สมชาย ทรัพย์เพิ่ม
“บอลไทยจะไปบอลโลกได้ มันต้องมีรากฐานที่แข็งแกร่งของบอลลีกก่อน คือต้องทำบอลภายในให้ดี ทำให้มันเป็นทางเลือกของอาชีพที่ดี คือเราต้องสามารถการันตีได้ว่าการเป็นนักฟุตบอลต้องเป็นอาชีพได้ ต้องมีการประกันรายได้ เพราะอาชีพมันคือเงิน ทุกอย่างก็เพื่อเงินใช่หรือเปล่า ถ้าหากเป็นอาชีพแต่รายได้มันน้อย แล้วใครจะอยากเป็นนักฟุตบอล หรือถ้าเป็น มันก็จะเกิดเหตุการณ์สมองไหล คือเมื่อคุณเก่งแล้ว คุณก็ไม่ได้เล่นในลีกของประเทศ ดังนั้นมันต้องมีความชัดเจนของผู้บริหาร รัฐบาลต้องเล็งเห็นตรงจุดนี้ แต่การสนับสนุนไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องเงินก็ได้
“ที่บอกว่าไม่ต้องใช้เงินก็คือ ง่ายๆ เลยนะ ลดหย่อนภาษี สมมติว่ามีคนเอาเงินมาสนับสนุนทีมฟุตบอล คุณก็เอาไปลดหย่อนภาษีคือถ้าทำแบบนี้ไม่ต้องไปวิ่งหาสปอนเซอร์เลย เพราะว่าเขาจะวิ่งเข้ามาหาคุณแทน คือมันเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เงินแทนที่จะเสียภาษีเขาก็เอามาลงทุนให้กับทีมสโมสรฟุตบอลแทน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เขาหามาแล้วก็เข้าส่วนกลาง แล้วก็ค่อยแจกให้ ซึ่งการแจกมันก็ยิ่งคลุมเครือเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าปล่อยอิสระ มันก็เป็นเรื่องของสโมสร ถ้าหากทำแบบนี้ได้ คำว่าฟุตบอลอาชีพมันก็เกิดขึ้นได้ เมื่อทำขึ้นมาได้แล้วก็ค่อยๆ ต่อยอดไปถึงเรื่องการจัดการ กิจกรรม กองเชียร์”
ช่วงสมัยที่ยังเป็นนักเตะอยู่ สมชายเคยมีโอกาสได้ไปประลองฝีเท้าถึงแดนปลาดิบมาแล้ว และการไปเล่นที่นั่นก็สอนอะไรต่างๆให้เขามากมาย
“การที่ผมได้มีโอกาสไปเล่นที่ต่างประเทศ มันทำให้ประสบการณ์เรามีมากขึ้น อย่างหนึ่งที่ได้รับเต็มๆ จากการไปเล่นที่ญี่ปุ่นก็คือความเป็นมืออาชีพ ตอนนั้นไปเล่นให้กับดิวิชั่น 2 ที่ญี่ปุ่น เขาสอนความเป็นมืออาชีพให้เราอย่างมาก แต่ที่เมืองไทยยังไม่มีเท่าไร คือต้องบอกก่อนว่าสโมสรบ้านเราเนี่ย ที่เขาส่งให้แข่งๆ กัน ทุกทีมเขาไม่ได้ต้องการเป็นอาชีพนะ หลายๆ ทีมส่งเข้าแข่งขันไปตามระบบ ส่งเพื่อสร้างอิมเมจให้กับองค์กร แต่ว่าเรากำลังยัดเยียดให้มันเป็นอาชีพ แต่โดยกลไกแล้ว สมาคมไม่ได้กำหนดว่าการจะส่งสโมสรเนี่ย ต้องมีโครงสร้างอะไรบ้าง คือใครจะส่งหรือไม่ส่งก็ได้ อย่าง ม.กรุงเทพ ไม่ส่ง เขาก็ไม่เดือดร้อนม.กรุงเทพ ก็ยังอยู่ เพราะว่ามันไม่ใช่บริษัทสโมสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ”
แต่ถึงจะไม่ใช่ในรูปแบบของบริษัท เขาก็ยังนำ ม.กรุงเทพ กวาดแชมป์ที่มีทั้งหมดในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ ยูลีก ซูเปอร์ยูลีกและกีฬามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่ได้คาดคิดไว้ด้วยซ้ำว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้
“ผมทำงานอยู่ที่ TOT แล้วทางม.กรุงเทพ เขาติดต่อมาให้คุมทีม ถ้าพูดกันจริงๆ ตอนแรกที่เข้ามาทำทีมเนี่ย เป้าหมายแรกเลยก็คือเข้ามาฟื้นฟูทีม หลังจากที่ตกต่ำมานานหลายปี คือเมื่อก่อน ม.กรุงเทพเคยเป็นมหาอำนาจลูกหนัง ในระดับอุดมศึกษา แล้วก็หายไปร่วมๆ 9 ปี รอบคัดเลือกหรือรอบไหนๆ ก็ตกหมด ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ทำปีแรกช่วงนั้น ปี พ.ศ. 2542 ก็เน้นไปที่ยูลีกก่อน เพราะว่ายูลีกจะดังมากในช่วงนั้น ก็ได้อันดับกลางๆ ตาราง พอปีที่ 2 ก็ไปได้ถึงรองชนะเลิศ ก็คิดว่ามีสิทธิ์ เด็กในทีมก็เริ่มมีกำลังใจ เริ่มเข้าขากัน พอเข้าปีที่สาม ก็ได้แชมป์หมดเลย คือคว้าทั้งยูลีก ซูเปอร์ยูลีก และกีฬามหาวิทยาลัยเราก็ได้เหรียญทอง
“ระหว่างที่ทำทีมมหาวิทยาลัย ก็ดูแลเรื่องของทีมสโมสรไปด้วย ช่วงแรกที่เข้ามาทำนั้น สโมสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่ในถ้วย ขก็ทำแค่ว่าให้มันไม่ต้องตกชั้นก็พอ จากนั้นพอประสบความสำเร็จจากทีมมหาวิทยาลัย ก็คิดว่าสโมสรก็น่าจะไปได้เหมือนกัน แต่ขั้นแรกเลยก็คือต้องขึ้นดิวิชั่น 1 ก่อน ก็คุยกับทางมหาวิทยาลัยว่า ถ้าจะทำ ต้องทำให้ขึ้นไปได้ลุ้นได้เชียร์ ถ้าทำขึ้นไปให้เขายำเจอทีมใหญ่ๆ แล้วสู้ไม่ได้ ก็ให้อยู่อย่างนี้ดีกว่า ทางมหาวิทยาลัยเขาก็อนุมัติ เราก็รวมทีมเลย ก็ได้รองแชมป์ถ้วย ข แล้วก็ขึ้นมาดิวิชั่น 1 ครั้งแรกก็ได้ที่ 3 ปีนั้นกรุงเทพคริสเตียนได้แชมป์ พอปีที่ 2 ถึงทีเราบ้าง ได้แชมป์ ก็ได้ขึ้นไปโชว์ฝีมือในไทยแลนด์ลีก ไม่คาดคิดหรอกว่าจะมาถึงแชมป์ช่วงแรกขอแค่ไม่ตกชั้นก็พอแล้ว แต่ปีแรกก็ทำเซอร์ไพร์สเลย ได้ที่สี่ ได้แบบมีลุ้นแชมป์ด้วย แต่พอปีสองหนีตกชั้น และแล้วพอเข้าปีที่สามก็สมหวัง เราคว้าแชมป์ไทยแลนด์ลีก ด้วยการแซงใน 3 นัดสุดท้าย
“นัดสุดท้ายผมจำได้เลย เจอกับยาสูบ ถ้าชนะไม่ต้องลุ้นผลคู่อื่น แล้วเราก็ทำได้ พอนกหวีดหมดเวลาปุ๊บ ผมคิดไปถึงรายการถัดไปแล้ว AFC Champion League มันเป็นโอกาสของเราแล้ว จะทำทีมอย่างไร จะสู้เขาได้อย่างไร วินาทีนั้นถือเป็นวินาทีประวัติศาสตร์ของสโมสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในรายการนั้นผมถือว่าทำผลงานได้อย่างน่าพอใจ คือเราเสมอเกาหลีในบ้าน และไปเยือนญี่ปุ่นแบบน่าจะชนะ ถึงผลสุดท้ายเราจะตกรอบ แต่ก็ภูมิใจที่ไปได้ถึงขนาดนั้น”
ชีวิตของสมชายผูกพันกับฟุตบอลมาตั้งแต่ยังเด็ก ผมเลยลองถามเขาทิ้งท้ายว่า ถ้าหากวันนี้บนโลกไม่มีฟุตบอล เขาจะทำอะไร
“ถ้าถูกห้ามก็ไม่ต้องเล่น คือพูดกันง่ายๆ ว่า ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำฟุตบอลอย่างเดียว ทำงานประจำที่ TOT ไปด้วย เพราะอย่างที่บอก ฟุตบอลสำหรับเมืองไทยมันยังเป็นอาชีพไม่ได้ คือหลายๆ คนไม่สามารถที่จะเสี่ยงแล้วออกไปทำบอลอย่างเดียว ถ้าตกงานขึ้นมา มันไม่มีอะไรการันตีชีวิตในอนาคตเราได้ มันก็เหมือนกับที่เคยมีคนบอกไว้ว่า บอลไทยจะไปบอลโลกได้อย่างไร ก็นอนหลับแล้วก็ฝันไปไง รับรองได้ไป คือสรุปง่ายๆ ว่า ณ วันนี้ ถามว่ารักฟุตบอลไหม รักอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นส่วนที่ผลักดันเราให้มาได้ถึงขนาดนี้ แล้วอยากเห็นบอลไทยไปบอลโลกไหม ก็อยากเห็น แต่ว่ามันต้องเป็นการพัฒนาและเสียสละแบบก้าวกระโดดอย่างที่บอกตั้งแต่แรก รัฐต้องจริงจัง และมองเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ คือพูดง่ายๆ ว่าต้องกล้าที่จะเสียสละ”
กล้าพูด กล้าคิด และกล้าที่จะลงมือทำ ดูเหมือนจะเป็นคอนเส็ปต์ประจำตัวของผู้ชายคนนี้ไปแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคต หากเขายังคุมทีมต่อไป เราอาจจะได้เห็นเขาในฐานะ โค้ชทีมชาติไทยชุดใหญ่ก็เป็นได้ ใครจะรู้