Coronary Artery Disease

Coronary Artery Disease

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการสะสมความเสี่ยงต่างๆ ที่เรานำมันเข้าไป เช่น สูบบุหรี่ บริโภคไขมัน แป้ง น้ำตาลไม่ยอมออกกำลังกาย และสรรหาความเครียดเข้าร่างกายอยู่เสมอๆ หากโชคดี ก็จะไม่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดเลยในทันที แต่จะมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนเข้ามา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน ความเครียดเรื้อรัง ไขมันเลือดสูง ฯลฯ ทั้งหมดเมื่อผ่านไปโดยที่เรายังไม่ดูแลร่างกายให้ดีขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้

 

โรคหลอดเลือดหัวใจคือโรคที่มีตระกรันมาอุดตันทำให้เลือดไม่สามารถเดินทางผ่านหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้สะดวก หลายๆ คนคงทราบแล้วว่าหลอดเลือดมีขนาดเล็กมาก โดยหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจหรือที่เราเรียกกันว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารี ซึ่งมีทั้งซ้ายและขวา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 3-4 มิลลิเมตรเท่านั้น และหากแตกแขนงออกจากส่วนต้นของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา บริเวณนั้นจะเรียกว่า ขั้วหัวใจ

 

โดยปกติแล้ว ผนังด้านในของหลอดเลือดโคโรนารีถูกครอบคลุมด้วยเซลล์ผิวขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่า เอนโดทิเลียม เคลือบไว้เป็นอย่างดี โดยเซลล์เอนโดทิเลียมมีหน้าที่คอยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอุดตันจากเกล็ดเลือด และคราบไขมัน และยังเป็นตัวช่วยทำให้การขยายตัวของเส้นเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

จริงอยู่ที่หลอดเลือดจะเสื่อมสภาพไปตามเวลาและอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะทั้งคราบไขมันและเกล็ดเลือดสกปรกที่สะสมอยู่ภายในเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดที่มีขนาดเพียงแค่ 3 มิลลิเมตร ไม่สามารถทำงานให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกเช่นดังเดิม หากการสะสมของไขมันบริเวณนั้นไม่ถึงครึ่งของขนาดเส้นเลือด ก็อาจจะยังไม่น่าวิตกเท่าใดนัก แต่ถ้าเกิดกว่าสองในสามแล้ว การไหลเวียนของเส้นเลือดย่อมเกิดปัญหาแน่นอน และนั่นทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงตามมาด้วย รวมทั้งเลือดไหลเวียนไม่พอกับความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด บางคนโชคร้ายอาจเสียชีวิตในทันที แต่ถ้าช่วยเหลือทันก็สามารถไปพบแพทย์และรักษาได้ทันเวลา แต่หลังจากนั้นก็คงต้องระวังตัวกันอย่างต่อเนื่องตลอดไป

 

ดังนั้นถ้าไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราหรือคนรอบข้าง ก็คงต้องช่วยกันดูแลและเอาใจใส่ร่างกายของเราตั้งแต่ตอนนี้ อาการของโรคนี้สังเกตได้หากมีลักษณะปวดแน่นๆ ตื้อๆ หนักๆ โดยที่ไม่สามารถบอกตำแหน่งได้อย่างชัดเจน บางครั้งอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณแขน และกราม หนักเข้ามีอาการอื่นรวมเข้าไปด้วย เช่น เหงื่อแตก หน้าซีด ใจสั่น หากใครที่มีอาการใกล้เคียงก็ควรจะปรึกษาแพทย์โดยด่วน

 

และแม้ว่าวันนี้ร่างกายเรายังแข็งแรงดี แต่ก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจจะประมาทและทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้นการเริ่มทำบางอย่างเพื่อดูแลตัวเองในวันนี้อย่างต่อเนื่องและตลอดไปย่อมเป็นสิ่งที่ดี และการดูแลไม่ให้ตนเองเสี่ยงกับโรคหลอดเลือดหัวใจทำได้ง่ายๆ คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง (ไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และไม่ต่ำกว่าครั้งละ 30 นาที)ลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน (สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน) งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักสด ผลไม้สด ข้าวกล้อง ถั่ว งา ลดอาหารเค็ม กินแป้งให้น้อยลงถ้าเลือกได้ให้เลือกข้าวกล้อง หรือแป้งโฮลวีต เพราะแป้งเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่คำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าหัวใจคุณจะยังเต้นต่อไปอีกนานแค่ไหน ที่สำคัญอย่าชะล่าใจ เพราะหัวใจไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

โรคหลอดเลือดหัวใจอีกหนึ่งความเสี่ยงสูงที่พรากชีวิต