สุพรรณฯ-ชัยนาท

สุพรรณฯ-ชัยนาท

แผ่นดิน ทุ่งนา ท่าน้ำ และถนนสายเก่าแก่ที่เลียบเข้ามาใน “บ้าน” ของพวกเขา พาเราวนเป็นวงกลม ริมสองข้างทางปรากฏรอยยิ้มและหยาดเหงื่อปะปนไม่เคยจางคลาย

 

อาจมิได้โรแมนติกราวเส้นทางในฝันที่ผลักดันให้ใครหลายคนออกเดินทาง ทว่าบนรอยล้อที่หมุนไป บางนาทีผมได้พบว่า ชีวิตของพวกเขา ที่วันๆ อาจไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหนเกินกว่าเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนที่หลับนอนนั้น แสนใกล้เคียงกับการเดินทางสู่“ภายใน” ที่หลายคนเฝ้าฝันถึง

 

เมื่อชีวิตมีสิ่งให้ “ดิ้นรน” มากกว่า “ฟูมฟาย” ไปกับการเปลี่ยนผ่านของวันเวลา หนทางที่กำลังเลือกเดินก็อาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าจุดมุ่งหมาย

 

ถนนคอนกรีตกว้างใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นที่ภาคภูมิใจในความ “ทันสมัย” ของหลายคนในสุพรรณบุรี ทว่าหากลึกลงไปในความเป็นเมืองชุ่มอุดม อย่างที่ในเพลงลูกทุ่งเลือดสุพรรณประเภท “ชั้นครู” บอกให้เห็นภาพนั้น บางทีเราอาจต้องเลือกทางสายเก่าที่หล่อหลอมพวกเขามายาวนาน

 

เราผละเข่าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 341 (สายเก่า) กันที่ตลาดโพธิ์พระยา ของสดของแห้งเรียงรายอยู่ภายใต้เต็นท์ผ้าใบสมัยใหม่ริมแม่น้ำท่าจีน แนวตึกไม้เก่ามิได้ทอดยาวอย่างที่เคยเป็นมาแต่ครั้งตั้งชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2468 ไฟไหม้ครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ.2547 พาความคลาสสิกของเรือนแถวไม้หายไปกับเปลวเพลิง ทว่าชีวิตเรียบสงบริมน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลง ความคึกคักอาจไม่มากอย่างแต่ก่อน แต่ก็พอให้รู้ว่าที่นี่เคยเป็นจุดรวมผู้คนด้วยการสัญจรตามลำน้ำสู่สุพรรณบุรีและเมืองอื่นๆ อีกยาวไกล

 

“หากเป็นเย็นๆ นะหลาน ของกินลานตาเชียว” สำเนียง “เหน่อสุพรรณ” อันเป็นเอกลักษณ์ของใครสักคนในร้านโชห่วยตรงเชิงสะพานไม่เพียงทุ้มนุ่มน่าฟัง หากยังรู้สึกได้ถึงความเป็นพี่น้องอย่างที่คนต่างจังหวัดยึดถือ

 

ข้ามแม่น้ำท่าจีน ถนนคล้ายร้างไร้สัญจรมาเนิ่นนาน ข้าวในนาสองฝั่งสุกงอมค้อมรวง รถเกี่ยวข้าวสีลูกกวาดคำรามอยู่ไกลๆ ควันขโมงพวยพุ่ง

 

ยืนอยู่ริมนาผืนกว้าง นาทีนั้นผมคิดถึงเพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เสียงโต้ตอบของหญิงชายที่หมายคลายเหนื่อยจากท้องไร่ทุ่งนา ที่วันนี้เงียบเสียงไปแล้วจากนาข้าว กลายเป็นเรื่องต้อง “อนุรักษ์” กันยืดยาว

 

แดดแรงแผดหนัก เมฆกระจัดกระจายราวเศษนุ่นลอยเกลื่อนฟ้าสีน้ำเงิน ถัดเลาะตามทางออกมาไม่นาน ตลาดบ้านกร่างก็คงภาพความเป็น “ย่าน” ไว้อย่างมีชีวิต

 

ถนนเล็กๆ โอบอยู่ด้วยห้องแถวไม้ร่วมร้อยห้อง มันยังขรึมเข้มสวยงามไม่น่าต่างจากวันที่สร้าง อีกฟากแม่น้ำคือตลาดศรีประจันต์ที่เติบโตมาก่อน ใหญ่และคึกคักกว่า ทว่าก็เงียบลงกว่าห้าหกสิบปีก่อน สมัยที่อำเภอศรีประจันต์เป็นจุดข้ามเรือ ต่อรถ ไปสู่บ้านกล้วย วังหว้า ยาวไกลไปถึงปลายแดนสุพรรณฯ อย่างอำเภอด่านช้าง

 

“คนฝั่งบ้านกร่างอยู่เงียบๆ ไม่เท่าฝั่งอำเภอ” ป้าพิณทิพย์ อารยางกูร ยิ้มพลางเล่าอยู่หน้าห้องแถวไม้ของแก ที่วันนี้เงียบงัน “ฝั่งนี้รับราชการเยอะ กลางวันมีแต่คนแก่กับเด็ก” 

 

แสงบ่ายไล้แนวชายคาสังกะสีทำให้ทางเดินยิ่งมีมิติ ร้านกาแฟจริงๆ ที่ไม่ได้มีไว้รับนักท่องเที่ยวมีวัยรุ่นสี่ห้ากลุ่มส่งเสียงหัวเราะสวนออกมา เฒ่าชราผ่านยามบ่ายไปเงียบๆ กับโอเลี้ยงและหนังสือพิมพ์ประจำวัน

 

ลงเรือแจวผ่านแนวผักตบชวาข้ามสู่ฝั่งตลาดศรีประจันต์ เมื่อขึ้นฝั่ง ห้องแถวไม้ที่แผ่ขยายจนพื้นที่ตรงกลางกลายเป็นเป็นลานซีเมนต์สี่เหลี่ยม ร้านทองม้วนและขนมปังโบราณยังคงเดินอยู่เคียงคู่ ขณะที่ร้านตามสั่งเจ้าเก่าแก่ก็เนืองแน่นผู้คน กลิ่นหอมลอยออกมาดึงให้อยากลองเดินเข้าไปดูความมีชีวิตชีวาด้านใน

 

เรือนแถวไม้ 3 ห้องอันเป็นชาติภูมิสถาน ป.อ. ปยุตฺโต สงบนิ่งอยู่ด้วยข้าวของจากอดีต ผนังไม้มันเลื่อมสะท้อนการเป็นร้านขายผ้าใหญ่ เรื่องราวชีวประวัติ และนานา “ธรรมมะ” ที่ท่านสร้างไว้ในหนังสืออันเรียงราย

 

หนังสือชื่อ “พุทธธรรม” ที่ว่าถึงแก่นของพระไตรปิฎกทุกแง่มุมคืองานนิพนธ์ที่เยี่ยมยอด และในทางพุทธศาสนา ท่านถือว่าเป็นกวีทางพุทธและเพชรน้ำเอกของโลก

 

ในวันที่ตลาดศรีประจันต์ผ่านร้อนหนาวมาร้อยกว่าปี จาก พ.ศ.2444 ลวดลายฉลุจากหลายห้องยังชัดเจนความงาม เมื่อมีเสียงเทศน์สอนของท่านเจ้าคุณฯ อันเป็น “ลูกหลาน” ศรีประจันต์ล่องลอยในปลายบ่าย

 

ไยจะเรียกย่านตลาดแห่งนี้ว่า “ความสงบงาม” ไม่ได้

 

ข้ามฝั่งกลับสู่ถนนสายเก่า รอยทางโบราณก็ดึงเรากลับสู่ความเป็นเมืองทุ่งเมืองท่า ผ่านสามชุกไปได้ไม่นาน ถนนบีบแคบลงหลายคนบอกให้เราเลือกไปใช้ทางหลักใหญ่โตด้านนอก ทว่าเมื่อรู้ว่าไปต่อได้จนถึงเดิมบางนางบวช ก็ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนใจ

 

สองข้างทางคือการงานแห่งชีวิต กวีเลือดสุพรรณฯ คนหนึ่งเคยว่าเอาไว้ “อยากให้รักผลิบานในจานข้าว” เป็นเช่นนั้นเองเมื่อเห็นโมงยามเก็บเกี่ยวของพวกเขา ข้าวของคนสุพรรณฯ ดีสมกับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำมาเนิ่นนาน เขื่อนกักเก็บน้ำหรือคลองชลประทานที่ทำให้ทำนาได้ตลอดปีนั่นอีกเรื่อง หากแต่ความ “ชัดเจน” ในวัฒนธรรมข้าวต่างหาก ที่ผูกพันร้อยโยงพวกเขาไว้ไม่ให้จากไปไหน

 

“ปีนี้น้ำดี ข้าวกระเตื้องขึ้นมาหน่อย” ระหว่างทางก่อนเข้าบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ พี่น้องบ้านทุ่งนั่งมองรถเกี่ยวข้าวด้วยใบหน้าอิ่มยิ้ม แดดแรง ๆ เหมือนจะทำอะไรเขาได้เพียงเหงื่อที่ย้อยไหล ขณะที่เพื่อนร่วมแปลงง่วนอยู่กับรวง “ข้าวตก” ที่ร่วงซ่อนอยู่ตามนาสีน้ำตาลอันว่างเปล่า

 

พื้นที่กว่า 1,511 ไร่ของบึงน้ำที่หลายคนมุ่งมาถึงพร้อมๆ กันกับเรากลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ยอดนิยมของสุพรรณบุรีในเวลาไม่กี่ปี ไม่เพียงเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร อะควาเรียมปลาน้ำจืดแสนทันสมัย แหล่งหย่อนใจครบครัน ทว่าในเชิงอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน การได้รับประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ เมื่อปี พ.ศ.2541 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าที่นี่หาใช่แค่แหล่งท่องเที่ยว

 

หากยังเป็น “บ้าน” ของคนและสัตว์ที่คนที่นี่ไม่เคยคิดเดินจากไปไหน

 

ผมซึมซับบรรยากาศ “ปิกนิก” แบบครอบครัวอยู่ริมบึง นานๆ ทีก็เพลินดูเด็กน้อยเก็บข่ายดักปลาพร้อมพ่อ สักพักก็บ่ายหน้าสู่ถนนสายเดิม แดดเริ่มราแรง ถนนคดโค้งและยกตัวจากที่ลุ่มขึ้นสู่ที่ดอน นาข้าวสองข้างทางเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด

 

และเมื่อเราไปถึงบ้านทุ่งก้านเหลือง ก็พบว่าผ้าทอและชีวิตการย้ายถิ่นมาปักหลักของคนบางกลุ่มนั้นแสนน่าทึ่ง ผูกพันเชื่อมโยงกันจากด้ายเส้นเล็กๆ

 

“เรามาจากภูคัง ใกล้ๆ เมืองหลวงพระบางโน่น” แม้ไม่เคยไปถึงถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษ แต่สมจิต ภาเรืองก็รู้ดีว่า สงครามและการอพยพนำพาคนรุ่นตารุ่นทวดของเธอมาไกลแสนไกล

 

ฟังสมจิตพูดคุยกับป้าบาง พลเสน ด้วยภาษาของพวกเขา นานๆ ทีเมื่อเห็นว่าเราอยากรู้อะไร สองหญิงชราก็หันมาบอกด้วยภาษากลางที่ไม่ปนเหน่อแบบคนสุพรรณฯ “นามสกุลเก่าแก่ของคนที่นี่คือสาระคำ” เรียงผ้าผืนเสร็จแกก็ว่าต่อ “พูดไม่เหมือนกันนะลาวซี่กับลาวครั่ง ถึงแม้จะมาพร้อมๆ กันก็คนละอย่าง”

 

จากยุคกวาดต้อนเชลยศึก เทครัว ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นร้อยกว่าปีแล้ว ที่ตามพื้นที่อย่างเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานีชัยนาท และสุพรรณบุรี มากมายไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันฝังราก ไปมาหาสู่กันบ้าง แต่การกลับไปเยี่ยมแผ่นดินเดิม ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตตามไร่นาอย่างทุกวันนี้

 

ต่อหน้าผ้าทออันละเอียดลออ หญิงชาวลาวซี่-ลาวครั่ง แห่งบ้านทุ่งก้านเหลือง ไม่เพียงทำให้ผมเห็นในความงามที่เกิดจากจากแรงมือ

 

แต่กลับทำให้ชัดเจนว่า ในผืนนา แผ่นดิน หรือผ้าซิ่นสักผืนนั้น มากมายไปด้วยเรื่องราวชีวิต

 

‘ขาท้าวก่ายขานาง’ คือลวดลายการทอที่น่าทึ่ง ปนอยู่ด้วยความรัก การใช้ชีวิต และศิลปะงดงาม “หลานดูดีๆ ลายมันละเอียด”ป้าแกเล่าถึงที่มาของชื่อลาย แรงบันดาลใจจากลายสักขาของชายคนรัก ที่หญิงสาวใส่ใจสร้างขึ้นในผืนผ้า เมื่อเสร็จเป็นผืนจะได้นุ่งไว้แนบชิดลำตัว ดั่งได้เคียงข้างกันตลอดเวลา

 

ผ้าผูกพันพวกเขาไว้อย่างน่าทึ่ง บางอย่างมิได้มีความหมายอย่างที่นักวิชาการผ้ายุคใหม่นิยมตีความ อย่างเรื่องศูนย์กลางจักรวาลหรืออะไรก็ตามแต่ ทว่าไม่น่าเชื่อที่การนิยามหรือชี้นำจากสมัยใหม่ก็มิได้สั่นคลอนความเชื่อในลวดลายเหล่านั้นให้ผันแปร

 

“มีบ้างที่เราทอกันเป็นผลิตภัณฑ์ ให้เขาเอาไปทำอย่างอื่น ที่รองจาน กระเป๋า แต่ไปถามเถอะ ทุกบ้านมีความสุขตอนได้ทอผ้าไว้ใช้เองต่างหาก มันไม่ต้องไปตามใคร ตามแต่ปู่ย่าเราก็พอ” บนเรือนชานบ้านลาวครั่งแบบโบราณ ยกพื้นสูง ข้างในทึบทึมด้วยข้าวของ หญิงชาวลาวครั่งคนหนึ่งพูดถึงเรื่องที่กินความหมายมากกว่าผ้าหนึ่งผืน

 

เป็นความหมายที่กินลึกเข้ามาถึงสิ่งที่เรียกว่าลมหายใจ

 

หลุดจากเดิมบางนางบวช ไปตามเรากลับมาใช้เส้นทางหลัก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 341 เรียบนิ่ง สะดวกสบาย สักเพียงครู่ก็เข้าสู่เมืองที่ราบลุ่มอย่างชัยนาทที่อำเภอสรรคบุรี แม่น้ำน้อยโอบขนานอยู่ปลายตา ริมฝั่งน้ำมากมายด้วยวัดวาเก่าแก่ ผู้คน และการฝังรากยาวนาน

 

ยามเช้ากลางเมืองชัยนาทนั้นแสนเงียบงาม แม่น้ำเจ้าพระยาเอื่อยไหลอยู่ด้านหน้า ย่านการค้าดำเนินไปอย่างเป็นตัวของตัวเองสินค้าการเกษตรอันสมบูรณ์จากพื้นที่ “รอบนอก” ก่ายกองอยู่ในตลาด ถนนชัยณรงค์เป็นศูนย์รวมของผู้คนในยามเช้า แม้หลายช่วงจะกลายเป็นตึกสมัยใหม่ไปหมดแล้ว แต่การเชื่อมโยงของ “นา” กับ “เมือง” ก็ยังคงเป็นไปตราบที่ความเป็นปัจจุบันจะอนุญาต

 

“ตราบใดยังมีนา มีคนปลูกข้าว ผมก็อยู่สบาย” หลังจากนั่งเรือข้ามฟากไปมาเพื่อดูแม่น้ำและผู้คน เมื่อผ่านมาหน้าตึกเก่าคร่ำของลุงบำเพ็ญ แต้ศิวิลัย แกก็ชี้ชวนให้เรานั่งคุยกันหน้าร้านเพรียวพานิช ตึกปูนที่สร้างมาเป็นหลังแรกของชัยนาท หลังจากไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่ไปเมื่อ พ.ศ.2512

 

ว่าตามตรง มันไม่ได้คลาสสิกอะไรนัก หากจะเทียบกับเรือนแถวไม้ หรือตึกทรงฝรั่งที่หลายคนมักชอบเดินดูตามเมืองเก่าต่างๆแต่กับอุปกรณ์การเกษตรพวกปั๊มน้ำ เครื่องตัดหญ้า รถไถ และชีวิตที่เชื่อมผูกอยู่กับชาวนาชาวไร่ พื้นที่รายรอบ ดูเหมือนเรื่องเล่าแต่ละเรื่องของแกมากมายด้วยคุณค่า

 

เป็นคุณค่าที่หอมหวนพอๆ กันกับกลิ่นดิน กลิ่นข้าว กลิ่นแม่น้ำ อันแสนบริสุทธิ์ในยามเช้า

 

ทางหลวงหมายเลข 311 พาเราเลาะแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมองไม่เห็นตลอดตลอดช่วง แต่คลองชลประทานและนาข้าวเขียวขจีถัดลับไปอีกสุดตาก็ทำให้เรารู้ว่า ทุ่งชัยนาทนั้นยังอารีเสมอกับคนที่หันหน้าลงหาผืนดิน

 

สักพักเราก็ถึงเขื่อนเจ้าพระยาเขื่อนชลประทานแห่งแรกของประเทศไทย มวลน้ำแผ่กว้างโจนตัวผ่านประตูน้ำ ปริมาณน้ำจากภาคเหนือเมื่อลงสู่ภาคกลางผ่านผันมาที่นี่เป็นหลัก ไม่เพียงเอื้อผลต่อการยังชีพของที่ราบที่ต่ำลงไป แต่เขื่อนที่มีประตูน้ำถึง 16 ช่องแห่งนี้ยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่มายาวนาน

 

เหนือสันเขื่อนคือโลกของการพักผ่อน ร้านขายอาหารเรียงราย นักท่องเที่ยวท้องถิ่นมาเยี่ยมเยือน “ภาพทางตา” ของเขื่อนเจ้าพระยากันแต่ต้นสาย แผงขายผลผลิตจากแม่น้ำอย่างปลาสด ปลาแห้ง ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเมืองแม่น้ำอย่างชัยนาท

 

“ว่าก็ว่าเถอะ เดี่ยวนี้ซบไปกว่าแต่ก่อนเยอะ” ลุงชราตัดพ้อ ขณะที่หลายคนมาดูปลากด ปลาแขยง ปลาดุกตากแห้ง แล้วก็จากไปพร้อมกับปริมาณปลาบนแผงที่ลดลงไปไม่มาก ผมเองช่วยอะไรลุงไม่ได้นัก นอกจากยิ้มรับกับคำพ้อและส่งสายตาคล้ายๆ จะให้กำลังใจ

 

“7 วันมอดก็ขึ้นแล้ว คนมาเดินน้อย เหลือก็ต้องทิ้ง ลดราคาแล้วยังขายไม่ได้” แกหมายความอย่างนั้นจริงๆ ทิ้งนั้นไม่เพียงทิ้งปลา หากคือทิ้งซึ่งปากท้องไปอีกวันหนึ่งๆ

 

“วันหนึ่งไม่ไหวก็ต้องเลิก แต่ให้เลิกจับปลานี่ยาก คนต้องกิน อย่างน้อยลูกหลานก็ต้องกิน” หากสิ่งที่ลุงพูดตอนท้ายๆ ก่อนผมจะจากมาเป็นจริง เรื่องอย่างนี้ก็มิได้มีแต่ในนิยายโรแมนติก

 

เมื่อกลับสู่ท้องที่ผืนนาอีกครั้ง ลมเย็นชื่น ทว่าเมื่อเข้าไปอยู่ใน “พื้นที่”เช่นเดียวกับพวกเขา เหล่านี้ล้วนไม่แตกต่างกัน กลางความงามพลิ้วของทิวข้าว ลมทุ่ง และดงตาล ก็ซ่อนอยู่ด้วยปัญหาที่หากไม่ลงมาเดินด้วยกันกับพวกเขาก็อาจมองไม่เห็น

 

คืนวันแปลกแยกขึ้นตามการเปลี่ยนผ่าน บางคราวชะตากรรมก็มากมายไปด้วยถ้อยคำแปลกแยกที่ผลักให้หลายคนต้องกลายเป็นคนนอก

 

หากแต่เพียงผู้คนยังคงแข็งแรงพอๆ กับทางสายเก่าบนแผ่นดินที่ทนทาน

 

อาจไม่แปลกที่เรายังคงก้าวเดินต่อไป และมันยิ่งย้ำชัดว่าเรามาไกลกันเท่าไหร่แล้ว

หากชีวิตคือการชื่นชมด้วยผลงานของสองมือ