จิระนันท์ พิตรปรีชา
ปัจจุบันเธอเป็นทั้งอาจารย์ นักวิชาการ นักประพันธ์ ที่มีผลงานมากมาย อาทิ กวีนิพนธ์เรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” ซึ่งได้รับรางวัลซีไรท์ พ.ศ.2532 งานเรียบเรียง “ลูกผู้ชายชื่อ นายหลุยส์” เรื่องแปล “โจรร้ายทั้งห้า” “ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น” บทบรรยายของภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนมาก งานเขียนสารคดี รวมบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ “หม้อแกงลิง” “ชะโงกดูเรา”แต่ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ก็คือ หนังสือแปลเรื่อง The Secret ที่ขณะนี้จำหน่ายไปแล้วนับแสนเล่ม เราถามเธอว่าตั้งแต่ทำงานมา งานชิ้นไหนที่ประทับใจที่สุด
“การทำงานทุกชิ้นที่ผ่านมา ล้วนมาจากความตั้งใจทุกชิ้นคงตอบไม่ได้ว่าชอบชิ้นไหนมากที่สุดค่ะ ที่ทำงานมาก็ชอบมันทั้งหมดนั่นแหละ”
มุมมองในด้านวงการวรรณกรรมที่ผ่านมาของเธอน่าสนใจไม่น้อย เธอเล่าถึงเรื่องของบทกวีที่บอกว่าไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปเป็นแบบอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น อย่างเช่น ไฮคุ แคนโต้ กลอนเปล่า หรือแม้แต่บทบาทในเชิงพาณิชย์
ที่อยู่ตามป้ายโฆษณาต่างๆ
“นักเขียนของไทยบางคนมีความสามารถมากนะ อย่างกนกพงศ์ สงสมพงศ์ แต่น่าเสียดายที่เขาอายุสั้นเกินไป เพราะว่างานเขียนของเขาเทียบเคียงระดับสากลได้เลย แต่นักเขียนบางคนก็ยังยึดติดอยู่กับพื้นบ้าน ระดับท้องถิ่นเราต้องมองถึงระดับสากล อย่างงานของลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ที่เขาแสดงให้เห็นถึงระดับจิตใจในความเป็นมนุษย์
“เราต้องยอมรับในอีกเรื่องหนึ่งว่าเรื่องภาษาในการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ อย่างประเทศสิงคโปร์เขาประกวดซีไรท์กันแต่ละครั้งเขาจะกำหนดเลยว่าปีนี้จะใช้ภาษาอะไร ก็มีภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือ ฮินดู ซึ่งเป็นภาษาที่แพร่หลาย แต่ในประเทศไทยเราใช้ภาษาไทยล้วนๆ พอผ่านขั้นตอนการแปลมันก็เลยดร็อปลงเหมือนการก๊อปปี้ภาพถ่ายนั่นแหละ แต่มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น
“หนังสือหรือนิตยสารบางเล่มจึงต้องมีการอิงกระแสเพื่อความอยู่รอด คนอ่านบางครั้งก็ตามกระแส มันอยู่ที่ว่ากระแสคือข้อเท็จจริงไง อย่างตอนที่หนังสือ แฮรี่ พอตเตอร์ มาในตอนแรกก็มีคนออกมาต่อต้านว่า มันไม่ใช่ของไทยมันเป็นของต่างประเทศ เรากลับมองว่าเมื่อก่อนเด็กไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มอ่านมากขึ้นแล้ว”
นอกเหนือจากงานในรูปแบบของงานเขียนแล้ว เมื่อ 3 ปีก่อนเธอยังได้ทำงานประจำให้กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติในตำแหน่งที่ปรึกษาและหัวหน้ากลุ่มงานกิจกรรมและเครือข่าย เมื่อเห็นว่าระบบการทำงานของสถาบันลงตัวแล้ว เธอจึงไม่ต่อสัญญากับที่นั่น เพียงแต่ขอเป็นอาสาสมัครช่วยงานแทน
“ทำมา 3 ปีแล้วค่ะ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อไปเป็นนักประวัติศาสตร์ นี่คืองานในฝันที่สร้างทางเลือกให้กับประเทศไทย
3 ปีที่ผ่านมาเป็นการอุทิศตัวอย่างมหาศาล แต่เราก็ปลื้มมาก
“ดิฉันเข้าไปทำเนื้อหาตรงฝ่ายนี้เลย คือต้องมีฝ่ายนะ ทั้งฝ่ายข้อมูล วิชาการ การออกแบบ เราจะอยู่ตรงกลาง เป็นทั้งนักวิชาการและผู้ควบคุมการผลิตก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างรื่นรมย์ อันดับแรกคือข้อมูลในการนำเสนอต้องแน่นและถูกต้องมันเป็นประเด็นที่สำคัญเลย
“เราต้องลงมือทำเพราะเราวิพากษ์กันมาเยอะแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องนำเสนออดีตของเมืองไทย และความเป็นไทย เราจะให้ความรู้เขาเหล่านี้เพื่อไม่ให้เป็นการรักชาติที่กลวงโบ๋ เวลาที่เราพูดอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับประเทศไทยมันน่าอายมากเพราะปราศจากข้อมูลที่แท้จริง พิพิธภัณฑ์นี้จะสอนเรื่องของเอกลักษณ์กับอัตลักษณ์ไทย 2 คำนี้มันต่างกันหลายขุมนะ เอกลักษณ์คือหนึ่งเดียว อัตลักษณ์คือคุณคิดว่าตัวเองเป็นอย่างไร อาจเป็นการหลอกตัวเองก็ได้หากไม่มีการวิเคราะห์
“บทเรียนของเราในอดีตมันยังไม่หนักพอที่จะทำให้คนของเราเรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้าง อย่างการที่เราเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่เราเอามาทำหนังกันก็แค่เป็นการปลุกกระแสความรักชาติ แต่บทเรียนที่หนักจริงๆ ของประเทศเรามันยังไม่มี แต่อย่าได้น้อยใจไปเลยว่าทำไมเราไม่เหมือนญี่ปุ่น ทำไมเราไม่เข้มแข็งเหมือนเยอรมัน เพราะเราไม่เคยโดนเหตุการณ์หนักๆ เหมือนพวกเขา
“บทเรียนที่ดีไม่ใช่บทเรียนทางประวัติศาสตร์เท่านั้น บทเรียนในปัจจุบันนี่ก็สำคัญผ่านมา 10 ปี ทำไมการเมืองบ้านเรา
ยังย่ำอยู่ที่เดิม อยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ นอมินี
“อย่างมีฝรั่งมาทำหนังเกี่ยวกับบ้านเรา ในบทมีติดคุก มียาเสพติด เกี่ยวกับโสเภณี เท่านี้คนไทยเลือดขึ้นหน้าเลยนะ แต่พอต่างชาติเข้ามาทำโบรชัวร์ประกาศขายที่ดินบนเกาะสมุย เรากลับไม่ทำอะไรเลย คนรักชาติลมๆ แล้งๆ ในบ้านเรามีเยอะ
เราอดที่จะถามถึงครอบครัวของเธอไม่ได้ เพราะตอนนี้ลูกชายทั้งสองของเธอ แทนไท และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กำลังมาแรงในวงการวรณกรรมบ้านเรา เรียกได้ว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นนั่นเอง
“ใจจริงอยากให้ลูกไปได้ดีทางอื่นด้วยซ้ำ แต่เมื่อเขาเขียนหนังสือเราก็ปลื้ม ปลื้มตรงที่ว่าลูกเป็นคนที่เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองอายุ 10 กว่าขวบสองคนนี้ยังอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่เลย โดยมีแม่เป็นคนสนับสนุน คือเงื่อนไขทั้งหมดมันอยู่ในบ้านเราหมดเรียบร้อยแล้ว ขอเพียงให้ลูกลงมือจับด้วยมือของตัวเองก็พอ
“ด้วยความที่ตัวเราเองเป็นเสรีนิยม ไม่ได้เป็นห่วงลูกที่จะต้องมีชื่อเสียง แต่การตัดสินใจของเขาน่าสนใจ อย่างแทนไท เขาจะเป็นผู้ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ ส่วนวรรณสิงห์ เขามีปัจจัยที่ดีอย่างหน้าตาหรือทางด้านการเรียนที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่เขามักปฏิเสธสิ่งที่ทุกคนเลือกให้ เขาไม่ไปตามคำนิยม สิ่งเหล่านี้คือเราจะต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ เพราะเราเบื่อผู้ใหญ่ที่เอามาตรฐานทางสังคมมาครอบงำลูก
“พวกเรานี่ดีอย่างหนึ่งคือมีงานทำอยู่ที่บ้าน เพราะฉะเรื่องที่เราไม่เจอหน้ากันเลยเป็นไปไม่ได้ แต่การที่จะไปทำกิจกรรมร่วมกันนั้นมันก็น้อยลงตามวัยของหนุ่มๆ เขา อย่างตอนเล็กๆ เราจะเลี้ยงเขาโดยที่ไม่ไปทำงานนอกบ้านเลย เนื่องจากจะต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน จ่ายกับข้าวเองอยู่ 10 ปีมันเป็นสัญชาตญาณ
ณ ตอนนี้เธอยังมีความฝันที่อยากทำอยู่ 3 อย่างคือ การเขียนบทหนังแนวประวัติศาสตร์ การไปสร้างบ้านบนเกาะสุกร อำเภอประเหลียน จังหวัดตรัง และการเดินทางรอบโลก
สำหรับเธอแล้ว ความฝันเป็นจริงได้เสมอ เราเชื่ออย่างนั้น