จากนันทบุรีถึงถ้ำสะเกิน

จากนันทบุรีถึงถ้ำสะเกิน

ทางเแอสฟัลต์เก่าแก่ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาในฤดูฝน มันเงียบเชียบห่างไกลเหมือนที่เคยเป็นมา บ้านเรือนตามที่ราบเนินเขากลางฤดูฝนเปียกฉ่ำตามหลังคาไม้มันวาวดำขลับด้วยรอยเปียกฝน ความเงียบเหงาคืบคลุม นาทีแห่งการเพาะปลูกเช่นนี้ดูเหมือนจะฉายความงดงามอยู่เพียงตามไร่นาเชิงดอย

จากที่ราบเล็กๆ แถบอำเภอท่าวังผา จากมันมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง โลกข้างบนเขียวชื่นตามฤดูกาล เมืองกลายเป็นจุดเล็กๆ เบื้องล่าง และลับหายไปเมื่อเราเลี้ยวไหลและเหวี่ยงตัวเองไปตามถนนคดโค้ง เคลื่อนผ่านบ้านนาหนุนไปด้วยความเชื่องช้าของกำลังเครื่องยนต์เก่าๆ ในรถคันเล็ก รอบด้านครึ้มชื้นไปด้วยป่าที่ฟื้นตัวหลังผ่านพ้นยุคแผ้วถางและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีตอันผ่านเลย ความแปลกแยกทางอุดมการณ์ถูกกลืนไปกับวันเวลา

สวนความสูงขึ้นสู่ระดับเกิน 1,279 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อากาศเย็นเยียบและถนนดินหมาดฝนนิ่มนุ่ม หลังสวนเนินชันขึ้นสู่อุทยานแห่งชาตินันทบุรี เมื่อขึ้นไปถึง ความเงียบเหงาของฤดูฝนตกทอดอยู่ตรงลานกางเต็นท์กว้างไกล ยอดดอยผาจิ ผาช้าง และผาวัวไล่เรียงอยู่เบื้องตะวันตก ส่วนด้านตรงกันข้าม อำเภอปัวถูกกั้นกลืนด้วยหมอกฝนเป็นโพลนขาว

หลังซุกข้าวของเครื่องนอนและอุปกรณ์แคมป์ลงสู่ที่ทางของมัน เราสืบเท้าก้าวแรกไปสู่เนินดิ่งชันฉ่ำชื้น ป่าดิบเขาแสดงความสมบูรณ์ของมันผ่านดงทากชุกชุม มันดีดตัวใส่แทบทุกคนที่เลือกหนทางสีเขียวฉ่ำฝนเพื่อลงไปพบกับความงามของสายน้ำเบื้องล่าง

น้ำตกนันบุรี  2  ส่งเสียงครืนโครมกับปริมาณน้ำหลั่งล้นเราแวะปลดทากกันเป็นครั้งคราวตามเนินหิน รายทางเต็มไปด้วยเฟิร์นหลายชนิด ปาล์มและหวาย ด้วยความที่อ่อนด้อยต่อพรรณไม้ หลายคนเลือกจะสาวเท้าลงตามความลื่นชันและหลุมลึก เพียงเพื่อไปสัมผัสความงดงามตรงหน้า ไร้เสียงพูดคุย มีเพียงสำเนียงสายน้ำและเสียงลั่นชัตเตอร์

ทางลงสู่หุบราว 1.5 กิโลเมตร ตอบแทนการกลับขึ้นด้วยการทวนความสูงเกือบ 70 องศา เรียกเหงื่อและลมหายใจถี่กระชั้น เมื่อกลับขึ้นมา ลมเย็นชื่นเปิดวิวกระจ่างตาค่อยๆ ละลายความเหนื่อยอ่อนให้ลับหาย

ไม่นับพื้นที่ราว 283,319 ไร่ ในเขตอุทยานฯ นันทบุรีที่เริ่มฟื้นคืนมาในช่วงเวลาไม่เกิน 20 ปี รายรอบนอกบนเทือกเขาดอยวาวอาจกินความหมายของแผ่นดินอันเคยบอบช้ำ ไร่ข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยว ที่เดินทางควบคู่ไปกับการดิ้นรนทำมาหากินตามมีตามเกิดของคนตัวเล็กๆ บนภูเขา หลายสิ่งทับซ้อนและเต็มไปด้วยตัวละครของชะตากรรม

ใครสักคนนั่งลงที่ลานแคมป์เหนือสันดอยติ้ว บริเวณที่ทำการอุทยานฯ นันทบุรี มันส่งมอบวิวตะวันลับฟ้าโดยมีผาช้างและผาวัววางตัวเป็นฉากหน้า ไม่ไกลกัน ยอดผาจิค่อยๆ เลือนตัวเองไปในความมืด มื้อค่ำน่าจดจำด้วยการปรุงอาหารง่ายๆ เติมแต่งมิตรภาพทางไกลให้งดงาม และทะเลหมอกยามเช้าก็เป็นภาพแรกที่ประทับความงามสีน้ำนมไว้ในวันต่อมาอย่างน่าจดจำ

สำหรับแดนดอยข้างบนนี้ ดูเหมือนหลายอย่างได้ผ่านพ้นการเรียนรู้ประเภทหนึ่ง ทั้งจากโลกอุดมการณ์การขัดแย้งทางความคิด การดิ้นรนอยู่กินตามชะตากรรม หรือการช่วยกันกอบเก็บสิ่งหลงเหลือและดูแลวันพรุ่งนี้ต่อไปให้มั่นคงยาวนาน

คงไม่มีคำตอบใดงดงามเท่ากับป่าสีเขียวปลายฤดูฝน ...

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 นำพาเราล่วงผ่านไปอย่างที่มันควรจะเป็น สำหรับใครก็ตามที่เลือกเส้นทางสายนี้ โลกแห่งขุนเขาและชีวิตตามรายทางดูเหมือนจะเป็นภาพงดงามชุบย้อมหัวใจแลกกับการขับรถผ่านถนนคดเคี้ยวสูงชัน

ที่ราบกลางหุบเขาบรรจุเต็มด้วยสีเขียวของผืนนาข้าวยามฤดูเพาะปลูก ขณะที่เมื่อพ้นตัวอำเภอสองแควอันเงียบสงบ ทางโค้งยกตัวผ่านภูเขา ลัดหลั่นไปเป็นเนินชั้นสุดลูกหูลูกตา

เราถึงบ้านสะเกินล่วงเข้าบ่าย แยกขวาเข้าไปอีกไม่ไกล ท่ามกลางหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าก่อที่ฝังรากชีวิตหลังจากโยกย้ายถิ่นฐานมาจากแดนไกลแถบสิบสองปันนาอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินก็วางตัวอยู่บนเนินเขาอันแสนสงบเย็น

ทางเดินขึ้นสู่เขาหินปูนหายลับไปในป่าดิบแล้ง หลังข้ามห้วยน้ำงิม ไม้ใหญ่ก็ขึ้นคลุมให้ทางเดินยิ่งฉ่ำเย็นไม่นับสายฝน ป่ายปีนขึ้นไปมองดงสลัดไดเกาะกลุ่มเป็นผืน จันทน์ผาเสียดยืนต้นท้าสายลม พืชโบราณเฉพาะเขตเขาหินปูนดึงดูดให้โลกตรงนั้นราวป่าดึกดำบรรพ์ ไร้สรรพเสียงแปลกปลอม หนทางเวียนวนไปตามความเย็นชื่นของภูเขา บางมุมกล้วยไม้ติดดอกอยู่ตามแผ่นหินคลุมมอส ราวกับโลกฝันของจิตรกรสีน้ำสักคน

มุดเข้าไปในถ้ำทอง โถงถ้ำมืดมิดฉ่ำชื้นด้วยธารน้ำ ผลึกแร่ตามผนังสาดกระทบแสงเป็นประกาย บางมุมมองเห็นสายแร่ทองเคลือบจับที่แผ่นหินสีขาว โมงยามคล้ายหยุดนิ่งเมื่อมาอยู่ด้านใน ไร้กาลเวลา

เวียนวนจนมาพบต้นพระเจ้าห้าพระองค์ 2 ต้นที่อยู่ถัดไล่ไม่ไกลกัน ใครสักคนแหงนมองเรือนยอดจนคอตั้งบ่า พูพอนอายุหลายร้อยปีที่แผ่กว้างเทียบเคียงได้กับชายกำยำสูงใหญ่สักคน มันเขียวครึ้มไปด้วยมอสปกคลุม ราวกับโลกลึกลับที่มีเฒ่าชราขรึมขลังยืนเฝ้าป่าโบราณ

พื้นที่ราว 155,200 ของอุทยานฯ แดนไกลแห่งนี้ทอดตามแนวเหนือใต้ เป็นต้นธารของลุ่มน้ำยมตอนบน ลุ่มน้ำยาวตอนบน และลุ่มน้ำลาว มูลพาเราป่ายปีนลัดเลาะแนวน้ำตกผาธารขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำอันแสนอุดมยามฤดูฝน

กรวดท้องน้ำที่เชิงน้ำตกปรากฏซากดึกดำบรรพ์รูปหอยในหินทรายสีเทาที่มีอายุในยุคเพอร์เมียนตอนต้น ราว 299 - 270 ล้านปี บ่งบอกถึงความเก่าแก่และเคยเป็นทะเลของผืนป่าแดนดอยหนาวเย็น เรามองมันอยู่สักพักก่อนจะก้าวตามมูลและเนรมิตขึ้นสู่น้ำตก

ประดับดินผลิดอกอยู่ตามทางเดิน กลีบดอกแบบบาง 5 กลีบดึงดูดเรานิ่งมอง ขณะที่บางคนล่วงไปตามสันเขาฉ่ำชื้น ก่อนจะป่ายปีนผ่านชั้นแรก ไล่เลยขึ้นไปถึงชั้นที่ 6

มวลน้ำแผ่กระจายเป็นเชิงชั้นตามผาหินสีดำ มันครางครืนจนแทบกลบเสียงเต้นของหัวใจ สะท้อนความสมบูรณ์ถึงที่สุดในยามที่ผืนป่ากำลังเบิกบานรับฤดูฝน

ราวกับมิตรจากแดนไกลที่เดินทางมาถึงหมู่บ้านกลางขุนเขาแล้วการต้อนรับปลอบขวัญได้ละลายความเหนื่อยล้าหลังแรมรอนทางไกล โมงยามเช่นนี้หายากยิ่งในโลกสลับสีที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในที่ที่เราจากมา 

ผ่านพ้นคืนค่ำกลางเดือนดาว ยามเช้าเราออกไปหาวิวหมอกที่ไหลเวียนปกคลุมแอ่งที่ราบบ้านสะเกินที่ริมทางหลวงหมายเลข 1148 เหนือความสูง ไอแดดค่อยๆ กวาดไล่หมู่หมอกให้สลับฟุ้งสูงต่ำ เปลี่ยนไปตามเข็มนาฬิกา เรายืนมองผืนป่าและภูเขารอบด้านที่ค่อยๆ ชัดเจนสีเขียวขึ้นตามอุณหภูมิแสง

สำหรับโลกสีเขียวชื่นที่ห่อหุ้มอยู่บนหนทางสายภูเขาคดโค้งสูงชัน ฤดูกาลที่ผืนป่าและดอกไม้เริงร่าอย่างถึงที่สุด ผู้คนหันหน้าลงฟูมฟักไร่นาราวกับทารกต้องการการทะนุถนอมกล่อมเกลา

ภาพเช่นนี้มีอยู่จริงแท้ เปี่ยมค่า แสนเป็นตัวของตัวเอง และยินดีที่ใครสักคนจะออกมาพบเห็นมันและการก้าวเดินบนถนนสายเดียวกันกับพวกเขาอาจต้องใช้ขนาดของหัวใจที่ยิ่งใหญ่ไม่แตกต่างกัน 

How to Go?

 

เริ่มต้นที่อำเภอท่าวังผา ใช้ทางหลวงหมยเลข 1148 (ท่าวังผา-สองแคว) ไปราว 1.5 กิโลเมตร แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1082 (นาหนุน - สบขุ่น) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 27 แยกขวาเข้าอุทยาน
แห่งชาตินันทบุรีอีกราว 3 กิโลเมตร (ทางเป็นลูกรังดินแดง ควรใช้
รถขับเคลื่อนสี่ล้อในฤดูฝน)
แวะพักกางเต็นท์นอนดูวิวอาทิตย์ลับตาที่ อุทยานฯ
นันทบุรี สอบถามข้อมูลโทร. 08 - 9999 - 2420 และ 08 - 0131 -1395 หรือ  www.dnp.go.th 
จากนั้นย้อนกลับสู่ทางหลวงหมายเลข 1148 ขับผ่านเส้นทางภูเขาแสนสวยงาม เมื่อถึงอำเภอสองแควแล้วให้ขับมุ่งหน้าอำเภอเชียงคำของพะเยา ถึงบ้านสะเกิน รวมระยะทาง 75 กิโลเมตร 
แล้วแยกขวาเข้าอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินอีก 6 กิโลเมตร อุทยานฯ มีบ้านพักและลานกางเต็นท์ รวมไปถึงอาหารตามสั่งรสชาติอร่อยให้บริการ สอบถามข้อมูลโทร. 08 - 9045 - 9831, 08 - 6889 - 7167 หรือ  www.dnp.go.th 

เริ่มต้นที่อำเภอท่าวังผา ใช้ทางหลวงหมยเลข 1148 (ท่าวังผา-สองแคว) ไปราว 1.5 กิโลเมตร แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1082 (นาหนุน - สบขุ่น) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 27 แยกขวาเข้าอุทยานแห่งชาตินันทบุรีอีกราว 3 กิโลเมตร (ทางเป็นลูกรังดินแดง ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อในฤดูฝน)

แวะพักกางเต็นท์นอนดูวิวอาทิตย์ลับตาที่ อุทยานฯนันทบุรี สอบถามข้อมูลโทร. 08 - 9999 - 2420 และ 08 - 0131 -1395 หรือ  www.dnp.go.th 

จากนั้นย้อนกลับสู่ทางหลวงหมายเลข 1148 ขับผ่านเส้นทางภูเขาแสนสวยงาม เมื่อถึงอำเภอสองแควแล้วให้ขับมุ่งหน้าอำเภอเชียงคำของพะเยา ถึงบ้านสะเกิน รวมระยะทาง 75 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินอีก 6 กิโลเมตร อุทยานฯ มีบ้านพักและลานกางเต็นท์ รวมไปถึงอาหารตามสั่งรสชาติอร่อยให้บริการ สอบถามข้อมูลโทร. 08 - 9045 - 9831, 08 - 6889 - 7167 หรือ  www.dnp.go.th 

ทางหลวงหมายเลข 1082 ถนนสายเล็กๆในเขตภูเขา