The Legend Of Dragon Ball

The Legend Of Dragon Ball

มีคำพูดหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จงอย่าลืม ความเป็นเด็กในตัวคุณ” คำพูดนี้ได้บ่งบอกหลายๆ สิ่งที่เตือนสติคนเราในวัยผู้ใหญ่ ไม่ให้ลืมความฝัน ความสนุกสนานในวัยเด็ก และไม่ให้มีความเครียดมากจนเกินไปในการใช้ชีวิตนั่นเอง 

เมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยทำงาน มีความฝันมุ่งหน้าที่จะทำงานสร้างฐานะ และความมั่นคงให้กับชีวิต จนบางครั้งก็เกิดความเครียดที่สะสมมากจนเกินไป ในวันนี้ผมมีสิ่งหนึ่งที่จะมาเตือนความทรงจำ ให้ระลึกถึงความหลัง ความสนุกสนานในวัยเด็กกับ Dragon Ball 

ผมยังจำการ์ตูนเรื่องนี้ได้ดีครับ จำได้ทุกฉากทุกตอน ความสนุกของมันนั้นนอกเหนือจากเป็นการ์ตูนต่อสู้แล้วยังเป็นการ์ตูนที่สอนให้เห็นถึงความพยายาม คุณธรรมน้ำมิตรและความเสียสละอีกด้วย 

The Legend Of Dragon Ball
The Legend Of Dragon Ball

Dragon Ball ได้เกิดขึ้นมาจากการเขียนของอาจารย์ โทริยาม่า อากิระ ออกพิมพ์วางแผงลงในนิตยสาร โชเน็นจัมป์ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2527 ตรงกับปีที่ประเทศไทยได้จัดทำสำมะโนครัวประชากร และมีเลขบัตรประจำตัว 13 หลักครั้งแรก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของการ์ตูน Dragon Ball แต่อย่างใด แต่ที่จะกล่าวถึงก็คือการ์ตูนเรื่องนี้ได้ถูกเขียนขึ้น และเขียนจบอวสานในปี พ.ศ. 2538 กินระยะเวลานานถึง 11 ปี และจบขณะที่มีเรตติ้งการ์ตูนสูงที่สุดในญี่ปุ่น 

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการพบกันของ โงกุน หรือ โกคู กับ บลูม่า และได้ตัดสินใจร่วมออกเดินทางผจญภัยท่องไปในโลกกว้างด้วยกันเพื่อตามหาลูกแก้วมังกรทั้ง 7 เพื่อขอพรในสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งเดิมทีอาจารย์โทริยาม่า ได้นำเนื้อเรื่องของ ไซอิ๋ว มาดัดแปลง ที่มี โกคู แทน หงอคง, บลูม่า แทน พระถังซัมจั๋ง, อูลอน แทน ตือโป๊ยก่าย และ หยำฉา แทน ซำเจ๋ง แต่ท้ายที่สุดแล้วด้วยบทที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และตามกาลเวลา ทำให้เนื้อหาห่างไกลจากเนื้อเรื่องพื้นฐานเดิมไปอย่างมาก 

The Legend Of Dragon Ball
The Legend Of Dragon Ball

ซึ่งจุดหักเหของการเปลี่ยนแปลงเรื่องราว Dragon Ball มากที่สุดก็คือหลังจากที่ โกคู ตัวเอกของเรื่องพิชิตการประลองเจ้ายุทธภพในครั้งที่สาม (ของเรื่อง) เป็นที่เสร็จสิ้น ก็ต้องเผชิญกับการมาเยือนของ ราดิช พี่ชายชาวไซย่า ที่นำพาเรื่องปริศนาตัวตนที่แท้จริงของ โกคู มาเปิดเผยว่าเป็น ชาวไซย่า แต่กำเนิด และเดิมมีชื่อว่า “คาคาร็อต” และมีการต่อสู้กันขึ้น ซึ่งนำพามาสู่การต่อสู่กับศัตรูตัวฉกาจอย่างเบจิต้า และเปิดศักราชการเดินทางใหม่สู่ดาวนาเม็ก ต้นกำเนิดของ Dragon Ball เผชิญกับ “ฟรีซเซอร์” จนต่อมาเป็นภาคของ “เซลล์” และปิดท้ายด้วยภาค “จอมมารบู” ในที่สุด หรือที่เราเรียกกันในภาคอนิเมชั่นว่า Dragonball Z 

นอกจากความสนุกสนานของเนื้อเรื่องแล้ว สิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในความบันเทิงก็คือ เกร็ดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของชื่อแต่ละตัวนั้น ได้ถูกจัดหมวดหมู่ของชื่ออย่างสวยงาม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนมองข้ามมันไป 

The Legend Of Dragon Ball
The Legend Of Dragon Ball

ดังเช่น กลุ่มของชาวโลก จะเป็นชื่อของกิน เช่น 

โกฮัง หรือ หงอฮัง - ข้าว, คุริริน - มาจากคำว่า คุริ แปลว่า ลูกเกาลัด, อูรอน - ชาอูหล่ง, หยำฉา - ผักชนิดหนึ่ง, เทนชินฮัน - ข้าวผัด

ชาวไซย่า จะเป็นชื่อของผัก

เบจิต้า Vegeta - Vegetable - ผัก (ความหมายโดยนัยว่า เป็นหัวหน้าของคนที่มีชื่อผักทั้งหมด)

คาคาร็อต Kakarrot - Carrot - แครอท

แน็บปะ Nappa - กระหล่ำปลี

ราดิช Radish - หัวไชเท้า

หรืออย่างกลุ่มของปีศาจ พ่อมด จอมมารบู 

พ่อมดบีบิดี้ มีลูกชื่อ พ่อมดบาบิดี้ และสร้างจอมมารบู

ซึ่งหากเอาชื่อของทั้ง 3 คนมาเรียงต่อกัน จะกลายเป็นบทร่ายคาถาของนางฟ้าในเรื่องซินเดอเรล่า “บีบิดี้ บาบิดี้ บู”

The Legend Of Dragon Ball
The Legend Of Dragon Ball

รายละเอียดดังกล่าวนี้ ยังมีอีกมาก และคงไม่สามารถกล่าวให้จบทั้งหมดได้ แต่สิ่งหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นความสุดยอดของ Dragon Ball ก็คือ หากนำเอาดราก้อนบอลมาเปรียบกับนักร้อง ก็คงไม่ต่างจาก Michael Jackson 

โดยไมเคิลนั้น ถือได้ว่าเป็นนักร้องที่เป็นที่ 1 ในเรื่องของเทคโนโลยีเพลงอยู่เสมอๆ ทั้งวิธีการถ่ายทำหรือเทคนิคไฟ รวมไปถึงเทคนิคการตัดต่อใหม่ๆ Visual Effect ต่างๆ มักจะถูกนำมาใช้กับไมเคิล อยู่ก่อนเสมอ ก่อนที่จะนำมาแพร่หลายสู่นักร้องท่านอื่น อีกทั้งไมเคิลยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินเพลงรวมถึงนักเต้นในยุคต่อๆ มาอีกหลายคน 

Dragon Ball ก็เช่นกันเทคโนโลยีการวาดรูป หรือทำอนิเมชั่น จะถูกนำ  มาใช้กับ Dragon Ball อยู่เสมอๆ และที่สำคัญ Dragon Ball ยังเป็นต้นแบบให้กับการ์ตูนในปัจจุบันหลายๆ เรื่องเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของทรงผมของตัวเอก การดำเนินเรื่อง และที่สำคัญคือท่าทางการระเบิดพลังของตัวเอกนั่นเอง ซึ่งเราจะพบท่าทางการระเบิดพลังแบบเดียวกับ Dragon Ball ได้ในแทบจะทุกๆ การ์ตูนต่อสู้ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว 

The Legend Of Dragon Ball
The Legend Of Dragon Ball

ความเป็นอมตะของการ์ตูนเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ความสนุก” ที่เป็นสุดยอดของความคลาสสิก คิดที่จะหยิบมาอ่านกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่สามารถทำให้คุณเบื่อได้ และที่สำคัญคือเป็นการ์ตูนที่สอนให้คุณรู้จักกับความอุตสาหะ มานะ พยายาม โดยทุกครั้งที่ตัวเอกอย่าง โงคู หรือ เบจิต้า เจอตัวร้ายที่มีความเก่งกาจกว่าตัวเอง เมื่อสู้ไม่ได้ก็ไม่คิดที่จะยอมแพ้ ล้มแล้วลุก ฝึกแล้วสู้ใหม่ ฝึกอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อที่จะเอาชนะตัวร้ายดังกล่าวให้จงได้นั่นเอง 

จำกันได้ไหมครับ ... เมื่อชาวไซย่า อย่าง โกคู หรือ เบจิต้า เจ็บหนักจนใกล้ตายแล้ว เมื่อเข้าไปในเครื่องฟื้นสภาพ กินถั่วเซียน หรือมีคนมารักษาให้หาย ฟื้นกลับมาเป็นปกติเมื่อใด พลังงานของร่างกายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นที่มาว่า ในปัจจุบันนี้ชื่อของการ์ตูน Dragon Ball ก็ยังได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อทฤษฎีการออกกำลังกาย หรือเพาะกาย Body Training ในเมืองไทยอีกด้วย แม้ทฤษฎีดังกล่าวฟังดูตลกแต่จากรายละเอียดในการฝึกที่หนักและรู้จักที่จะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอมันเป็นเรื่องจริงที่จริงอย่างที่สุดครับ 

 

ความเป็นอมตะของการ์ตูนเรื่องนี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ความสนุก”