ถาวร พรรษา

ถาวร พรรษา

เฉกเช่นเดียวกับงานศิลปะไร้รูปลักษณ์ของชายหนุ่มที่ชื่อ ถาวร พรรษา ที่บางคนมองไม่ออกว่ามันคืออะไร มันเป็นคำถามที่หลายคนต้องตั้งข้อสังเกตในงานศิลปะที่เขาทำ  และบรรทัดต่อจากนี้เขาจะมาคลายข้อสงสัยในภาพเขียนแนวจินตนาการนามธรรมให้เรา

 

“งานของผมมันเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าภาพนามธรรมสามารถให้ความเป็นจินตนาการได้มากกว่า ให้ความคิดที่กว้างกว่าโดยไม่มีที่สิ้นสุด และงานแอ็คชั่นเพนติ้งของผมจะต่างจากคนอื่นตรงที่ไม่ตั้งเฟรมบนขาตั้งอย่างเดียวเหมือนศิลปินทั่วไป แต่ผมใช้วิธีการเขียนในพื้นที่ราบ จะผสมสีใส่ถังตามอัตราส่วนที่ได้เรียนมา เราก็คิดค้นของเราเองว่าน้ำมันเมื่อรวมกับสีแล้วจะได้พื้นผิวแบบไหน จะมีความโปร่งแค่ไหน แล้วจะเทลงไปเป็นชั้นๆ ซึ่งแต่ละชั้นจะมีความเข้มไม่เหมือนกัน”

 

เขาเริ่มต้นงานศิลปะจากการส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ประถม ซึ่งก็ได้รับรางวัลกลับมาไม่น้อย ทำให้เขาเริ่มหลงใหลในความเป็นศิลปะตั้งแต่ตอนนั้น พอเริ่มโตขึ้นเขาก็มาเรียนที่ไทยวิจิตรศิลป์ ระหว่างนั้นเองเขาต้องทำงานส่งตัวเองเรียนด้วยการเขียนป้ายโฆษณา

 

“ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าศิลปะแบบไหนที่จะทำให้เราเป็นศิลปินได้ พอมาเรียนไทยวิจิตรศิลป์ทำให้เรารู้ว่าศิลปินกับช่างเขียนรูปต่างกันยังไง”

 

เมื่อรู้ว่างานศิลปะคืออะไรตอนเรียนอยู่ ปวช. ปี 2 เขาก็สามารถขายงานศิลปะชิ้นแรกของตัวเองได้เงินมาจำนวน 3,500 บาทแม้จะไม่สูงมากแต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้เป็นอย่างดี จนเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยเพาะช่างและได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานศิลปะเต็มตัว

 

ซึ่งที่เพาะช่างนี่เองที่ทำให้เขาได้พบหนทางการทำงานของตัวเอง เมื่อนำงานศิลปะไปส่งอาจารย์ จึงได้รับคำวิจารณ์จากอาจารย์ว่าผลงานของเขาเป็นงานนามธรรมแห่งโลกอนาคต และอาจารย์ท่านนั้นก็ได้เชิญให้เขานำงานศิลปะไปจัดแสดงร่วมกันอีกด้วย

 

 “ตอนเรียนเพาะช่างมันกดดันเยอะนะ เพราะว่าอาจารย์ที่สอนเขามีแต่เก่งๆ จนตอนแรกผมคิดอยากจะออกเลย ที่นั่นมีระบบการคิดการทำงานใหม่ๆ มากมาย มีวิธีสอนใหม่ๆ จากที่ผมเคยทำเรียลลิสติก มาเป็นเซอร์เรียสติก และปัจจุบันก็กลายมาเป็นนามธรรม”

 

“ช่วงนั้นผมไม่ได้คิดอะไร ก็แค่อยากทำให้มันดีที่สุด ตอนแรกมันเป็นเรื่องยาก เพราะเมืองไทยงานในรูปแบบนามธรรมมีคนรู้จักน้อยมาก เพราะมันไม่ใช่ภาพวิวทิวทัศน์”

 

เมื่อเรียนจบออกมา เขาก็ยังไม่หยุดที่จะค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ เมื่อรู้ว่ามีศิลปินชาวฮอลแลนด์ที่มีความสามารถในแนวนามธรรมมาเปิดสตูดิโอที่เชียงใหม่ เขาก็ไม่รีรอที่จะไปศึกษาเทคนิคต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด

 

“ศิลปินจะชอบงานคนละแนวกัน ผมก็อยากทำในสิ่งที่อยากทำ คนส่วนใหญ่ที่เรียนจบออกมาจากสถาบันก็อยากทำงานศิลปะกันทุกคน แต่ว่าการดำรงชีวิตมันก็สำคัญ ก็อาจต้องหางานด้านอื่นๆ ทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง คือถ้าผมไม่ทำงานศิลปะตอนนี้ก็คงจะไม่ได้ทำ เพราะพรุ่งนี้จะมาทำก็สายเสียแล้วที่จะมาเริ่มต้นใหม่ มีหลายคนที่หยุดเว้นช่วงไปพอพยายามกลับมาทำงานใหม่ก็ไม่สามารถนำเอาพลังที่เคยมีออกมาได้อีก เพราะมันทำงานไม่ต่อเนื่อง”

 

ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 30 ปี แต่เขาผ่านการแสดงงานศิลปะที่คนในวงการยอมรับมาถึง 4 ครั้ง ประกอบไปด้วยงานชุด หนึ่ง ผูกพันธนาการ สอง จินตนาการควบแน่น สาม จินตนาการฉับพลัน และสี่ รูปลักษณ์นามธรรม โดยงานทั้งหมดสร้างชื่อเสียงให้เขาเรื่อยมา แต่เมื่อถามถึงงานที่ชอบมากที่สุดในตอนนี้แล้ว เขากลับเลือกงานที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ อย่างงานที่มีชื่อว่า “ก้อนกรวดหมายเลข 6” ซึ่งเขาใช้เวลาในการทำประมาณ 1 อาทิตย์

 

“เวลาทำงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาจะต้องตั้งคอนเส็ปต์ก่อนว่าเราจะสื่อสารอะไรกับมัน และชิ้นนี้ผมก็ทำเกี่ยวกับก้อนกรวดแห่งจักรวาลแสงต่างๆ ที่มันฟุ้งออกมาจากสะเก็ดของดาวที่มันแตกแล้วผ่านบรรยากาศออกมา

 

“ผมว่ามันมีแรงปะทะมากกว่ารูปอื่นๆ สีแดงกับสีดำมันตัดกัน แล้วรายละเอียดต่างๆ ก็ไม่ต้องใส่เยอะ เพราะปกติผมจะเก็บรายละเอียดข้างในด้วย ภาพนี้จังหวะการเทสีดีมาก พอสีแห้งก็เอามาแขวนเลย คือจุดเด่นของงานชิ้นนี้มันมีอยู่ในตัวแล้วคือพลังของสีที่แรง เวลาที่ผู้ชายเดินมาก็มักจะชอบสีดำ แต่ถ้าผู้หญิงจะชอบสีฟ้า มันให้ความรู้สึกคนละอย่างกัน”

 

อย่างที่รู้กันดีว่าศิลปินในประเทศไทยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยทำงานแนวนามธรรม อาจเพราะการที่จะสื่อสารให้คนเข้าใจนั้นทำได้ยากกว่างานที่เป็นรูปธรรม แต่แม้จะรู้ในเหตุผลข้อนี้ดี เขาก็ยังทำงานของตัวเองต่อไป เพียงแต่ต้องมีการปรับตัวบ้าง ล่าสุดเขาเพิ่งจะไปเมืองมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ในกลางปีหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้

 

“ผลงานที่จะไปแสดงมีทั้งหมด 25 ชิ้น ตอนนี้เพิ่งทำเสร็จไปแค่ 8 ชิ้น แต่จะทำให้เสร็จที่ประเทศไทยแค่ 20 ชิ้น แล้วไปทำต่อที่นั่นอีก 5 ชิ้น เพราะกระบวนการขนงานชิ้นใหญ่ๆ ไปต่างประเทศมันลำบากพอสมควร แต่ก็โชคดีที่มีคนจัดการให้หมด”

 

สิ่งที่จะทำให้คนเราทำอะไรได้สักอย่างหนึ่งก็คือความรักในงานที่ตัวเองทำ ความหวัง ความขยันอดทน และการทุ่มเทในงานชิ้นนั้นๆ ซึ่งสำหรับเขาแล้วยังไม่พอ ต้องมีส่วนประกอบอื่นด้วย

 

“ผมว่าต้องมีความดันทุรังและความทะเยอทะยาน ถ้าไม่มีความทะเยอทะยานมันจะไปไม่ถึง มีคนมากมายที่ดูถูกผมว่าจะไปได้เหรอ แต่เราก็ยังเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ เราจึงต้องพยายามเอาชนะคำพูดของพวกเขาให้ได้”

 

ในอนาคตเขาก็คาดหวังว่าจะทำงานในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอๆ เพราะการหยุดอยู่กับที่ก็เหมือนไม่มีการพัฒนาตัวเอง เขาคิดว่าแม้ตัวเองจะทำงานศิลปะแนวใหม่ๆ แล้ว ศิลปินในต่างประเทศก็จะคิดแนวใหม่ๆ ออกมาอีกเช่นกัน และหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้น คนไทยจะสามารถเข้าใจถึงศิลปะนามธรรมได้

รูปธรรมและนามธรรม