ภัทรศรี  นิรามัยสกุล

ภัทรศรี นิรามัยสกุล

จากเด็กสาวที่เพียงหลงใหลในการแต่งตัว รักในความสวยความงาม มักจะดูแลบุคลิกภาพของตนเองให้ดูดีอยู่เสมอ ได้เกิดมีความคิดแวบหนึ่งถึงการเรียนรู้ทางด้านนี้ให้ลงลึกไป ซึ่งหากจะพูดถึงคำว่าแฟชั่นในตอนนั้น เธอคงตอบอะไรได้ไม่มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เธอรู้แน่ชัดนั้นก็คือคำว่าแฟชั่นคือสิ่งที่เธอจะต้องค้นหา

 

และสิ่งที่ได้มาพร้อมๆ กับความชัดเจนในความต้องการของตน นั่นก็คือทางครอบครัวไม่เห็นด้วยที่จะให้เธอได้ลองเสี่ยงกับอาชีพที่เป็นเพียงแค่ช่างตัดเสื้อในสายตาของท่าน การตัดสินใจของเธอจึงต้องลงเอยด้วยคณะบริหารธุรกิจที่เธอก็สามารถทำได้ดีจนสามารถเรียนจบทั้งปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 

“ลึกๆ เราก็ยังชอบด้านแฟชั่นอยู่ จนกระทั่งเรียนจบได้เริ่มเข้าทำงานตามสาขาที่เรียนมา เรื่อยจนมาถึงตำแหน่งเออีของค่ายเพลงชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งโพรไฟล์ที่ดี ที่เบิกทางให้เราได้ก้าวเข้าไปสู่องค์กรชั้นนำต่อไป อย่างเช่นการที่ได้มีโอกาสเข้าไปทำด้านมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่บริษัท ลักซ์เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าน้ำหอมแบรนด์ดังต่างๆ อย่างเช่นคาลวิน ไคล์, อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ฯลฯ ก็เหมือนยิ่งจุดประกายให้เรามากขึ้น จากนั้นได้เปลี่ยนมาทำด้านจิลเวอรี่ จึงยิ่งตอกย้ำความหลงใหลในด้านแฟชั่นด้านดีไซน์ให้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงมีความคิดที่จะไปเรียนต่อเมืองนอก เพื่อเรียนต่อทางด้านนี้อย่างจริงจัง พอเริ่มหาข้อมูล หาคอร์สที่เรียน จึงเริ่มสนใจที่จะไปที่นิวยอร์ค เริ่มไปลงคอร์สเพื่อได้ใบประกาศที่สถาบัน FIT”

 

เธอไม่สนใจเสียงคัดค้านของครอบครัว ด้วยความอยากรู้ว่าความชอบด้านแฟชั่นที่เธอมีเป็นทุนเดิมนั้นน่าจะเหมาะที่จะเรียนอะไรเธอจึงตัดสินใจเดินตามความฝันของเธอ จากพื้นฐานความเป็นคนใจสู้ กล้าที่จะลอง กล้าที่จะเสี่ยง ไม่กลัวอะไรง่ายๆ เมื่อเรียนจบสั่งสมประสบการณ์มาพอแล้ว เธอจึงคิดที่จะกลับมาลองทำโรงเรียนสอนด้านแฟชั่นเพื่อเป็นแหล่งเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ

 

“แน่นอนว่าแรกๆ ที่เราทำมันต้องมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเด็กมาเรียนน้อย เด็กไม่ตั้งใจ ปัญหาร้อยแปด แต่เราก็คิดว่าจะมีวิธีไหนที่คิดว่าจัดการได้ก็ลองทำดู เมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีกก็ลองมาดูว่าอะไรไม่ดี เกิดจากอะไร ก็มาปรับกันใหม่ มันคือสไตล์การทำงานของเรา และที่เจอส่วนใหญ่คนจะมองว่าแฟชั่นเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องสวยงามแต่จริงๆ มันมีรายละเอียดมากมายกว่านั้น จากงานอดิเรกมันทำเป็นอาชีพได้เลย แต่คุณตั้งใจกับมันแค่ไหนล่ะ อันนี้ต้องลองกลับไปถามใจตัวเองดูก่อน

 

“การเรียนการสอนในแบบของเราจะพยายามทำสิ่งที่น่าเบื่อให้มันเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ซึมซับไปโดยปริยาย อย่างเด็กๆจะไม่ชอบเรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ ดีไซเนอร์คนนี้มีความเป็นมาอย่างไรก็จะไม่ค่อยสนใจ แต่เราจะคิดหาวิธีแทรกเข้าไปจนได้ และที่เราให้ความสำคัญมากเลยก็จะเป็นเรื่องคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงานด้านนี้ เพราะเมื่อเราเรียนลงลึกไปแล้วจะรู้เลยว่ามันมีศัพท์ที่ใช้เฉพาะอยู่มากมาย และเราต้องทำความเข้าใจกับมัน ถ้าเราไม่รู้ เราจำผิด เขาก็จะนำไปสื่อสารต่อได้ไม่ถูกต้อง”

 

แน่นอนว่าการที่เธอได้ก้าวขึ้นไปสู่การทำงานด้านแฟชั่นในเมืองใหญ่ที่นิวยอร์กแล้ว เพียงแค่ต้องการกลับมาสอนนักเรียนเท่านั้นหรือที่เธอยอมเบนเข็มทิศชีวิตของตน ให้มันหมุนกลับมา ณ จุดเดิม

 

“จังหวะและโอกาสที่เข้ามาในชีวิตคือสิ่งที่มีค่า เป็นจุดพลิกผันที่ดึงความต้องการ ความเป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของเราออกมา การทำงานในด้านที่เราชอบ ได้ร่วมงานกับมืออาชีพ บันไดแห่งชื่อเสียงและความสำเร็จมันรอเราอยู่แน่ๆ เพราะเราใช้ความมุมานะความพยายามในการทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนพวกเขาเล็งเห็น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราฉุกคิด จึงได้ตัดสินใจกลับมาเปิดโรงเรียนแห่งนี้ แต่จะให้ไปเป็นสไตล์ลิสต์ส่วนตัว หรือทำงานในวงการนี้อย่างจริงจังที่เมืองไทย มันยาก ไม่ได้ท้อนะ แต่มันยากตรงที่ระบบเส้นสายของเมืองเรา มันยังไม่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปเลย มันคือความจริงนะ มีการแข่งขันกันต่างๆ นานา แล้วเราไม่ชอบไง จะไปบอกให้วัดกันที่ผลงานดีไหม มันก็ได้ แต่เราไม่ชอบที่จะเข้าไปวุ่นวายตรงนั้น สู้เรามาสร้างเด็กใหม่ที่มีพรสวรรค์ มีความสามารถแล้วผลักดันเขาด้วยความสามารถของเราจะดีกว่า”

 

ทุกวันนี้เธอจะตอกย้ำกับเด็กๆ ที่มาเรียนอยู่เสมอ ถึงความตั้งมั่นและตั้งใจ เปิดกว้างทางด้านวิสัยทัศน์เพื่อที่จะเรียนรู้งานในด้านต่างๆ ที่พวกเขาจะต้องรับผิดชอบให้ได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานที่เธอเป็นคนไม่หยุดนิ่ง คิดอยู่เสมอว่าต้องใช้โอกาสที่มีอยู่ให้คุ้มค่า แม้ว่างานแรกๆ ในชีวิตของเธอจะเป็นเพียงแค่ดูแลด้านเอกสาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่กับตรงนั้นไปตลอดสามปี ห้าปี

 

“ทุกคนยังมีศักยภาพพอที่จะไปได้ไกลกว่านั้น และเมื่อหาตัวตนของตัวเองเจอแล้วก็ลุยกับมันไปเลย เด็กบางคนก็งงๆ นะว่าแฟชั่นคืออะไร แต่ก็มาลงเรียน คือจะบอกว่ามันต้องเริ่มมาจากการศึกษาก่อน ถึงจะรู้แล้วว่าเราชอบด้านแฟชั่นจริงไหม แล้วการเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์นั้นมันมีอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีมากกว่าการออกแบบ การเขียนแพทเทิร์น การดรอว์อิ้งต่างๆ แถมยังมีการตัดเย็บอีก เมื่อรู้แล้วก็ต้องกลับมาดูที่ความต้องการของเราเองว่าเราพอจะทำในแบบนั้นๆ ได้ไหม ถ้าได้ ก็เลือกเรียนไปเลยส่วนถ้าไปไม่ได้ก็ต้องมาดูว่ามันมีอะไรที่แตกแขนงออกไปได้อีก ทีนี้ก็เลยให้ความสนใจกับด้านสไตล์ลิ่ง และการดูแลภาพลักษณ์เป็นพิเศษ ซึ่งพื้นฐานการเรียนก็จะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน แฟชั่นจะเป็นในเรื่องของหลักการออกแบบ แต่สไตล์ลิ่งจะเป็นเรื่องของการทำงานกับมีเดียต่างๆ มันกว้างกว่าการสร้างเสื้อผ้าขึ้นมาหนึ่งตัว

 

“ส่วนสไตลิสต์นั้น ส่วนใหญ่คนชอบคิดว่าการเป็นคนที่มีสไตล์เริ่ดๆ ถึงจะมาทำตรงนี้ได้ มันไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด มันฝึกฝนกันได้ต้องตั้งใจ ต้องหาความรู้มากๆ และความพยายามจงมีอยู่เสมอ แต่อย่างน้อยๆ คุณต้องมีเทสต์นิดนึง สิ่งที่หลับหูหลับตาเออออกันไปก็คือ เมืองไทยมักจะนำเอา Reference มาใช้ด้วยความเข้าใจแบบผิดๆ มันเลยกลายเป็นดาบสองคม อันที่จริงมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เราจะใช้ในการสื่อสารด้วยภาพให้ทีมงานได้เข้าใจมุมมองของเรา พูดง่ายๆ ว่าคือเราต้องใช้ไอเดียเราคิดขึ้นมาแล้วล่ะว่างานนี้มันต้องออกมาเป็นแบบไหน แล้วจึงวาดแบบ หรือหารูปภาพมาประกอบเพื่อการสื่อสารเท่านั้นเอง ซึ่งนั่นมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เปิดกว้างทางการเรียนรู้เขาใช้กัน

 

“แต่สิ่งที่ทำให้การใช้ Reference มันผิดแผกไป ก็เพราะคุณไม่รู้เลยว่ามันมีไว้เพื่ออะไร แล้วจะใช้มันยังไง เห็นเมืองนอกเขาใช้กัน ก็เลยนำมาใช้บ้าง แต่ก่อนที่จะมีเจ้าตัว Reference นี้ล่ะ คุณก้าวข้ามผ่านขั้นตอนของการคิดการใช้ไอเดียไปได้อย่างไรเพราะอย่างนั้นงานที่ได้ออกมา มันจึงเป็นได้แค่งานก็อปปี้เท่านั้น แม้ว่าจะเป็น Reference จากเมืองนอกก็ตาม มันก็ยังมีความรู้อีกมากมายที่จะคอยให้คุณซึมซับและพัฒนาไปกับมัน ไม่ได้บอกว่าอยากเก่งเหรอ ต้องไปเรียนเมืองนอกสิ มันไม่จำเป็นต้องขนาดนั้นถ้าคุณมีไหวพริบพอ

 

“อยากให้มีหน่วยงานที่มองเห็นความก้าวหน้าของวงการแฟชั่นไทย จะได้ผลักดันไปได้ไกลกว่านี้ แล้วนำเอามันสมองเราไปเพาะในต่างประเทศบ้าง เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้กลับมาผ่องถ่ายความรู้แก่คนในประเทศในแต่ละรุ่นต่อไป”

 

Know to Her

จากที่เธอได้เลือกเรียนในด้านแฟชั่นสิ่งที่เธอรักจาก สถาบัน Fashion Institute of Technology of New York (FIT)แล้วเธอยังได้เลือกเรียนในด้านการพัฒนาบุคลิกภาพต่อที่ Image Consultant for Executive, The Image Resource Center, New York และ Image Consultant for Corporate, The London Image Institute, Georgia หลังจากนั้นเส้นทางด้านแฟชั่นของเธอจรึงเริ่มขึ้นจาก..

• เธอได้มีส่วนร่วมใน MercedezBenz Fashion Week, 2007-2008

• และยังเป็น Stylist team for Rubin Singer (New York Fashion Week Fall 2008)

• รวมไปถึง Stylist team for Malan Breton (New York Fashion Week Summer 2009)

• Personal Shopper, Macy’s New York

• Brand & Communications Manager, Carl Blackburn, American Fine Jewelry Brand

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองแฟชั่น”