เกษมสันต์ วีระกุล
กระบอกเสียงผ่านประสบการณ์
สิ่งที่เขาทำต่อเนื่องมาตลอด 30 ปี คือการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และเป็นที่ปรึกษาในการสร้างภาพลักษณ์ หรืออาจใช้คำว่า “นักวางยุทธศาสตร์การสื่อสาร” ก็ได้ นอกจากนี้เขายังให้ความรู้เรื่อง AEC แก่ประชาชน โดยการเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และทำสกู๊ปให้สำนักข่าว CNN
“ตลอดชีวิตผมไม่เคยทำงานอย่างเดียว ตอนเป็นอาจารย์ก็ทำสื่อผลิตรายการ วันนี้เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การสื่อสาร ก็ให้คำปรึกษาผู้คนที่หลากหลายทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักการเมือง ขณะเดียวกันก็ทำงานด้านสื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC จึงต้องค้นคว้า ทำการบ้านด้านวิชาการเยอะ ว่ามาเลเซียมียุทธศาสตร์อะไร สิงคโปร์มียุทธศาสตร์อะไร แต่ละประเทศมียุทธศาสตร์อย่างไร และก็ต้องแปลงเรื่องเล่าวิชาการผ่านสื่อทีวีให้สนุกให้ได้ นี่คือชีวิตในด้านกลางวัน ส่วนชีวิตในด้านกลางคืนก็ทำร้านอาหารเพื่อให้ความบันเทิงแก่เพื่อนฝูง ซึ่งผมทำทุกอย่างๆ เต็มที่ เคยชินกับการทำงาน 7 วัน วันละ 18-19 ชั่วโมงมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
“แม้จะทำงานมาแล้วหลากหลายรูปแบบ แต่ผมชอบอาชีพอาจารย์ที่สุดนะ คิดว่าในตัวเรามีความเป็นอาจารย์มากที่สุด ตอนนี้คนกว่าครึ่งประเทศยังคงเรียกผมว่าอาจารย์ทั้งที่ไม่ได้สอนมานานกว่า 20 ปี แล้ว ตอนที่ไปทำสื่อ หรือเป็นนักสื่อสารองค์กรที่เบียร์ช้าง ตอนเป็นนักการเมืองไปประชุมสภา ทุกคนต่างก็เรียกเราว่าอาจารย์ กระทั่งเจ้านายก็ยังเรียกเราว่าอาจารย์ คงเพราะส่วนตัวเป็นคนไม่หลอกตัวเอง ตรงไปตรงมา ถึงแม้จะทำยุทธศาสตร์การสื่อสารองค์กร ทำพีอาร์ ก็ไม่หลอกคน ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้าตื่นเช้ามาสบตาตัวเองในกระจก ก็สามารถบอกได้ว่าเราไม่หลอกคน ไม่คดโกงใคร
“จากที่กระโดดมาทำเรื่อง AEC ผมรู้สึกว่าประเทศเราน่าเป็นห่วงมาก เพราะบางคนอาจนึกว่าเป็นเพียงการเปิดประเทศเฉยๆ แต่ผมกำลังจะบอกว่านี่เป็นสึนามิทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันอันตรายกว่าที่คิดไว้ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีเงินทอง ไม่มีความพร้อม และยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน เรื่องการวางยุทธศาสตร์ประเทศ ที่สำคัญ ที่สุดคือปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เมื่อเราไปทำการบ้านเกี่ยวกับประเทศอื่นมากขึ้นก็ยิ่งเห็นว่าประเทศไทยอาจจะล้มเหลวก็ได้ จึงต้องเขียนบทความวิจารณ์คนอื่นเพราะความเป็นห่วง ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าตัวเองมีความเป็นอาจารย์สูงสุด”
ทำงานเพื่อประชาชน
อาจเพราะในตัวเขาคนนี้มีความเป็นอาจารย์สูงจึงไม่สามารถเป็นนักการเมืองได้อย่างเต็มตัว ด้วยความที่เป็นคนมีความสามารถ เขาจึงได้มีโอกาสลงไปช่วยในการรณรงค์เลือกตั้งใหญ่ถึงสองครั้ง ซึ่งสำหรับเขาแล้วเห็นว่านักการเมืองมี 2 แบบ คือ นักการเมืองที่ดี และนักการเมืองที่ไม่ดีพอๆ กัน
“นักการเมืองที่เห็นๆ กันอยู่ บางคนว่าคนนั้นดี บางคนชอบคนนี้ ในความเห็นของผม คนพวกนี้
แทบไม่ต่างกันเลย ส่วนตัวแล้วคิดว่านักการเมืองที่ดีคือ นักการเมืองที่คิดถึงแต่การพัฒนาประเทศให้รอดพ้นจากปัญหาต่างๆ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อได้ไปสัมผัสตรงนั้น รู้สึกว่าทำงานยาก เพราะวิธีคิดของเราไม่เหมือนเขา
“อย่างตอนอยู่ในตำแหน่งเลขารัฐมนตรีช่วยฯ มีคนมาหา จะวิ่งเต้นให้ช่วยเรื่องงาน เรื่องตำแหน่ง พอไม่เอาด้วย คนรอบตัวก็เริ่มไม่เห็นด้วย ถ้าถามว่าอยากเป็นนักการเมืองที่ดีไหม ขอตอบว่าอยากเป็นนักการเมืองที่ดี แต่ถ้ามีเราคนเดียวการพัฒนาประเทศ การทำงานให้ประชาชน มันก็เป็นไปได้ยาก มันทำงานลำบาก
“เมื่อออกมาจากแวดวงการเมืองแล้ว เสียดายที่ไม่มีโอกาสพูดเสียงดังๆ ให้สังคมได้รับรู้อีก เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ดูแลเรื่องนโยบายประเทศ แต่วันนี้สิ่งที่ผมทำอยู่ก็มีผู้ใหญ่หลายคนเห็น ตอนที่ทำงานตรงนั้นผมได้ช่วยแก้ปัญหาการเจรจาการค้าเสรีกับญี่ปุ่น อินเดีย มีหลายเรื่องที่แก้จนจบ สามารถนำความรู้ทางวิชาการไปช่วยได้เยอะ ซึ่งถ้าอยู่ต่อก็คงช่วยได้มากกว่านี้
“ถ้าเลือกได้จะย้อนกลับไปทำงานด้านการเมืองอีกไหม ก็บอกได้เพียงว่าแต่ละอย่างมีได้มีเสีย ตอนที่ทำงานการเมืองเราได้ทำอะไรหลายอย่างที่มันสนุกและผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้ แต่ถ้าให้อยู่ตรงนั้นเลยก็ไม่ใช่ผม เพราะคนรอบข้างเป็นอีกแบบ เหมือนคุณเป็นคนไม่สูบบุหรี่แล้วนั่งท่ามกลางคนสูบบุหรี่ก็นั่งได้ไม่นาน พักเดียวก็อยู่ไม่ได้แล้ว
“หากมีโอกาสเป็นที่ปรึกษานายกฯ จะบอกให้เขากำหนดยุทธศาสตร์ประเทศให้ชัดว่าอีก 5 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ต้องมีแนวทางรู้ว่าใครทำอะไร เมื่อรู้แล้วจะรู้เองว่าจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนเท่าไหร่ เอกชนควรเข้ามาช่วยเสริมตรงไหน ซึ่งทุกวันนี้นักการเมืองที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนั้นไม่มีฐานข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจว่าควรจะทำอะไร และยุทธศาสตร์ประเทศไทยก็ไม่สามารถกำหนดได้ด้วยคนกลุ่มใหญ่ ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ต้องมาจากคนที่เคยบริหารประเทศ จนเห็นภาพใหญ่ เห็นโลกกว้าง รู้ว่าประเทศอื่นทำอะไรมาบ้าง จะมากำหนดแบบระบบราชการจากล่างขึ้นบนไม่ได้ ยุทธศาสตร์ประเทศต้องกำหนดจาก Top Management จึงจะใช้ได้”
เสียงกระซิบผ่าน AEC
ด้วยพื้นฐานที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ บวกกับความรู้ความสามารถที่ได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง และทุนปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องการันตีได้ว่าสิ่งที่เขาคิด เขียน เผยแพร่ วิจารณ์ออกมาเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ทั้งสิ้น ถึงแม้เขาจะได้ทุนไปเรียนต่อแต่ก็เลือกที่จะปฏิเสธโอกาสเหล่านั้นทั้งหมด เพียงแค่อยากทำสื่อ เพราะเห็นว่าตอนนั้นรายการโทรทัศน์ยังไม่มีสื่อสาระดีๆ สำหรับประชาชนในประเทศ
“พอได้โอกาสผมก็กระโดดมาทำสื่อ ระหว่างทำสื่อด้านการเมืองนั้นก็ทำรายการเรื่องเศรษฐกิจด้วย จึงต้องคอยเติมความรู้เรื่องเศรษฐกิจตลอดเวลา นอกจากนี้ผมยังเป็น
นักอ่าน จากความรู้ที่เราสั่งสมกับประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการเมืองที่ต้องไปติดต่อสื่อสารกับผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสได้ข้อมูลลึกๆ ที่คนทั่วไปไม่รู้ จึงอยากใช้ความเป็นอาจารย์นำข้อมูลตรงนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์
“ขณะนี้เรากำลังบอกว่าประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ พอได้ประชุมงานใหญ่ๆ จะพบว่าแผนพัฒนาต่างๆ มันกว้าง ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เช่น อยากพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ด้วยการยกระดับ SMEs คำถามคือ จะทำอย่างไร ประเทศอื่นจะบอกวิธีการ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 ทำอะไร เขาจะกำหนดกรอบไว้ชัดเจน เพื่อที่กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงการคลัง สามารถนำไปทำต่อได้ พอผมเขียนบทความเรื่องนี้ออกมา คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอ่านแล้วก็ยอมรับว่าเป็นความจริง
“ตามที่รัฐบาลบอกว่าเราต้องหาประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ส่วนตัวมองว่า การที่ประเทศไทยสามารถเติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปีนั้น หากอยากจะเติบโตมากกว่านี้ต้องมีนโยบายมากระตุ้น ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นนโยบายไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ประเทศไทยยังหมดเงินไปกับโครงสร้างด้านการศึกษาเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ผลที่ได้คือ เด็กไทยสอบตก แสดงว่าเราใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพและอาจจะมีคอรัปชั่นซ่อนอยู่หรือไม่ ส่วนเม็ดเงินที่เหลือจากระบบงบประมาณก็มีไม่เพียงพอที่จะยกระดับประเทศได้ สุดท้ายการจัดเก็บภาษียังไร้ประสิทธิภาพ แปลว่าประเทศไทยไม่ได้เก่งอย่างที่คิดถ้าเปรียบเทียบไทยกับสิงคโปร์ก็เทียบกันไม่ติด แล้วอย่างนี้เราจะไปหาประโยชน์จากประเทศอื่นได้อย่างไร
“รัฐบาลบอกว่า ณ วันนี้เราจะเป็นศูนย์กลาง AEC คำถามคือ เราเปลี่ยนที่ตั้งประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่ เราอยู่ที่นี่มาตั้งนานแล้ว แล้วทำไมอยู่ดีๆ แค่สร้างทางรถไฟพาดผ่านเราจะกลายเป็นศูนย์กลางของ AEC ผมเคยตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ว่า การสร้างทางรถไฟเชื่อมภาคต่างๆ ไว้ขนวัตถุดิบและขนคน ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร เพราะเราแทบไม่ได้อะไรเลย รัฐบาลคิดเพียงว่าจะลงทุนเฉยๆ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดว่าประเทศไทยอีก 15 ปีจะอยู่ตรงไหนของโลก จะเป็นเช่นนั้นได้ต้องทำอะไรบ้าง เม็ดเงินมีอยู่เท่าไหร่ แล้วทำตามลำดับความสำคัญ ไม่ใช่คิดแค่ว่าจะทำหรือไม่ทำ ประเทศมาเลเซียก็มีกรณีตัวอย่างให้เห็นแล้ว มาเลเซียลงทุนทำท่าเทียบเรือใกล้กับสิงคโปร์ ทำให้ใหญ่กว่า เก็บค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่กลับไม่มีคนมาใช้งาน เพราะท่าเรือมาเลเซียมีประสิทธิภาพสู้สิงคโปร์ไม่ได้
“ประเทศไทยนับวันจึงยิ่งถอยหลังกว่าประเทศอื่น ซึ่งน่าเสียดายมาก ทั้งๆ ที่เรามีครบทุกอย่าง เรายังเดินได้เท่าเดิม ทั้งยังมีปัญหาเข้ามาเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศอื่น เดินแบบก้าวกระโดด วันหนึ่งเราจะล้าหลัง ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องความสามัคคีในประเทศ จุดเด่นของคนไทยเมื่อก่อนเคยโอบอ้อมอารี สามัคคีกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าไม่อยู่ข้างนี้ก็อยู่ข้างนั้น ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องตระหนัก”
ความภูมิใจแห่งตัวตน
ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของเขาเป็นข้าราชการสรรพากร ฐานะไม่ได้ร่ำรวย แต่ไม่เคยคดโกงใคร แม้คุณพ่อจะเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ยังคงภูมิใจ และนำสิ่งที่เรียนรู้จากท่านมาปฏิบัติตามอยู่เสมอ
“สมัยประถมผมเรียนอยู่ต่างจังหวัด คอยย้ายโรงเรียนตามพ่อไปเรื่อยๆ พ่อจะจับไปฝึกนั่งสมาธิ ทำให้มีสมาธิเรียนหนังสือได้ที่ 1 ตลอดโดยไม่ต้องท่องหนังสือ เพราะฟังทีเดียวก็จำได้ จนกระทั่งได้เข้าเรียนที่สวนกุหลาบฯ ก็ทำกิจกรรม พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังคงทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ เมื่อจบปริญญาตรีก็ตั้งใจว่าจะไม่รบกวนที่บ้าน จึงพยายามไขว่คว้าหาทุนเรียนต่อเอง
“คุณพ่อเป็นคนฐานะธรรมดาค่อนข้างยากจน อยู่จังหวัดพิษณุโลก ต้องปลอกมะพร้าวไปท่องศัพท์ไป แต่เป็นคนฉลาดจึงสอบขึ้นดำรงตำแหน่งได้เร็ว และได้เป็นสรรพกรที่หนุ่มที่สุดของประเทศ ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังคงเป็นโดมผู้จองหอง เพราะเรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่คิดคดโกง ท่านไม่มีคำสอนอะไรเป็นพิเศษ แต่ผมดูวิธีปฏิบัติของท่านที่เป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ และรู้จักวิธีใช้เงินทองอย่างเหมาะสม
“หลักการดำรงชีวิตของผมคือ อยู่แบบตรงไปตรงมา ผมมักบอกคนอื่นเสมอว่า ผมจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก ส่วนตัวแล้วมองว่าความสุขไม่ได้อยู่ตรงที่วัตถุ ความสุขมันอยู่ที่วิธีคิด วันที่มีพ่อแม่เป็นข้าราชการเราพอใจ วันที่อยู่บ้านเล็กๆ ย่านฝั่งธนฯ เรามีความสุข จนถึงวันนี้ก็ยังมีความสุข ผมกล้าสบตาตัวเองในกระจกโดยไม่ต้องอายว่าเราโกงใครหรือเปล่า ผมเสี่ยงในการให้ข้อมูลกับประชาชน วิจารณ์รัฐบาล แต่ก็มั่นใจว่าสิ่งเหล่านั้นมีประโยชน์ พูดด้วยความจริงใจ ถึงแม้ว่าจะไปตำหนิเขา แต่ก็ตำหนิด้วยความจริงใจ เราตรงไปตรงมา และไม่หลอกตัวเอง”
“เรื่องที่ทุกข์และเสียใจที่สุดคือ ไม่ได้ดูแลลูก ซึ่งเป็นเรื่องเดียวที่รู้สึกผิดและรู้สึกไม่สบายใจมาตลอด ตอนนี้ห่างจากลูกมา 5-6 ปีแล้ว แต่ผมก็ยังรอเวลาที่เหมาะสมที่จะได้อยู่ด้วยกันอีกครั้ง เลือกที่จะไม่เก็บความรู้สึกทุกข์ไว้กับตัวนาน รู้จักปล่อยวาง เคยอ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุ ดังนั้นการรับมือกับความทุกข์จะรับมือโดยวิถีพุทธ จึงวางเป็นและวางเร็ว
“สิ่งที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำคือ อยากมีมูลนิธิไว้คอยปราบคนพาล รวมคนที่อยากทำอะไรเพื่อบ้านเมือง แล้วไปขับไล่คนโกงออกไป นี่คือความใฝ่ฝันในชีวิต เพราะมันคงจะสนุกมาก แต่ทำพวกนี้ต้องใช้เงินและเครือข่ายเยอะ ซึ่งหากวันหนึ่งมีเครือข่ายพร้อมก็คงจะทำ อยากให้คอรัปชั่นหมดจากประเทศไทย เพราะตอนนี้คอรัปชั่นมันปิดตาประเทศไทยอยู่”