ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ วรรัตน์

ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ วรรัตน์

ทั้งคู่ถือว่าโลดแล่นและมีผลงานอยู่ในแวดวงการออกแบบมาพอสมควร พวกเขาบอกว่าเหตุที่ทำให้ได้รู้จักกันนั้นได้ เกิดขึ้นหลังจากผลงานที่ทำได้รางวัลของกรมส่งเสริมการส่งออก จนได้รับการสนับสนุนให้ผลิตผลงานขึ้นมาเป็นชิ้นงานจริง หลังจากนั้น จัง ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ จึงได้เข้าไปทำงานในบริษัทที่สนับสนุนผลิตผลงานของเธอขึ้นในครั้งนั้น ส่วน วิ วรรัตน์ พัวไพโรจน์ ที่ได้รางวัลเดียวกันในสองปีถัดมา ก็ได้ตามเข้ามาทำในบริษัทเดียวกันภายหลัง

ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งทั้งคู่รู้สึกว่า ตัวเองนั้นทำงานให้กับผู้อื่นมามากมาย ทั้งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ งานกราฟิกที่ทำให้กับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงโลโก้ และออกแบบ Identity ให้บริษัทต่างๆ จนมาถึงระยะเวลาหนึ่ง จึงเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมไม่ลองทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา นั่นเองที่ทำให้ทั้งสองคนคิดต่อยอดและลงมือทำตามความตั้งใจ 

“หลักๆ เลยคือเราทำของที่เราอยากใช้ ซึ่งของที่อยากใช้มันไม่ค่อยมีให้ซื้อเท่าไหร่ เราถามตัวเองว่าต้องการอะไร อย่างตอนทำพัดลมก็สงสัยว่าทำไมถึงมีแต่แบบที่เป็นตระแกรง เราอยากได้พัดลมที่ไม่เหมือนใคร คอนเส็ปต์มันก็เรียบง่ายแค่นี้เอง” วิ วรรัตน์ ผู้เป็นทั้งดีไซเนอร์และมือกีต้าร์ ‘วงฟลัวร์’ พูดถึงคอนเส็ปต์ตั้งต้นกว่าที่ผลิตผลงานสักชิ้นออกมา

เราจึงได้เห็นพัดลมในรูปทรงย้อนยุค พร้อมกับลวดลายของตระแกรงรูปกิ่งไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ ที่เจ้าตัวบอกว่า เมื่อตัดสินใจทำออกมาแล้ว ก็ไม่คิดว่าผลตอบรับจะดีกว่าในตอนแรกที่คิดไว้ ไม่ต่างกับเจ้า ช้าง บีนแบ็ก (Chang BeanBag) ที่เอาไว้รองนั่งกับพื้น เมื่อไม่ใช้งานก็สามารถยกขึ้นเก็บได้ ไม่เกะกะกองอยู่กับพื้นเหมือนทั่วไป และเมื่อจับมันตั้งขึ้นก็จะหายสงสัยว่าเพราะอะไรมันถึงได้ชื่อเรียกเช่นนั้น และเจ้าผลงานชิ้นนี้เองที่ถือเป็นมาสเตอร์พีช ของ Yenndesign ที่ตระเวนออกไปกวาดรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ

“ในการทำงานเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้ามันไม่เวิร์คคือไม่เวิร์ค ไม่ใช่ดันทุรังไปบอกชาวบ้านว่าเวิร์ค” จัง ศิริลักษณ์ บอกถึงความตั้งใจที่ใส่ลงไปในผลงานทุกชิ้น และทุกชิ้นงานก่อนจะถูกปล่อยออกมา มันจะผ่านการทดลองใช้งานจริงเพื่อมองหาจุดที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข รวมถึงโอกาสที่ได้นำผลงานออกไปสู่สายตาผู้คนในต่างประเทศ ก็นับเป็นสิ่งสะท้อนทำให้พวกเขาเห็นในสิ่งที่มองข้ามไป

“ถ้าจะทำอะไรให้โดนใจคน เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เวลาไปออกงานมีคนวิจารณ์อะไรเราฟังหมด” ดีไซเนอร์หนุ่มของแบรนด์บอกถึงความสำคัญที่คนทำงานออกแบบจะละเลยเสียมิได้ อย่างเจ้า ‘ช้าง Bean Bag’ แรกเริ่มพวกเขาทำออกมาแค่ขนาดเล็ก หากเมื่อนำออกไปแสดงในต่างประเทศ และด้วยความที่ฝรั่งต่างชาติมีสรีระสูงใหญ่ พอลองนั่งไปแล้วเหมือนว่า Bean Bag ตัวนั้นมันหายไป รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขาสามารถนำมาปรับปรุงผลงานได้อย่างลงตัว

นอกจากนั้นด้วยไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ที่ชื่นชอบในการปั่นจักรยาน พวกเขาจึงได้สร้างผลงานอย่างกระเป๋าสะพายเฉียงที่ได้รับการออกแบบมาให้เข้ากับสรีระของนักปั่นขณะนั่งบนอานทุกคน ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ให้คนเพียงเฉพาะกลุ่มผู้รักจักรยานเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน มันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้ทั้งสิ้น ตรงนี้เลยถือเป็นจุดเด่นที่สัมผัสได้ว่าคนที่ซื้อไปใช้งานจะรู้สึกมีส่วนร่วมกับงานชิ้นนี้ “เราเหลือที่ว่างให้คนสามารถใส่ตัวตนเข้าไปได้ในทุกผลงานที่ทำ จึงไม่ใช่งานของเราคนเดียวอีกแล้ว มันเป็นงานของคนที่ซื้อไปเป็นเจ้าของด้วย” จัง ศิริลักษณ์บอกถึงความพิเศษของผลงานที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และการที่ทั้งคู่คุ้นเคยกับวัสดุที่ใช้ในแต่ละแวดวงของการออกแบบเป็นอย่างดี ผลงานทั้งหมดจึงมีคุณภาพไม่น้อยไปกว่าฟังก์ชั่น และการดีไซน์ 

“เราไม่ใช่ศิลปินที่ทำอะไรแล้วไม่สนว่าคนจะว่ายังไงแต่เราทำงานดีไซน์เราต้องฟัง เพราะว่าหัวใจของงานออกแบบผลิตภัณฑ์มันเพื่อประโยชน์ใช้สอยสำหรับคนหมู่มาก ต้องเคารพตรงนั้น 

“ดีไซเนอร์ควรใช้ความเป็นศิลปินมาทำให้ผลงานมันดูสวยงาม ดูแล้วเกิดความสบายใจ พึงพอใจในรูปลักษณ์ บวกกับประโยชน์ใช้สอยที่สูงสุด” ก่อนที่ดีไซเนอร์หนุ่มจะบอกอีกว่า ผู้คนในต่างประเทศที่ได้ไปเจอจะบอกเหมือนกันว่างานดูสนุก ดูแล้วอารมณ์ดี เหมือนที่ดีไซเนอร์สาวบอกส่งท้ายว่าต้องการสื่อให้คนนึกถึง Yenndesign แล้วนึกถึงช่วงเวลาพักผ่อน เป็นทั้งช่วงเวลาและความรู้สึกที่ผ่อนคลาย  

สองดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่ก่อร่างสร้างผลงาน