มนต์ชัย โชคไพบูลย์กิจ
ภายในเนื้อที่ 72 ไร่ ย่อยเป็นโรงงานต่างๆ อย่างลงตัวเพื่อผลิตอุปกรณ์กีฬาถึง 218 ชนิด อาทิ เสื้อ ผ้า ชุดนักกีฬา รองเท้ากีฬาทุกประเภท นวมชกมวย กระสอบทราย ไม้เทนนิส ลูกบาสเกตบอล วอลเลย์บอล เป้าธนู กระดานหมากรุก กระดานสกา โต๊ะปิงปอง ตะกร้อ อุปกรณ์โรงยิมทุกชนิด และอีกมากมายที่ล้วนเป็นสินค้าคุณภาพระดับแนวหน้าของโลก
ก้าวย่างแรกที่เข้ามายังบริเวณล็อบบี้อาคารสำนักงานด้านซ้าย สายตามาสะดุดหยุดพินิจที่รูปภาพขาว-ดำขนาดใหญ่ ของคุณกมล โชคไพบูลย์กิจ ผู้ก่อตั้งโรงงานฟุตบอลล์ไทย ซึ่งเป็นผู้นำลูกฟุตบอลและรักบี้บอล ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานแสดงสินค้าไทย ณ วังสราญรมย์ เมื่อปี พ.ศ.2506 มีคำบรรยายใต้ภาพว่า “นายกมล โชคไพบูลย์กิจ เป็นคนไทยคนแรกที่ผลิตลูกฟุตบอลและรักบี้บอลได้เป็นผลสำเร็จในปีพ.ศ.2495”
วันนี้ MiX มาเยือนอาณาจักรโรงงานฟุตบอลล์ไทย เพื่อเจาะใจ คุณมนต์ชัย โชคไพบูลย์ หรือคุณเอก หนุ่มโสดนักเรียนนอก รองกรรมการผู้จัดการฯ นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ทายาทของตระกูล เพื่อค้นหาเส้นทางการเติบโตด้านการตลาด สูตรสำเร็จของการบุกเบิกตลาดสินค้าอินเทร็นด์เหล่านี้ที่คงไม่ได้มาจากโชคช่วยเพียงอย่างเดียว เขามีเคล็ดลับและทัศนคติอย่างไร
กว่า 50 ปีของฟุตบอลล์ไทยเติบโตมาด้วยกำไรของตนเอง จากลูกฟุตบอลเพียงหนึ่งลูกกับเงินที่กู้ยืมมาเพียง 1,000 บาท นั่งเย็บหนังฟุตบอลข้างศาลาวัดได้เพียงวันละ 5 ลูกในวันนั้น จนกลายมาเป็นธุรกิจมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ผลิตลูกฟุตบอลได้วันละ 10,000 ลูก อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าที่เป็นศูนย์รวมสินค้ากีฬาทุกชนิดจากทั่วทุกมุมโลกในนาม เอฟบีที สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ตึกตระหง่านสูง 10 ชั้นแห่งแรกและแห่งเดียวของเมืองไทย อยู่ริมถนนรามคำแหง เยื้องสถานีตำรวจนครบาล หัวหมาก กรุงเทพฯ
ตะลุยเดี่ยวดินแดนผู้ดี
“ชีวิตในวัยเด็กของผม ผมมองว่าลูกคนจีน พ่อจะไม่ค่อยใกล้ชิดเข้ามาเลี้ยงดูเราเท่าไร เพราะว่าท่านต้องทำงานเป็นหลัก ตอนผมอายุ 8 ขวบ ผมถูกส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ผมบินไปคนเดียว มีพาสปอร์ตคล้องคอ ยื่นมือผมให้กับแอร์โฮสเตส จูงมือแอร์โฮสเตส เดินไปขึ้นเครื่องบิน แม่ไม่ได้ไปส่ง เพราะครอบครัวเรายังลำบากอยู่ พอขึ้นเครื่องบิน เขารู้ว่าเราเด็ก ก็พาผมไปดูห้องนักบิน นั่นคือความฝันของเด็กๆ ผมถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ และไปเรียนโรงเรียนประจำ คุณพ่อเห็นความสำคัญของการศึกษาและภาษาอย่างมาก พี่สาวคนโตของลูกแม่ใหญ่ คุณพ่อก็ส่งไปอยู่กับญาติห่างๆ ที่ประเทศสิงคโปร์ให้ไปเรียนภาษา
“ก่อนหน้านั้นท่านก็คุยกับเพื่อนสนิท ดร.ณัฐ อินทรปาน กับคุณหมอพินิจ
กุลวาณิชย์ ท่านจบจากประเทศอังกฤษมา ท่านจึงทำเรื่องให้เป็นนักเรียนของ ก.พ. ผมอยู่โรงเรียนสอนภาษา 6 เดือน จึงเข้าไปโรงเรียนประจำ จำได้ว่าตอนนั้นผมร้องไห้อยู่ 2 อาทิตย์ เสร็จแล้วจึงบอกกับตัวเองว่าจะร้องไปทำไม ไม่เห็นมีใครมาสนใจเราเลย (หัวเราะ) ในที่สุดก็อยู่ได้ด้วยตัวเอง
“ทั้งเกาะอังกฤษ มีเด็กไทยเรียนหนังสืออยู่เพียงแค่ 50 คน เวลาปิดเทอมก็จะมาเจอกันในกรุงลอนดอน เพราะทุกคน เป็นนักเรียนที่ผ่านมาจาก ก.พ. นักเรียนอังกฤษเขาจะบังคับให้เล่นกีฬากันทุกคน ทุกวัน หลังจากเรียนเสร็จ บ่าย 3-6 โมงเย็น เป็นเวลาของกีฬา ชนิดของกีฬาก็แล้วแต่ฤดูไหน อย่างผมหันมาเล่นฟุตบอลก็เพราะผมเคยประสบอุบัติเหตุจากการเล่นรักบี้ ถูกแท็คจนสลบ จึงหันมาเล่นฟุตบอล
“ผมชอบเล่นกีฬาหลายประเภท เช่น ฮอกกี้ สควอช เทนนิส แบดมินตัน มันจะมีแบ่งเป็นกีฬาเป็นฤดู ฤดูร้อนจะแบ่งเป็นแร็กเกตกับเทนนิส ฤดูหนาว จะเป็นฟุตบอลกับรักบี้ แล้วก็จะมีกีฬาเสริม อย่างพวกสควอช ปิงปอง ผมจะเล่นกีฬาทุกวัน เพราะกีฬาช่วยชาติ เสริมทักษะให้กับเด็กในเรื่องของการเรียนด้วย เขาได้หายใจเอาอากาศดีๆ เข้าปอด ปอดทำงานดี นำเลือดไปเลี้ยงสมอง สมองก็มีประสิทธิภาพที่จะเรียนรู้มากขึ้น การให้น้ำหนักเท่าๆ กันของกีฬา ศิลปะ และความรู้ ถ้าทั้ง 3 อย่างนี้หากมีเท่าๆ กัน เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น การเรียนการสอนของบ้านเรา จะเน้นในเรื่องการศึกษาเป็นหลัก จะไม่เน้นศิลปะ และกีฬา ศิลปะรวมถึงการวาดภาพ ดนตรี การแสดง เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้งดงาม สิ่งเหล่านี้จะสอนทักษะซึ่งนำมาใช้ในการศึกษา
“ในบ้านเรา กลับกลายเป็นว่ากีฬาเป็นวิชาพละ เล่น 1 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ วิชาดนตรีก็ 1 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ของเด็กไม่ใส่ใจ เด็กก็จะได้สัมผัสเพียงแค่นั้น กระทรวงศึกษาธิการควรจะเห็นความสำคัญ น่าจะมีการส่งเสริมให้เล่นกีฬามากๆ แทนที่จะให้เด็กทุกคนนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว โรคภัยไข้เจ็บก็จะมาเยือน บ้านเรายังต้องพัฒนาอีกเยอะ
“ผมศึกษาอยู่ประเทศอังกฤษจนถึงอายุ 16 ปี อยู่มา 9 ปี จากนั้นก็กลับมาเรียนที่เอแบค ศึกษาอยู่ที่นั่น เขาสอนให้เราเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก ผมดูแล ตัวเองมาตั้งแต่ 8-9 ขวบ ทำทุกอย่างตามกฎเกณฑ์ เราต้องโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่กว่าคนในวัยเดียวกัน
“ผมจบเอแบคออกมาทำงานอยู่โรงงานได้ 2 ปี ช่วยดูโรงงานที่ลาดกระบังกับออฟฟิศหัวหมาก ดูแลแก้ปัญหาต่างๆ จากนั้นก็ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนจบ ผมได้ในเรื่องของภาษาและเรื่องของสาระ ได้ประสบการณ์และได้เพื่อนที่ดีมาก ช่วง 2 ปีที่ทำงาน ผมจะมองตัวเองว่าเป็นคนแก้ปัญหามากกว่า เราจะเข้ามาดูในแต่ละแผนกว่าปัญหาของบริษัทติดขัดที่ตรงไหน เสร็จแล้วจะเข้าไปแก้เป็นจุดๆ แก้เสร็จก็วางระบบ แล้วเอาคนมาคุมแทน เราก็จะคอยดูไป
“งานหลักที่ผมมองว่ากิจการที่บ้านผมมีปัญหามากก็คือในเรื่องของการขายของ การดูแลการขายภายในประเทศ ไม่เคยมีใครนำเอาระบบไอทีเข้ามาลง ระบบสต็อก ก็ยังเขียนลงกระดาษอยู่ ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ในเรื่องการปรับปรุง
ทำงานใหญ่...ใจต้องนิ่ง
“ภายในองค์กร ทุกคนจะรู้จักผมหมด ผมเริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่อายุ 16 ปี ผมเข้ามาแก้ปัญหาทีละจุด เรามองว่าแผนกตรงนั้นใช้หนังเปลือง สามารถมีวิธีแก้ไขได้ ผมก็เข้าไปแก้ไข พอแก้ไขเสร็จแล้วก็สามารถประหยัดหนังได้ประมาณ 15% ถือว่าเป็นเงินมหาศาล คุณพ่อเองก็ไม่เคยบอกว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ การทำงานที่โรงงานเราจึงอยู่กันเหมือนครอบครัวขนาดใหญ่มากกว่า เราไม่ใช่เป็นองค์กรที่มีหลายขั้นตอน ทุกคนสามารถเดินเข้ามาหาคุณพ่อ คุณแม่ หรือผมได้ตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาอะไร ผมไม่เคยถูกต่อต้าน จากใคร ขณะเดียวกันผมก็ต้องตรวจสอบตัวเองเหมือนกัน
“บางครั้งบางคราวเราก็ต้องบอกพนักงานโดยใช้วิธีบอกช้าๆ คุณทำอย่างนี้นะ หลังจากทำสเต็ปที่ 3 เสร็จ คุณลองกลับไปดูใหม่ว่ามันดีขึ้นจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ทำเพราะลูกนายสั่งมา ผมจะแก้ปัญหาอย่างนี้มากกว่า ผมรับบริหารที่โรงงานลาดกระบัง คุณพ่อกับคุณแม่ไปเปิดร้านที่ห้างสรรพสินค้า ตอนนั้นไปเช่าพื้นที่อยู่ 170 ตารางเมตร เป็นคนแรกที่ทำศูนย์
ความสามารถในการติดต่อประสานงานเรามีกันทุกคน เมื่อ 20 ปีก่อน ตึกธนิยะสร้างแล้ว ทุกคนก็เปิดร้านของเขา แม้แต่ห้างสรรพสินค้าก็ไม่มีที่รวมทุกแบรนด์อยู่ในที่เดียวกัน ผมก็เลยบอกคุณพ่อคุณแม่ เพราะขาย FBT ไม่เวิร์คหรอก เพราะห้างมันหรูมาก ของที่เราขาย เราขายคนระดับกลาง ผมก็เลยขอทำเป็นศูนย์เอง เราก็ติดต่อกับทุกคน เพราะเราอยู่ในแวดวงการกีฬา แล้วเราก็เป็นเจ้าแรกที่เอาเขามารวมกันทุกคน นำเข้าสินค้ากีฬาจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย ขณะเดียวกัน ฟุตบอลล์ไทยก็มีสินค้าใน
แบรนด์ของตัวเองที่จำหน่ายทั้งส่งและปลีกในประเทศ นอกจากนั้นฟุตบอลล์ไทยยังทำธุรกิจประมูลอุปกรณ์กีฬาของหน่วยราชการไทยทั้งหมดอีกด้วย
“หลังจากนั้น ก็มารับงานใหญ่คืองานเอเชี่ยนเกมส์ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ปี พ.ศ.2541 เพราะสนามกีฬาหัวหมาก เพิ่งเปิดเมื่อปี พ.ศ.2537 จากนั้นก็สร้างศูนย์กีฬารังสิตและสร้างสนามกีฬารัชมังคลากีฬาสถาน สร้างเสร็จให้ทันเอเชี่ยนเกมส์ ผมก็เข้าไปรับทำหน้าที่ในเรื่องของไลเซนส์ทั้งหมดของเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็ทำ “ฟรองซ์ 98” มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์บอลโลก งานใหญ่เรารับมาหลายงาน แต่งานนี้ใหญ่ที่สุด ณ เวลานั้น
“สิ่งที่สำคัญในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ เราต้องทำงานให้เป็นระบบ ผมต้องสร้างระบบการขายสิทธิ์ ยกตัวอย่าง ผมมีตราเอเชี่ยนเกมส์ ถ้าเราจะทำให้ประสบผลสำเร็จ เราต้องมีผลิตภัณฑ์สินค้าหลากหลายที่เข้ามาใช้ตรานี้ เราก็ต้องเอาสิทธิ์นี้ไปหาทุกบริษัท ทุกวงการ เราอยากมีปากกา เราก็ต้องเดินไปหาบริษัทปากกา เราอยากจะมีตราอยู่บนจานชาม เราก็ต้องเดินไปหาบริษัทจานชาม บอกเขาว่าเรามีสิทธิ์อย่างนี้ มีจุดขายอย่างนี้ ทำอย่างนี้ได้ คุณสนใจไหม เราจะได้ค่าลิขสิทธิ์ หาเงินให้กับคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ถ้าเราได้เกินโควตา เราก็จะได้ส่วนเกิน เราวางระบบของ
เอเชี่ยนเกมส์ ควบคู่กับการวางระบบของโรงงานด้วย
“เรื่องของการขายส่ง เรื่องของการทำสต็อก เรื่องของการผลิต แต่เอเชี่ยนเกมส์เราต้องทำกับบุคคลภายนอกที่เราติดต่อได้มาทั้งหมด 200 กว่าบริษัทที่มาซื้อสิทธิ์ร่วมโครงการกับเรา ทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ (หัวเราะ) เราประสบผลสำเร็จพอสมควร มีสินค้าขาย สร้างศูนย์เอเชี่ยนเกมส์เซ็นเตอร์ ศูนย์ขายของที่ระลึกในพื้นที่การแข่งขันหลัก มีที่หัวหมากและที่รังสิต แต่ที่แย่ที่สุดก็คือพวกของปลอมเยอะเกินไป ยอมรับว่าสู้ไม่ไหว
“ผมอยากจะทำการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เทียบเท่าอาดิดาสหรือไนกี้ ทุกที่ต้องมี FBT อยู่ทุกประเทศ ในแต่ละประเทศต้องมียอดขายดีพอสมควร เราต้องโต โดยเริ่มโตจาก 10 ประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้นเราต้องแก้ปัญหาเรื่องการผลิต ให้มียอดขายมากขึ้น เราผลิตไม่ทัน นั่นคือปัญหาของเราเอง เราต้องอั๊ปสเต็ปขึ้นไปอีก โดยเฉพาะฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เราสามารถผลิตได้ถึงวันละ 10,000 ลูก เสื้อผ้าเราสามารถทำได้ถึง 20,000 ชิ้นต่อวัน เสื้อผ้าเราไม่แพ้ของต่างประเทศ เราต้องทำรีเสิร์ชตามเขา เนื้อผ้าเราก็ซื้อจากที่เดียวกัน การตัดเย็บก็ไม่แตกต่างกัน มันไม่มีอะไรที่จะต้องดิ้นหนีกัน แต่มันเป็นเรื่องของค่าการตลาดของเขา ซึ่งทำให้ราคาของเขาสูงกว่า ทำให้เขามีกำไรมากขึ้น”
ฟ้าลิขิตผู้ผลิตลูกบอล
FBT เกิดขึ้นมาได้อย่างไรจึงยิ่งใหญ่มาถึงทุกวันนี้ คุณมนต์ชัยหลับตานึกภาพย้อนหลังให้ฟังถึงเรื่องราวกว่า 60 ปี ของคุณกมล โชคไพบูลย์กิจ ผู้เป็นบิดาว่า
“คุณพ่อเป็นผู้อพยพมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่เรียกได้ว่า เสื่อผืน หมอนใบ หางานทำหลายอาชีพ ตอนนั้นอาศัยอยู่ที่วัดย่านสะพานเหลือง กลางวันซ่อมรองเท้าข้างถนน คุณพ่อเล่าให้ฟังว่ามีฝรั่งคนหนึ่งเอาลูกฟุตบอลมาให้ซ่อม ช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะจบใหม่ๆ เนื่องจากฟุตบอลเป็นของนำเข้าที่มีราคาแพงมาก ชาวบ้านธรรมดารู้จักแต่ลูกมะพร้าวที่ใช้เตะแก้ขัด สมัยนั้นประเทศไทยสั่งลูกฟุตบอลมาจากประเทศเยอรมนี ปีหนึ่งประมาณ 6-12 ลูก คนที่สั่งนำเข้ามาต้องเป็นคนมีฐานะจริงๆ จึงสั่งเข้ามาได้ ฝรั่งคนนั้นที่เป็นลูกค้านำลูกบอลมาให้คุณพ่อซ่อมลูกบอลสมัยก่อน ยางในเป็นหนังเย็บติดกัน ไม่ได้มีจุ๊บเหมือนกับหลอดยางโผล่ออกมาจากรู เป่าลมให้เต็ม แล้วก็มัดหลอดเข้าไป ซึ่งลูกโป่งตัวนี้ของเขาแตก คุณพ่อจึงรับมาซ่อม เลาะหนังออกมาไม่กี่แผ่น ดึงยางออกมา ปะส่วนที่รั่ว จากนั้นมัดคืนแล้วเป่าลม จนกระทั่งเกิดความคิดว่าเราก็น่าจะเย็บลูกบอลได้เอง
“ทีนี้พอรับซ่อมให้เขาเสร็จ เขาก็มองเห็นว่าที่บ้านเรายังไม่มีใครทำลูกฟุตบอล เมื่อดูแล้วก็คิดว่าน่าจะทำได้ เพียงแค่ไปหาลูกโป่งยางเรเทครุ่นแรกที่มีหนังโผล่ขึ้นมา จากนั้นก็เริ่มต้นแกะลูกหนังที่ลูกค้านำมาฝากซ่อม เรียนรู้วิธีการเย็บของฝรั่ง ศึกษาลูกฟุตบอลเสร็จแล้ว เดินทางไปขอยืมเงินจากเพื่อน 1,000 บาท เพื่อนำเงินมาซื้อหนัง ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ แต่ก็ยังอาศัยวัดอยู่ กลางคืนก็วิเคราะห์ แล้วลองทำฟุตบอลขึ้นมาจนสำเร็จ พ่อก็เริ่มต้นอาชีพการเย็บลูกฟุตบอลขายตั้งแต่นั้นมา จากวันละ 2 ลูก ก็ลองตั้งราคาขึ้นมาแล้วนำไปเสนอขายที่ร้านกีฬา ในราคาเพียงครึ่งหนึ่งของฟุตบอลที่ฝรั่งขาย พอขายเสร็จก็ยังพอมีกำไร มีเงินเหลือเก็บ เพื่อนำมาซื้อหนังนำมาทำใหม่
“ผมเคยถามคุณพ่อ ท่านบอกว่าท่านเป็นคนที่พยายามคิดหาอะไรทำ ท่านมองว่านี่เป็นอะไรที่คนอื่นไม่ทำ ยังมีช่องทางที่สามารถทำมาหากินได้ ทีนี้พอทำได้วันละ 5 ลูก ก็นำไปขาย นำเงินไปซื้อหนังเพิ่ม และทำอีก ทำกลางคืนไม่ทัน ต้องหันมาทำตอนกลางวัน ท่านก็นั่งเย็บลูกฟุตบอลอยู่ข้างศาลาวัด ฝรั่งมาชมวัดวาอาราม เมื่อเห็นคุณพ่อเย็บฟุตบอล เขาก็ชอบ แล้วมาถ่ายรูปกันใหญ่ คุณพ่อก็จะเขินๆ ตอนนั้นพอมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง จึงย้ายมาเช่าที่อยู่แถวลาดกระบัง เป็นที่ที่เขามีญาติ จากเมืองจีนด้วยกันอยู่ จากนั้นเริ่มตั้งบริษัททำลูกฟุตบอลขึ้นมา ทำได้ดี โตได้ไว กิจการก็เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง คนงานหนึ่งคน เย็บบอลด้วยมือได้ประมาณ 5 ลูกต่อวัน ก็เพิ่มคนงานอีก 2-3 คน พอเย็บได้ 20-30 ลูก คุณพ่อก็เปลี่ยนหน้าที่ จากคนเย็บ ไปเป็นเซลล์แมน นำเอาของขึ้นรถไฟ เข้าไปขายในเมือง ขายให้กับร้านกีฬาดังๆ ในอดีต มีบริษัทไนติ้งเกล ร้านชัยฟ้า ซึ่งเป็นร้านกีฬาเจ้าเก่าแก่
“สมัยนั้นยังไม่ได้สร้างสนามศุภฯ มีเจ้าของร้านกีฬาใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้าที่สั่งอุปกรณ์กีฬามาจากเมืองนอก ก็ขายดีจนต้องแบ่งงานให้กับแม่บ้านในแถบลาดกระบังช่วยสร้างงาน ด้วยการเย็บหนัง เป็นโรงงานชุมชน ถึงเวลาก็มารับหนังไป จากนั้นนำมาคืนเป็นลูกบอล พร้อมรับค่าแรงไป ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก นอกจากเข็มกับด้าย คุณพ่อจึงเติบโตจากการเย็บลูกฟุตบอลขาย จากตรงนั้นเมื่อฟอร์มบริษัทขึ้น ท่านก็มองเห็นทางอื่นๆ อีก เพราะคุณพ่อพูดภาษาจีนได้ ช่วงหลังก็เดินทางไปประเทศไต้หวัน ไปหาสินค้าอื่นๆ ที่จะทำอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ ซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน เพราะฉะนั้นท่านจึงขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ ทำไม้แบดมินตัน ทำนวมชกมวย ฯลฯ โดยเริ่มจากหนังกับการเย็บนวมเพิ่ม ไม้แบดมินตันก็ได้วิธีการมาจากประเทศไต้หวัน ขยายมาเรื่อย
“จนกระทั่งท่านมาพบรักกับคุณแม่ผม คือ คุณปวีณา แม่มีพื้นเพเดิมอยู่ย่านลาดกระบัง แม่ต้องเข้าไปในเมืองเพื่อไปเรียนการตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อมาเจอคุณพ่อก็แต่งงานกัน จากนั้นคุณแม่ก็เริ่มทำเสื้อผ้ากีฬา เพราะเราผลิตอุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้ากีฬา เริ่มผลิตจากตึกแถวห้องเดียวที่เราอาศัยอยู่ย่านกล้วยน้ำไทย เริ่มจากจักร 2-3 จักร ทำออกมา เมื่อมีเงินก็ซื้อจักรเพิ่ม ซื้อผ้าเพิ่ม ปัจจุบันนี้แผนกเสื้อผ้า จึงเป็นแผนกที่ใหญ่ที่สุด มีคนงานประมาณ 1,200 คน ผลิตได้ 500,000 ชิ้นต่อเดือน
“ผมอยากจะย้อนเล่าถึงเรื่องราวความรักของคุณแม่กับคุณพ่อผม เป็นเรื่องที่แปลกมาก คุณแม่ผมเป็นภรรยาคนที่ 2 ของคุณพ่อ ภรรยาคนแรกดูโรงงานอยู่ที่ลาดกระบัง เป็นพี่สาวแท้ๆ ของคุณแม่ผม ผมเรียกแม่ใหญ่ ด้วยความมีเสน่ห์ของคุณพ่อ (หัวเราะ) คุณพ่อมีคุณแม่ใหญ่และมีลูกๆ กันแล้ว คุณแม่ผมเป็นน้องสาวก็จะช่วยงานภายในบ้านสมัยนั้นให้กับพี่สาว จากนั้นก็จะออกไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าและไปทำงานข้างนอก คุณพ่อก็จะขับรถตามไปจีบ สานสัมพันธ์จนเป็นความรัก และแต่งงานกันในที่สุด ผมเป็นลูกชายคนโตของคุณแม่คนที่ 2 คุณแม่ใหญ่มีลูก 4 คน แม่ผมมีลูก 2 คน มีผมกับน้องชาย
“ตั้งแต่เริ่มต้นทำฟุตบอล คุณพ่อกำหนดแบรนด์ FBT ฟุตบอลล์ไทย ออกมาในปี พ.ศ.2499 และได้จดทะเบียนโรงงานฟุตบอล เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานฟุตบอลล์ไทย เมื่อมองย้อนกลับไป 40-50 ปีที่แล้ว มันน่าแปลกใจมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีหนังสือมาร์เกตติ้งที่จะมาสอนว่า หนึ่ง คุณต้องทำแบรนด์ก่อน สอง ใครที่สร้างโรงงาน ทำโรงงาน ก็คือการผลิตให้กับคนอื่นเขา สามใครมาจ้างผลิต เราก็ผลิต”
วิสัยทัศน์ & พันธกิจ
“เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่เราได้ไปรู้จักกับสมาคมฟุตบอลสมัย 40 กว่าปีที่แล้ว ก่อนที่คุณวิจิตร เกตุแก้ว จะเป็นนายกสมาคมฟุตบอล สมัยนั้นสมาคมฟุตบอลต้องของบประมาณหลวง เพื่อไปซื้อสินค้ายี่ห้อาดิดาสมาใส่เราก็เป็นคนแรกที่เดินไปหาสมาคมฯ แล้วบอกว่าคุณไปของบหลวงอยู่ทำไม ผมมีงบประมาณให้ มีเสื้อผ้าให้คุณใส่ ในฐานะผู้ผลิตฟุตบอลล์ไทย สมัยนั้น สมาคมไม่มีเงินอะไร เขาไม่ได้เห็นคุณค่าของเขาว่าเขาจะได้เงินจากการใส่เสื้อ เป็นค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาคงมองว่า ถ้าเขาตัดค่าใช้จ่ายได้ โดยมีคนมาให้เขา เขาก็ต้องรับ เราเป็นคนแรกที่เดินไปหาเขา แล้วเราก็ให้เขา เมื่อก่อนไม่มีใครเคยมาให้เขา ก่อนที่สมาคมจะสร้างเงินได้ สมาคมไหนต้องการเราก็ให้สปอนเซอร์เขา ตั้งแต่ 40 กว่าปีที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบันเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ที่บริษัทไนกี้ เข้ามาดูแล เช่นเดียวกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลนักกีฬา เวลาไปแข่งซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิก ฯลฯ
“ต่อมาเราเริ่มให้การสนับสนุนครั้งแรกที่ไปแข่งกีฬาที่ประเทศสิงคโปร์ ราวปี พ.ศ.2532 เราเป็นสปอนเซอร์อยู่ 4 สมัย ติดต่อกัน 16 ปี ก่อนที่จะมีคนมาสนใจที่จะทำมากกว่าเรา คุณพ่อท่านมีความชัดเจน เป็นแนวทางในการให้การสนับสนุนของบริษัท เราจะให้สปอนเซอร์สำหรับคนที่เขาต้องการ เราจะไม่ไปแย่งชิงสิทธิ์ เพราะเราถือว่าทรัพยากรที่เรามี เรามองว่าเราไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่โต เรามีทรัพยากรน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเขาสามารถให้อะไรได้มากกว่าเรา
“จุดประสงค์ของเรา เราต้องการสร้างให้คนหันมาเล่นกีฬามากขึ้น อยากที่จะส่งเสริมหน่วยงานที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้คนได้เล่นกีฬา เมื่อถึงเวลาที่หน่วยงานนั้นมีชื่อพอสมควร ก็ไม่จำเป็นจะต้องการความช่วยเหลือจากเรา เขาสามารถเรียกร้องราคาได้จากคนอื่น เราก็ไม่จำเป็นต้องให้เขาอีกต่อไป เราให้เขาเท่าที่เขาต้องการ ยกตัวอย่างเช่น สมาคมฟุตบอล สมาคมโอลิมปิกแห่งประเทศไทย มีหลายๆ สมาคมที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน อย่างเราให้การสนับสนุนกับสมาคมกีฬาคนพิการอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีใครอยากให้กับเขา
“ถ้าสมาคมไหน องค์กรไหน ดังพอที่จะเรียกร้องเงินสด หรือเรียกร้องราคาเพิ่มได้จากใครก็แล้วแต่ เราก็ยินดีให้เขาไป เพราะเขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เราให้การสนับสนุนเยอะ สมาคมใดหรือใครที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ FBT ยินดีให้การสนับสนุนหมดจาก 40 กว่าสมาคม สุดท้ายเราก็ให้การสนับสนุนประมาณ 25 สมาคม แนวคิดนี้มันก็เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจกลับมาด้วย เพราะเราไม่ใช่มูลนิธิการกุศล เหตุผลหลักที่สำคัญ เราอยากจะสนับสนุนในสิ่งที่มันกลับมาหาวงการกีฬาโดยตรงกับทรัพยากรของเรา
แบรนด์ดังบนบัลลังก์บอล
“ผมคิดว่า FBT ไม่มีวันที่จะไปเหมือนอาดิดาสหรือไนกี้ เพราะแบรนด์ของเราไม่ได้ไปทางนั้น ผมยังจำคำพูดของคุณพ่อได้เสมอ ท่านบอกว่าเราทำสินค้าที่มีคุณภาพ แต่คนชนชั้นกลางสามารถซื้อได้ นั่นคือปรัชญาของ FBT ผมไม่ได้ต้องการให้เขาใส่ FBT แล้วเขาโก้ แต่ผมต้องการว่าถ้าคุณคิดจะซื้อเสื้อตัวหนึ่งที่คุณจะไปใช้ใส่เตะบอลจริงๆ คุณจะมาซื้อของผม ด้วยคุณภาพและราคา ผมมองว่า ณ เวลานี้ กับแบรนด์ของเรา ไม่ใช่วิธีที่จะโต ไม่ใช่วิธีที่จะไปวิ่งชนยักษ์ใหญ่ ผมมองว่าทุกตลาด มีพื้นที่ยืน สำหรับแบรนด์ฟุตบอลล์ไทย กลายเป็นว่าผมได้ก้อนใหญ่ จำนวนชิ้นต่อปีที่ที่ผมขาย ผมขายมากกว่าอาดิดาสและไนกี้รวมกัน แต่บังเอิญสินค้าของผมชิ้นละ 300 บาท แต่ของเขาชิ้นละ 2,000 บาท (หัวเราะ)
“หน้าที่หลักของผมก็คือการดูแลการขายและการตลาดของประเทศไทยทั้งหมด ส่วนต่างประเทศโดยตำแหน่ง น้องชายจะเป็นคนดูแล แต่ถ้าอะไรเข้าไปในแบรนด์ FBT ผมก็จะเข้าไปช่วย ส่วนกรรมการผู้จัดการก็คือคุณแม่ คุณพ่อเป็นประธานบริษัท
“ผมอยากจะให้คนหันมาเห็นความสำคัญของการกีฬา ประโยชน์ของมันมหาศาลกับเด็ก ไม่ใช่แค่พัฒนากล้ามเนื้อร่างกาย แต่ยังพัฒนาไปถึงสมอง ที่สำคัญกีฬาสอนคนให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เรื่องของจิตใจ เรื่องของอีคิว เด็กจะพัฒนาได้ดี เราต้องรับอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน
“สำหรับผม แม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่เคยมานั่งสอนหรือมาเล่นด้วยกัน เหมือนครอบครัวทุกวันนี้ ผมก็รู้สึกถึงความผูกพัน รู้สึกถึงการที่ท่านเสียสละให้กับเราทุกวัน จนถึงวันนี้ ท่านทั้งสองก็ยังเสียสละให้ผมอยู่ สำหรับท่านทั้งคู่ งานคือจิตใจ เขาเป็นคนเกิดมาด้วยการทำงาน โดยเฉพาะคุณพ่อ ท่านหยุดทำงานไม่ได้ สิ่งที่ผมทำได้มากที่สุดคือการแบ่งเบาภาระที่เขาทำมาให้ได้เยอะที่สุด ให้เขาสบายใจในหลายๆ เรื่องที่เรารับเข้ามาทำ มันจะไม่ถูกล้ม มันจะเดินไปด้วยดี
“ชีวิตที่ผ่านมาของผม ผมโชคดีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมมีเพื่อนดีๆ เยอะ อยู่ได้ดีมาเพราะเพื่อนๆ นักเรียนเก่าอังกฤษ เพื่อนเอแบค และเพื่อนที่ศศินทร์ จุฬาฯ รวมๆ กันแล้ว ผมมีเพื่อนที่ค่อนข้างดีหลายๆ คน ผมใช้เวลากับเพื่อนค่อนข้างเยอะ พยายามจะออกกำลังกายให้มากขึ้น ไลฟ์สไตล์ของผมก็จะตีแบดมินตันและตีสควอชเป็นหลัก
“ผมใช้ชีวิตแบบไม่อยู่นิ่ง ทำงานตลอด คติประจำใจของผมก็คือทำงานให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ว่านั่งอยู่ตรงนั้นแล้วไม่เกิดประโยชน์ ผมทำงานอยู่ที่โรงงานลาดกระบัง ลงมาออฟฟิศ มีอะไรเข้ามาเลย 1-2-3-4 เสร็จงานตรงนี้ ผมก็เดินทางไปออฟฟิศ FBT ที่หัวหมาก หากที่นั่นไม่มีอะไรทำ ผมก็จะวิ่งไปทำอย่างอื่น ผมไม่ชอบอยู่กับที่ ผมชอบแก้ปัญหา
“ผมไม่เคยคิดที่อยากจะทำอะไรในสิ่งที่ผมไม่เคยทำ เกิดมา โตขึ้นมาก็รู้อยู่แล้วว่าต้องทำงานอย่างนี้ ไม่เคยมีตัวเลือกอื่น ผมเป็นคนง่ายๆ ชอบอยู่กับตัวเอง ไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องไปพักผ่อนที่ไหน บางคนอยากไปพักผ่อนที่หัวหิน ต้องไปโน่น ไปนี่ การพักผ่อนที่ดีที่สุดของผมอยู่ในหัวสมอง ผมสามารถนั่งหลับตาคิดโน่นคิดนี่ โดยไม่ต้องเครียดกับเรื่องงาน นี่คือการพักผ่อนที่ดีที่สุด
“ผมอยากทำในสิ่งที่ผมทำตรงนี้ให้ดีที่สุด แต่ถ้าถามว่าหากไม่มี FBT ตั้งแต่แรก ผมจะทำอะไร ผมคงเป็นนักการตลาด เพราะได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ ผมได้เลือกแล้วว่าผมจะทำอะไรในองค์กรนี้ ผมกำหนดทางเดินด้วยชีวิตของตัวเอง เมื่อมีตรงนี้ ภายในองค์กรของเรามันมีงานที่จะต้องทำอีกเยอะ เราบริหารคนที่โรงงานลาดกระบัง 2,500 คน ไหนจะต้องมีหนี้กับแบงก์อีก
“ผมใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมาโดยตลอด ตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้าผมมีชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน ผมก็อยู่ไม่ได้ เพราะผมนั่งโต๊ะทำงาน 8 ชั่วโมงไม่เป็น ถ้าไม่มีอะไรให้ผมทำตลอดเวลา ผมก็อยู่ไม่ได้ ผมก็จะหนีไปนอน มันก็จะเป็นอะไรที่ไม่ดีกับตัวเอง สู้ผมอยู่อย่างนี้ มีงาน ผมก็ทำ เท่าที่ทำได้ ผมเห็นอะไรที่บกพร่องตรงไหน ผมก็จะเข้าไปแก้ไข มีส่วนไหนที่จะต้องพัฒนา เราก็เข้าไปพัฒนา ไม่มีวันสิ้นสุด”
ลูกกลมๆ ของคนกล้าฝัน
หากนับย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2499 ที่คุณกมล โชคไพบูลย์กิจ จดทะเบียนโรงงานฟุตบอลล์ไทย เป็นห้างหุ้นส่วน จำกัด ต่อมาปี พ.ศ.2505 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทอง กิจการโรงงานเจริญขึ้นตามลำดับ จากคนงาน 2-3 คน กลายเป็น 20-30 คน ปี พ.ศ.2511 เป็นปีแรกที่ส่งลูกฟุตบอลที่ผลิตได้จากโรงงานฟุตบอลล์ไทยไปขายยังต่างประเทศ ทำให้ได้รับการติดต่อจากลูกค้าต่างชาติให้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชนิดอื่นๆ รวมไปถึงเสื้อผ้า รองเท้า
ปี พ.ศ.2521 ปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทยที่ได้รับเป็นเจ้าภาพงานกีฬานี้ ในปีนั้นเองที่ลูกฟุตบอลไฟว์สตาร์ที่ผลิตโดยโรงงานฟุตบอลล์ไทยได้รับเลือกให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFAให้ใช้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ทำให้คุณกมลภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
จนกระทั่งปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของโรงงานฟุตบอลล์ไทย ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการให้เป็นอุปกรณ์ทางการของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้คณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ อีกนัยหนึ่งฟุตบอลล์ไทยหรือ FBT ได้เป็นสปอนเซอร์ หลักของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คุณมนต์ชัยยังกล่าวถึงคุณพ่ออีกว่า “ปีนี้คุณพ่อผมท่านอายุ 86 ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่วางมือจากการทำงาน ท่านยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงทุกอย่าง เพราะท่านชอบออกกำลังกาย ชอบยิงปืน ชอบสะสมวัตถุโบราณสมัยราชวงศ์ต่างๆ ของประเทศจีน และสะสมภาพเขียนพู่กันจีน ท่านจะดูแลด้านการเงิน เงินเข้า เงินออก กำไร จ่ายเช็ค และควบคุมการก่อสร้างโรงงาน เรามีที่หัวหมากและที่ลาดกระบังเป็นหลัก”
“สำหรับอนาคตการตลาดในบ้านเรา ทุกอย่างมันมีพื้นที่ของมัน มันอยู่ที่เรามองหา ถ้าเรามองผลิตภัณฑ์นั้นขาด เรามองว่าเราต้องการทำอะไรกับสินค้าตัวนี้ ผมคิดว่ามันมีพื้นที่ แล้วมันมีการกระทำในหัวผมค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าผมไม่ได้ผลิตอุปกรณ์กีฬา ผมนึกอยากทำอะไรขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ผมก็ต้องรู้ว่าเราจะโฆษณาอย่างไร เราจะเอาไปไว้ตรงไหน อะไรที่มีกำลังที่จะทำ มันขึ้นอยู่กับกำลังเงินด้วย เพื่อที่จะดันสินค้านี้ออกไปสู่ตลาดได้”