แนบ โสตถิพันธุ์

แนบ โสตถิพันธุ์

เมื่อราว 5-6 ทศวรรษที่ผ่านมา อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้วางรากฐานการศึกษาศิลปะไว้ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร บรรดาลูกศิษย์รุ่นเก่าๆ มากมายของท่านต่างก็ประสบผลสำเร็จบนเส้นสายลายศิลป์ เป็นศิลปินชั้นแนวหน้าของประเทศหลายท่าน หนึ่งในจำนวนนั้นก็มีอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ รวมอยู่ด้วยอีกผู้หนึ่ง ที่ยังคงแสวงหาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ในยุคก่อนๆ พวกที่จะมาเรียนทางด้านศิลปะ ผู้ใหญ่รวมถึงญาติพี่น้องมักจะไม่สนับสนุน เนื่องจากการเรียนศิลปะสมัยนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย มักจะเข้าใจว่าการเป็นศิลปินนั้นจะตกอยู่ในฐานะลำบาก ค่อนข้างยากจน มีการดำรงชีวิตที่แร้นแค้น ฉะนั้นผู้ใดมุ่งมั่นที่รักทางศิลปะ สมัครใจเดินทางมาเรียนสายนี้ จึงมักเป็นบุคคลที่ถูกกลั่นกรองโดยธรรมชาติเบื้องต้น ด้วยความรักความสนใจในงานศิลปะอย่างแท้จริง

อาจารย์แนบก็เช่นกันที่มุ่งมั่นศึกษาด้วยใจรักและศรัทธาอย่างแรงกล้า อีกทั้งยังเป็นเพื่อนรักร่วมรุ่นชั้นเรียนโรงเรียนศิลปศึกษากับ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ จึงไปทำการสอนศิลปะตามมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่างๆ หลายแห่ง ประกอบกับอาจารย์แนบมีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีทั้งเชลโล่ เปียโน โดยเฉพาะไวโอลิน เข้าขั้นเทพเทวาขับกล่อม จึงนำมาซึ่งชื่อเสียงโดดเด่นเลื่องชื่อเป็นที่ยอมรับในกลุ่มศิลปิน

แต่ทว่าอีกมุมหนึ่งท่านยังซุ่มทำงานศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์ รวมทั้งงานปั้น งานหล่อ ประติมากรรม จิตรกรรม แลดูสีสดใสบรรยากาศเจิดจ้า หากเป็นอาหารก็คงหอมหวนชวนชิม ควบคู่กันไปการดนตรี ถือว่าเป็นบุคคลที่มีบุคลิกสุภาพ สุขุม อ่อนโยนโดยไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งภาค แบ่งพวก จึงเป็นที่รักใคร่ของผู้พบ มีแต่เพื่อนพ้องน้องพี่ กัลยาณมิตรมาเยือน

อัญมณี...ศรีวิชัย

อาจารย์แนบเล่าเรื่องราวในอดีตถึงความหลงใหลในงานช่างพื้นบ้านอันเป็นแรงผลักดันสู่รั้วศิลปากร

“ผมเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด ตอนเด็กๆ รู้สึกชื่นชอบงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว จึงศึกษาด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนอายุ 9 ขวบ จำได้ว่าวันไหนมีวิชาวาดเขียน วันนั้นจะมีความสุขที่สุด มีความรู้สึกตั้งแต่ชั้นประถมมาแล้ว เห็นใครทำงานช่างงานศิลป์ งานศิลปะพื้นบ้านพวกขุดเรือ งานต่อเรือ หรือพวกที่เขียนโปสเตอร์ตามโรงหนัง ผมก็จะเที่ยวไปอาสาเขาขอร่วมทำด้วย อยากอยู่ตรงนั้น ผมสนใจงานช่างที่ใช้ฝีมือทางด้านศิลปะ ภาษาถิ่นสมัยก่อนเรายังไม่รู้จักคำว่าศิลปะ เราจะรู้จักเกี่ยวกับงานช่าง ก็เรียกงานช่าง ทำงานเหล่านั้นควบคู่กับการเล่นดนตรี แรงบันดาลใจที่ได้รับด้านดนตรีก็มาจากคุณพ่อที่ชอบเล่นดนตรี คุณพ่อเป็นครูที่สอนโรงเรียนธรรมดา ในอำเภอระโนด ช่วงนั้นจำได้ว่าพ่อจะรวบรวมเพื่อนฝูงมาทำเป็นวงเครื่องสาย สำหรับสร้างความบันเทิงของพ่อ ซึ่งท่านก็มีหน้าที่ในการเล่นดนตรีในงานแต่งงาน งานศพ งานบวช อะไรต่างๆ เรียกว่าเป็นวงดนตรีประจำอำเภอ มันทำให้ผมซึมซับคล้อยตามจนกระทั่งเล่นดนตรีเครื่องสายเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ฉะนั้นศิลปะกับดนตรีจึงเริ่มมาพร้อมๆ กัน

“เวลามีหนังตะลุงมาเปิดการแสดง ผมก็จะเข้าไปรับใช้เขา ไปซื้อโอเลี้ยงให้คณะหนังตะลุง จากนั้นก็จะขอรูปหนังตะลุงมารูปหนึ่งเพื่อนำมาศึกษา เอามาก็อบปี้ เขียนตามนั้น ตามประสาเด็กๆ ที่มีความสุขกับการทำงาน จึงทำควบคู่กันไปทั้ง 2 ทาง เพราะในอดีตมันไม่มีโรงเรียนสอนดนตรี ผมจึงให้น้ำหนักระหว่างศิลปะกับดนตรีเท่าๆ กัน ที่นี้ความเชื่อของคนสมัยก่อนทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่าตา ยาย ทั้งหลายมักจะบอกว่าการเล่นดนตรีก็เหมือนกับการเต้นกินรำกิน ถ้าทำเป็นอาชีพแล้วมันจะเอาตัวไปไม่รอด ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในสมัยก่อน แต่ขณะเดียวกันโรงเรียนสอนศิลปะในชนบทก็ยังไม่มีเปิดสอนเหมือนกัน ตอนนั้นผมเองก็ไม่เคยคิดว่าเมื่อเรียนแล้วจะนำไปทำมาหากินอะไร

“หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษา ผมจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯไปอยู่บ้านญาติ มุ่งตรงไปสอบที่โรงเรียนศิลปศึกษาหรือโรงเรียนช่างศิลป์ ที่ท่านอาจารย์ศิลป์เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเพื่อที่จะเตรียมเด็กที่นั่นเอาไว้เข้าเรียนต่อที่ศิลปากร ท่านวางหลักสูตรของท่านเอง แล้วก็ส่งลูกศิษย์ของท่าน เช่น อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ มาเป็นอาจารย์ใหญ่และอีก 2-3 ท่านท่านจะเฟ้นหาคนที่เห็นว่าเป็นครูได้ แล้วถ้านักเรียนขึ้นปี 2 แล้วคะแนนวิชาเอกพวก ดรอว์อิ้ง เพ้นท์ติ้ง ฝีมือถึงแทบไม่ต้องสอบกันเลย เพราะอาจารย์ศิลป์ท่านเลือก

“ตอนที่ผมเรียน ผมเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นกับคุณชวน หลีกภัย ที่โรงเรียนศิลปศึกษา มีความสนิทสนมกันมาก ถ้าเป็นสมัยนี้เขาเรียกว่ามันมีอุดมการณ์ร่วมกัน นอกเหนือจากความเป็นคนปักษ์ใต้ด้วยกันแล้ว ท่านชวนก็มีแววแนวคิดในการชื่นชอบการเมืองเหมือนกัน แต่โดยทั่วไปส่วนมากนักเรียนศิลปะจะชอบทะลึ่ง ตอนนั้นนุ่งขาสั้น นักเรียนศิลปะจะชอบเล่นอะไรแผลงๆ อย่างใครมาเช้าหน่อยก็จะจับคางคกมาใส่ในลิ้นชักเพื่อน เล่นกันแบบพิเรนทร์ๆ (หัวเราะ)

“พอช่วงหน้าร้อน หน้าเล่นว่าวจะมีความสุขมาก ได้นอนเล่นว่าวกลางท้องสนามหลวง ถือว่าเป็นคนมีสาระในวัยเด็ก ทำให้รู้สึกว่าคนที่จะเข้ามาเรียนในโรงเรียนศิลปศึกษาได้นั้น จะต้องเป็นคนระดับหัวกะทิของแต่ละจังหวัด เพื่อนบางคนรู้จักกันมาก่อนรู้จักชื่อเพิ่งจะมาเจอกันโดยรู้จักกันตามนิตยสารดรุณสาสน์ มันจะมีคอลัมน์ศิลปะพวกเราก็จะส่งประกวด ทำให้รู้จักกันมาก่อน มันชอบกันมาตั้งแต่เด็กๆ ช่วงที่เรียนโรงเรียนก็จะมีการแสดงละคร มีงานแสดงผลงานนักเรียน”

เส้นแบ่งแห่งความสงบ

อาจารย์แนบแววตาสดชื่นขึ้นมาทันที เมื่อเอ่ยถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปรมาจารย์ด้านศิลปะ ที่พูดถึงคราใดก็มักจะมีเรื่องเล่าประทับใจให้ฟังเสมอๆ

“คำว่าศิลปินสำหรับผมมันเริ่มเกิดขึ้นมาสมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อมาเจออาจารย์ศิลป์ ซึ่งท่านก็วนไปเวียนมาระหว่างโรงเรียนศิลปศึกษากับมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศิลป์ท่านจะวางแนวคิดของลูกศิษย์แต่ละคน ว่าใครควรเรียนอะไร ทำอย่างไร จะต้องใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อเข้ามาเรียนศิลปากรแล้ว จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ส่วนความประทับใจในตัวอาจารย์ศิลป์ ทั้งวิธีการสอน วิธีวางตัวของอาจารย์ วิธีเคี่ยวกร่ำพวกเราให้รับผิดชอบในการเรียน การค้นคว้า ท่านจะแทรกคำสอนแต่ละเรื่องแต่ละหัวข้อแต่ละวิชา สรุปรวมความแล้ว ท่านสอนพวกเราให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรับผิดชอบ

“ท่านอาจารย์ศิลป์จะพูดอยู่เสมอว่า ศิลปินไม่ใช่แค่คนทำงานศิลปะ ไม่ใช่ว่าทำงานศิลปะแล้วจะเป็นศิลปินได้ มันจะต้องมีคุณธรรม มีจริยธรรม มีมนุษยธรรม มีสุนทรียภาพ ศิลปินไม่ใช่พวกแปลกแยกทางสังคม ไม่ใช่พวกที่อยู่กับใครไม่ได้ มักทำตัวขวางโลก มันไม่ใช่ เดี๋ยวนี้บางคนเข้าใจผิด อะไรที่มันแผลงๆ อะไรที่มันพิเรนทร์ๆ แล้วบอกว่านั่นคือศิลปิน ก็นำเอามาใช้กันให้เข้าใจผิดกันเยอะ

“แล้วถามว่าศิลปินคืออะไร ถ้ามันมีเส้นแบ่งอยู่เส้นหนึ่ง ความรู้เกี่ยวกับธรรมะที่ปฏิบัติเพื่อโลกุตรธรรม เพื่อความหลุดพ้นโลกเป็นนักบวชอยู่ในโลกีย์ ศิลปินอยู่ตรงเส้นแบ่งนี้ พร้อมที่จะกระโจนเข้าวิถีความสงบ ความเป็นโลกุตรธรรมได้ เพราะว่าการเป็นคนเซนซิทีฟ วิชาศิลปะมันกล่อมจนจิตใจมันตื่น มีความเห็นผิดชอบ ชั่วดีอะไรได้ง่ายๆ ได้อย่างชัดเจน แต่มีอยู่อันหนึ่งที่ศิลปินมักจะพลาดบ่อยก็คือความยั้งคิด ความอ่อนไหว อ่อนโยน บางทีมันขาดความยั้งคิด สติอะไรมันมาไม่ทัน

“ผมมีความรู้สึกว่าเกิดเป็นคนทั้งที ได้มีโอกาสเรียนศิลปะและได้พบกับพระพุทธศาสนา ผมถือว่าพอเพียงสำหรับความเป็นมนุษย์เพราะศิลปะเป็นเรื่องของมนุษย์ชาติ เกี่ยวกับความดี ความงาม ธรรมะคือธรรมชาติ มันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของชีวิตก็ว่าได้

เพลงสุดท้ายบนเชิงตะกอน

หากเราไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะ เราสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้หรือไม่นั้น อาจารย์แนบหยุดใช้ความคิดชั่วครู่

“ความสำคัญของศิลปะ หากมนุษย์ไม่มีศิลปะในหัวใจ จิตใจมันก็จะกระด้าง ผมเคยเจอคนที่ไม่ประสีประสาเรื่องศิลปะเลยไม่ชอบผมอยากจะบอกว่ารูปแบบงานศิลปะไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำเอง หน้าที่อยู่ที่ศิลปิน แค่ซาบซึ้งก็พอ มันเป็นผลิตผลของมนุษย์ที่ผ่านการอบรมบ่มนิสัยสันดานจนผลิตออกมาเป็นชิ้นงาน มันแค่ชื่นชมมันก็เพียงพอ เหมือนเรารับประทานอาหาร เราไม่จำเป็นต้องไปเป็นกุ๊ก เราซาบซึ้งในรสชาติของอาหารที่กุ๊กเขาทำให้เรารับประทาน แต่การที่ไม่รับเลยหรือการปฏิเสธงานศิลปะโดยสิ้นเชิงมองว่าศิลปินเป็นส่วนเกินของชีวิต ของสังคม ของมนุษย์ชาติ เท่าที่เห็นมา เขาคนนั้นก็จะเป็นคนกระด้างในทุกเรื่อง จะเป็นคนที่มีความคิดที่ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้เลย เขาก็อยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาจะเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง เขาจะคิดแล้วเป็นคนทำเรื่องที่เราไม่น่าคิดว่าเขาจะทำได้

“สำหรับอัตลักษณ์ของผมมีความเป็นตัวตนของผมเอง บางครั้งใช้สีฉูดฉาด แนวอิมเพรสชั่นนิสม์บ้าง เอ็กเพรสชั่นนิสม์บ้าง ผมสร้างสรรค์หลากหลาย มีทั้งดรอว์อิ้ง เพ้นท์ติ้ง ทำงานปั้น ทำประติมากรรม มีการทดลองค้นหาเทคนิคใหม่ๆสร้างงานแอ็บสแตรกบางครั้งงานของผมอาจจะไม่แตกต่างอะไรกับศิลปินท่านอื่นขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละคนก็ต้องหาตัวเองให้เจอ จนถึงเวลานี้ผมอายุ 71 ปีผมก็ยังค้นหาอยู่ตลอดเวลา ยังไม่มีความลงตัว ผมไม่อยากอยู่นิ่งๆ ผมคิดว่ามันยังไม่อิ่มพอ เราจะมาทำตรงนี้ได้ เราก็ต้องมานั่งทดลองเพื่อให้งานมันพัฒนาของมันไปเอง ในขณะที่ทำงานเราจะไปเจออะไรที่แปลกๆ เพราะฉะนั้นเวลาทำงาน ผมจะสอนน้องๆเสมอว่าต้องทำได้ ก่อนทำคิดให้ลงตัว แล้วทำลงไปไม่ต้องยั้งคิด เราจะเจอสิ่งที่ไม่คิดไม่ฝัน จะไปเจอในสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็น ยกตัวอย่างเทคนิคที่ผมค้นพบโดยการค้นหาไปเรื่อยๆ ผมจึงลองเอากาแฟมาเขียนแทนสี มันก็ออกมาแปลกและสวย ภาพบางชุดผมเขียนกันสดๆ อย่างภาพชุดยุโรป ตอนนั้นพวกศิษย์เก่าศิลปากรจัดไปเที่ยวที่อิตาลี ภาพชุดนี้ผมเขียนไว้เยอะ”

สำหรับศิลปินต้นแบบในดวงใจของอาจารย์แนบนั้น ท่านตอบอย่างรวดเร็วเหมือนกับเขียนรูปฉับพลันทันท่วงทีว่า

“แน่นอนที่สุด ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ทั้ง 3 ท่านนี้ เป็นอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือมาก เสมือนบิดา โดยเฉพาะอาจารย์ประยูรผมจะสนิทกับท่านมากกว่าเพื่อนๆ ในรุ่นทั้งหมด ผมจะติดสอยห้อยตามท่านไปเขียนรูปตามที่ต่างๆ ด้วยเสมอ ไปแบบเด็กๆ จนกระทั่งโตขึ้นมา ผมก็จะไปมาหาสู่อาจารย์อยู่ตลอดเวลา ท่านจะสอนผมเหมือนสอนเด็กๆ จนกระทั่งท่านจากไป ผมยังเคยไปสีไวโอลินในงานศพท่านด้วย

“ก่อนหน้านั้น พี่เชิด เรืองสวัสดิ์ รุ่นพี่ที่เรียนอยู่ร่วมสถาบันเดียวกันเสียชีวิต รุ่นพี่อีกคนมาบอกว่าให้ผมสีไวโอลินให้พี่เชิดฟังเป็นเพลงสุดท้ายหน่อย ผมก็บอกว่ามันไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติ พระก็กำลังสวดอยู่ เราจะไปขวางพิธีกรรมเขาหรือเปล่า ผมก็หันมามองหน้าอาจารย์ประยูร ในเชิงตั้งคำถามว่าควรไหม ท่านพยักหน้า จากนั้นผมก็เอาไวโอลินขึ้นไปบนเมรุ พระกำลังเตรียมตัวสวดทำพิธี ผมก็บอกว่าหลวงพ่อ ผมขออนุญาต 5 นาทีผมจะเล่นไวโอลินให้พี่ผมฟังหน่อย พระก็บอกว่าเอาเลย อาตมาจะได้ฟังด้วย(หัวเราะ) ผมก็เล่นบนเมรุ คิดเมโลดี้เดี๋ยวนั้นเพื่อให้มันเข้ากับบรรยากาศก่อนเข้าสู่การสูญเสีย พอเล่นเสร็จพรรคพวกเพื่อนฝูงจองคิวกันเป็นแถว ก่อนที่จะตายก็ขอจองไว้ก่อน แต่ของอาจารย์ประยูรท่านไม่ได้จอง ท่านไปคุยกับภรรยาของท่านว่า ‘บอกแนบด้วยนะ งานศพพี่ให้สีไวโอลินให้ฟังด้วย’ ก่อนที่จะสี ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ก็ขึ้นไปอ่านบทกวีให้ ก่อนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จมาพระราชทานเพลิงศพ ตอนหลังก็เลยทำตามๆ กันมาสำหรับพรรคพวกศิลปินทั้งหลายในงานศพ ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มี”

วาดเส้นเสียงผสานพลังสี 

“สมัยที่ผมเล่นไวโอลินตามร้านอาหารต่างๆ นั้น ผมต้องต่อสู้กับการดำรงชีวิต หลังจากลาออกจากอาจารย์สอนศิลปะ หันมาเป็นศิลปินอิสระ ตอนนั้นเราไม่สามารถยังชีพอยู่ด้วยการขายงานศิลปะไม่ได้เลย ตอนนั้นยังไม่มีแกลเลอรี่ ผู้คนยังไม่นิยมสะสมภาพงานศิลปะกันมากมายนัก แต่เราก็ต้องทำงาน ผมยังทำงานกับพี่บุญถึง ฤทธิ์เกิด ที่ผมเคยอาศัยอยู่กับท่าน จึงได้ทำงานที่ช่อง 4บางขุนพรหม ทำอยู่ฝ่ายศิลปกรรมให้กับคุณพิชัย วาสนาส่ง พอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ด้วยการทำฉาก สมัยนั้นยังเป็นทีวีขาวดำแล้วตอนกลางคืนก็มาเล่นดนตรีสีไวโอลิน เพื่อหาค่าข้าวสารกรอกหม้อ เพื่อลูกเต้าจะได้เรียนหนังสือ ครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้ปกติจนทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าผมเป็นนักดนตรีทางด้านไวโอลิน แต่ขณะเดียวกัน ผมยังซุ่มทำงานศิลปะอยู่เงียบๆ มาเกือบ 30 ปีโดยที่ไม่เคยได้นำออกแสดงงานที่ไหนมาก่อนเลย แต่ที่ผมมาสีไวโอลินก็เพื่อต้องการจะหาปัจจัย แต่ไม่เคยทิ้งงานศิลปะ บางครั้งมันจะคิดงานอะไรออกมาในขณะที่เล่นไวโอลินอยู่บนเวที คิดถึงงานเพ้นท์ติ้งที่ยังทำค้างอยู่ พอกลับมาถึงบ้านตี 1 ตี 2เปลี่ยนเสื้อผ้าแทบไม่ทัน ผมมาเขียนรูปต่อ เขียนกลางแจ้งเลย (หัวเราะ)

“ผมทำงานเยอะมาก เยอะจนไม่มีที่เก็บเต็มบ้านไปหมด ทีนี้ภรรยาก็เขียนจดหมายไปหาคุณช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน บอกว่าช้างตอนนี้งานพี่แนบเต็มบ้านไปหมดแล้ว ช่วยจัดงานให้ที รู้สึกว่าประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา คุณช้างก็ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ นั่งรถมาขอดูงานที่บ้าน จากนั้นสั่งให้เลขาติดต่อโรงแรมย่านสุริวงศ์พร้อมกับให้ติดต่อคุณชวน หลีกภัยให้เป็นประธานเปิดงานให้ได้ว่าจะต้องแสดงผลงาน เพราะถึงเวลาแล้ว

“เรื่องนี้คุณช้างเขาพูดกับผมไว้ร่วม 30 ปีแล้วว่า พี่แนบอย่าทิ้งการทำงานศิลปะนะ แล้วผมจะประสานงานให้ แต่เราก็ยังไม่อิ่มกับงานพอ ผมก็ยังทำงานของผมไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เลยได้จัดแสดง พรรคพวกเพื่อนฝูงบุคคลทั่วไปจึงรู้กันเลยว่าผมไม่ได้ทิ้งงานเขียนรูป แต่เพื่อนรุ่นเดียวกันส่วนมากทิ้งงานหมด มีอยู่ครั้งหนึ่งพรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่จัดงานดนตรี กวี ภาพ เพื่อเพื่อนถึงเพื่อน เพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่ารักษาตัวที่ผมป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากให้กับผม โดยมีท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ อ่านกวี คุณเทวัญ ทรัพย์แสนยากร เล่นแซ็กโซโฟน ผมสีไวโอลิน อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ วาดภาพจากเสียงเพลง ปกติที่เล่นกันอย่างนี้ผมเล่นกันมานานแล้ว เวลามีงานอะไรต่างๆ อาจารย์ประเทือง ก็จะเขียนรูป แล้วผมก็จะสีไวโอลิน เข้าขากันมากโดยไม่มีการนัดหมาย อาจารย์ประเทืองจะมีเฟรมมาอันหนึ่งจะรู้เลย ทางผู้จัดบอกว่าอย่าให้เกิน 10 นาที

“ขณะที่เล่น สรุปความคือในสีมันมีเสียง ในเสียงยังมีโทนสี เราจะเรียกศัพท์ทางดนตรีที่เราเรียกว่าโทนคัลเลอร์ สีของเสียงอย่างเครื่องดนตรี คอมโพสเซอร์ต้องการที่จะสร้างงานให้เสียงที่มันหดหู่ หม่นหมอง มันก็จะสีออกเทาๆ หม่นๆ ถ้าสีไวโอลินที่มันแหลมปี๊ดอันนี้สีดำ สีคล้ำๆ ดำๆ แรงๆ ก็คือเพอร์คัสชั่นที่เป็นซิมโฟนี เพลงคลาสสิกยาวเต็มรูปแบบมีท่อนหลักราว 3-4 มูฟเมนท์ ใช้เล่นกับวงออร์เคสตรา หรือสีที่มันเบิกบาน โปร่ง โล่งสบาย ก็จะใช้แซ็กโซโฟน พวกเครื่องเป่า ซึ่งมันจะมีสีที่เราสัมผัสได้ด้วยการหมั่นฝึก หมั่นฟัง มันจะจูงกัน

“เราบอกไม่ได้ จี้มันก็ไม่ได้ เราต้องฝึกทักษะ ภาพที่เขียนด้วยเสียง ส่วนมากเป็นรูปนามธรรม พอผมเริ่มเล่นผมจะเกริ่นออกมาก่อน เป็นการตั้งสมาธิ ในขณะที่อาจารย์ประเทืองเขียน ผมก็ต้องมองอาจารย์ประเทือง และอาจารย์ประเทืองต้องฟังผมสีอาจารย์ประเทืองกำลังเขียนเฉื่อยๆ อยู่ ผมก็ช่วยหน่อย ผมก็จะขยี้ไวโอลิน มันอ่านจิตด้วยจิตต่อจิตกันเดี๋ยวนั้น พอมันจบกระบวนการ เราก็จะมาดูกันแล้วก็เซ็นชื่อกันเดี๋ยวนั้น ฉะนั้นคนที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะแนวนี้ ต้องเข้าใจโทนคัลเลอร์ได้เป็นอย่างดี เราต้องฝึกกันบ่อยๆ

“ผมเองเคยคิดอยากจะเขียนเองแบบนี้ แต่ยังหานักดนตรีที่จะเล่นไม่ได้ ส่วนมากเขาจะเล่นเพลง ของผมอันนี้มันเลยความเป็นเพลงไปแล้ว มันเป็นมิวสิก เป็นอิมโพรไวเซชั่น ไม่เป็นเพลงหนึ่งเพลงใดในสารบบ เล่นตามอารมณ์ ตามเหตุการณ์ เหมือนอย่างผมไปเล่นบนเมรุ ผมต้องเล่นอะไรที่มันหดหู่ ทุกวันนี้ผมเล่นหมด ทั้งงานวันเกิด วันเจ็บป่วย จนถึงวันตาย”

ดุริยมนตรา

ทำไมศิลปินไทยส่วนใหญ่ที่กำลังสร้างชื่อเสียง ค่อนข้างยากจน ทั้งๆ ที่มีฝีมือทั้งนั้น

“ผมมองว่าศิลปินไทยลำบาก เพราะทำธุรกิจไม่เป็น ค้าขายไม่เป็น ระบบการจัดการอาจจะหละหลวมมาก เขาเอาความสามารถเข้าไปแลก ที่สำคัญที่สุด งานศิลปะมันไม่ใช่ปัจจัย 4 ที่ทุกคนจะต้องเสพเหมือนกับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยศิลปะมันเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ 6 นอกเสียจากเป็นศิลปินด้วย แล้วก็เป็นพ่อค้าด้วย ก็มักจะมีฐานะ มีสตางค์ พวกนี้จะทำโปรโมชั่นตัวเอง แต่ผมยังมั่นใจว่า งานศิลป์ที่ศิลปินทำด้วยใจบริสุทธิ์ จรรโลงสร้างสรรค์นั้นอยู่ได้ แต่ต้องใช้เวลาและมักจะมีชีวิตอยู่ตามอัตภาพ ชีวิตพอเพียงด้วย บางครั้งชีวิตศิลปินบางคน ก็มีความสุข คนอื่นอาจจะไม่ทราบก็ได้ เขาพอกินพอใช้ ได้มีอุปกรณ์ที่สร้างงาน ไม่บิดเบือน รู้จักเขียนรูปอย่างมีศีล

“ในช่วงที่ผมป่วย ผมยังไปทำงานเล่นดนตรีกับทำงานศิลปะ ในตอนกลางคืน ขณะที่ต้องไปฉีดยาในตอนกลางวัน ผมปรับเอาเสียงดนตรี เสียงไวโอลินกับวงที่เล่น เราพยายามซึมซับให้มันเข้ามาหล่อหลอมจิตให้มันเกิดความบันเทิง มันจะมีความปีติ เกิดความไพเราะ ความงาม ตามธรรมชาติ สร้างความปีติ ความปีติมันจะหลั่งสารบางอย่างออกมา บางครั้งฟังแล้วน้ำตาไหล ทีนี้เราเหมือนตกบันไดพลอยโจน เพราะเราต้องออกไปทำมาหากิน ในขณะที่เราทำหน้าที่นั้น เรานำเอาเสียงอันนี้เข้ามาสร้างความปีติสร้างความบันเทิง สร้างความสุข ซึ่งมันก็ได้ผล เหมือนเป็นดนตรีบำบัด

“ที่บัลวีเขาใช้ธรรมชาติบำบัดของนายแพทย์.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ผมเคยทำซีดีอยู่ชุดหนึ่งให้กับบัลวี ผมสีไวโอลินกับพระ โดยพระสวดมนต์ ซึ่งในขณะที่ผมรักษาตัว ก็มีหลวงพ่ออยู่รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระธรรมทูตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อพระอาจารย์ดร.สินธน นราสโก และทุกครั้งที่ท่านกลับมาเมืองไทย ท่านจะไปอบรมให้กำลังใจคนป่วย

“มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปที่ศูนย์การแพทย์พระเทพฯ เพื่อพบกับท่านอาจารย์ ท่านก็อธิบายว่าการสวดมนต์ถ้าสร้างเมโลดี้ขึ้นมาใหม่แทนที่เราจะสวดเรียบๆ ท่านก็ใช้เสียงสูงเสียงต่ำให้มันมีเมโลดี้ครบ 7 เสียง โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด มันจะมีคุณภาพเหมือนกัน ท่านอาจารย์ทดลองของท่านเลย ก่อนท่านจะสวดมนต์ คุณหมอที่บัลวีก็บอกว่าตอนหลวงพ่อสวดแล้วให้อาจารย์เล่นไวโอลินผมก็บอกว่ามันจะขัดระเบียบประเพณีอะไรหรือเปล่า ขณะที่พระสวดแล้วผมเล่นไวโอลิน ก็เลยถามท่านว่าผมคลอไวโอลินให้นะท่านบอกว่าเอาเลยโยม หามานานแล้ว

“ท่านมีความเชื่อมั่นว่าในสมัยพุทธกาลในขณะที่พระพุทธเจ้าร่ายมนต์ ร่ายโสฬส เทวดาจะลงมาเล่นพิณ ก็เลยเล่นกัน ท่านก็สวดพอเล่นเสร็จที่เวที มีคนวิ่งกันมาเกรียวเลย ถามว่ามีซีดีมีเทปไหม เพราะว่าช่วงที่กำลังจะสวดประมาณ 20 นาทีที่ทดลอง คนเฒ่าคนแก่และคนที่นั่งฟังอยู่จำนวน 2,000 กว่าคน มันจูงเข้าสู่สมาธิได้ง่ายมาก ผมก็บอกว่าไม่มีหรอก เพราะเพิ่งทำครั้งแรก ก็เลยคิดกันกับหลวงพ่อและคุณหมอที่บัลวี จากนั้นก็เข้าห้องอัดกัน หลวงพ่อท่านก็สวดบทสำคัญๆ สวดแบบไม่ได้นัดหมายกัน เพราะอยู่คนละห้อง แต่มองเห็นกัน ก็ใส่เฮดโฟน ผมฟังท่าน ท่านฟังผม แล้วท่านเป็นคนที่มีหัวทางดนตรี ท่านจะไปของท่านโดยที่ไม่ใช่ผม พอทำเดโม เสร็จก็คิดไม่ออกว่าจะตั้งชื่อชุดอะไร จึงส่งไปให้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฟังท่านก็ฟังตอนกลางคืนเสร็จท่านก็ตั้งชื่อชุดนี้ว่า “ดุริยมนตรา” เพลงมนต์เพื่อบำบัดโรคและปฏิบัติธรรม หลวงพ่อท่านสร้างทำนองของท่านเอง ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ

“สุดท้ายของชีวิต ผมคิดว่าผมยังจะทำงานศิลปะจนชีวิตจะหาไม่ ทำจนจะทำไม่ไหวและอยากจะฝากรุ่นน้อง รุ่นลูกศิษย์รุ่นหลังๆให้มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อสภาวธรรม ต่อปรากฏการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างงานศิลปะ เราต้องซื่อสัตย์หน่อย อย่าทำลวกๆ อย่าไปมองผ่าน แล้วเราจะได้งานที่ถึงแก่นของมันจริงๆ ไม่ใช่อยู่แค่ทำไปเพื่อเชิงพาณิชย์ มันก็ไปได้เพียงแค่นั้น ให้นึกไว้เสมอว่า ศิลปินไม่ใช่แค่คนทำงานศิลปะ ไม่ใช่แค่คนวาดเขียนอย่างเดียว เราต้องมีดีพร้อม มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีมนุษยธรรมมีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม”

บนถนนของศิลปินสองสายธาร ระหว่างดนตรีกับจิตรกรรม