รุ้งตะวัน จินดาซิงห์
“ที่มาเล่นภาพยนตร์เพราะจากผลงานของการแข่งทำให้เขาสนใจเรา ดูมีคาแรกเตอร์และอาจจะเหมาะกับบทบาทที่เขาวางไว้พอดีเราก็ชอบอะไรที่ท้าทายเหมือนกันนะ ก็เลยลองดู ก่อนเปิดกล้องก็ไปเรียนมวยเพิ่ม ยิมนาสติกเพิ่ม เรื่องการแสดง
แอ็คติ้งไม่เป็นปัญหา แต่ก็เกือบแย่กับบทพูดเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็ได้ร่วมงานกับทีมงานดีๆ คนเก่งหลายๆ คนเป็นโอกาสที่ดีเหมือนได้พัฒนาตนเองไปด้วย”
ปัจจุบันเธอคนนี้คือนักกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย สังกัดสโมสรพาวเวอร์โซนยิม Personal Fitness Trainer และยังเป็นโค้ชยูโดทีมชาติ ซื่งก่อนหน้านั้นเธอเป็นนักกีฬายูโดทีมชาติยาวนานถึง 14 ปี หากดูจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเธอเติบโตมาพร้อมการเลื่อนระดับในสายกีฬา อาจเพราะด้วยพื้นฐานการมีใจรักในการเล่นกีฬานั้นมาจากครอบครัวที่ทุกคนล้วนแล้วแต่หลงใหลในกีฬาที่หลากหลาย คุณพ่อของเธอเป็นนักกีฬามวยปล้ำ พี่ชายเล่นกีฬาฟุตบอล ส่วนพี่สาวเป็นถึงนักยูโดแชมป์ประเทศไทย เพราะฉะนั้นกีฬาคือส่วนประกอบในสายเลือดของเธออย่างแท้จริง
“ทุกอย่างที่ทำให้เรารักกีฬามันคือสิ่งที่คนในครอบครัวทำกิจกรรมให้เราเห็น แล้วเราก็รับรู้ในสิ่งดีๆ ของมัน เลยรักมันไปเอง ไม่ต้องให้ใครมานั่งบอกว่าต้องเล่นกีฬาหรือไม่ หรือจะเล่นกีฬาอะไร ทั้งๆ ที่ตอนเด็กๆ ก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ เป็นภูมิแพ้ แต่พอมาเล่นกีฬา อาการเหล่านั้นก็หายไป อย่างที่บอกว่ากีฬาเป็นยาวิเศษก็คงจะจริง (หัวเราะ)
“ช่วงที่บาดเจ็บจากการเล่นยูโดนี่ก็แย่เลยนะคะ การที่เราต้องทุ่มคู่ต่อสู้ พอผิดจังหวะเลยทำให้ปวดหลังมากร่างกายเลยบอบช้ำไม่หายขาด ไม่ว่าจะไปหาหมอที่ไหนก็ตาม ครั้งหนึ่งมีคนแนะนำให้ลองเล่นโยคะดู เราก็ลองอยู่แล้วไม่มีอะไรเสียหายนี่ ก็เจ็บบ้างแต่ก็เล่นไปเรื่อยๆ เพราะไม่ใช่กีฬาหนักหน่วงอะไร จนวันหนึ่งรู้สึกว่าอาการปวดที่เคยเกิดขึ้นมันหายไปภายในแปดเดือน ก็ถือว่าเป็นการรักษาอีกหนึ่งทางเลือก มันจัดระเบียบจิตใจก่อน จากนั้นร่างกายก็ผ่อนคลายขึ้น”
แต่สิ่งที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันเหจากนักกีฬายูโดมาเป็นนักกีฬาเพาะกาย ก็คือครั้งหนึ่งมีการประชุมโค้ชนานาชาติรวมกีฬาทุกประเภท ปรากฏว่าทางสมาคมกีฬาเพาะกายเล็งเห็นว่าเธอเหมาะกับกีฬาประเภทนี้
“เราดูมีเชพ มีสัดส่วนกล้ามเนื้อที่พัฒนาได้ แต่ตอนนั้นมันยังไม่สมบูรณ์สวยงามอย่างทุกวันนี้ ก็เลยเกิดการชักชวน พอเราสนใจก็เลยเริ่มลองเล่นจนเป็นนักกีฬาจริงจังขึ้นมา ซึ่งการที่เราเป็นนักกีฬาที่ใช้แรงปะทะ เราจึงมีสัดส่วนที่เป็นโครงอยู่แล้ว แต่สัดส่วนของกล้ามเนื้อมันยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่สวยงามพอ พอเราได้มาเล่น เราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะซ้อมเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ แม้ว่าเล่นมาแล้ว5 ปีก็จริง แต่ก็ตั้งเป้าไว้ว่าทุกปีก็ต้องมีการพัฒนาขึ้นเสมอๆ ค่ะ”
ทุกวันนี้เธอใช้เวลาไปกับการออกกำลังเกือบทุกวันต่อสัปดาห์โดยไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าวันนี้วันนี้ต้องเล่นอะไรเป็นพิเศษ เพราะเธอมองว่าการออกกำลังกายที่มากประเภทก็เหมือนกับการกินอาหารที่หลากหลาย ไม่น่าเบื่อ แถมยังให้ประโยชน์กับเราในหลายๆ ด้าน ร่างกายยิ่งฟิตยิ่งเฟิร์มเธอยิ่งพอใจ
“การออกกำลังกายเพื่อให้ได้มาซึ่งกล้ามเนื้อขนาดนี้มันไม่ได้หนักหรือหักโหมมากมาย แต่อาศัยความสม่ำเสมอ และการดูแลร่างกายมากกว่า เราจะออกกำลังกาย 6 วันต่อสัปดาห์ บางคนอาจจะมองว่ามากไปหรือเปล่า แต่เรามีชีวิตเป็นนักกีฬานี่คะ ทุกวันที่ออกกำลังกายมันเลยเหมือนเป็นหน้าที่เป็นการทำงานไปด้วย แต่ก็ใช้เวลาในแต่ละครั้งไม่นานนะคะ ประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
“ความที่เราเป็นผู้หญิง กล้ามเนื้อมันจึงจะชัดเจนยากกว่าผู้ชายมาก เราต้องเพิ่มการออกกำลังเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้มากกว่าผู้ชายถึงสามเท่า ซึ่งไม่ได้หมายถึงน้ำหนักในการเลือกอุปกรณ์ แต่มันหมายถึงจำนวนครั้งที่เราต้องเล่น ส่วนการทานอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปโดยการดูแลให้ความสำคัญกับแต่ละสิ่งที่จะกินเข้าไป อย่างเราต้องการเนื้อมาสร้างกล้ามเนื้อ ก็ต้องกินโปรตีนเยอะๆ เข้าทำนอง You Are What You Eat นั่นละค่ะ มันเลยกลายเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องสร้างร่างกายให้มีความสมบูรณ์พร้อมในอาชีพที่สุดค่ะ”
เธอบอกว่าเราจะรู้ได้ว่าควรจะออกกำลังกายมากแค่ไหนถึงจะเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน ก็ต้องดูที่เป้าหมายว่าคนๆ นั้นต้องการออกกำลังกายเพื่ออะไร พักผ่อนเพียงพอหรือไม่
“แต่หมายความว่าคุณต้องมีความเข้าใจในกีฬาชนิดนี้ก่อนว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้ใหญ่นะ เพราะอะไรก็เพราะว่าในวัยที่กล้ามเนื้อมันแข็งแรงพอที่จะสร้างหรือเสริมให้มากกว่าที่คนปรกติมีเพื่อการเล่นกีฬานั้น มันจะเป็นในวัยผู้ใหญ่ที่ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ แล้วกีฬาประเภทนี้เล่นได้นานนะ เพราะขนาดรุ่นคุณปู่ 50-60 ยังมีเลย
“มันจะมีการแบ่งเป็นรุ่นๆ การแข่งขันทั้งของผู้หญิงและผู้ชายตามน้ำหนัก แต่เราแข่งแบบ Ms. Fitness เป็นการประกวดความสวยงามและสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ กับ Body Fitness เป็นการโชว์ศิลปะของร่ายกายเข้ากับเพลง คล้ายๆยิมนาสติก จริงอยู่เราจะดูตัวเล็กกว่าชาติอื่นๆ แต่ที่เราชนะชิงแชมป์เอเซียมาได้ ก็ด้วยความสมส่วนของเรา กรรมการจะดูหมดเลยนะ ทุกสัดส่วนกล้ามเนื้อ ดูการพรีเซ้นต์ ดูความเป็นผู้หญิงของเราประกอบด้วย จริงๆ ในยุโรปหรืออเมริกากีฬาประเภทนี้เขานิยมกันมากนะคะ ก็อยากให้คนไทยให้ความสนใจและความสำคัญกับกีฬาประเภทนี้กันบ้างค่ะ
“จริงอยู่ว่าสำหรับนักกีฬานักเพาะกายหรือคนที่ชอบส่วนใหญ่จะชื่นชมคิดว่ากล้ามโตๆ มันคือสิ่งที่มีเสน่ห์ แต่ในชีวิตจริงเวลาคุณเดินไปไหนมาไหนที่ไม่ใช่ยิมหรือสนามแข่งขันแล้วล่ะก็ คุณจะเจอกับสายตาแปลกๆ ที่มองมาเหมือนไม่แน่ใจว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่ (หัวเราะ) แต่เราชอบสไตล์นี้ มันเหมาะกับเราก็เลยไม่รู้สึกอะไรค่ะ ดีเสียอีกมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นใครเห็นก็จำเราได้ ถึงไม่มีใครมาจีบก็ไม่เป็นไร แต่จริงๆ ก็มีคนเข้ามาจีบนะ ส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติ (ยิ้ม) ก็รับมิตรภาพในแบบเพื่อนๆ กันมากกว่า เพราะเราชอบชีวิตในแบบที่เป็นทุกวันนี้มากกว่า ว่างๆ ก็ซ้อมไปเรื่อยๆ คาดว่าปีหน้าจะพยายามทำให้ได้ทริปเปิ้ลแชมป์ให้ได้
“ตอนนี้นอกจากจะยังคงมุ่งมั่นในกีฬาเพาะกายแล้วก็กำลังจะมีแผนทำธุรกิจการออกกำลังกายในแบบส่วนตัว ที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองค่ะ รอให้ซาๆ การแข่งขันลงก็จะลุยเต็มที่เลยค่ะ”