ตราบใดที่การเรียนรู้ของคนเรานั้นไม่มีวันจบสิ้น การถ่ายทอดองค์ความรู้ของผู้มีประสบการณ์ก็ไม่มีวันหยุดลง เช่นกันกับสิ่งที่เรากำลังจะพาผู้อ่านมาเรียนรู้จากศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ท่านเป็นมากกว่าศิลปิน เป็นมากกว่าครูเพลง หรือตามแต่ใครจะให้นิยามตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ เพราะเมื่อเราได้เรียนรู้บทเรียนจากการสนทนาครั้งนี้ เราจึงขอเรียกท่านเพียงสั้นๆ ว่า ‘นักปราชญ์’ ... ชินกร ไกรราช ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง)

จากนายชิน ฝ้ายเทศ ...

ชื่อเสียงและผลงานที่ผ่านมาทั้งชีวิต ถือเป็นผลผลิตจากความเพียรแทบทั้งสิ้น เขาดึงตัวเองให้หลุดพ้นจากอนาคตที่ยังมองไม่เห็นด้วยสิ่งที่รัก เขาใช้ไหวพริบเปลี่ยนชีวิตที่พลิกผันจากลูกชาวนามาเป็นนักร้องด้วยไม่หยุดนิ่ง จนมาถึงทุกวันนี้การผ่านร้อนผ่านหนาวได้ตกผลึกเป็นอัญมณีแห่งความรู้ที่ล้ำค่า เพื่อค้นหาผู้ที่เหมาะสมได้สืบสานต่อไป

“เมื่อครั้งเป็นเด็กนั้น ผมเกิดในท้องนาในจังหวัดสุโขทัย มีพี่น้อง 10 คน โดยผมเป็นคนที่ 10 พอ 8 ขวบก็ทำหน้าที่เลี้ยงหลาน ทำงานบ้านดูแลบ้านในขณะที่พี่ๆ และพ่อแม่ไปทำนา วิทยุก็ไม่มีฟัง อาศัยฟังเอาที่บ้านข้างๆ หารายได้ด้วยการไปหักฟืนในป่าช้าเอามาขายให้แม่ค้า ที่ต้องเข้าไปเอาในป่าช้า เพราะคนเขากลัวผีกันไม่มีคนเข้าไปเอาไม้ มันเลยเหลือเยอะ ผมก็ไปเก็บเอา นั่นแหละความคิดต่างของผม และที่ไปเดินเตร่ในตลาดว่างๆ ก็รับจ้างเขายกของอะไรไปเรื่อย ก็เพราะอยากฟังเพลงจากวิทยุในตลาด
นั่นแหละ มันคงเป็นความชอบในเสียงเพลงนะ 

“เมื่อเรียนอยู่ช่วง ป.1 - ป.4 พ่อก็ไม่ให้เข้าบ้านแล้ว จะให้เข้าได้ก็เฉพาะวันพระวันเดียว นั่นก็เพราะว่าท่านอยากให้ผมได้ไปเรียนรู้ใช้ชีวิตไปอยู่กับหลวงลุงที่วัด พอหลังจากจบ ป.4 ก็ไปขายไอติมแท่งแบกกระติก แล้วก็ร้องเพลงเชียร์รำวง ได้วันละ 10 - 25 บาท เวลามีใครแขกบ้านแขกเมืองมาในแถวๆ บ้าน ก็จะเรียก ‘ไอ้ชิน มาร้องเพลงให้ฟังหน่อย’ เสมอๆ ซึ่งที่เขาเรียกให้ผมร้องเพลงกันนั้นก็อาจเป็นเพราะว่า ผมชอบฟังเพลง แล้วก็เริ่มหัดร้องเพลงอะไรที่ดังๆ มาใหม่ ผมต้องร้องให้ได้ ร้องไปร้องมาเขาก็รู้กันว่าร้องได้ ทีนี้มีอะไรก็เลยเรียกหาผม

“จะว่าไปผมมันคนอาภัพครูนะ คือผมไม่มีครูแต่ไหนแต่ไร ฝึกหัดร้องเองมาตั้งแต่เริ่ม ต้องคิด เรียนรู้ และพัฒนามาด้วยตัวเองจนถึงทุกวันนี้ เมื่ออายุ 14 ปีตอนนั้นก็มีคู่หูอีกคนหนึ่ง ต่อมาก็ได้ไปร้องในอำเภอ อย่างเวลาที่วงดนตรีในกรุงเทพฯ ไปแสดงที่นั่น พี่ๆ เขาก็ออกตังค์ค่าดูให้ผม พอดูเสร็จแล้วก็เข้าไปขอเขาสมัครเข้าวงแต่ก็ไม่มีใครรับ พอดีมีครั้งหนึ่งที่ครูพยงค์ มุกดา ท่านมาแสดงแต่ท่านก็ได้รับเพื่อนคู่หูของผมนี่แหละไปอยู่ด้วย เหลือผมกลับบ้านคนเดียว ทีนี้ผมก็เลยไปบวชเป็นเณร พอเป็นเณรก็ได้เทศน์กัณฑ์มัทรี ตอนนั้นผมก็เทศน์ไปตามธรรมดา เพียงแต่เสียงมันใสกังวานเท่านั้น 

ชินกร ไกรราช
ชินกร ไกรราช

“หลักจากนั้นก็สึกออกมาทำงานโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว เราตัวเล็กต้องแบกของหนักมันทำไม่ไหวเลยทำได้ครึ่งเดือนก็ออก กลับมาอยู่บ้านทำงานรับจ้างอะไรไปตามเรื่อง ทีนี้คู่หูเขาเหงาก็เขียนจดหมายมาว่า ‘อยากให้ไปอยู่ด้วย’ ผมก็ดีใจนึกว่าจะให้มาเป็นนักร้องที่ไหนได้ ‘ให้มาเป็นเพื่อนนักร้อง’ (หัวเราะ) ก็ไปหิ้วกระเป๋าตามนักร้องนั่นแหละตำแหน่งผมในตอนนั้น เวลามีงานผมก็มาเฝ้าบ้านให้เขา วันไหนมีคนเฝ้าบ้านแล้ว ผมถึงจะได้ไปงานด้วยได้

“ผมต้องอยู่อย่างนั้นมาเป็นปีสองปี ไม่มีวี่แววว่าจะได้เป็นนักร้อง พี่ชายคนโตคงจะเห็นใจ ก็มาถามผมว่าพอจะรู้ขั้นตอนการเป็นนักร้องไหม มันต้องทำอย่างไร จากนั้นพี่ชายก็รวบรวมเงินทั้งหมดที่มีมาให้ผมเป็นเงินทุนสำหรับการเป็นนักร้อง 3,500 บาท รวมของผมอีก 1,500 บาท เป็น 5,000 บาท เมื่อทำเสร็จก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีกับเพลงแรกอย่างเพลงลูกทุ่งรำลึก จากนั้นมีผลงานร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงต่อมาอีกมาก

“ช่วงนั้นถือได้ว่าจังหวะชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ นะ ตอนที่ทำเพลงเองก็ได้ออกมาจากบ้านครูพยงค์แล้ว มาอยู่ที่วัดเอา ผมก็งงนะตรงที่ว่าเราโผล่มามีชื่อเสียงได้อย่างไร เพราะเพลงดังๆ นักร้องดังๆ ในช่วงนั้นก็เยอะ แต่ผมมีวิธีการตลาดก็คือ จ้างคุณผ่องศรี วรนุชมาร้องประกบ ต่อมาก็จ้างคุณไวพจน์ เพชรสุพรรณมาประกบ ดังนั้นจึงมีคนรู้จักมากขึ้นไปด้วย ความคิดผมในตอนนั้นที่กล้าที่ลงทุนทำเพลงเองก็เพราะมันเป็นไพ่ใบสุดท้ายของผม ถ้าหมดตัวก็กลับบ้านไปทำนาทำไร่อะไรไป”

สู่ชินกร ไกรลาศ 

เมื่อความไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาที่เล่นตลกกับเขาอยู่หลายครั้ง เขาเลือกใช้ไพ่ใบสุดท้ายที่มีนั่นก็คือเงินเก็บทั้งหมด บวกกับอาวุธสำคัญอย่างไหวพริบและความสามารถที่หลายคนมองไม่เห็นในขณะนั้น สร้างเส้นทางของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไม่หวั่นเกรงจนหลายคนยกย่องให้เขาเป็นบรมครูในวันนี้ 

“พอปี พ.ศ.2510 ได้ก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตนเอง ชื่อวงดนตรี ชินกร ไกรลาศ ก็รับทำขวัญนาคด้วยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องบทเพลงพื้นบ้านไปด้วย นำความรู้ด้านนี้มาถ่ายทอดในอีกรูปแบบหนึ่งคือเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการขับร้องเพลงพื้นบ้าน การพูด การใช้ภาษากับเพลงพื้นบ้าน การแหล่ การทำขวัญนาคให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ มากมาย

“ตอนนี้ผมก็ยังทำขวัญนาคอยู่ เพราะมันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้สอนนาคและสอนคนที่มาในงาน ซึ่งผมก็ซ่อนการสอนไว้ในบทร้องต่างๆ แล้วก็เป็นวิทยากรรับเชิญ หากถามว่าผมสอนใคร ก็ต้องบอกว่าสอนคนทั่วไป เช่น สถานศึกษาองค์กรต่างๆ หรือสถานปฏิบัติในวาระพิเศษต่างๆ สอนครู ครูที่อยากจะเติมให้เต็มในสิ่งที่มันพร่องไป โดยใช้ศิลปศาสตร์ของผม ซึ่งผมมองว่าอันที่จริงแล้วศิลปศาสตร์นี้มันสามารถประยุกต์เข้าได้กับทุกแขนงเลยนะ เพียงแต่คนทำตรงนี้มักถูกมองว่าเป็นศิลปิน เป็นนักร้องซะ มันเลยทำให้ศิลปศาสตร์ในเชิงศิลปินเนี่ยถูกมองว่าต่ำต้อยด้อยค่า ถูกมองข้ามว่าศิลปศาสตร์ความรู้ที่เรามีนั้นมันมีคุณค่าแค่ไหน มันเป็นมาตั้งแต่ในอดีตแล้วที่เขาจะหาว่านักร้องเป็นพวกเต้นกินรำกิน ไม่ค่อยได้รับเกียรติ ซึ่งภาพลักษณ์ตรงนั้นมันทำให้ยังคงติดลึกอยู่ในใจของคนทั่วไป

“แม้กระทั่งผมได้มีโอกาสไปบรรยายพิเศษให้องค์กรราชการแห่งหนึ่ง ด้วยภาพลักษณ์ที่ผมเป็นนักร้อง นักแหล่ เขาก็เกิดความรู้สึกไม่อยากจะฟัง แต่จริงๆ แล้ว นักร้องนั้นคือนักสื่อสารที่ดีอีกแขนงหนึ่ง แม้จะไปสื่อสารที่ไหนคนก็ต้องมาซื้อตั๋วเข้ามาดู เข้ามาฟังกันทั้งนั้น แม้กระทั่งไมเคิล แจ็คสัน เขาก็สื่อสารให้คนทั้งโลกได้ฟัง คนน่าจะมองตรงนี้ว่ามันคือการสื่อสารที่มีเสน่ห์ ...

“อย่างล่าสุดผมได้รับเชิญไปบรรยายที่องค์กรหนึ่ง รู้ไหมเกิดอะไรขึ้น ผมถูกเลื่อนตั้งสามครั้งด้วยเพราะมีการขัดแย้งทางความคิดกันในกลุ่มองค์กรนั้นว่าผมเป็นเพียงนักร้องจะมาบรรยายธรรมมะได้อย่างไร ซึ่งผมไม่ทราบว่าคนอื่นจะเจอเหตุการณ์เหล่านี้เหมือนกันไหม เพราะในขณะที่คนอื่นเขาเป็นนักร้องเหมือนกันกับผม แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือ ผมเป็นทั้งนักร้องและนักพูดที่สามารถสอนหรือให้ความรู้ในเรื่องธรรมมะ เรื่องแนวความคิดได้ ดังนั้นหากยังไม่เคยฟังผมพูด มันก็อาจเกิดอคติได้ไม่ยาก

“เรื่องราวความไม่เข้าใจในคุณค่าและบทบาทของเรานั้นมีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกๆ แล้วก็ตาม แต่ผมก็ไม่หยุดที่จะพยายาม เพราะเป้าหมายของผมมันคือการให้ความรู้แก่ทุกคน เราก็ต้องเอาชนะเสียงรบกวนและใจตัวเองไปให้ได้ เราต้องรู้ว่าตัวตนหน้าที่และคุณค่าของเราเป็นอย่างไร”

ศิลปะจากศิลปิน

คนเราไม่มีใครรู้อะไรตั้งแต่แรก ดังนั้นเมื่อกระบวนการวิเคราะห์ทางความคิดได้เกิดขึ้น ผลที่ได้จากการเรียนรู้นั้นคือสิ่งที่จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนา เช่นที่ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้เลือกแล้ว ว่าเส้นทางชีวิตต่อจากนี้คืออุทิศเพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมและความคิด จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

“การทำขวัญนาค ผมต้องคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ถ้อยคำและความหมายที่กล่าวออกไปนั้นสามารถเข้าถึงจิตใจคน แม้ตอนแรกๆ ที่เริ่มก็ทำแบบคนอื่นๆ เขานั่นแหละ แต่มาเริ่มฉุกคิดได้อย่างจริงๆ ก็เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ป๋า) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ท่านได้ให้เข้าพบ แล้วถามว่าผมทำอะไรอยู่ ผมก็บอกว่า ‘ผมร้องเพลงแล้วก็ทำขวัญนาค’ ท่านก็บอกว่าดีแล้ว ‘ร้องเพลงก็อย่าร้องให้คนฟังเขางมงาย’ เมื่อได้ฟังท่านกล่าวแบบนั้น ผมก็เอากลับมาวิเคราะห์ดูว่า เราทำให้คนงมงายหรือเปล่า? แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ไปเข้าสู้เส้นทางแห่งความงมงาย ซึ่งมันเป็นคติชนนิยาม ผมก็เลยคิดว่าควรใช้ทางคติชนวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เช่นอะไรที่มันเข้าใจยากก็เล่าให้ฟังแบบง่ายๆ พยายามสื่อยกตัวอย่างให้เข้าใจ 

ชินกร ไกรราช
ชินกร ไกรราช

“ผมถือว่าตัวเองเป็นบริบทเล็กๆ ที่จะเข้าไปเติมไปเสริมกับวิชาการต่างๆ ได้ อย่างครั้งหนึ่งผมไปสอนพระธุดงค์ที่สวนผึ้ง เมื่อไปถึงก็ได้บอกพระท่านว่า แม้ท่านมาธุดงค์นี้เพียงลำพังแต่ผมเห็นตั้งสามองค์ นั่นก็คือ คุณพ่อ คุณแม่ และตัวท่านเอง เพราะเราเกิดจากส่วนผสมของคุณพ่อคุณแม่ใช่ไหม ดังนั้นทุกคนจึงมีฐานะเดียวกัน สภาพเดียวกัน เมื่อลูกบวช คุณพ่อคุณแม่ก็ได้บวชด้วย เพราะส่วนผสมของพ่อแม่นั้นอยู่ในร่างกายของลูก ... จึงเข้ากับคำที่คนโบราณท่านว่า ‘เมื่อลูกบวชพ่อแม่ก็ได้บวชด้วย’ นั่นเอง

“จากนั้นก็ถามบรรดาพระสงฆ์เหล่านั้นว่า มีท่านใดที่พ่อแม่จากไปแล้วบ้าง ก็มีหลายท่านที่ยกมือ ผมก็เลยเล่าให้ฟังว่า ต้นกล้วยนั้นออกเครือ เมื่อเครือมันสุก ต้นกล้วยต้นนั้นก็จะค่อยๆ สลายคืนประโยชน์สู่ผืนดินต่อไป ผมเองก็เป็นหน่อ พระคุณเจ้าก็เป็นหน่อ ผมเป็นศิลปินแห่งชาติพ่อแม่ผมก็เป็นศิลปินแห่งชาตินะ แม้ท่านได้เสียชีวิตไปกันแล้ว แต่ก็ยังไม่ตายเพราะหน่ออยู่ที่นี่ (ชี้ไปที่ตัวเอง) จากนั้นก็ร้องเพลงให้พระคุณเจ้าฟัง “พ่อฉัน แม่ฉัน นั้นไม่มีวันตาย เพราะว่าร่างกายของฉันนั้นคือพ่อแม่ เลือดเนื้อเชื้อไข อวัยวะแน่แท้ เกิดขึ้นจากพ่อและแม่ อุ้มชูดูแลลูกมา ....” เมื่อร้องเสร็จก็ถามท่านว่าเห็นด้วยไหมกับสิ่งที่ผมร้อง ท่านก็กล่าวว่า “สาธุ”

“เช่นครั้งหนึ่งผมสอนเรื่องแม่ว่า ‘แม่นั้นเกิดพร้อมลูก เกิดพร้อมกันเมื่อแม่ได้คลอดลูกออกมาลืมตาดูโลกแล้วนั่นแหละ’ สิ่งเหล่านี้มันก็คือเทคนิคในการใช้สัจธรรมในการสอน ผู้สอนต้องมีการสร้างภูมิ แล้วแสดงภูมิความรู้เพื่อให้เกิดศรัทธา ซึ่งการสอนบุคคลแต่ละกลุ่ม เราต้องรู้ว่าเราจะไปสอนใคร แล้วต้องใช้เหตุและผลใดในการสอนเขาเหล่านั้น ต่อให้บุคคลที่ว่าสอนได้ยากที่สุด เมื่อเราชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงได้อย่างไม่มีข้อกังขา เขาก็จะพร้อมที่จะเข้าใจตามที่เราบรรยาย”

ให้ธรรมมะได้ขัดเกลา

เนื่องจากเพลงพื้นบ้านนั้นส่วนใหญ่จะถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากคตินิยมความเชื่อ แต่ครูชินกรอยากให้แง่คิดความรู้ที่จะสามารถสอนคนได้มากกว่านั้น เขาจึงศึกษาเพื่อหาหนทางละทิ้งจากความเชื่อ การศึกษาพระไตรปิฎก

“พระไตรปิฎกจะบอกเหตุบอกผล ไม่ว่าเราอยากจะหลุดพ้นจากความเชื่อในเรื่องใดๆ และเราสามารถจะเอาความเชื่อนั้นมาตั้งเป็นประเด็นให้เห็นนามธรรม แล้วเราก็เอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ถ้าเราไปทำลายความเชื่อเขาเสียทั้งหมด เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการสอนผมเป็นนักร้อง ผมก็มีศิลปะของการเข้าถึงจิตใจคน และสิ่งที่จะทำต่อไปนี้ก็คือ การใช้พื้นฐานของการเป็นศิลปิน เป็นนักร้องนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม เพราะเนื้อแท้ของเรามันคือสิ่งนี้

“วันนี้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว ประชาชนทั่วไปนั้นให้เกียรติ แต่คนในวงการบันเทิงยังไม่ใช่ เพราะเขาเองก็นึกว่าเรารู้เท่าเขา คิดว่าเราเป็นนักร้องเพียงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วผมเป็นมากกว่านั้นผมมีปฐมแห่งความคิดว่า ‘ผมจะร้องเพลงอะไรเพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์’ เป็นพื้นฐาน เพียงเท่านี้ก็ต่างกันแล้วแต่ผมก็มองข้ามอคติของคนเหล่านั้นด้วยความสงสาร สงสารที่ ‘เขารู้กันได้แค่นั้น’ ใจเราก็ไม่เป็นทุกข์

“ผมรู้ตัวว่าเกิดมาเพื่อเป็นศิลปินตั้งแต่พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านได้ให้กระจกเงาบานหนึ่งแก่ผมด้วยคำพูดที่ว่า ‘ชินกร เธอได้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้วนะ จงละทิ้งตรงนี้ให้ได้ เอาอย่างเขา แล้วเปลี่ยนทิศตัวเอง เราจะโง่’ เราต้องเป็นนักคิด อย่าเป็นนักคาบ เพราะมันจำไม่แม่น และคิดไม่ได้ สุดท้ายก็หลงทางอยู่ดี และเราต้องหมั่นทบทวนว่าเราขายอะไร เราขายเสน่ห์หาหรือเปล่า มันไม่ใช่ เราขายฝีมือ ขายผลงาน เพราะฉะนั้นไม่ว่าผมจะเป็นอย่างไร งานของผมก็จะยังอยู่ ก็เหมือนกับหลายคนอยากหาความสุข แต่ไม่รู้ว่าความสุขนั้นคืออะไร ต่อให้แสวงหาจนตาย ... ก็ยังไม่เจอ

“ทัศนคติในการสร้างสรรค์เพลงของผมก็คือ เพลงของผมจะต้องไม่มีภาพ ต้องไม่การเอาไปทำมิวสิควิดีโอ คาราโอเกะ หรืออะไร เพราะภาพเหล่านั้นที่ถูกทำใส่ลงไป มันจะไปบล็อกความคิดจินตนาการของผู้ฟังให้เป็นไปตามนั้น ถ้าเราเป็นคนที่ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดหาบริบทต่างๆ เราก็จะไม่มีองค์ประกอบด้านความรู้ต่างๆ เลย เราเป็นนักร้อง เราต้องคิดว่าเราจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม อย่าคิดว่านักร้องก็ร้องได้เพียงอย่างเดียว ...

“ผมมักจะแต่งเพลงตามจินตนาการ ซึ่งเพลงแต่ละเพลงนั้นต้องให้คุณค่าแก่คนฟังเสมอ เช่น ในขณะที่บ้านเมืองเรามีบรรยากาศเช่นนี้ ผมก็คิดว่าเราจะร้องเพลงอะไรให้คนไทยฟัง ซึ่งได้แต่งทุกขั้นตอนด้วยตัวเองจนเสร็จแล้วออกมาเป็น ‘เพลง เชิญขวัญไทย’ เพราะเมื่อบ้านเมืองมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมาย ยิ่งสับสนวุ่นวายในช่วงนี้ คนไทยอาจเสียขวัญ ในเมื่อผมเป็นหมอทำขวัญ ก็ต้องทำหน้าที่ของหมอทำขวัญให้คนไทยด้วยเสียงเพลง ...” 

สัจธรรมแห่งบทเพลง