วุฒิกร คงคา

วุฒิกร คงคา

อาจารย์ วุฒิกร คงคา เริ่มเรียนศิลปะในระดับ ปวช. ที่โคราช ก่อนจะเข้ามาเอนทรานซ์ ศึกษาเรื่องศิลปะอย่างเต็มตัวในคณะจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

“มาเรียนที่ศิลปากรเราก็ไม่ใช่คนเก่ง อยู่ในระดับกลางๆ ในขณะที่เพื่อนเขาเก่งกันหลายคน คือมันดีอย่างที่มีคนเก่งมารวมกัน เราก็พยายามฝึกฝน ตั้งใจเรียนมากๆ ซึ่งมันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้ต้องได้เท่าพวกเขา ส่วนรุ่นพี่จะช่วยทางด้านสังคมมากกว่า ตอนเรียนมันเป็นแนวผสมทั้งการวาดรูป แนวคอลลาจ เอาวัสดุเอาเศษผ้ามาทำงานศิลปะ แฟนตาซี ภาพเขียนเด็กเล็กๆ ที่วาดลายเส้นง่าย เอาลักษณะการวาดภาพแบบเด็กมาทำเป็นผู้ใหญ่ ใช้เทคนิคที่มันเยอะมาก สีสันร้อนแรง แดงดำน้ำเงิน ที่ทำแล้วมันดูฉูดฉาด ตื่นเต้นเร้าใจ พอปีใกล้ๆ จะจบ ผมก็ได้รางวัลของธนาคารกสิกรไทย

 

“มันมีความเชื่ออยู่ว่านักศึกษาที่จบแล้วได้รางวัลของกสิกร และต่อด้วยรางวัลแห่งชาติ 3-4 สนามใหญ่ๆ ถ้าใครได้รางวัลกสิกรก่อนก็จะบอกว่านี่คือรุ่นใหม่ เราก็จะมีแบบอย่างจากรุ่นพี่ที่เคยได้รางวัลว่า พอเราได้ขึ้นมา เรารู้สึกว่างานคงดี กรรมการเขาถึงตัดสินแบบนี้”

 

ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับรางวัลที่การันตีถึงฝีมือ แต่ความรู้สึกของเขากลับคิดว่าตัวเองแค่เขียนภาพได้ดีเท่านั้น ความฝันในตอนนั้นจึงไม่ใช่แต่เพียงด้านจิตรกรรม แต่มันคือการทำงานด้านหนังโฆษณาที่เขาคิดว่าตัวเองชอบมาก พอเรียนจบ เขาจึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปในสายงานนั้น

 

“ผมไปทำงานบริษัทถ่ายหนังโฆษณา แต่เราคิดถึงศิลปะ ทำอยู่แค่ 2 เดือน แต่เหมือนอยู่ 2 ปี พอนอนตี 3 ตื่นมาเราคิดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ในขณะที่งานศิลปะเราได้ทำตามใจตัวเอง เราทำแล้วทุกคนก็ชื่นชมและให้เครดิตเรา แต่เรากลับทิ้งในสิ่งที่คนเขาชื่นชม ก็เลยเห็นเลยว่าสิ่งที่เราทิ้งมันยิ่งใหญ่ ผมเลยลาออกแล้วกลับมาเรียนปริญญาโทที่ศิลปากร”

 

เมื่อเรียนจบ เขาเริ่มต้นงานอาชีพสายอาจารย์ทั้งที่ตอนแรกไม่ชอบงานแบบนี้ เขาบอกว่างานอาจารย์ไม่ได้อยู่ในสมองมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อได้มาสัมผัส ความคิดก็เปลี่ยนไป

 

“มันได้พูดในเรื่องที่เราชอบ แล้วก็มีคนอยากฟัง คือเราชอบศิลปะมากจนเราไม่รู้ตัว ความน่าเบื่อที่คิดไว้กลายเป็นตรงกันข้าม ผมเรียนรู้เรื่องศิลปะมากขึ้นก็ตอนเป็นอาจารย์ ที่รู้มากขึ้นก็เพราะการค้นคว้า วันๆ เราเจอเด็กหลายร้อยคน แต่ละคนจะมีปัญหาในงานศิลปะคนละแบบ บางปัญหาเราไม่เคยเจอ เราตอบไม่ได้ ก็ต้องเรียนเพิ่มตลอดเวลา เราจึงต้องศึกษาพอเราเจออะไรใหม่ที่คิดว่าดี ก็เอามาเล่าให้เด็กฟัง ส่วนงานของเราก็เอาความรู้มาปรับปรุงในงานที่เราวาด”

 

สไตล์งานของอาจารย์วุฒิกรจะคล้ายๆ กับการค้นหาความจริง-ความฝัน โดยสมัยเรียนระดับปริญญาตรีจะเน้นที่เทคนิคเยอะๆ ใช้วัสดุเข้าไปติดในรูปให้ดูมีอะไรมากมาย ต่างกับตอนนี้ที่กลับคิดถึงการวาดรูปที่ลืมไปแล้วในสมัยเด็ก ในยุคที่เพิ่งจะเริ่มรู้จักกับไมเคิลแองเจโล มีแวนโก๊ะเป็นเทพเจ้า หลายคนอาจคิดว่าเป็นของโบราณ แต่เขาคิดว่ามันคือไอเดียเก่าที่นำกลับมาทำใหม่ให้กลายเป็นบรรยากาศของตัวเอง

 

สืบเนื่องมาจากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เขาเลือกงานมาสเตอร์พีซที่ชื่อ In Space ที่อยู่ในงานชุดที่ชื่อ Reverie หรือความฝันในตอนตื่น

 

“มันคือความนึกคิดที่เรียกว่าจินตนาการฝันกลางวัน เหมือนเรานั่งอยู่ริมทะเลคนเดียว แล้วเราก็นึกว่าเมฆมันม้วนเป็นรูปต่างๆ โดยที่ผมใช้รูปทรงคนที่ผมชอบในรูปปั้นอดีตมาแต่งเป็นเรื่อง รูปนี้มันเหมือนหญิงสาวในยุคโบราณคนหนึ่งกับชายหนุ่มที่เขา
รักกัน พยายามจะถาโถมเข้ามาลอยอยู่เหมือนคู่รักลอยๆ ในบรรยากาศที่เป็นกราฟิก เป็นความโรแมนติกในเชิงเซ็กช่วลนิดๆ

 

ในภาพมีหญิงชายคู่หนึ่งอยู่ในภาพที่มาจากความคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากงานประติมากรรม ให้ลอยอยู่ในภาพที่มีความฟุ้งของสีกระจายทั่ว งานชิ้นนี้ใช้เวลาในการวาดประมาณ 3 อาทิตย์ ทำต่อเนื่องทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมงประกอบเป็นเซ็ตภาพ ก่อนจะนำมาจัดแสดงไปเมื่อสองปีก่อน

 

“เป็นแฟนตาซีในแนวสัญลักษณ์นิยมผสมความแบน พอดียุคนี้ ความแบนกำลังเป็นที่นิยม มองไปไหนความเป็นกราฟิกก็เต็มไปหมด แม้แต่งานออกแบบ แต่ความเป็นเพ้นท์ติ้งของไทยมักจะรังเกียจความแบน เขาเลยชอบทำให้ลึก มีมิติ ผมก็คิดว่ามันไม่จำเป็น เพราะความแบนก็ทำให้มันลึกได้ ก็เลยคิดว่าเราสนุกกับการทำให้แบน แต่ในขณะเดียวกันความแบนของผมมันก็ไม่ได้แบนจนไม่มีอะไร มันก็มีเนื้อหา มีอะไรบางอย่างที่ผมยายามจะสร้างขึ้นมา

 

“ภาพนี้พอดีมันมีชุดสีที่พุ่งขึ้นมา แล้วเราถูกใจ ความจริงเรามีมโนภาพอยู่ในหัวเหมือนแผนที่เราจะใช้สีโทนเทาๆ แบบนี้ แล้วพอทำงานเราก็ใช้การคิดแบบสดๆ ว่าต้องลักษณะไหนดี ทำไปทำมามันก็เลยแปลกดีครับ”  

หลายคนคงเคยหลับฝัน จินตนาการถึงสิ่งต่างๆ