รื่นรมย์ สมบุกสมบัน

รื่นรมย์ สมบุกสมบัน

แดดสายแผดกล้า เมื่อเราบ่ายหน้าออกจากเชียงใหม่ ผ่านแม่ริม แม่แตง แยกซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1095 ก่อนฤดูรื่นเริงแห่งเทศกาลเยือนเมืองหนาวจะมาถึง ทางคดโค้งสูงชันเหวี่ยงรถจิ๊บบุโรทั่งไปมาอย่างไม่ปรานี ลมเย็นเยียบนอกหน้าต่างคลายอาการวิงเวียนของคนที่ปรารถนาจะทำความรู้จักขุนเขาผ่านการขับรถ

ก่อนถึงปายราว 13 กิโลเมตร ใครสักคนเลือกแยกซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1265 และเพื่อจะพบว่าระหว่างคลื่นภูเขาที่เรากำลังเคลื่อนผ่านไปนั้นคือความงดงามของต้นฤดูหนาว ฟ้าสีใสสดเข้มคราม เรือนป่าก่อนฤดูผลัดใบยังเขียวชื่นรื่นรมย์

ผ่านพ้น 43 กิโลเมตรเหนือความสูงชัน เราเข้าสู่พื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ บ้านของพี่น้องชาวไทยภูเขาที่ส่วนใหญ่คือผู้คนปกากะญออันมีชีวิตผูกโยงอยู่กับป่าเขา ที่ราบผืนใหญ่น้อยที่สลับแทรกแซมอยู่ตามแอ่งดอย คือภาพชัดของการเกษตรอันดำรงตนตามหนทางแห่งบรรพบุรุษ นาขั้นบันไดผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปได้ไม่ถึงเดือน เหลือเพียงซังตอและลานตีข้าว แปลงสตรอเบอร์รี่พันธุ์ 80 ไม่ห่างหายคนดูแลประคบประหงม

เย็นย่ำยามอากาศเย็นกดหนัก ที่โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เราพบว่าพื้นที่ราว 6,600 ไร่ภายใต้การดูแลฟื้นฟูป่าสนกว่า 150,000 ไร่รายรอบนั้นแสนรื่นรมย์เพียงใด

ยามเช้าที่ ออป. บ้านวัดจันทร์ บ้านพัก ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการจัดการแลนด์สเคปอันแสนงดงามของที่นี่ หลังล้างลมหายใจในอากาศสดยามรุ่งเช้า แปลงนาอร่ามเหลือง และแดดเช้าไล่หมอกเหนืออ่างเก็บน้ำให้ฟุ้งฝัน การมานั่งจิบกาแฟและมองหมอกไหลผ่านทิวสนก็ทำให้ใครสักคนผ่านยามเช้าไปอย่างน่าจดจำ

ยามสายห่างจาก ออป. บ้านวัดจันทร์ไปไม่ไกล  ที่ราบกลางหุบเขาของตัวบ้านวัดจันทร์สงบงามอยู่อย่างสมถะ ความคึกคักมีให้เห็นประปรายในตลาดเช้า พี่น้องปกากะญอรวมไปถึงคนเมืองจากข้างล่างพบปะกันในตลาดเช้า คิวรถสองแถวเล็กๆ มากมายไปด้วยการไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ พ่อค้าเร่ หรือเด็กน้อยรุ่นใหม่ของคนบ้านวัดจันทร์และป่าเขารายรอบเฝ้ารอการลงไปในเมืองอย่างมีทิศทาง บ้านวัดจันทร์คือปลายทางของการมาถึงกัลยาณิวัฒนาจากหลายทิศทาง ทั้งจากอำเภอสะเมิง จากแม่แจ่ม หรือจากห้วยปูเลยของแม่ฮ่องสอน ซึ่งล้วนต้องผ่านพ้นตัวเองมาจากทางลูกรังคลุ้งฝุ่นโคลน

วิหารเชิงช่างพื้นบ้านที่เจาะช่องแสงวงรีเพื่อลดความทึบทึม จนคล้าย “วิหารสวมแว่นตา”  ของวัดจันทร์ กลายเป็นจุดที่ไม่เคยจางคลายผู้มาเยือนวัดจันทร์และกัลยาณิวัฒนา ขณะที่ติดกับวัด แม่อุ๊ยชรารวมถึงหญิงสาวจมตัวเองอยู่กับกี่กระตุกอยู่ในศูนย์ศิลปาชีพบ้านวัดจันทร์ ผ้าทอลายโบราณค่อย ๆ คลี่เหยียดเป็นผืน ผ่านเส้นสายใยโยง ประสานแรงมือและจังหวะยกเท้า เป็นความเงียบงันอันงดงามที่สะท้อนศิลปะและวัฒนธรรมของหญิงชาวปกากะญออย่างชัดเจนที่สุด

แดดสายจรุงแปลงพืชผลเมื่อเราก้าวเท้าลงไปย่ำเดินอยู่ภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ มูลนิธิโครงการหลวงสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง วิถีดั้งเดิมของคนกับแผ่นดินแตกยอดเติบโตผ่านพืชเมืองหนาวอย่างสาลี่ อะโวคาโด บีทรูทฤดูกาลผลัดเวียนให้แรงงานของพวกเขาออกดอกผล นอกเหนือจากข้าวในไร่นาที่เป็นเหมือนงานหลักยังชีพของแต่ละครอบครัวการอยู่ร่วมกับภูเขาและป่าต้นน้ำข้างบนนี้ล้วนได้รับการดูแลจากผู้คนหลากหลายที่เดินทางขึ้นมาอยู่ร่วมกับพวกเขา

หากพืชผลแปลกใหม่คือตัวแทนที่นำพาคนข้างล่างขึ้นมาถึงที่นี่ เพื่อพานพบกับหนทางของผู้คนข้างบนภูเขา ดูเหมือนก้าวเดินแห่งมิตรภาพระหว่างผู้คนและผืนแผ่นดินก็ได้ก่อรูปร่างขึ้นท่ามกลางลมหนาวอันแสนเดียวดายมาหลายห้วงเวลา

ทุกนาทีผ่านไปอย่างยาวนาน เมื่อเราเลือกเดินอยู่เส้นทางที่ยากจะคาดเดาจุดหมาย

ผ่านพ้นถนนดำจากบ้านเด่น อันเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงฯ 8 กิโลเมตรกลางขุนเขาส่งเราสู่หนทางดินแดงไร้หมายเลขกำกับ บ้านห้วยตองคือจุดแรกเริ่มสำหรับยามสายที่ใครสักคนพยามตั้งเป้าหมายคร่าวๆ ไว้ที่น้ำตกแม่สุรินทร์ ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากบ้านห้วยตอง แยกซ้ายกลางหมู่บ้านที่ดูเหมือนไม่ใช่ถนน เพื่อมุ่งผ่านบ้านขุนแม่ละอุบไปสู่บ้านน้ำส่อม  ซึ่งหากตรงไปคือทางที่จะลงไปแม่ฮ่องสอนผ่านห้วยปูเลยอันแสนหฤโหด เราผ่านพ้นร่องน้ำเก่าเข้าสู่ความชื้นเย็นของป่าดิบเขา อากาศเย็นอาบคลุมการเดินทางอย่างโดดเดี่ยว ทุกครั้งที่บ่ายหัวรถผ่านร่องน้ำเก่าและสวนขึ้นสู่ที่สูง กิ่งสนหงิกงอเสริมจินตนาการกว้างไกล

ระหว่าง 13 กิโลเมตรจากบ้านห้วยตองถึงบ้านน้ำส่อมตามบ้านเรือนคือรอยยิ้มจากเด็กน้อยและเฒ่าชรา หมู่บ้านปกากะญอเงียบเหงา แม้ผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยว ทว่าตามลานดินในนาข้าวคือความคึกคักเล็กๆ ตอซังเรียงราย และผู้คนที่กำลังตีข้าวในแต่ละแปลงล้วนทำให้เราต้องหยุดรถบ่อยขึ้นเพื่อลงไปนั่งมองจังหวะชีวิตของพวกเขา

ทางดินดิ่งลงในหุบ บางช่วงก็เปิดวิวกว้างของแดนดอยลัดหลั่นสุดลูกหูลูกตา เมื่อผ่านบ้านกิ่วผักเผ็ด เหนือความสูงราว 1,235เมตรจากระดับทะเลปานกลาง เราก็ใช้อีก 5 กิโลเมตรตามทางดินเล็กๆ สู่บ้านกิ่วขมิ้น ที่เป็นเหมือนจุดแยกใหญ่กลางดงดอย ซึ่งมีเพียงผู้คนข้างบนนี้เท่านั้น ที่พร้อมจะเรียกมันว่าหนทาง

ลมหนาวกรีดโบยยามไต่สันเขา ป่าสนโบราณสะท้อนเสียงไหวเอน สามชั่วโมงกว่าๆ เราก็มาถึงบ้านห้วยหวาย ที่ค่อนข้างหนาแน่นแม่เฒ่าชราแย้มยิ้มอยู่หน้าประตูบ้านไม้ยกพื้น ฝาขัดแตะ มุงหลังคาตองตึง หมูป่าดำขลับส่งเสียงอยู่ไกลๆ ก้อนเส้าไม่เคยจางหายความร้อนและฟืนไฟ ชาร้อนๆ คือมิตรภาพเล็กๆ ที่พวกเขามอบให้ผ่านการสื่อสารแบบไม่เข้าใจความหมาย ทว่าเปี่ยมเต็มด้วยความห่วงใยราวลูกหลาน

5 กิโลเมตรต่อมาเรามาถึงบ้านใหม่ห้วยหวาย เสบียงง่ายๆ กลายเป็นมื้อกลางวันเล็กๆ หน้าโบสถ์ไม้สีขาวหลังเล็กแสนสงบหมู่บ้านเงียบเชียบ นาขั้นบันไดที่คาดว่าคงงดงามยามเขียวชื่นและเหลืองทองไล่ระดับแสนงดงามลงตัวสำหรับช่างภาพ แต่กับคนที่นี่ มันเหมือนวงจรชีวิตที่ “ผลิตซ้ำ” ไปอย่างไม่ต้องการคำนิยามหรือยกยอ

ทางดินลูกรังยังคงกักขังเราอยู่ในวงล้อมของขุนเขาแสนเย็นชื่น เมื่อถึงบ้านห้วยหมาก-ลางราวห้าโมงเย็น เลาะผ่านทางยากที่มีแนวเสาไฟฟ้าไล่เรียงทอดยาว บ่งบอกชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา และเมื่อผ่านพ้นสันเนินสุดท้าย ชีวิตท่ามกลางเสียงยางบดสลับดินแดงคลุ้งฝุ่นก็ผ่านพ้นเมื่อเราถึงบ้านพะนอคี หมู่บ้านปกากะญอที่เติบโตมั่นคง ถนนดำตัดผ่านเข้ามาถึงพร้อมชีวิตเท่าเทียมที่คนบนแดนดอยมีสิทธิ์ได้สัมผัสไม่แตกต่างจากคนเบื้องล่าง

ทั้งคนทั้งรถอิดโรยเมื่อเรามาถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ที่ สร. 1 (น้ำตกแม่สุรินทร์) ลานกางเต็นท์คึกคักด้วยครอบครัวเล็กๆ และกลุ่มวัยรุ่นที่มาถึงก่อนหน้าเราได้สักครู่ ภาพแค้มปิ้งง่ายๆ กับอากาศเหน็บหนาวดูจะแตกต่างกับหลากหลายชีวิตที่ผ่านพ้นมานอกหน้าต่างรถตลอดทั้งวัน

น้ำตกแม่สุรินทร์โรยตัวยิ่งใหญ่เหนือผาสูงบนสันเขาใต้หลืบเงายามตะวันยังไม่จัดจ้า เราผ่านพ้นค่ำคืนที่อุทยานฯ น้ำตกแม่สุรินทร์เพื่อที่จะพบว่า ความเงียบสงบและฉ่ำชื่นยามเช้าช่วยให้น้ำตกที่สูงราว ๆ 200 เมตรสายนี้ยิ่งงดงาม

ยามสายกลางลมหนาว รถที่ย้อมไปด้วยฝุ่นแดงเคลื่อนผ่านตัวเองไปช้าๆ บนพื้นผิวเรียบกริบของทางหลวงชนบท มส. 4009ดอยแม่อูคอคลี่คลุมพรมสีเหลืองเด่นชัดมาแต่ไกล ไม่นานขบวนรถหลากหลายชนิดเริ่มทลายความเงียบของภูเขาและสายลมกลายเป็นภาพมีสีสันระหว่างคนกับธรรมชาติในยามสาย

พื้นที่ราว 514 ไร่ของทุ่งดอกบัวตองมากมายไปด้วยแง่มุมของความงดงาม จากพืชพรรณเล็กๆ ที่รอนแรมมาจากเม็กซิโก ที่เฒ่าชาวม้งว่ากันว่ามันไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว พวกเขานำมันมาต้มทั้งต้น และได้น้ำที่ว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพรที่รักษาโรคผิวหนังได้

ทุกอย่างห่มคลุมอยู่ท่ามกลางความงดงามซับซ้อนของเทือกดอย ทั้งผู้คน ดอกไม้ฉูดฉาด เส้นทางแสนสบาย หรือแม้แต่ทางดินเล็กๆ คดเคี้ยวเวียนวนที่หลายคนไม่อาจเรียกมันได้ว่าถนน

เหนือความสูงของภูเขาล้วนมากไปด้วยหนทางของการขึ้นมาถึง และนิยามของมันล้วนแตกต่าง

หากเพราะตามแต่ละเส้นทางล้วนบ่มเพาะและขับเคลื่อนให้เกิดผู้ที่เหมาะสมกับมันขึ้นมาอย่างแยกกันไม่ออก 

 How to Go?

จากเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านแม่ริม แม่แตง จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1095 มุ่งผ่านความสูงชันคดเคี้ยว ก่อนถึงอำเภอปายของแม่ฮ่องสอนราว 13 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1265 ผ่านบ้านเหมืองแร่จนเข้าสู่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ รวมระยะทางจากเชียงใหม่ราว 165 กิโลเมตร เส้นทางลาดยางอย่างดี

จากบ้านวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา มุ่งสู่เส้นทางสายวัดจันทร์-ดอยแม่อูคอ โดยเริ่มต้นจากบ้านเด่นไปสู่บ้านห้วยตอง ทางลาดยาง 8 กิโลเมตร แยกซ้ายที่บ้านห้วยตองตามทางดินลูกรังเล็กๆ ผ่านบ้านขุนแม่ละอุบ บ้านน้ำส่อม บ้านกิ่วผัดเผ็ด ถึงบ้านกิ่วขมิ้น เลือกทางซ้ายที่มุ่งหน้าสู่บ้านห้วยหวาย บ้านใหม่ห้วยหวาย บ้านห้วยหมากลาง ถึงบ้านพะนอคี ราว 53 กิโลเมตร ทางลูกรังตลอดเส้นทาง ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

จากบ้านพะนอคี ทางหลวงชนบท มล. 4009 ลาดยางอย่างดีถึงอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์และวนอุทยานดอยแม่อูคอ ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ณ โมงยามที่เราอยู่บนทางลูกรังกลางป่าเขา