สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล
-1-
คุณสิทธิชัยมาจากครอบครอบเหล็กโดยตรง ยุคบุกเบิกเริ่มมาจากรุ่นอากง ที่ช่วงแรกมีอาชีพผลิตเฟอร์นิเจอร์พวกเก้าอี้พับโครงเหล็ก พอมาถึงรุ่นคุณพ่อของเขาซึ่งมีพี่น้องเยอะมาก ก็ได้เปลี่ยนมาทำธุรกิจเหล็ก แต่ทำกันเป็นกงสีที่มีเครือข่ายพี่น้องช่วยกันทำงาน
“ผมเป็นลูกชายคนโต มีน้องสาว 3 คน แต่ด้วยช่วงอายุที่ห่างกันพอสมควร ผมเลยเหมือนพ่อคนที่สองของพวกเขามากกว่า ยิ่งผมทำงานตั้งแต่เด็ก แถมเป็นผู้ชายคนเดียว ความใกล้ชิดก็เลยมีในระดับนึง แต่ผมจะสอนให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องราวต่างๆมากกว่า
“ช่วงที่กงสีกำลังขยายกิจการ คุณพ่อผมก็แยกตัวออกมาจากกงสี มาตั้งบริษัทเทรดดิ้งเหล็ก ซึ่งก็เกี่ยวกับเหล็กเหมือนกัน ยังช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพียงแต่ไม่อยากเข้าไปวุ่นวายในกงสีเท่านั้นเอง
“คุณพ่อขยายกิจการมาเรื่อยๆ จากการทำเทรดดิ้ง นำเหล็กมาแปรรูปบ้าง ยอดขายก็โตขึ้นเรื่อยๆ ตอนเด็กๆ คุณพ่อก็พาผมไปดูโรงงานบ้าง แต่ผมก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำธุรกิจเหล็กสักเท่าไหร่ รู้แต่ว่าคุณพ่อเป็นคนที่ทำงานหนักมาก ท่านมักจะสอนว่าคนเราพูดคำไหนต้องคำนั้น
“คุณพ่อเลี้ยงผมมาแบบกลางๆ ไม่ได้เข้มงวดหรือปล่อยจนเกินไป แต่ตอนเด็กๆ ผมยอมรับเลยว่าไม่ค่อยชอบตั้งใจเรียน บอกตรงๆ ว่าผมไม่ใช่คนที่เรียนเก่งเท่าไหร่ สมัยชั้น ม. 5 ผมสอบเทียบได้ ก็ไปเรียนบริหารที่เอแบค มีเพื่อนเยอะ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ติดเที่ยวกันมากกว่า ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ เวลานั้นผมเที่ยวอย่างเดียว ผลปรากฏว่าผลสอบออกมา ผมสอบผ่านไม่กี่ตัว”
แต่ด้วยความที่คุณสิทธิชัย เป็นลูกชายคนโต พอสอบไม่ผ่านเยอะๆ เข้า ก็เริ่มรู้สึกอายคนในครอบครัว จึงคิดได้ว่าถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไปคงไม่ไหวแน่ๆ เลยตัดสินใจหักดิบลาออก เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสอบที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์ แล้วตั้งปณิธานไว้ว่าถ้าสอบได้ก็จะตั้งใจเรียน ในที่สุดเขาก็สอบได้จริงๆ เขาใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 3 ปีครึ่งก็เรียบจบ จากนั้นก็ไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ
“ผมจำได้ว่าปี 2540 ตอนที่ผมกำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษ มีโทรศัพท์จากที่บ้านให้ผมกลับเมืองไทยด่วน เพราะพ่อผมป่วยกะทันหันด้วยโรคเส้นเลือดฝอยในสมองแตก สาเหตุหลักคงจะมาจากความเครียดจากธุรกิจเหล็กของที่บ้านช่วงนั้น ประเทศไทยโดนโจมตีค่าเงินบาทอย่างสาหัส ค่าเงินบาทขยับจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงไปเป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกคน รวมทั้งธุรกิจของครอบครัวผมก็รับไปเต็มๆ แม้คุณพ่อจะไม่ได้พลาดด้วยตัวท่านเอง แต่ก็เกิดหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยทบต้นทบดอกจากราคาเหล็กที่สูงขึ้น เพราะคุณพ่อกู้เงินเพื่อมาใช้ในกิจการเหล็ก และยังได้ซื้อเครื่องจักรเข้ามาด้วยจำนวนเงินมหาศาล
“ผมกลับมานั่งคิดว่าด้วยความที่ผมเป็นลูกชายคนโต มีน้องสาวเล็กๆ อีก 3 คน คุณแม่ก็เป็นแม่บ้านอยู่ที่บ้าน คุณพ่อก็มาป่วยอีกในเวลานั้นจึงไม่มีใครแล้วที่จะมาช่วยครอบครัวเราได้นอกจากตัวผมเองเท่านั้น ถ้าเรามีแผนการที่ดีก็น่าจะมีโอกาสรอดได้ ผมคิดอย่างนั้นจึงอาสาเป็นตัวแทนของพ่อนับแต่นั้นมา”
-2-
ช่วงเวลานั้นคุณสิทธิชัยมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น เรียกว่ายังแทบไม่มีความรู้เรื่องของการธุรกิจเลย แต่กลับต้องกลายเป็นคนกอบกู้วิกฤตของครอบครัว อย่างเดียวที่เขามีคือความมั่นใจว่าตัวเองทำได้ เขาจึงพยายามจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยการเข้าไปคุยกับ บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) และธนาคารพาณิชย์ด้วยตนเอง เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุดเหมือนเป็นการตัดเนื้อร้ายทิ้งออกให้หมดเพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่
ในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จในการเจรจาประนอมหนี้ แม้จะหมดหนี้ แต่สถานการณ์เงินของครอบครัวก็ใช่ว่าจะดีพอที่จะขยับขยายไปทำอย่างอื่นได้ ทางเลือกหนึ่งที่เขาตัดสินใจก็คือซื้อคืนทรัพย์สินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของตัวเองกลับคืนมา
“ผมกลับเข้าไปคุยกับ บสท.อีกครั้ง เพื่อหาทางออกว่าเป็นไปไหมที่จะนำโรงงานทำเหล็กบางส่วนที่ถูกยึดไปคืนกลับมา เพื่อที่จะเอามาผลิตสร้างงานตามกระบวนการ จะได้เกิดการจ้างงานเหมือนเดิม บสท. บอกว่ายังพอมีทาง แต่สินทรัพย์เหล่านั้นจะเอามาได้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องทำการประมูลกลับตามที่ประกาศขายในเว็บไซต์
“ผมเข้าไปดูในเว็บไซต์ มีโรงงานของพ่อประกาศขายอยู่จริงๆ จำได้ว่าราคามันอยู่ที่ประมาณ 300 กว่าล้านบาท ผมคิดดูแล้วถูกมาก เพราะถ้าให้ผมสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาใหม่ ผมอาจจะต้องใช้เงินเท่ากับหรือมากกว่าหนี้ที่เกิดขึ้นแต่ถ้าเลือกทางนี้ไม่ต้องใช้เวลาสร้างใหม่ เดินหน้าทำธุรกิจต่อได้ทันที”
เขาใช้วิธีระดมเงินจากคนสนิท บวกเงินกู้จากหลายคนมารวมกัน จนมากพอจะนำไปซื้อสินทรัพย์ โดยการเข้าไปประมูลกับ บสท.ซึ่งแต่เดิมบริษัทธุรกิจค้าเหล็ก (เทรดดิ้งคัมพานี) เป็นบริษัทย่อยกระจายอยู่ประมาณ 6-7 บริษัท เขาก็ติดต่อซื้อกลับมารวมกันเป็นบริษัทเดียว จุดนี้เองที่ถือได้ว่าเป็นการกำเนิดของโรงงานเหล็กที่ชื่อ บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (MILLCON)ภายใต้การบริหารงานของเด็กหนุ่มอย่างเขา
-3-
ด้วยความที่คุณสิทธิชัยอายุน้อย แต่ต้องมาเป็นผู้บริหารธุรกิจหลายร้อยล้าน บางครั้งก็จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในเชิงการค้าอยู่บ้าง เพราะธุรกิจเหล็กเป็นธุรกิจที่ต้องมีการหมุนเวียนทั้งเงินและวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตระบบการสั่งซื้อสินค้า สต๊อคสินค้า และเงินทุน จึงต้องมีการจัดการให้สัมพันธ์กัน หากจุดใดเกิดปัญหาก็จะทำให้ส่วนอื่นๆ ขับเคลื่อนไปได้ยากอย่างลำบาก
“ผมสั่งเหล็กเข้ามาเพื่อเตรียมป้อนการผลิต แต่ปัญหาก็คือผมสั่งไว้ในราคานี้ แล้วเราก็จะขายในราคาที่มีมาร์จิ้น คือมีการล็อกราคาไว้แล้ว แต่เรือที่นำเข้าวัตถุดิบกลับมาส่งของไม่ทันตามกำหนดเวลา เพราะเจอกับภูเขาน้ำแข็ง จึงทำให้เรือมาช้าไปหนึ่งเดือนเต็มๆ แล้วปรากฏว่าวันนั้นราคาเหล็กมันลงไปร้อยกว่าเหรียญต่อตัน ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล ทำให้ลูกค้าที่สั่งซื้อของจากเรายกเลิกออเดอร์
“เหตุผลอีกอย่างนึงที่ทำให้ไม่เป็นไปตามแผนก็คือ การผลิตครั้งแรกต้นทุนจะสูง ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วสำหรับการผลิตของทุกอย่างในครั้งแรก ผสมกับแบรนด์ของเรายังไม่เป็นที่รู้จัก เวลาที่จะเข้าไปหาผู้รับเหมานั้น เราจำเป็นต้องใช้แบรนด์ในการเข้าไปขายกับโครงการต่างๆ แต่เราเป็นแบรนด์ใหม่ ทั้งหมดทั้งปวงจึงทำให้ขาดทุนไปพอสมควรสำหรับมือใหม่อย่างผมในตอนนั้น”
“แต่พอก้าวเข้าปีที่ 2 กำลังการผลิตเหล็กของเราก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โรงงานก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้พอมีกำไรขึ้นมาบ้าง ไม่ขาดทุนเหมือนปีแรก ช่วงนี้เองที่ครอบครัวผมเองรวมทั้งพนักงานหลายๆ คนเริ่มเชื่อมั่นในตัวผมมากขึ้น”
ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขาคิดไปถึงวิธีการที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน จึงได้ศึกษาถึงแนวทางที่เป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ จนไปจุดประกายเรื่องของการระดมทุน เพื่อเสริมสร้างโครงข่ายในส่วนของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น
ไม่รอช้าเขาประกาศกับพนักงานว่าจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้ภายในหนึ่งปี จากนั้นปรับเปลี่ยนองค์กรให้กลายเป็นองค์กรที่มีระบบการทำงานแบบมืออาชีพ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ให้เป็นองค์กรที่เน้นผลของงานเป็นหลัก ปรับภาพลักษณ์องค์กรเพื่อให้พนักงานเข้ามาทำงานแล้วภูมิใจในบริษัท ในรายละเอียดด้านอื่น เขาใช้วิธีการปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่านเพื่อที่จะก้าวไปสู่มิติใหม่ของตัวเอง จนในที่สุดเขาก็นำพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
“ผมจำได้ว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 MILLCON ก็ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) สถานการณ์ของบริษัทก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ตอนที่เข้าผมก็เช็คแล้วว่าทุนของเรามีแค่เพียง 300 ล้านบาท แต่พอเข้าตลาดหลักทรัพย์มันเพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ล้านบาททันที ในวันแรกกับความรู้สึกที่เห็นหุ้นตัวเลขสีเขียวกะพริบขึ้นไปมาร์เก็ตแคปโตแบบก้าวกระโดด จากหลักร้อยล้านกลายเป็นสองพันกว่าล้านบาทภายในวันเดียว เหมือนฟ้าหลังฝน แต่เดิมมีหนี้สินเกือบ 500 ล้านบาท เราก็นำเงินจากการขายหุ้น IPO นำไปใช้หนี้ธนาคารหมดเลย
“ภายในระยะเวลาแค่ปีเดียวหลังจากเข้าตลาดหุ้น ผมประกาศเพิ่มทุนในจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท แม้จะทำให้ผู้ถือหุ้นบางท่านตกใจเล็กน้อย แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อมั่นในการเดินหน้าระดมทุนครั้งนี้ เป้าหมายของผมก็คือจะนำเงินก้อนนี้ไปควบรวมกิจการใดกิจการหนึ่งที่มีสายการผลิตที่สามารถเติบโตต่อไปได้ โดยมีอนาคตพร้อมจะก้าวไปกับ MILLCON ปรากฏว่าบริษัทเหล็กที่เหมาะสมที่สุดตอนนั้นคือ บริษัทเหล็กบูรพา
“เหล็กบูรพาในขณะนั้นติดปัญหาอยู่นิดเดียว คือเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนกับเรื่องของตลาด แต่เรื่องของเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต และพนักงานถือว่าดีมาก เมื่อคิดดูจะเห็นว่า MILLCON ก็ทำการผลิตได้เต็มที่ไปแล้ว แต่ก็มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอหลังจากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เราจึงอยากจะสร้างแบรนด์ขยายตลาดให้ต่อเนื่อง ผมจึงคิดว่าบริษัทเหล็กบูรพาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราโตได้ นี่คือคำตอบที่ผมเฝ้ารอมานาน เพราะเป็นบริษัทเหล็กบูรพามีพื้นฐานที่ดี เหมาะสมที่สามารถไปด้วยกันได้ เพราะ MILLCON ถนัดทำเหล็กในขนาดที่เล็ก ส่วนเหล็กบูรพาถนัดทำเหล็กขนาดใหญ่ เมื่อรวมกันได้ก็จะเป็นส่วนเติมเต็มกันและกัน”
-4-
แม้ว่าทุกอย่างกำลังจะไปได้ด้วยดี แต่ความฝันของเขายังไม่จบแค่นั้น การจะทำธุรกิจเหล็กให้ครบวงจร นอกจากการนำเข้าเพื่อแปรรูปส่งขายแล้ว สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือการผลิตเหล็กเอง ทางเลือกที่ประเทศไทยสามารถทำได้โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดก็คือ การสร้างโรงงานเตาหลอมเหล็กไฟฟ้าขึ้นมานั่นเอง
“ผมนำแนวคิดการสร้างเตาหลอมเหล็กไฟฟ้าไปคุยกับ BOI (Board of Investment) หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจนในที่สุดพวกเขาก็อนุมัติวงเงินสนับสนุนโครงการให้กับบริษัท MILLCON ด้วยจำนวนเงินที่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเอาไว้สำหรับงานงานนี้โดยเฉพาะ การก่อสร้างเตาหลอมไฟฟ้าครั้งนี้ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมา เอาแค่เรื่องของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของโครงการก็มากกว่าบริษัท MILLCON ทั้งบริษัทแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือ ผมต้องทำการบ้านอย่างหนักอีกครั้ง”
แต่เนื่องจากในช่วงต้นปี 2008 ราคาเหล็กโลกขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก เงินทุนในธุรกิจเหล็กถือว่าสะพัด ใครๆ ก็อยากวิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำธุรกิจ เพราะทำแล้วได้กำไร ด้วยเหตุนี้เองทำให้การสร้างโรงงานเตาหลอมเหล็กทำได้ยากมากขึ้น มีคนต่อคิวยาวเหยียด และราคาก็แพงเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ ทำให้ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่เพื่อรอจังหวะในช่วงเวลาที่ดีกว่านี้
“แล้วพระเจ้าก็เข้าข้างผมในที่สุด เรื่องมีอยู่ว่าเวลาผ่านไปถึงกลางปี 2551 เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เริ่มจากภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาแตก แม้แต่ เลห์แมน บราเธอร์ส เป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของอเมริกายังล้มได้ มีการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์ อีกด้านหนึ่งสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับนักเก็งกำไรทันทีเมื่อไม่มีเงินสดที่จะนำไปจ่ายให้เจ้าหนี้ การยึดทรัพย์สินในสหรัฐจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินที่สำคัญๆ มียอดงบประมาณขาดทุน เศรษฐกิจจึงตกต่ำอย่างรวดเร็ว
“จุดนี้เองทำให้ทุกคนถอยห่างจากวงการเหล็กไปหมด แต่ถึงแม้อุตสาหกรรมเหล็กจะเข้าสู่สภาวะย่ำแย่ อีกด้านหนึ่งก็กลับกลายเป็นผลดีต่อการสร้างโรงงานเตาหลอมเหล็กไฟฟ้าของเรา เพราะจากที่มีคนแย่งคิวเข้ามาสร้างโรงงานเยอะแยะ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าไม่มีใครกล้าเสี่ยงลงทุนอีกต่อไป ต่างคนต่างกลับไปเลียแผลของตัวเอง แต่มีเราที่ยังยืนยันแผนการลงทุนครั้งนี้
“ทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เราอาจจะเป็นตัวเลือกอันดับท้ายๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกในการสร้างโรงงาน จากที่พวกฝรั่งไม่เคยสนใจ กลับตามมาง้อโทรศัพท์มาถามว่าคุณยังสนใจโปรเจ็คท์ที่เคยมาเสนออยู่มั้ย มีอีกหลายเจ้าที่ยื่นข้อเสนอมาทำให้เรากลายเป็นฝ่ายขอพิจารณาบ้าง ผมได้เรียนรู้ว่าในวิกฤตมันมีโอกาสจริงๆ หากเรายืนอยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา อยู่ในจังหวะที่ถูกต้อง การเข้าทำการในช่วงที่ถูกต้องมันได้เปรียบมาก เพียงแต่ต้องอดทนรออย่างใจเย็นแล้วเตรียมความพร้อมเอาไว้”
-5-
หลังจากฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่างๆ ทั้งเรื่องของเงินทุน รวมถึงบริษัทที่จะเข้ามาสร้าง และร่วมลงทุนกับ MILLCON สุดท้ายก็มาลงเอยกับบริษัท “ดานิลี่กรุ๊ป” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กจากประเทศอิตาลี และเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมการออกแบบผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ในที่สุดเตาหลอมไฟฟ้าก็ถูกสร้างขึ้นมาจนได้ ถือว่าเป็นหนึ่งในเตาหลอมเหล็กไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประเทศในขณะนี้
“วินาทีที่เตาหลอมเหล็กไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้ ผมจำได้แม่นเลยว่าเหล็กชุดแรกค่อยๆ ทยอยออกมา พนักงานก็ทำการตัดเหล็กออกมาก้อนหนึ่ง แล้วสลักคำว่า Never Give Up ซึ่งมีความหมายว่าไม่ยอมแพ้ เอาไว้บนเหล็กก้อนนั้น
“มันรู้สึกตื่นเต้นราวกับเลือดในร่างกายผมกลายเป็นเหล็กหลอมเหลวที่กำลังวิ่งวนอยู่ตลอดเวลา มันรู้สึกมีพลังแฝงอยู่อย่างบอกไม่ถูก ทุกวันนี้เหล็กก้อนนั้นผมยังเก็บไว้อยู่เลย เวลามองมันเมื่อไหร่ก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าผมเดินมาถึงจุดนี้ได้ด้วยความภูมิใจ
“ทุกอย่างที่ผมประกาศไว้ตั้งแต่แรกก็ได้ทำทั้งหมดแล้ว เริ่มจากการเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เราและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการติดตั้งเครื่องบำบัดไอเสียเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ซึ่งจะช่วยกรองอากาศเสียและฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการการผลิต เพื่อให้อากาศที่ได้มีคุณภาพอยู่เหนือระดับมาตรฐานของการควบคุมคุณภาพอากาศสากลอีกด้วย”
ปัจจุบันบริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ซึ่งนำทีมโดยคุณ สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล สามารถผลิตเหล็กได้กว่า 850,000 ตันต่อปี เป็นบริษัทที่มีกำลังการผลิตอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย นอกจากนี้โครงการที่ใช้เหล็กของ MILLCON ก็มีมากมายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างตึก คอนโด โครงสร้าง หลังคาบ้าน โรงไฟฟ้า สะพาน ฯลฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติและนำเม็ดเงินจากการส่งออกมาสู่ประเทศได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งหมดคือเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีหัวใจเหล็ก ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ นับเป็นตัวอย่างของบุคคลที่น่ายกย่องในความเพียรพยายามอย่างแท้จริง