สยาม เศรษฐบุตร
“หน้าปัดของรถยนต์ การดีไซน์ภายใน รูปร่าง ส่วนเว้าส่วนโค้ง ทุกอย่างในตัวรถคลาสสิกมันเป็นศิลปะ การได้ชุบชีวิตรถขึ้นมาใหม่ก็เหมือนเรานั่งอยู่บน Piece of art คล้ายๆ กับคนที่สะสมนาฬิกา ไม่ต้องใส่แค่เอามาดูก็มีความสุข” ประโยคที่แสดงให้เห็นว่ารถคลาสสิกไม่ได้มีค่าแค่เพียงของเล่นคนรวย หากแต่เป็นงานศิลปะชั้นยอดที่เมื่อคุณได้ลองสัมผัสก็คงจะตกอยู่ในชั่วโมงต้องมนต์เหมือนอย่างคุณสยาม เศรษฐบุตร นักสะสมรถคลาสสิก ประธานชมรม Mercedes-Benz Club Thailand และผู้จัดการสำนักงานกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัทบางกอกกล๊าส
สยาม เศรษฐบุตร
จุดเริ่มต้นความหลงใหล
ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไรมาตั้งแต่เกิด แต่การได้ลงมือทำ สัมผัสจริงคือสิ่งที่สามารถตอบความเคลือบแคลงสงสัยเหล่านั้นได้อย่างไร้ข้อกังขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจุดเริ่มต้นแห่งความหลงใหลนั้นถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อมรอบกายก็ทำให้ค้นพบความหมายของมันได้ไม่ยาก
“คุณพ่อเป็นนักสะสมรถมาก่อน ผมเติบโตมาในบ้านของคุณพ่อที่มีรถคลาสสิกจอดอยู่เต็มบ้าน ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่ามันจะหายากหรืออะไร พอเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกอาทิตย์ก็ไปเที่ยวกับเพื่อนฝรั่ง พอเห็นว่ามีกลุ่มรถคลาสสิกไปจอดตาม Park เราก็ไปดู แล้วคุยกับเพื่อนฝรั่งว่าคันนี้บ้านเราก็มี คันนั้นบ้านเราก็มี แต่เขากลับไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีรถคลาสสิกหายาก ผมเลยต้องให้ที่บ้านถ่ายรูปแล้วส่งมาทางจดหมาย เพื่อยืนยันว่าที่บ้านผมมีจริงๆ
“หลังจากนั้นคิดแค่ว่าถ้าเรียนจบแล้วจะเอารถมาขับเล่นบ้าง พอกลับมาเมืองไทยก็ถามคุณพ่อว่าคันนี้เบื่อหรือยัง ขอได้ไหม แล้วผมก็เอามาศึกษา ซ่อมแซมดูแลเอง ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกเริ่มอินแล้วเหมือนกัน ยิ่งพอเห็นคุณพ่อซ่อมรถพร้อมกับช่างอีก 3 - 4 คน สั่งอะไหล่มาทำเอง เพราะในบริเวณบ้านมีอู่ส่วนตัว ก็ยิ่งได้ซึมซับความรักในรถคลาสสิกตั้งแต่ตอนนั้นมาตลอด
สยาม เศรษฐบุตร
“ความรู้สึกของผมตอนที่ซื้อซากรถมาแล้วค่อยๆ ทำมันขึ้นมาใหม่จนมีสภาพเหมือนรถป้ายแดง ก็เหมือนกับการปลุกผีขึ้นมาใหม่ ที่ต้องลงมือถึงจะเข้าใจ ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก ถ้าเราได้ลงมือเอง เราก็จะรู้ธรรมชาติของรถ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ขึ้นไปขับได้เลย แต่รถคลาสสิกพวกนี้ต้องรู้วิธีการเข้าเกียร์ ปุ่มไหนคืออะไร เป็นยังไง และจะได้รู้ว่ามันสนุกแค่ไหน บางคนคิดว่ามีเงินซื้อได้ขับแล้วก็จบ สำหรับ Car Collector อย่างผม ความรู้สึกที่ได้ไม่ใช่แค่การซื้อแล้วขับอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องศึกษารายละเอียดของรถ อะไหล่ หรือแม้กระทั่งวิธีการประกอบเองด้วย
“จริงๆ แล้วนิยามของรถคลาสสิกก็คือ รถที่มีอายุมากกว่า 25 - 30 ปีขึ้นไป ซึ่งรุ่นนั้นจะต้องเป็นที่นิยมของคนในสมัยนั้นด้วย และต้องมีการผลิตออกมาในจำนวนจำกัดจริงๆ เช่น Mercedes-Benz รุ่น Gull-Wing SLS ซื้อได้ เพราะในโลกมีผลิตแค่ 2,000 คัน ดังนั้นถ้ารถคันนึงอายุ 80 ปี แต่ไม่มีคนเก็บไม่มีคนสะสมก็ไม่ใช่รถคลาสสิก ขณะเดียวกันถ้าจะให้ซื้อรถเก็บสะสมตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เป็นรถคลาสสิกในอีกหลายสิบปีข้างหน้าก็คงไม่ใช่ เพราะรถสมัยใหม่มีส่วนประกอบของอิเล็กทรอนิกส์เยอะ มีเรื่องของ Computer on board เข้ามาเกี่ยวข้อง บางครั้งเก็บไปนานๆ หัวฉีดเสีย แผงควบคุมเสีย เราก็เก็บไม่ได้ จึงพยายามเก็บแต่รถที่เป็นเครื่องจักรเครื่องกลอะไรพวกนี้
“หลายคนถามผมว่าอยากจะซื้อรถคลาสสิก สมมุติมีเงินอยู่ 3 ล้าน จะซื้อรุ่นไหน อะไรดี ผมเลยถามว่ารักมันจริงๆ หรือเปล่า หรือชอบเพราะกระแส ถ้ายังไม่แน่ใจก็ให้ไปรื้อเอารถเก่าๆ ที่บ้านออกมาบูรณะก่อน จะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ พอเอาเข้าจริง บางคนรออะไหล่นานเป็นปี ซ่อมไม่เป็น เบื่อช่าง ก็ไม่เอาแล้ว ผมจึงอยากให้คนเพิ่งเริ่มได้ลองสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้ดูก่อน”
ส่งผ่านความรักจากรุ่นสู่รุ่น
ความรักที่มีต่อรถคลาสสิก แม้จะไม่ใช่ดีเอ็นเอที่สามารถถ่ายทอดถึงกันทางพันธุกรรมได้ แต่เชื่อไหมว่าสำหรับครอบครัว ‘เศรษฐบุตร’ สิ่งๆ นี้ได้ถูกส่งผ่านทางสายเลือดมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น
“ตอนนี้ผมมีรถคลาสสิกไว้ในครอบครองประมาณ 25 คัน รถบางคันก็ไม่ได้แพงถึงขั้น 20 - 30 ล้าน แต่มันมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่า อย่างรถโตโยต้า RT100 ปี 1971 เป็นรถที่คุณพ่อซื้อให้คุณปู่ ตอนเด็กๆ ผมจำได้เลยว่าคุณพ่อชวนไปบ้านคุณปู่ บอกว่าซื้อรถป้ายแดงมาให้คุณปู่ ผมก็นั่งไปด้วย จนวันที่คุณปู่เสียไปแล้ว คุณพ่อก็ยังใช้รถคันนั้นอยู่ รถคันนั้นมันมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับพวกเรามาก เพราะเป็นรถที่คุณปู่ได้ขับ คุณพ่อเป็นคนซื้อให้ ผมเคยนั่ง ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังเก็บไว้อยู่ในสภาพดี พอผมมีโอกาสได้ขับก็มักจะบอกเล่าถึงเรื่องราวเหล่านี้ให้ลูกๆ ฟัง รถคันนี้ก็ถือเป็นรถคลาสสิกในใจของผมเหมือนกัน
“ทุกวันอาทิตย์ผมจะกิจกรรมมี Sunday morning drive กับครอบครัว ขับรถคลาสสิกพาครอบครัวไปดื่มกาแฟ กินอาหารเช้า พอกลับมาถึงบ้านก็ให้ลูกๆ ล้างรถ ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะสะอาดหรอก แต่อยากให้เขาได้ทำกิจกรรมภายในครอบครัว และก็เป็นการสอนเขาไปในตัวว่าถ้าใช้รถแล้วก็ต้องรู้จักทำความสะอาด นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมซึมซับมาจากคุณพ่อเหมือนกัน
สยาม เศรษฐบุตร
“บางครั้งรถเสียมันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ เพราะระหว่างที่รอรถมาลาก ผมก็จะบอกลูกรอหน่อย ทั้งๆ ที่ยืนตากแดดอยู่ริมทาง เหงื่อเต็มไปหมด ซึ่งมันก็ทำให้ชีวิตเขามีประสบการณ์ความยากลำบากด้วย ไม่ใช่นั่งแต่รถแอร์เย็นๆ ดูทีวีในรถ เผื่อวันหน้าที่เขาขับรถแล้วรถเสียขึ้นมาจะได้ไม่ตื่นกลัว รู้ว่าต้องทำอย่างไร ทำให้เขาช่วยตัวเองได้ ถือเป็นการสอนเขาทางอ้อมอีกวิธีหนึ่ง
“บางครั้งขับๆ ไปแล้วรถเสีย ในใจผมเคยคิดว่าจะขายแล้ว ไม่เอาแล้วคันนี้ พอกลับมาถึงบ้านซ่อมเสร็จเรียบร้อย ใจเย็นลงหน่อยก็เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากขายแล้ว ถามว่ารักรถคลาสสิกไหม ก็รักนะ แต่บางครั้งก็เบื่อช่าง อะไหล่หายาก ไม่มีที่จอด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอนให้ผมเป็นคนใจเย็นลง บางคนถึงขั้นพูดว่าผมดูแลรถดีกว่าดูแลภรรยาอีก ซึ่งก็ต้องยอมรับนะ (หัวเราะ) ขณะเดียวกันผมก็โชคดีที่เลือกภรรยาถูกคน เพราะภรรยาของผมรักรถคลาสสิกและชอบสะสมเหมือนกัน เลยไม่มีปัญหา ซึ่งเราก็พยายามถ่ายทอดความรักในรถคลาสสิกมาสู่ลูกด้วย
“ถ้าถามว่าส่วนตัวผมรักคนไหนมากที่สุด ตอบง่ายๆ ว่าผมเป็นคนหลายใจก็แล้วกัน (หัวเราะ) เพราะผมชอบหลายคัน รถก็เหมือนผู้หญิง มีบุคลิกหรือเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ผู้หญิงคนนี้นิ่มนวลเอาใจ ผู้หญิงคนนี้ชอบผจญภัย ไปเที่ยวไหนก็ได้ ไม่ใช่คุณหนู รถนี้นุ่มนวลแต่เปี่ยมด้วยกำลัง ถ้าเป็นรถของอเมริกันก็จะเป็นรถที่ดุดัน อย่าง Corvette Sting Ray ซึ่งผมก็มีอยู่ 2 คัน ถ้านุ่มนวลอ่อนช้อยก็ต้อง Mercedes-Benz มีโค้ง ไม่ดุดัน เป็นรถที่ขับง่าย สบายๆ อะไรก็ได้ ขณะที่ BMW เปรียบเหมือนผู้หญิงที่บอบบาง มีเอว มีสะโพก เอาใจยาก ... ส่วนผมชอบผู้หญิงที่ไม่เรื่องมาก กระโดดขึ้นขับคันไหนก็ไม่ตายต้องยกให้ Mercedes-Benz”
ตัวแทนคนรักรถเบนซ์
อีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการเฟ้นหาและดูแลเหล่าสมาชิกผู้มีใจรักรถ Mercedes-Benz ประเทศไทย กับความไว้วางใจที่ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรม Mercedes-Benz Club มาแล้วถึง 5 ปี
“ปัจจุบันผมเป็นประธานชมรม Mercedes-Benz Club ซึ่งผมไม่ได้ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นนะ แต่ Mercedes-Benz ประเทศไทยเขารู้จักผม และหาคนที่มีความรู้เรื่องรถเบนซ์ มีรถ Mercedes-Benz ไว้ในครอบครอง เขาก็เห็นว่าผมอยู่ในวงการรถคลาสสิกมานาน มีรถเบนซ์เยอะ จึงมาคุยกันและส่งชื่อไปที่ประเทศเยอรมัน เพื่อแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนประธานของประเทศไทย ซึ่งที่ประเทศเยอรมันมีกลุ่มคนรักรถ Mercedes-Benz ด้วยเหมือนกัน
“ผมก็เหมือนเป็นอุปทูตประจำประเทศไทย มีหน้าที่ต้องไปประชุมที่นั่นปีละครั้ง เพื่อเอาความรู้มาแชร์ให้คนไทยได้ทราบว่าแนวโน้มรถคลาสสิกเป็นอย่างไร การซ่อมบำรุงรถทำยังไง หรือแม้กระทั่งอะไหล่ชิ้นไหนที่จะรีโปรดักชั่น ผมก็เป็นตัวแทนติดต่อแจ้งข่าวและสั่งอะไหล่ให้ ผมคิดว่าน่าจะช่วยคนรักรถคลาสสิกในประเทศไทยได้และคิดว่าเราจะได้นำความรู้ไปเผยแพร่ยังต่างประเทศได้ว่าไทยก็มีรถคลาสสิกสวยๆ เยอะนะ
สยาม เศรษฐบุตร
“สาเหตุที่ต้องมีชมรม Mercedes-Benz Club ในประเทศไทย เพราะทีม Marketing ของที่นั่นเขาคิดว่า รถที่จะขายได้นั้น ลูกค้าต้องอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ของรถ ถ้ารถมีประวัติศาสตร์อันยาวนานคนก็ยิ่งเชื่อถือ ต่างกับรถยี่ห้อใหม่ๆ ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ กว่าจะสร้างความน่าเชื่อถือหรือความไว้วางใจได้ มันต้องใช้เวลา
“ที่สำคัญคือรถ Mercedes-Benz อายุ 50 - 60 ปี แต่ยังวิ่งบนถนนได้ เพราะเขาส่งเสริมด้านการทำอะไหล่ Reproduction part คือการนำเอาอะไหล่เก่ามาผลิตใหม่ ทำให้รถเก่าแค่ไหนก็ยังหาอะไหล่ได้ แสดงให้เห็นว่ามันไม่ธรรมดานะ ในส่วนกิจกรรมของ Mercedes-Benz Club ก็จะมีทริปมีพาสมาชิกไปเขาใหญ่บ้าง ไปหัวหินบ้าง เป็นสังคมของคนรักรถ ซึ่งตอนนี้ในคลับมีสมาชิกทังหมด 250 คน มีผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 60 - 70 ปี ลงไปจนถึงเด็ก 15 - 18 ปีก็มี ความจริงผมก็ไม่อยากได้จำนวนเยอะๆ ก็เลยต้องเลือก สกรีนคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกพอสมควร โดยเลือกเอาแต่คนที่มีใจรักรถจริงๆ และก็คุยกันรู้เรื่อง”
ให้ด้วยใจ ให้เพื่อสังคม
แม้หลายคนจะมองว่าการสะสมรถคลาสสิกเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือเป็นแค่ของอวดรวย แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณค่าของความรักที่ชายคนนี้มีอยู่เต็มเปี่ยมหัวใจถูกลดทอนลงแต่อย่างใด กลับแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่ง ‘การให้’ เพื่อประโยชน์แก่สังคม
“หนังสือ THAILAND’S ULTIMATE CLASSIC CARS เป็นหนังสือที่ผมกับภรรยาเขียนและทำขึ้นมาเอง ซึ่งได้มีการรวบรวมทุกแง่มุมของรถคลาสสิกที่หายากในประเทศไทย 25 คัน และส่วนที่สำคัญที่สุดหนึ่งในนั้นก็คือ ผมได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้บันทึกรูปรถยนต์แข่งยี่ห้อ Era - English Racing Automobiles ชื่อ หนุมาน II ซึ่งเคยเป็นรถแข่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายหนังสือเล่มนี้จะนำไปซื้อรถเข็นให้เด็กพิการ นอกจากนี้ผมยังตั้งใจนำหนังสือไปแจกจ่ายให้โรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ 250 แห่ง เพื่อเป็นวิทยาทานแก่เด็กๆ ที่สนใจในรถคลาสสิก ซึ่งมันก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งที่อย่างน้อยได้เห็นความชอบส่วนตัวของเราถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ
“เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ผมก็จัดกิจกรรมเอารถคลาสสิกไปโชว์ที่หัวหิน 50 คัน พร้อมมอบรถจักรยานให้เด็กๆ ซึ่งทั้งหมดที่ผมทำไปนั้นไม่ใช่ว่าจะอวดรวย ไม่ได้ทำเพื่อให้คนอิจฉา แต่ทำให้สังคมเห็นว่าเราสามารถทำประโยชน์อะไรให้เด็กได้บ้าง อีกอย่างหนึ่งการที่ผมเอารถคลาสสิกไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็เป็นการดึงดูดคนให้ผู้คนไปเที่ยวตามที่นั้นๆ ช่วยสร้างสีสัน สร้างความคึกคัก ถือเป็นการเสริมการท่องเที่ยวให้จังหวัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งเดือนสิงหาคมนี้ผมก็จะจัดงาน Classic Car ที่เซ็นทรัลเวิลด์
สยาม เศรษฐบุตร
“จริงๆ แล้วผมว่ารถคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ถือเป็นสมบัติของชาติ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างถูกวิธี โดยกรมขนส่งทางบกอาจจะมีกฎหมายข้อยกเว้นให้รถคลาสสิก ซึ่งถือเป็น Historic Car เสียภาษีหรือต่อทะเบียนถูกกว่าปกติ เพราะคนที่สะสมรถพวกนี้จริงๆ เขาก็ไม่ได้นำรถออกมาวิ่งทุกวัน เหมือนอย่างเมืองนอกรถ Historic car จะเสียค่าทะเบียนถูกกว่า โดยเสียเฉพาะตอนซัมเมอร์ เพราะถ้าหิมะตกก็ไม่ได้นำรถออกไปวิ่ง
“บางครั้งเราก็อยากให้เยาวชนมาศึกษาประวัติรถคลาสสิก วิวัฒนาการของรถ เทคโนโลยีของรถว่าเป็นมาอย่างไร แต่รัฐบาลกลับมองว่ารถคลาสสิกเป็นของเล่นของคนรวย ต้องรีดภาษีเยอะๆ ไม่ได้มองว่าคนเหล่านั้นเขาช่วยอนุรักษ์ให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติเห็นว่าเมืองไทยมีความ Civilization มาตั้งนานแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างอาชีพและช่วยรักษาฝีมือช่างซ่อมรถไว้อีกด้วย
“ส่วนรถของผมทุกคันจดทะเบียนถูกต้องทั้งหมด ไม่มีรถจดประกอบ อันนี้ผมให้ความสำคัญมาก เพราะไม่อยากเอาชื่อเสียงในการเล่นรถคลาสสิกไปแลกกับอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่ามันก็เป็นภาระเหมือนกันนะเมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนยาง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนแบตเตอรี่ จ่ายค่าต่อทะเบียน ฯลฯ ซึ่งหลังๆ มานี้ก็ไม่ไหวจึงมีหยุดการใช้ไปบ้างชั่วคราว
“สำหรับผมความสุขคือการที่ได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก ซึ่งก็คือรถยนต์ และได้พาครอบครัวที่เรารักนั่งรถไปที่ต่างๆ บางครั้งแค่ได้ขับรถคลาสสิกเปิดประทุนไปต่างจังหวัด ลมที่มันปะทะใบหน้า แสงแดดอ่อนๆ และกลิ่นทุ่งนา มันก็ทำให้เราได้สัมผัสธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งมันเป็นความสุขที่หาซื้อไม่ได้และต้องสัมผัสด้วยตัวเราเอง”