สกลฤทธิ์ จันทร์พุ่ม
จะว่าไปเรื่องของปัญหาสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการแก้ไข แต่หากหลายฝ่ายพร้อมที่จะเข้าใจ และทุ่มเทปัญหาร่วมกันอย่างเต็มที่ภายใต้สมการเดียวคือความสุขของสังคมแล้วล่ะก็ สังคมในอุดมคติก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ในเมื่อความเป็นจริงมันยังห่างไกลจากคำนั้น การต่อยอดให้การช่วยเหลือยิ่งยั่งยืนและโยงถึงกันจนเป็นเครือข่ายได้มากเท่าไหร่ ทุกคนก็อยู่ได้ ไม่ใช่ได้อยู่จริงๆ
นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเล็กๆ ในแนวคิดของผู้ชายคนนี้ คุณเก่ง สกลฤทธิ์ จันทร์พุ่ม ผู้ก่อตั้ง Ma:D Social Entrepreneurs Hub ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อทำงานในแวดวงการแก้ปัญหาให้กับสังคมเสมอมา โดยก่อนหน้านี้เขาทำงานมูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ (ช่วงปี พ.ศ. 2552 - 2553) เป็นช่วงความไม่สงบทางการเมือง เขาและกลุ่มคนที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันจึงคิดที่จะทำอย่างไรเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ทำอย่างไรเพื่อลดความไม่เป็นธรรม หรือความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยให้เกิดขึ้น เป็นโปรเจ็กต์สามปีเพื่อจะศึกษาปัญหาทางโครงสร้างของประเทศไทย ปัญหาของสังคมนั้นอยู่ที่ตรงไหน และจะมีวิธีใดบ้างที่จะแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น
ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้เคยมีคนทำงานวิจัยเอาไว้มาก พวกเขาจึงได้รวบรวมคนเหล่านี้มาทำงานร่วมกับกับหน่วยงานราชการต่างๆ ได้อย่างถูกจุด เขาพบว่าปัญหาที่ฝังรากลึกอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจนนั้น เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจยาก จึงได้คิดเป็นโปรเจ็กต์ซีรี่ส์แอนิเมชั่นออกมา คือ คลิป ‘ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา’
แม้หลายคนจะมองว่าเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก แต่เขามองว่าจริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้มันมีหลายระดับ แต่โดยสาระสำคัญแล้ว มันถูกแบ่งได้เป็นสามระดับก็คือในเรื่องของนโยบาย กฎหมาย และปัญหาเฉพาะหน้า
“เราควรมองว่าตัวเราทำอะไรได้บ้าง ยังมีอะไรอีกมากมายที่รอให้เราได้มาร่วมมือช่วยกันอย่างจริงจัง ซึ่งการนำเสนอโปรเจ็กต์ต่างๆ แก่หน่วยงานทางภาครัฐ การจะได้รับความร่วมมือหรือการตอบรับได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับแต่ละประเด็น แต่ส่วนใหญ่มันจะยุ่งยากที่ระบบ และบางทีก็ติดปัญหาที่ข้อกฎหมาย และก็ความเข้าใจของคนในชุมชนและภาครัฐไม่ตรงกัน”
แม้ว่าเขาจะพบกับปัญหาทางสังคมมาแล้วมากมาย แต่เรื่องที่ทำแล้วท้อที่สุดก็คือเรื่องคอร์รัปชั่น แม้ทุกคนจะคุยกันถึงเรื่องนี้ แถมยังมีคนคิดหาทางแก้ปัญหา มีนโยบาย ร่างกฎหมายกันอย่างจริงจัง แต่มันจะยังไม่ไปไหน ‘เพราะตัวเรายังคอร์รัปชั่นกันเองอยู่เลย’ ดังนั้นไม่ว่าการศึกษาจะดีแค่ไหน กฎหมายจะรองรับอย่างไร มันก็เปล่าประโยชน์ถ้าทุกคนไม่เริ่มที่ตัวเองอย่างจริงจังเสียที
“การทำโปรเจ็กต์ต่างๆ เพื่อสังคมนั้นมันใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นเราจะมานั่งรอเงินบริจาคจากแต่ละภาคส่วนไม่ได้ เราจึงต้องมองหาอะไรที่มันยั่งยืนกว่านั้น Social Enterprise จึงตอบโจทย์ เพราะเป้าหมายของมันคือ การแก้ปัญหาด้านสังคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วอยู่ได้ด้วยตัวเองและด้วยโมเดลทางธุรกิจ คือเรื่องของกำไรทางธุรกิจกับกำไรทางสังคมต้องมีเท่าๆ กัน จึงจะยั่งยืนได้
“Ma:D นี้เป็นการทำธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคมในลักษณะเป็น Co-Working Space เพื่อรองรับทั้งกลุ่มคนที่มีแนวความคิดในเชิงสังคมจะได้มีพื้นที่ในการทำงาน แล้วยังสามารถนำรายได้มาทำงานเพื่อสังคมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ตอนนี้บ้านเรามีธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคมเกิดขึ้นมากมาย และน่าสนใจกันทั้งนั้น คนรุ่นใหม่ก็หันมาสนใจในเรื่องการทำตรงนี้กันมากขึ้น แต่พวกเขาจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน เราเลยมองไปถึงคอนเส็ปต์เรื่องของ Co-Working Space การแชร์พื้นที่ทำงาน ว่าน่าจะตอบโจทย์นี้ได้
“ที่นี่นอกจากจะมีโต๊ะทำงาน ที่มีการจัดไว้เป็นโซนๆ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนแล้ว ยังมีห้องประชุมไว้รองรับ มีอินเทอร์เน็ต และสิ่งจำเป็นในการทำงานครบถ้วน นอกจากนี้ยังสามารถรับ - ส่งจดหมาย สำหรับคนที่ต้องการใช้ที่อยู่ของที่นี่เป็นตัวกลางในการติดต่อได้อีกด้วย คุณไม่จำเป็นต้องเป็นมูลนิธิ หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ไหนก็ได้ เพราะบางคนแค่อยากหาไอเดีย มาที่นี่ก็จะสามารถได้คุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ไม่จำกัด แถมยังสามารถสานต่อคอนเน็กชั่นที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันได้อีกด้วย คือยากให้กลุ่มคนทำงานด้านนี้สามารถเติบโตไปด้วยกันได้
“ความคิดของผมการทำงานแบบนี้ แม้จะเป็นงานภายใต้แนวคิดเพื่อสังคมก็ตามแต่ผมก็สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ครอบครัวได้รับผิดชอบตนเองได้ ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เราได้เจอคนที่รู้ด้านนั้นด้านนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะเราเชื่อว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่องเสมอไป อยากจะเปลี่ยน Mindset ว่าแทนที่ทุกคนจะมุ่งเข้าสู่ธุรกิจขนาดใหญ่เสมอไป เราอาจจะรวยสูงสุดได้ ขณะที่เราก็สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย สังคมยิ้มได้ สังคมมีความสุขขึ้นมันก็น่าจะดีกว่านะครับ เราจะไปช่วยสังคมได้เมื่อไหร่ เราต้องอยู่ได้ก่อน เราอยู่ได้ สังคมต้องอยู่ได้”
Know Him
เขามองอนาคตว่าภายในสามปีอยากให้มี Ma:D กระจายตัวอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯแนวความคิด Co-Working Space นี้เกิดขึ้นมาจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การทำงานคนเดียวมักได้ประสิทธิภาพน้อยกว่าการทำงานเป็นทีม ข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ทำงาน
ในอนาคตอันใกล้นี้คุณเก่งมองว่า Ma:D จะสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้เอง และให้สมาชิกสามารถปลูกผักปลอดสารไว้รอบๆ บ้าน เพื่อนำมาบริโภคหรือจำหน่ายต่อได้อีก
ติดตามได้ที่ www.facebook.com/madeehub