ศรีสัชนาลัย…

ศรีสัชนาลัย…

หลายวันที่ศรีสัชนาลัย เมืองเล็กแสนสงบงามอันเก่าแก่ของสุโขทัย ผมค่อยๆ ทำความรู้จัก และพยามนึกคิดเอาเองว่า ชีวิตของหลายคนที่นี่ล้วนเป็นเรื่องของการสืบทอด และหัวใจของพวกเขาไม่แตกต่างไปจากเมืองที่โอบรับชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยามเช้าบนถนนพิศาลดำรินั้นแสนงดงาม แม้ระดับน้ำในแม่น้ำยมจะลดน้อยจนแลดูสายเล็กในฤดูแล้ง แต่ชีวิตริมฝั่งที่ลืมตามากว่า 3 รุ่นก็บอกให้ใครสักคนที่มาเยือนศรีสัชนาลัยว่าผู้คนของที่นี่ไม่เคยห่างหายจากลำน้ำสายโบราณอันเก็บงำไว้ทั้งประวัติศาสตร์และรูปแบบชีวิตสั่งสม

ในวัดหาดเสี้ยวครึกครื้นด้วยงานบุญอุทิศกุศลให้ใครสักคน อาคารโรงเรียนปริยัติธรรมเก่าคร่ำ ประดับด้วยสีสันของสามเณรเดินขวักไขว่ แต่ที่ตรึงตราในยามเช้าคือพ่อเฒ่าแม่เฒ่าชาวไทยพวนที่นั่งอยู่ตรงอุโบสถหลังเล็ก พวกเขาเรียกคนที่จากไปว่าเพื่อน เสื้อสีขาวสะอ้าน ซิ่นไทยพวนหลากสีสัน แต่ที่เหมือนกันคือลาย “ตะหว้า” อันเป็นลายโบราณ ฝ่ายชายนั้นคลุมผ้าขาวม้าพวนพาดไหล่ ภาพตรงหน้าอ่อนโยนและสะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่าความ “ผูกพัน”

“เดี๋ยวนี้สาวๆ เขาจะใส่ก็ช่วงงานบุญนั่นล่ะ แต่รุ่นยายรุ่นทวดนี่ขาดไม่ได้” ยายสมใจ โกศัย นั่งอยู่หน้าบ้านเลขที่ 3 เคียงข้างคุณลุงกุน โกศัย แม้จะเพิ่งพบหน้า แต่รอยยิ้มและอัธยาศัยแสนอบอุ่นนั่นเป็นคนละเรื่อง แกคุยให้ฟังถึงสีสันของงานบุญกำฟ้า งานเทศน์มหาชาติว่าความสวยงามนั้นแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตคนที่นี่ ที่เชื่อมโยงกับพุทธศาสนา

“แต่ก่อนหาดเสี้ยวนั้นมาถึงยาก ต้องทางแม่น้ำยมเท่านั้นละ” เราพูดถึงความคึกคักที่ผ่านพ้นและตกหล่นอยู่เพียงในความทรงจำของชายชรา ลุงกุนว่าแต่ก่อนขบวนเรือ

ของคนจีนล่องขึ้นมาขายสินค้า ผ่านสวรรคโลก ต่อขึ้นมาหาดเสี้ยว ยาวไกลไปถึงแพร่ “เรือมอญก็มีนะ เอาโอ่ง เอาเครื่องปั้นมาขาย เอาเกลือมาแลกข้าวสารบ้านเรา”

“บรรพบุรุษลุงมาจากลาวโน่น แต่ฉันไม่เคยไปหรอก” หลายต่อหลายรุ่นสืบต่อกันมาเพียงภาษาพวนแท้ๆ ที่เราเองได้แต่นั่งฟังสำเนียงอันไม่รู้ศัพท์ 

พูดถึงสายเลือดอันเก่าแก่และงดงามในมิติของวัฒนธรรม คนศรีสัชนาลัยราว 4 หมู่บ้านล้วนมีเชื้อสายคนพวนจากแดนดินห่างไกลในที่ราบสูงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แถบเมืองเชียงขวาง ทุ่งไหหิน “รุ่นปู่ย่าฉันนั่นละ แต่น้อยคนนะที่นี่ ที่จะมีโอกาสไปเยี่ยมไปเที่ยว” ยายสมใจเล่าเพลิน หน้าบ้านไม้สีเข้มขรึม มีลมแม่น้ำลอยขึ้นมาแผ่วๆ

ลงลึกไปในประวัติศาสตร์ คนพวนจากเมืองเชียงขวางเหนือที่ราบสูงของแผ่นดินลาวได้ถูกเกณฑ์เข้าสู่แผ่นดินไทยโดยแม่ทัพใหญ่จากครั้งโบราณ ด้วยเหตุผลทางศึกสงครามราวปี พ.ศ. 2379 กระจายการลงหลักปักรากทั้งในอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ของเพชรบูรณ์ ไล่เลยลงไปไกลถึงแถบสะพานมอญ ปากคลองตลาด วัดโสมนัส หรือริมคลองวัดสระเกศ ที่กรุงเทพฯ

และที่ศรีสัชนาลัย หมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำยมของสุโขทัย ที่บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่และบ้านแม่ราบล้วนคือสายเลือดที่ตกสะท้อนความเป็นลาวพวนไว้ในภาษาพูดและความงดงามของสองมือ ข้ามสะพานพระร่วงมาอีกฟากของแม่น้ำยม บ้านหาดสูงและชาวบ้านในตำบลเล็กๆ แห่งนี้ ล้วนคือ “ต้นทาง” ของร้านผ้าทอไทยพวนและร้านขายของที่ระลึกทางฝั่งบ้านหาดเสี้ยวที่เรียงรายรับการมาเยือนของผู้คนต่างถิ่น

“พูดถึงคนพวน ไม่พูดถึงผ้าก็ไม่ใช่ละ” ในนามของผู้หญิงไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ป้าจันทา โกศัย จมอยู่ท่ามกลางเสียงแต้กๆ ขณะกรอด้าย เธอว่าเดี๋ยวนี้เส้นฝ้ายแบบย้อมธรรมชาติดั้งเดิมอย่างคราม หรือระกำ เริ่มไม่มีใครย้อมแล้ว แทบทุกบ้านที่แยกตรอกซอยเข้าไปตามถนนเทศบาลของบ้านหาดสูงคือโลกของผ้าทอที่ซุกซ่อนอยู่ในความเงียบเชียบ ชีวิตตามลำน้ำ ไร่นา ผลักพาผู้ชายออกไปทำมาหากิน สำหรับหญิงชาวพวน ดูเหมือนงานทอผ้าจะเป็นคำตอบเดียวที่ชัดเจนในเชื้อสายพวนของพวกเธอ

“อย่างเขาว่า ที่นี่ผู้ชายตีมีด ผู้หญิงทอผ้า” ป้าขยายความ ถึงอาชีพดั้งเดิมของคนพวนที่ศรีสัชนาลัย แต่เดิมชายหนุ่มของศรีสัชฯ รับจ้างตีมีดพร้าที่ใช้ในไร่นา ส่วนงานของผู้หญิงนั้นสะท้อนชัดอยู่ในซิ่นที่เธอนำออกมาให้ดู ลายสารพันชื่อที่ป้าบอก ล้วนต้องถามถึงความหมายกันยืดยาว

“เดิมผู้เฒ่าผู้แก่เขาทอกันแต่ซิ่น ส่วนตีนจกนี่รุ่นหลังๆ มาทำ ไปถามคนรุ่นใหญ่ๆ น่ะ เขาจกตีนไม่เป็นหรอก” จากกรอด้าย ป้าจันทานั่งลงชี้ให้ตีนจกที่ทำเป็นเชิง มันงดงามละเอียดอ่อนด้วยลายเครือน้อย หนึ่งใน 9 ลายที่คนหาดสูงเรียกมันว่า ‘เก้าหน่วย’

“ยิ่งเป็นงานบวชนาคขี่ช้างนะ ใครๆ ก็มาดู ผ้านี่แทบจะทอประชันกันเลยล่ะ แต่ละบ้าน” งานบวชของคนไทยพวนอันมีชื่อ เหล่านาคลูกหลานบ้านหาดเสี้ยว หาดสูง ล้วนห่มคลุมด้วยผ้าทอจากคนอันเป็นที่รัก ว่ากันว่าเดือนเมษายนยามจัดงาน ที่นี่คือโลกของผ้าและสิ่งที่เรียกว่าแรงศรัทธา ใช่เพียงผู้หญิง ที่งดงามด้วยซิ่นตีนจก แต่ผู้ชายไทยพวนที่นี่ล้วนผูกพันกับผ้าม้าตาอิดและกางเกงสีน้ำเงินที่เรียกกันว่า “โซ่ง” มาแต่โบราณ “หนุ่มๆ ไม่คาดกันแล้ว ต้องรองานบุญทีจึงจะเห็น” เฒ่าชราที่นั่งเคียงป้าจันทาเปรยผ่านลมบ่าย

แดดสายฉายระบายร้อน หมู่บ้านเงียบงัน หากใครสักคนเดินเลยเข้ามาถึงบ้านหาดสูง และผ่านไปด้วยความรวดเร็ว ที่นี่อาจเป็นเพียงหมู่บ้านในอำเภอเล็กๆ ริมแม่น้ำยม

อันแสนเรียบง่าย ธรรมดา แต่ด้วยผ้าทอผืนสวยที่ร้อยโยงพวกเขาเข้าด้วยกันอย่างเงียบเชียบ สื่อสารถึงที่มาอันห่างไกลถิ่นกำเนิดแต่ครั้งปู่ย่า โยงใยชีวิตเข้ากับศรัทธาและวันเวลา หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้อาจยิ่งใหญ่เท่าที่ใครสักคนอยากให้มันดำรงอยู่

และเสียงกี่ทอผ้าจากหญิงชราตามใต้ถุนบ้านก็ไม่มีวันจางหาย หากความสุขเปรียบได้กับคุณค่าของเครื่องประดับ ที่ตำบลเล็กๆ นอกอำเภอศรีสัชนาลัยอย่างบ้านท่าชัย ทุกห้วงหายใจในนั้นอาจมีค่าดั่งทอง เรากำลังอยู่ในห้องหับที่เต็มไปด้วยความงามของบ้านทองสมศักดิ์ แหล่งรวมช่างทองของศรีสัชนาลัยที่พลิกผันให้ผู้คนของที่นี่รู้จักคำว่าการงานและหนทางดำเนินชีวิต โลกตรงหน้าเลอค่า อร่ามเหลือง เต็มไปด้วยความงดงามเท่าที่ใครสักคนซึ่งหลงรักคุณค่าของทองคำพร้อมจะทำความรู้จัก สร้อยคอ กำไล แหวน เรียงรายในตู้กระจก สำหรับคนไม่ถนัดเรื่องเครื่องประดับเช่นผม นาทีก่อนจะออกมาสู่ความงดงามเช่นนี้ล้วนน่าทำความรู้จัก

“แต่เดิมรุ่นคุณพ่อ ท่านลองทำงานทองแบบลวดลายโบราณที่ตกทอดมาในของเก่าของสุโขทัย” หญิงสาวหน้าตาสะสวยเธอพูดถึงคุณสมศักดิ์ วงศ์ใหญ่ ผู้เป็นพ่อ 

ว่าเครื่องทองของบ้านทองสมศักดิ์และหลายๆ ร้านในบ้านท่าชัยนั้นมีจุดเริ่มมาพร้อมๆ กัน

จากลวดลายที่ปรากฏในงานประติมากรรม จิตรกรรมฝาผนัง หรือลายปูนปั้นประดับในโบราณสถานที่อุทยานฯ ศรีสัชนาลัย คนที่นี่ส่งต่อมันลงสู่งานทำทองรูปพรรณอย่างมีเอกลักษณ์และละเอียดอ่อน

“คนทำทองต้องใจเย็น ทองคำ 99.99 เปอร์เซ็นต์ มันอ่อนนุ่ม ต้องละเอียด ระวัง” ผมได้โอกาสเข้าไปในห้องช่างทอง ช่างจรูญ เปรมจิต เชื้อเชิญให้นั่งข้างเขาอย่าง

เป็นมิตร แวดล้อมด้วยเพื่อนช่างทองทั้งหญิงชายหลากอายุ

ลายโบราณอย่างลายเครือวัลย์ และลายจากปูนปั้นที่วัดนางพญา คือสิ่งที่ช่างทำทองรูปพรรณศรีสัชนาลัยต้อง “เป็น” รวมไปถึงงานลงยาที่ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของที่นี่ สีลงยาที่ทำจากหินหลากสีนั้นใช้ตกแต่งแทนเพชรพลอย ตกทอดมาแต่สมัยอยุธยา ในห้องของช่างทองเต็มไปด้วยขั้นตอนและความหลากหลาย รวมไปถึงมากด้วย “กฎเกณฑ์” ที่ฟังแล้วล้วนน่าทึ่ง

“ช่างทองแต่ละคนต้องลงทะเบียนทุกครั้ง ว่าเบิกทองไปเท่าไหร่ ก่อนกลับต้องเอาเข้าตู้เซฟ กล่องใครกล่องมัน ต้องชั่งน้ำหนักด้วย ขาดเกินไม่ได้ ทุกคนมีอ่างล้างมือของตน ล้างทุกครั้งก่อนลุกไปไหน ในน้ำนั้นล่ะค่ะ เศษทองที่ติดตามมือปนในน้ำ เอามาร่อน กลับมารวมกันแล้วหลอมใหม่” ฟังดูคล้ายที่นี่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่บ่มเพาะและสร้างช่างทองคุณภาพเยี่ยมของศรีสัชนาลัย ขึ้นมาอย่างไร้ที่ติ ทว่าชีวิตความเป็นอยู่แบบบ้านนาไร่ทุ่งยังคงหล่อหลอมและเปี่ยมสีสัน ในห้องทำทองเสียงเพลงลูกทุ่งแว่วกังวาน สารทุกข์สุกดิบเรื่องข้าวและพืชผลยังคงล่องลอยในถ้อยสนทนาตลอดการก้มหน้าลงบนงานรูปพรรณแสนละเอียดอ่อน

เราจมอยู่ในชิ้นงานอันหลากหลาย คำตอบจากงานทุกชิ้นคล้ายคลึงกัน คือมันกลายเป็นอีกหนทางให้คนที่นี่ก้าวเดินนอกเหนือจากโลกเกษตรกรรม เป็นหนทางที่อุ้มชูโดยโลกโบราณ ทว่าต่อยอดและหยัดยืนด้วยสองมือของนาทีปัจจุบัน

มาอยู่ศรีสัชนาลัยหลายวัน ผมมักมานั่งเล่นริมแม่น้ำยม ผู้คนของเมืองเก่าเดินข้ามไปมา ในถ้อยคำล้วนไม่มีอะไรมากไปกว่าทุกข์สุขที่ไถ่ถามผ่านประโยคซ้ำๆ ไปไหนมา กินข้าวกับอะไร ใครเจ็บใครป่วย หรือแม้แต่ลูกหลานเติบโตและจากไปไหน หลายสิ่งก่อรูป หยัดยืน พังทลายไปตามห้วงเวลา ใช่เพียงใบหน้าประวัติศาสตร์ แต่หมายถึงชีวิตรุ่นต่อรุ่นที่วิ่งเต้นหายใจอยู่กับมัน

How to Go?

 

อำเภอศรีสัชนาลัยเป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ห่างจาก

อำเภอเมืองสุโขทัยราว 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (สุโขทัย สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย) และเมื่อไปถึงควรเดินเที่ยวชมงานผ้าทอโบราณ

หรือเลือกซื้อหาของที่ระลึกที่บ้านหาดเสี้ยว ชมผ้าทอ

และเครื่องใช้จำลองวิถีชีวิตของคนไทยพวนหาดเสี้ยว

ที่ร้านสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ แวะไปเที่ยวบ้านหาดสูง แหล่งทอผ้าทอของศรีสัชนาลัย ตามบ้านไม้ใกล้ลำน้ำยมคือวิถีชีวิตของหญิงไทยพวนที่ชัดเจน เรียนรู้การทอผ้า ชมลวดลาย อีกทั้งยังอาจซื้อหา

ผ้าทอได้ในราคาย่อมเยา

อำเภอศรีสัชนาลัยเป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสุโขทัยราว 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (สุโขทัย สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย) และเมื่อไปถึงควรเดินเที่ยวชมงานผ้าทอโบราณหรือเลือกซื้อหาของที่ระลึกที่บ้านหาดเสี้ยว ชมผ้าทอและเครื่องใช้จำลองวิถีชีวิตของคนไทยพวนหาดเสี้ยวที่ร้านสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ แวะไปเที่ยวบ้านหาดสูง แหล่งทอผ้าทอของศรีสัชนาลัย ตามบ้านไม้ใกล้ลำน้ำยมคือวิถีชีวิตของหญิงไทยพวนที่ชัดเจน เรียนรู้การทอผ้า ชมลวดลาย อีกทั้งยังอาจซื้อหาผ้าทอได้ในราคาย่อมเยา

ส่วนที่ตำบลท่าชัยเป็นศูนย์รวมของร้านทองและร้านเครื่องเงินโบราณ สามารถซื้อหาและเยี่ยมชมงานช่างโบราณที่สะท้อนออกมาในเครื่องประดับชิ้นสวย ติดต่อบ้านทองสมศักดิ์ โทรศัพท์ 0-5567-9186-7 เว็บไซต์ www.somsakgold.com

 

แดนดินที่เรียกกันว่าโลกก่อนประวัติศาสตร์