เลียบหาดระยอง
โลกแห่งท้องทะเลคือความคิดความเชื่อที่พวกเขารับและส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ
ไม่มีสิ่งใดถูกตัดขาดฉีกพรากออกจากกัน ทั้งมวลน้ำผืนกว้าง ชายหาดแผ่นดิน และหัวใจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา
อีกวันเมื่อแดดบ่ายไม่ลดความระอุร้อน ทว่าเมื่อมานั่งอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งริมทะเล ลมเย็นก็ถ่ายเทให้หายใจโล่ง มองความงามสีฟ้ากระจ่างอย่างเพลิดเพลิน
“ในทะเลเปลี่ยนไปบ้าง แต่สำหรับฉันนะ ข้างบนนี้ไม่ค่อยแตกต่าง” ป้าจงกล แก้วลำพูเล่าอารมณ์ดี หลังจากเราผ่านขั้นตอนการละลายความ “แปลกหน้า” มาสองวัน ผมเทียวมาเดินเล่นในกลุ่มห้องแถวไม้ริมหาดพลาอยู่หลายหนเมื่อมาเยือนทะเลระยอง
บ้านไม้ของป้าไม่ได้มากมายไปด้วยความละเอียดอ่อนในลายฉลุเหมือนย่านการค้าในเมืองระยอง ทว่าก็คงทนต่อแดดฝนและลมทะเลมากว่าร้อยปี เติบโตร่วมกันในย่านเล็กๆ ที่หล่อหลอมด้วยการค้าขายทางเรือ เป็นหนึ่งในจุดพักสินค้าก่อนคนตะวันออกล่องเข้ากรุงเทพฯ
ป่าโกงกางแถบฝั่งนั่นก็อีก ที่แต่เดิมคือถ่านชั้นดีในสมัยที่รัฐบาลยังอนุญาตให้มีสัมปทานตัดไม้เผาถ่าน “ส่งขายไปไกล ลงใต้ไปถึงสิงคโปร์โน่น คือตลาดใหญ่” ป้าเล่าตรงม้าหินหน้าบ้าน กลิ่นอายทะเลเจือมาในสายลมบ่าย
สำเนียง “ระยอง” แท้ๆ แม้ป้าจะไม่ได้มีผิวแดงแดดเช่นคนรอบข้าง แต่ในถ้อยคำก็ล้วนบอกว่าเธอไม่เคยจากไปไหน “คนจีนก็หากินกับการค้าร่วมกับคนไทยล่ะ มีทะเลเป็นหลัก” ป้าเล่าว่ารุ่นก๋งของเธอคือผู้มาบุกเบิกการค้าตรงหาดพลา เรือสำเภาขนถ่ายสินค้าทางทะเลจากบ้านฉางไปสู่แดนดินอื่นๆ “ก่อนนี้คึกคักทีเดียวแหละ วันเรือเข้ามาขึ้นของ เด็กๆ เฝ้ารอสินค้าแปลกๆ จากกรุงเทพฯ”
คืนวันผ่านพ้นล่วงเลย แต่นิยามของคำว่า “บ้านริมทะเล” แห่งนี้ไม่เคยจากไปในแววตาของใครบางคนที่นี่
ชุมชนตลาดของบ้านหาดพลาอยู่ตรงปลายอ่าว จุดที่พักคลื่นลมทะเลอำเภอบ้านฉางแห่งนี้คือบ้านของพี่น้องชาวประมงที่ยังคงบ่ายหัวเรือออกทะเลทุกคืนวัน ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าปากท้องและคนที่รออยู่บนฝั่ง
ผมเดินเลาะไปตามหย่อมห้องแถวไม้ แดดเย็นพาความงามมาอยู่ตามบานหน้าต่าง เฟี้ยมประตู และชีวิตเรียบง่ายข้างในนั้น มองเท่าไหร่ก็ไม่รู้เบื่อ บางคนเก็บลอบหมึกที่แกะและซ่อมเสร็จแล้วไว้เป็นกองๆ ข้างบ้าน รอเวลาพากลับไปลงเรือที่หาดท้ายบ้าน
และเมื่อแดดบ่ายราแรง การได้ไปยืนมองบ้านริมทะเลของคนหาดพลานั้นยิ่งน่าจับใจ มันเหมือนการผ่อนคลายนอกเหนือไปจากการรอนแรมด้วยเรือประมงออกไปในทะเลผืนกว้าง ในยามนี้ การได้หรือไม่ได้ปลานั้นหาใช่สาระสำคัญของพวกเขา การได้แลกเปลี่ยนความคืนวันกันด้วยความอาทรดูเหมือนจะเต็มอยู่ในถ้อยคำสนทนาง่ายๆ
ปลาแทบทุกตัวในยามเย็นล้วนมาจากชาวบ้านกับสายเอ็นและเบ็ดของพวกเขา ที่ปลายสะพานซีเมนต์อันทอดยาวลงไปในทะเลร่วม 300 เมตร พวกเขาพูดกันในเรื่องที่คนรักการ “อนุรักษ์” พยามยามทำให้มันเป็นเรื่องเข้าใจยากในหลายด้านของการสื่อสารจัดการ
“หาเท่าที่จำเป็น อวนตาถี่จะไปใช้ทำไม จับมาขายได้มากก็จริง แต่มันไม่ถึงลูกหลาน หาให้อยู่ได้ มิใช่ได้อยู่” เฒ่าชราดึงยาเส้นท้ายๆ มวนเข้าปอด พ่นควันสบายอารมณ์ “ไม่ต้องบอกเราก็ทำกันอยู่แล้ว”
ยามนี้ทะเลดูเหมือนจะสำคัญและมีความหมายที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่กับมัน
บางเช้าที่ใครหลายคนยังไม่ตื่นจากหลับใหล ว่ากันว่าหาดเล็กๆ ของระยองมีแง่มุมของตัวเองชัดเจนคล้ายคลึงกัน
เสียงคลื่น รอยทราย และคนที่ใช้ชีวิตผูกโยงอยู่ตามชายหาด
เราย้อนสุขุมวิทมาเริ่มยามเช้ากันที่หาดน้ำริน ภูมิทัศน์ที่ปรับปรุงใหม่ทำให้การเดินเลาะเลียบชายหาดเป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ ทิวสนวางตัวอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ตรงหัวหาด พร้อมกับเก้าอี้ผ้าใบที่ยังว่างเปล่า
หาดน้ำรินต่อเนื่องถึงหาดพยูนในต้นพื้นที่ของทะเลเลระยองในวันนี้ไม่แตกต่างจากที่มันเคยเป็นนัก ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาจะเกิดก่อรีสอร์ตประเภท “สัมมนา” เรียงรายในยุคเก่า และหญ้าทะเลที่เคยเป็นความสมบูรณ์จะหายสูญไปจากผืนทะเลแล้ว ทว่าชีวิตของคนที่นี่ก็ไม่เคยหันหลังให้ผืนน้ำกว้างใหญ่ตรงหน้า
มันอาจดูขัดแย่งกับย่านอุตสาหกรรมมาบตะพุดที่เลยถัดมาไม่ไกลอยู่บ้าง ยิ่งเมื่อเราเลียบมาถึงในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มองเห็นเรือประมงเล็กเรียงรายหลบลม มีโรงงานอุตสาหกรรมตระหง่านเป็นฉากหลัง ชีวิตของลูกทะเลเป็นไปอย่างเรียบง่าย ตามกระแสน้ำขึ้นลงและดวงจันทร์ ขณะที่บนฝั่งล้วนมากไปด้วยเรื่องราวของเทคโนโลยี
แม้มันจะดูตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว กลางการหมุนอย่างเร่งรีบของโลก ทว่าไม่มีใครตอบได้ว่า ชีวิตแบบนี้จะมีปลายทางเช่นไร ดูเหมือนการมารู้มาเห็นความเป็นไปของพวกเขาอาจต้องมากด้วยการทำความเข้าใจและไม่ตีกรอบด้วยดวงตาและวิธีคิดของเราแต่เพียงผู้เดียว
หาดแม่รำพึงในยามสายเงียบสงบ แม่ค้าหลายคนยังง่วนอยู่กับการเตรียมข้าวของ ลานหินขาวที่ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะและจุดชมวิวกลายเป็นจุดรวมผู้คนที่มาสัมผัสความงามของผืนทะเลสีครามตรงหน้า
บ้านพักบังกะโลที่แนบเคียงอยู่ตรงถนนฝั่งตรงข้ามเงียบงัน จะว่าไปก็นับสิบปีมาแล้ว ที่หาดทรายชายทะเลระยองผ่านพ้นช่วงเวลาของเมืองตากอากาศ คึกคักบ้างในบางห้วงปี พร้อมๆ กับการเปลี่ยนทิศทางทางการท่องเที่ยวไปสู่ทะเลในรูปแบบอื่น เกาะเสม็ดตรงหน้า หรือว่ารีสอร์ต “สมัยใหม่” ที่เน้นความงดงามของสไตล์ที่พักมากกว่าผืนทะเล
แต่กระนั้นหาดท้องถิ่นเช่นนี้ก็ไม่เคยจางคลายผู้คน ที่นี่อาจมีไว้สำหรับครอบครัว เป็นโรงเรียนทางทะเลที่เปิดจินตนาการให้เด็กๆหรือเป็นที่พักดวงตาของใครสักคนที่ไม่จำเป็นต้องรอนแรมออกไปกลางทะเล
เราใช้ทางสายเลียบทะเลแทนถนนใหญ่ แดดเที่ยงระอุร้อนยิ่งทำให้สีของผืนน้ำแนบข้างวิบวาว เมื่อถึงบ้านก้นอ่าว ใครสักคนตรงนั้นก็ทำให้รู้ว่า ชีวิตลูกทะเลนั้นมีคุณค่ากับพวกเขามากแค่ไหน
“ก็รู้ก็เห็นล่ะ ว่าคนเขามาท่องเที่ยวเยอะ บังกะโลเพียบ แต่เราถนัดแบบนี้มานาน” ลุงเพิ่ม เนื่องกุศลมองไปในลมบ่าย อวนหมึกจากเรือเล็กของแกและลูกๆ เพิ่งเกยหัวขึ้นมาที่หาด ความหวังระหว่างวันรอคอยอยู่ตรงนั้น
หมู่บ้านประมงพื้นบ้านปลายหาดแม่รำพึงแห่งนี้เก่าแก่มาร่วมร้อยปี อย่างน้อยก็สามรุ่นแล้ว ในชีวิตของลุง
เราอยู่กันในเพิงเล็กๆ ริมทะเล ลมบ่ายพัดเย็น พากลิ่นอายคาวเค็มมาปะทะใบหน้า เกาะเสม็ดวางตัวเฉียงไปทางซ้าย ที่ส่วนเกาะเล็กๆ ที่อยู่ติดกันโน่นคือเกาะท้ายค้างคาว
“แต่ก่อนบนนั้นเงียบเชียบ มีคนอยู่ไม่มาก ไม่กี่อ่าวหรอก ผมไปตัดเสม็ดมาทำถ่านอยู่บ่อยๆ” จะว่าไป ภาพคนมาเยือนพื้นที่แถบนี้ในลักษณะคนท่องเที่ยวมันก็เริ่มมาเพียงราวสามสิบสี่สิบปีที่ผ่าน
ผมค่อยๆ เดินไปในหมู่บ้านอันมีชีวิตชีวา เรือสีสดใสเรียงรายราวโปสการ์ด ธงทิวสีแดง ฟ้า เขียว สะบัดในลมบ่าย กลิ่นคาวเค็มผสมกลิ่นไม้ที่แช่น้ำทะเลจนเปื่อยยุ่ย เด็กตัวแดงเพราะแดดลมกระจองอแง ดูพ่อแม่ที่นาทีนี้ ดวงตามีแต่การงานและความมุ่งมั่น
มันเป็นดวงตาประเภทเดียวกันกับที่ลุงเพิ่มเคยมี คงทนและเด็ดเดี่ยว ไม่ว่าจะวนเวียนไปในฤดูกาลใดของทะเล
เราจากกันและเลาะสันเขาเล็ก ๆ ลงสู่ความคึกคักของตลาดบ้านเพ ร้านรวงขายผลิตภัณฑ์ทางทะเลแปรรูป เสียงเซ็งแซ่ปะปนไม่ได้ศัพท์ ที่พอจะจับความได้เห็นจะเป็นการ “ดึง” คนไปเยือนเกาะเสม็ด สะพานท่าเรือเพ ท่าเรือนวลทิพย์ เนืองแน่นผู้คนไม่เว้นแม้แต่วันธรรมดาเช่นนี้
ความยาวเหยียดแหลมแม่พิมพ์ในแดดเย็นดึงดูดผู้คนนับพันมาเป็นสีสันประดับชายหาดแสนสวยของอำเภอแกลงแห่งนี้ เสียงหัวเราะของเด็กในห่วงยางและหาดทราย กลุ่มนิสิตนักศึกษาโหวกเหวกในกิจกรรมรับน้อง ขณะที่อาหารทะเลริมหาดส่งควันหอมรอการสั่งจากอีกหลายชีวิตในเก้าอี้ผ้าใบ เหล่านี้คือเสน่ห์ง่ายๆ ที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน เมื่อใครสักคนนึกถึงชายหาด
“ที่นี่เติบโตสุดและเหมือนหยุดอยู่ตรงนี้ครับ เกือบ 20 ปี มันก็มากไปด้วยคนไทยเช่นนี้ ฝรั่งไปเกาะหมด” ผมทึ่งใน “ซูเปอร์มาร์เก็ต” เคลื่อนที่ของหนุ่มเลือดระยองคนหนึ่ง รถหกล้อของเขาเหมือนถูกสินค้าต่างๆ หุ้มไว้ เครื่องดื่ม ขนม ไอศกรีม ห่วงยางเลยเถิดไปจนถึงเรือพายยาง ที่สำคัญ วันๆ เขาไม่เคยขับไปไหนไกลกว่าหาดแม่พิมพ์ วนไปมาไม่รู้กี่รอบ
“เล่นมันง่ายๆ หามันใกล้ๆ อย่างนี้แหละครับ แต่ต้องอดทน” นั่นหมายถึงว่าถ้าใช้เป็นชีวิต มันล้วนไม่มีสิ่งง่ายดาย
เราหยุดรถและปล่อยวางจากการงานลงบ้าง สำหรับผม การได้นั่งลงมองช่วงเปลี่ยนผ่านของคืนวัน กลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คน หรือการใช้ชีวิตของคนอยู่ทะเลตามชายหาดสักกลุ่ม
ไม่ต้องตีความหาคุณค่าใดๆ คล้ายปล่อยให้มันหลากไหลไปตามกระแสน้ำขึ้นลง
เท่านี้อาจเพียงพอจะเรียกภาพต่อหน้าดวงตาเปล่าๆ นี้ว่าความงดงาม
หลังมื้อเช้าในตลาดไม้อันครึกครื้นมีสีสันของอำแกลง จวบแดดสายฉายชัด ฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้ม เราเลาะไปสู่อ่าวไข่และอ่าวมะขามป้อม หมู่บ้านประมงพื้นบ้านเล็กๆ อันเงียบสงบ หมู่เกาะมันวางตัวอยู่ตรงปลายตา เรือเล็กออกไปเมื่อก่อนรุ่งสาง ซึ่งส่งภาพหมู่บ้านอันเงียบเหงาไว้กับการงานซ่อมอวนซ่อมแหและอื่นๆ ประดามี
เสมือนพวกเขารอเวลาใกล้เที่ยง ห้วงที่คน “หาเลี้ยง” ครอบครัวหันหัวเรือกลับเข้ามาที่ฝั่ง หอบความหวังในกลิ่นคาวทะเลเพียบแปล้มาในลำเรือ
และผมก็ได้เห็น “หัวใจ” ของลูกทะเลระยองเอาเมื่อเราเลาะสู่ส่วนที่เป็นแหลม ผ่านนากุ้งและแยกเข้าไปที่บ้านถนนกะเพรา
ที่บ้านปลาธนาคารปู กลุ่มบ้านเนินฆ้อ เสียงต่อรองราคา การยกย่องประมงหนุ่มกับปลาขนาดใหญ่เขาเพียรต่อสู้กลางทะเล หรือแม้แต่ “ทิศทาง” ที่พวกเขาจะก้าวเดินและดูแลแผ่นดิน เหล่านี้เพียงพอให้ยามสายจดบ่ายมากมายไปด้วยคุณค่าราวกับฉากในสารคดีชั้นเยี่ยมสักเรื่อง
“เมื่อรู้ว่าบ้านของเราแย่ลง ก็ไม่มีใครจะดูแลมันได้ดีกว่าเราหรอก” จีระศักดิ์ จันทร์หอมหมายถึงราวปี พ.ศ. 2546 ที่ไม่ถึงกับต้องวัดปริมาณทรัพยากรทางทะเลด้วยเครื่องโซนาร์ แต่เพียงปากท้องของพวกเขาที่ลำบากมากขึ้น คนที่นี่ก็รู้ว่าทะเลของพวกเขามาถึงวิกฤต
ชีวิตประมงไม่มีอะไรน่าหนักใจไปกว่าจะออกไปจับอะไร ปัจจัยสำคัญทางสภาพแวดล้อมนั้นไม่เหมือนมรสุมหรือยอดคลื่น ที่ปล่อยไว้มันก็สงบไปเอง “ตอนนั้นมันเร้ารุมไปหมด ทั้งปัญหาป่าชายเลนหมด ปูปลาไม่มีที่อนุบาล การล่า ไหนจะน้ำเสียจากนากุ้ง” วันนี้จีระศักดิ์ไม่ออกเรือ เขาพักมาแล้วสองวัน
โครงการบ้านปลาธนาคารปูจึงเกิดการนำร่องและต่อยอดโดยพวกเขาเอง ชาวบ้านที่ได้ปูได้ปลามา หากเป็นปูไข่ พวกเขาจะปล่อยไว้ในกระชัง “ส่วนรวม” เมื่อปูเขี่ยไข่ออก ก็ปล่อยตัวแม่ ลูกๆ เก็บขายหารายได้เข้าชุมชน “ปลาก็ใช้วิธีนั้น ไอ้เก๋า สากปลากระเบน ปลาหมอสี เราเลี้ยงเพาะส่วนหนึ่ง” ยังไม่รวมแนวป่าชายเลนที่ผู้หญิงและเด็กๆ ลุยโคลนลงไปปลูกด้วยตัวเองในยามน้ำลง เห็นเป็นทิวแถวลิบๆ
“เราไม่ดูบ้านของเราก่อน ใครเลยจะมาดู” เขาปล่อยคำพูดความคิดง่ายๆ ไว้กับลมบ่าย ฟ้าสีสดและน้ำเริ่มลดระดับลงเรื่อยๆ
นอกเหนือไปจากแนวคิดอันแสนวิเศษของพวกเขา ที่นี่มากไปด้วยความงดงามตามแบบฉบับหมู่บ้านชาวประมง คนหลงรักภาพเขียนสีน้ำคงนั่งได้เป็นวันๆ คลองสายเล็กไหลมาออกที่ปากอ่าว เรือประมงหลากสีตัดกับฟ้าเข้มคราม ป่าชายเลนและชีวิตหลากหลายในยามเย็นคือคือการเคลื่อนไหวอันมีชีวิตชีวา พวกเขาพาลูกหลานมาสอนทอดแห ตกปลาเล็กๆ หรือมาฟังเรื่องเล่าที่มีตำนานอยู่กลางทะเล
ผมจากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้นออกมาเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ความเงียบสงบ ต่างคนต่างกลับไปสู่ทิศทางของตนเอง ถนนสายเดิมพาเราฉีกออกสู่ทะเลกว้าง แหลมสนคือจุดชมวิวที่มากไปด้วยสายลมเย็นและภาพพานอรามากว้างไกล
คิดถึงผู้คนและท้องทะเลอันเปี่ยมภาพชีวิตที่เพิ่งผ่านมาเมื่อครู่ สิ่งใดกันแน่ที่ซุกซ่อนความ “ตั้งใจ” ของพวกเขาไว้อย่าเงียบเชียบทว่าเปี่ยมคุณค่าน่านับถือ
น่าจะเป็นขนาดของหัวใจที่บ่มเพาะและขัดเกลาอยู่ด้วยสายลมและผืนทะเลกว้าง
หากเป็นในทะเล สิ่งที่คนรอนแรมออกไปคาดหวังจะเห็นมากที่สุดอาจเป็นแค่ชายฝั่ง
ชายฝั่งอันเป็นแผ่นดินที่อบอุ่น เป็นบ้านสักหลังที่เต็มไปด้วยการรอคอย และทำให้ใครสักคนรู้คุณค่าของการมีที่ให้หัวใจได้เคลื่อนไหว หยัดยืน และเติบโต