ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

เหลืออีกไม่ถึง 600 วันที่ไทยเรา และ ASEAN จะเข้าสู่การเป็น AEC อย่างเต็มรูปแบบแล้วนะครับ แม้ว่าเมื่อถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 มันจะไม่ใช่การพลิกโฉมเปรี้ยงปร้างเหมือนๆ กับการเปิดห้างสรรพสินค้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ วันที่ 31 ธันวาคมก็จะเหมือนๆ วันที่ 30 ธันวาคมหรือวันก่อนหน้านั้น ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือ แปลกใหม่หรอกนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยๆ เปลี่ยนเมื่อแต่ละประเทศเขาพร้อมจะเปลี่ยน

แต่อย่างที่ผมเคยเขียนมาตลอดว่า AEC นี่ความเนื้อหอมไม่ได้อยู่ที่ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศว่าจะทำมาค้าขายกันมากขึ้นหรือลงทุนระหว่างกันมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเสรีของวัตถุดิบหรือแรงงานฝีมือก็อาจจะไม่ค่อยเสรีอย่างที่หลายๆ คนหวัง แต่ความเนื้อหอมของ AEC กลับจะอยู่ที่ข้อตกลงทางการค้าที่ทาง AEC ได้ไปทำไว้กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดียที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า ASEAN +6 ต่างหากครับ เพราะ 16 ประเทศนี้รวมกันแล้วใหญ่โตเท่ากับครึ่งโลกเลยนะครับ ไม่ว่าจะวัดจากจำนวนประชากร หรือวัดจากกำลังซื้อหรือ GDP ก็ตาม และที่สำคัญ ASEAN +6 นี้ยังเป็นครึ่งโลกที่กำลังเติบโตเสียด้วย ตรงนี้แหละครับที่จะทำให้อีกครึ่งโลกที่เหลือเขาอยากจะมาลงทุนมาตั้งโรงงาน หรือ สำนักงานกันใน AEC เพราะเมื่อมาแล้วบริษัทที่มาก็จะได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและการค้าขายเหมือนๆ กับที่ AEC ได้จาก 6 ประเทศ

ที่เราต้องรู้ก็คือบริษัทระดับโลกเวลาเขาจะไปลงทุนที่ไหน เขาจะดูที่ 3 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง ความยากง่าย ในการทำธุรกิจ สอง ความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น และสาม ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

เปรียบเทียบระหว่างสมาชิก AEC ด้วยกัน ในเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจนั้น ไทยเราทำได้ค่อนข้างดีนะครับคือเราได้ที่ 18 ของโลก เป็นรองมาเลเซียซึ่งได้ที่ 12 และเป็นรองสิงคโปร์ที่เป็นประเทศที่มีความง่ายในการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก เรื่องนี้ต้องขอบคุณระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำให้การจดทะเบียนตั้งบริษัท การเสียภาษีทั้งหลายสามารถทำแบบออนไลน์ได้เลย ส่วนที่ไทยเราทำได้ดี แต่ที่ยังต้องปรับปรุงอยู่อีกมาก คือกฎหมาย และระเบียบบางส่วนยังเอื้อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถใช้ดุลยพินิจได้อยู่ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีเกือบทั้งหมดที่ให้อำนาจภาครัฐมากจนภาคเอกชนรู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ดังนั้นเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจนี้ จึงแค่ไม่เป็นอุปสรรคในการที่ต่างชาติจะมาลงทุนในไทย แต่ยังไม่ใช่ประเด็นเด็ดที่แรงเพียงพอจะชักจูงคนมาลงทุนได้ 

ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่นนั้นน่าหนักใจมากครับเพราะไทยเราสอบตกมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่ที่องค์กรความโปร่งใสสากลเขาเริ่มมาวัดดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยนั้น เราสอบตกมาโดยตลอด ในปีพ.ศ. 2538 องค์กรความโปร่งใสสากลเขาจัดลำดับ 41 ประเทศ ไทยเราได้อันดับที่ 34 ได้คะแนนเพียง 2.79 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ถือว่าเป็นคะแนนต่ำที่สุดเท่าที่ไทยเราเคยได้ ส่วนคะแนนสูงสุดที่เราเคยได้คือ 3.80 คะแนน ในปี 2548 นั้นก็ยังห่างจากคะแนนสอบผ่าน 5 คะแนนพอสมควร ข่าวร้ายก็คือคะแนนล่าสุดของปีที่แล้วไทยเราได้คะแนนลดลงอีก 2 คะแนนจาก 37 เหลือ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อันดับนั้นน่าตกใจมากครับ รูดลงจากที่ 88 เป็นที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ทำให้ความโปร่งใสของไทยเราตกจากอันดับ 4 เป็น 5 ของ AEC

ปีที่แล้วมีแค่สองประเทศที่ได้อันดับลดลง อีกประเทศคือกัมพูชาซึ่งคะแนน ลดลงไป 2 คะแนนเหลือ 20 คะแนน แย่สุดใน AEC และได้อันดับที่ 160 ของโลก ส่วนประเทศที่เหลือทำได้ดีขึ้นหมด โดยสิงคโปร์ยังเป็นประเทศ ที่โปร่งใสที่สุดใน AEC และเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองลงมาคือบรูไนซึ่งคะแนนดีขึ้น 5 คะแนนเป็น 60 คะแนนได้ที่ 38 มาเลเซียสอบผ่านแล้วในปีที่ผ่านมาคือได้ 50 คะแนนจากเดิม 49 คะแนนได้อันดับที่ 53 ส่วนฟิลิปปินส์ที่เดิมแพ้ไทย ปีที่แล้วเขาได้คะแนนสูงขึ้น 2 คะแนนเป็น 36 คะแนนและได้ที่ 94 จากเดิมที่ 105 อินโดนีเซียและเวียดนามคะแนนเท่าเดิมแต่ลำดับดีขึ้นเป็น 114 และ 116 ตามลำดับ ขณะที่ลาวได้คะแนน 26 ดีขึ้น 5 คะแนนได้ที่ 140 ส่วนพม่าได้ 21 คะแนนดีขึ้น 6 คะแนนได้ที่ 157 กระโดดขึ้นมาจากที่เคยได้ที่ 172 

เรื่องที่สามที่บริษัทระดับโลกเขาดูกันเวลาจะไปลงทุนที่ประเทศไหนคือเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกณฑ์ที่ทาง International Institute for Management Development (IMD) เขาใช้วัดความสามารถ ในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ได้แก่ ความสามารถทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวัดทั้ง 4 เกณฑ์นั่นแล้ว ไทยเราได้ที่ 27 ของโลกจาก 60 ประเทศที่เขาวัดกัน แพ้สิงคโปร์ที่ได้ที่ 5 และมาเลเซียที่ได้ที่ 15 ชนะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้อันดับที่ 38 และ 39 ส่วน 4 อันดับแรกของโลกคือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสวีเดนครับ ตอนที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ IMD เขายังไม่ได้ประกาศอันดับล่าสุดออกมา แต่ผมทายไว้ก่อนเลยว่าไทยเราอันดับร่วงลงมาอย่างแน่นอน เผลอๆ จะหลุดไปถึงอันดับที่ 30 หรือยิ่งกว่านั้นเลยทีเดียว

เมื่อดูเฉพาะความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น IMD บอกว่าไทยเรามีความพร้อมเป็นอันดับที่ 48 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้อันดับที่ 12 และ 25 การที่ไทยเรามีความพร้อมเป็นอันดับที่ 48 ของโลกนี่แหละครับที่รัฐบาลไทยใช้มาเป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งในการเร่งรัดการสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยบอกว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้ไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ซึ่งฟังดูผิวเผินก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ผมว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากๆ เพราะเวลาที่ IMD เขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น เขาไม่ได้วัดความพร้อมเฉพาะถนนหนทางและรางรถไฟ แต่เขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้าน ด้วยกันคือ 1. โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น เช่น ถนนหนทางรางรถไฟ การขนส่งทางน้ำทางอากาศ 2.โครงสร้าง พื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น การลงทุนในระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยี จำนวนวิศวกร 3. โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ 4. โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และ 5. โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา 

ที่น่าสนใจก็คือพอลงไปดูในรายละเอียดเรากลับพบว่าความจริงแล้วความพร้อมด้านถนนหนทางรางรถไฟของไทยเรานั้นได้อันดับที่ค่อนข้างดีนะครับคืออันดับที่ 25 ขณะที่อีก 4 ด้านที่เหลือไทยเราได้อันดับที่แย่มากคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเราได้ที่ 47 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ได้ที่ 40 โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ที่ 55 และโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา 51 หมายความว่า เวลาที่ IMD เขาบอกว่าความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยแย่กว่าประเทศอื่นๆ นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการศึกษาของไทยเราแย่ต่างหาก ...

ไม่ต้องแปลกใจนะครับถ้ารัฐบาลไทยเราจะลงทุนไปมหาศาลในรถไฟความเร็วสูงแต่อันดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเราจะไม่ดีขึ้นเลยและบริษัทระดับโลกจะยังไม่มาลงทุนในไทยเหมือนเดิม ถ้าไทยเรามีงบประมาณเหลือเฟือไว้ลงทุน ผมก็จะไม่ห่วง
อะไรหรอกนะครับ แต่นี่งบลงทุนก็มีนิดเดียว ต้องใช้วิธีกู้มาลงทุน แต่ยังจะลงทุนในเรื่องที่ผิดๆ คิดดูแล้วคงจะเหมือนกับแทนที่เราจะกู้มาส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ และซ่อมแซมบ้านที่ทรุดโทรม แต่เรากลับเอาเงินกู้นั้นไปซื้อรถไฮบริดแล้วหลอกตัวเองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยประหยัดน้ำมันและรักษาสิ่งแวดล้อม

ไม่รู้จะโทษอะไรก็โทษระบบการศึกษาที่ล้มเหลวเรื้อรังของไทยก็แล้วกันนะครับ ที่ผลิตผู้บริหารประเทศบางคนมาได้คุณภาพแค่นี้ ...  

"เวลาที่ IMD เขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น เขาไม่ได้วัดความพร้อมเฉพาะถนนหนทางและรางรถไฟ แต่เขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้าน"

เหลืออีกไม่ถึง 600 วันที่ไทยเรา และ ASEAN จะเข้าสู่การเป็น AEC