สาม อ. สู่ร่างกายแข็งแรง

สาม อ. สู่ร่างกายแข็งแรง

1. ออกกำลังกาย

คงเป็นเรื่องแปลกหากไม่พูดถึงการออกกำลังกายเพิ่มเสริมร่างกายให้แข็งแรงและสมบูรณ์ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วการออกกำลังกายนั้นทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด รวมทั้งได้ผลดีต่อร่างกายที่สุดอีกด้วย สิ่งที่เป็นตัววัดว่าร่างกายออกกำลังกายแล้วได้ผลมากน้อยแค่ไหน หัวใจเราจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ครับ โดยเราสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจในการเต้นต่อครั้งต่อนาทีว่าอยู่ในระดับใด ยิ่งจำนวนครั้งเต้นมากเท่าไร ก็หมายถึงความเข้มข้นในการออกกำลังกายมีมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าผ่านเวลาไปนานเข้า หัวใจเริ่มเข้าที่ ความฟิตเริ่มมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจก็จะค่อยๆ ลดลงครับ วิธีวัดอัตราการเต้นของหัวใจเราก็ง่ายๆ ครับ จับชีพจรของเราดูว่าใน 10 วินาที ชีพจรเราเต้นกี่ครั้ง จากนั้นก็คูณ 6 เข้าไป ก็จะได้อัตราการเต้นหัวใจต่อนาที

 

ในส่วนของอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมที่สุดไม่มากจนเกินไปนั้น ก็มีสูตรง่ายๆ ครับ ให้นำตัวเลข 220 ตั้งแล้วลบด้วยอายุ สมมติว่าเราอายุ 30 ปี อัตราการเต้นของหัวใจเราต่อนาทีก็ไม่ควรเกิน 190 ครั้ง เพราะหากเกินกว่านี้อาจจะเข้าสู่ภาวะหัวใจวายได้ครับ

2. อาหาร

กินอย่างไร ย่อมเป็นอย่างนั้น คำพูดนี้ถูกต้องที่สุดครับ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราตามใจปากมากจนเกินไป น้ำหนักตัวของเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว การกินอาหารจึงนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่อย่าไปบังคับมาก เพราะมนุษย์เรานี่ยิ่งแปลกถ้าบอกให้ควบคุม ก็จะยิ่งแตกแถว เลี่ยงเป็นใช้คำว่าเลือกกินอาหารดีกว่าครับ หนึ่งเลยก็คือ เลือกกินอาหารที่ปราศจากแป้ง เช่น ส้มตำ ยำ ลาบ แกงส้ม ต้มยำ แกงเลียง สิ่งเหล่านี้ดีต่อสุขภาพ ที่ให้หลีกเลี่ยงแป้งนั้น ไม่ใช่เพราะแป้งทำตัวไม่ดีหรืออะไรหรอกนะครับ แต่แป้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำเราไปสู่โอกาสในการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อแป้งเข้าสู่ร่างกายเรา จะถูกกักเก็บไว้ในร่างกายในรูปแบบที่เรียกว่า ไกลโคเจน และถูกดึงมาใช้ได้ยาก ยิ่งถ้าเป็นพวกเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดยิ่งหนักเลย นอกจากนี้แป้งยังไปหมักหมมอยู่ในกระเพาะและลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดแก๊ส เกิดมูก ส่งผลให้พิษร้ายเหล่านี้ไหลเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้ร่างกายได้รับอันตรายได้

 

แต่ถ้าเลี่ยงแป้งไม่ได้จริงๆ แป้งที่แนะนำมากที่สุดก็คือ แป้งที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งก็คือแป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) เมล็ดพืช ธัญพืชต่างๆ เป็นต้น แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ก็ขอแนะนำให้เป็นข้าวกล้องงอก เพราะในข้าวกล้องงอกจะอุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์มากมาย รวมไปถึงสาร GABA ที่ช่วยในเรื่องของสมองอีกด้วย

 

โดยในหนึ่งวันนั้น มื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพที่สุดก็คือ มื้อเช้า กินข้าวกล้องงอก 1 ทัพพีกับกับข้าว หลังจากนั้นก็เลี่ยงแป้งให้ได้ทั้งวัน กับข้าวกินได้เต็มที่ ผักสด ผลไม้สดกินให้มากหน่อย ทำแค่นี้หนึ่งเดือนก็จะเห็นผลดีกับรูปร่างภายนอกแล้วครับ

3. อารมณ์

อ. สุดท้ายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจของเราก็คือ อารมณ์ เคยได้ยินเพลงที่ร้องว่า “อารมณ์ดี เพราะมีความสุข ไม่มีทุกข์จะไม่ให้สุขได้อย่างไร” บ้างไหมครับ เนื้อหาของเพลงก็บอกอยู่แล้วว่าอารมณ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

 

เช่นนั้นแล้ว การควบคุมสภาวะจิตใจถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการที่จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ลองนึกง่ายๆ นะครับ ถ้าหากว่าเราป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง แล้วไม่คิดหรอกว่าจะหายวันหายคืน มัวแต่จมทุกข์ ระทมเศร้ากับโรคที่เป็น โอกาสที่จะหาย และดีขึ้นในเร็ววัน มันก็ยาก คล้ายๆ กับคนอกหัก ถ้าหากมัวแต่ไปเศร้าโศกเสียใจ มองไม่เห็นใครบนโลกนี้ดีเท่ากับคนที่ทิ้งเราอีกแล้ว ชีวิตก็คงไม่มีทางดีขึ้นได้ เพราะใจเรามัวแต่จดจ่ออยู่กับความเศร้า เราต้องถอยห่างความเศร้าออกมา แล้วดึงสติกลับมาที่ปัจจุบันให้ได้ แล้วเราจะมองเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ความจริงเป็นอย่างไร ไม่มีเขา เราอยู่ได้ใช่ไหม หรือถ้าหากมาจากความเครียดเรื่องงานที่สั่งสมมานาน ก็อาจจะผ่อนคลายด้วยการฝึกลมหายใจ วิธีง่ายที่สุดก็คือ หายใจเข้าเต็มปอด แล้วกลั้นไว้ จากนั้นก็ค่อยๆ หายใจออก ช้าๆ ช้าๆ ลองทำซ้ำๆ สักสิบครั้ง แค่นี้ก็น่าจะมีแรงใจไว้สู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ต่อไปได้

 

ทั้งหมดนี้คือ 3 อ. ออกกำลังกาย อาหาร และอารมณ์ ที่เราจำเป็นต้องปรับทั้งหมดให้ถูกวิธี เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราทำถูกวิธีแล้ว มันจะนำพาเราไปสู่ความสุข ที่ใครก็ยากจะมาแย่งไปจากเราครับ 

 

ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลอดภัยในฤดูฝน

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย อันตรายอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับคุณได้นอกจากโรคต่างๆ ก็คือ ภัยจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่กลางแจ้ง ควรหมั่นตรวจให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย หากพบรอยแตก ฉีกขาดเมื่อไรให้รีบเปลี่ยนทันที

 

อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เราควรต้องหมั่นดูแลและเอาใจใส่ รวมไปถึงขั้นตอนและวิธีการใช้ ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะที่มือเปียกหรือยืนในที่ชื้นแฉะ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟดูด ไฟช็อต แม้กระทั่งกริ่งหน้าบ้านก็ควรหมั่นดูแล เพราะหากเกิดไฟรั่วก็จะเป็นอันตรายต่อผู้มาเยือน รวมไปถึงสายไฟฟ้าและปลั๊กไฟ ควรเลือกใช้ที่เหมาะกับการใช้งานจริง ไม่ควรนำสายไฟที่ใช้ภายในบ้านไปใช้นอกบ้าน เพราะหากเกิดชำรุดเสียหายจะเป็นอันตรายเพิ่มขึ้นได้

 

ล้างสกัดโรค คนกรุงเทพฯ ใส่ใจมากขึ้น

หลังการระบาดหนักของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้คนเริ่มให้ความสนใจและใส่ใจต่อปัจจัยต่างๆ รอบตัวมากขึ้น และทางกรมอนามัยก็มีข้อแนะนำออกมาคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และนั่นเองทำให้ประชาชนทั่วไปใส่ใจการล้างมือเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดกรมอนามัยได้เปิดตัวโครงการ “มือสะอาด ป้องกันไข้หวัด ในหน้าฝน” แนะ 7 ขั้นตอนล้างมือที่ถูกวิธี ได้แก่ 1. ฝ่ามือถูกัน 2. ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3. ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4. หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5. ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6. ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7. ถูรอบข้อมือ รับรองว่าล้างครบ 7 ขั้นตอน มือสะอาดแน่นอน

 

งดข้าวเช้า เสี่ยงสมาธิต่ำ

แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมารณรงค์ให้กินอาหารเช้าเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี แต่จากผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กไทยวัยเรียนอายุ 6-11 ปี พบว่าเด็กๆ ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะในหมู่เด็กนักเรียนหญิงอายุ 12-14 ไม่กินอาหารเช้าสูงถึงร้อยละ 52

 

การไม่กินอาหารเช้านั้นจะทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอ่อนเพลีย อารมณ์เสีย ขี้หงุดหงิด บางรายอาจหน้ามืดหรือเป็นลมได้ เหตุผลก็เป็นเพราะสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเรียน ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน บางรายอาจถึงขึ้นเป็นโรคกระเพาะทะลุ ต้องพักรักษาตัว และพักการเรียนได้

 

รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ล้มเหลวจริงหรือ?

หลายฝ่ายอาจตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเวลาผ่านไป จำนวนคนสูบบุหรี่กลับไม่ลดลง และยังคงตัวเลขเหมือนเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วอยู่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ท่านได้เฉลยอย่างน่าฟังว่า เหตุผลที่ต้องรณรงค์ให้คนไม่สูบบุหรี่นั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้ว่าตัวเลขของผู้ที่สูบจะยังคงเป็นตัวเลขเดียวกับเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น หากไม่รณรงค์คาดการณ์ว่าผู้สูบจะสูงถึง 16-17 ล้านคน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการรณรงค์นั้นมาถูกทางแล้ว แถมงบประมาณในการใช้รณรงค์ถ้าคิดต่อหัวก็เพียงแค่ 3 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น ถือว่าไม่มาก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้งบประมาณ 12.34 ดอลล่าร์หรือประมาณ 376 บาทต่อคนต่อปี

การเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับโรค