เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรท์) “เพียงความเคลื่อนไหว” ปี พ.ศ. 2523 รวมทั้งยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี พ.ศ. 2536 เขาคือกวีคนสำคัญระดับประเทศของบ้านเมืองอีกคนที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป เขาเกิดมาในครอบครัวของคนที่รักและสนใจในเรื่องวรรณคดี คุณพ่อสนใจเรื่องดนตรีไทย กาพย์ กลอนมาก จนถือว่าเป็นกวีเอกแห่งอำเภอพนมทวน เรื่องราวต่างๆ จึงซึมซับเข้าไปในสายโลหิต เขามีผลงานสร้างสรรค์สะท้อนความดื่มด่ำวรรณศิลป์ไทยอย่างลงตัว ด้วยการใช้ฉันทลักษณ์หลากรูปแบบเสนาะพริ้งพรายของลำนำกวีรัตนโกสินทร์ฯ

เขาคือเจ้าของนัยน์ตาคู่โศกไว้จอนยาวสีดอกเลา สวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ สะพายย่ามใส่รองเท้ายาง ผ้าขาวม้าคาดพุง ถือไม้เท้าเป็นเอกลักษณ์ เจ้าของวลีคำพูดสัญลักษณ์พรรคการเมืองดัง “คิดใหม่ทำใหม่” “ตาดูดาวเท้าติดดิน” อดีตพระเอกภาพยนตร์ผู้มีดีกรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครั้งนี้ขอนำเรื่องราวย้อนยุคกว่า 40 ปี ที่ขับเคลื่อนด้วยกงล้อประวัติศาสตร์สู่ยุคปัจจุบัน มาบรรจุลงในคอลัมน์นี้อย่างเต็มอิ่ม น่าสนใจในอัตลักษณ์และตัวตนของกวีวรรณกรรม โคลง กลอน ร้อยแก้ว ร้อยกรอง ลีลาเร่าร้อน เรียงร้อย ท่วงทำนอง สละสลวยราวกับภาพวาดของจิตรกรเอกที่แฝงปรัชญาแห่งพุทธธรรมไว้อย่างประณีต งดงาม สร้างสรรค์สืบสานอย่างสมบูรณ์และร่วมสมัย

ตำนานกาญจนบุรี

“กาญจนบุรี มีความหมายว่าเมืองทองหรืออาณาจักรอู่ทอง ผมเองเป็นลูกครึ่งไทย-จีน พ่อชื่อฮก ก๋งชื่อฮั้ว ตามประวัติศาสตร์สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา สภาพเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน พม่าจะยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านบ้องตี้เดิมเมืองกาญจนบุรี อยู่ตรงท่าเสา ลำตะเพลินมาตัดกับแควใหญ่ห่างไปสิบกว่ากิโลเมตร ทำเลเหมาะแก่การจะรับข้าศึก เรียกว่าเมืองเก่าท่าเสา เวลาพม่ายกทัพมาตีก็จะมาตามช่องเขาขาดและทุ่งลาดหญ้า และมาพักทัพที่ๆ เรานั่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ผมเองยังเคยขุดเจอพวกเครื่องครัวดินเผา พวกมีดดาบของพวกพม่า

“จากนั้นกองทัพพม่าก็จะระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปในเมืองท่าเสา คนตายไป 5,000-6,000 คน มีแต่คนแก่กับเด็ก พวกผู้ชายออกไปตั้งทัพรบ เมืองกาญจนบุรีอยู่ที่นี่ เวลาพม่าจะไปตีกรุงศรีอยุธยาก็ต้องผ่านตรงนี้ พอกรุงศรีอยุธยาแตกย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงบอกได้ว่าต่อไปนี้พม่าจะต้องเปลี่ยนทางเดินทัพไม่มาตรงนี้ มันล่องไปแควน้อย ไปแม่น้ำแม่กลอง ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีไปอยู่ที่ปัจจุบันเรียกว่าปากแพรกเพราะเป็นทางแยก คนจีนเรียกเพ็กๆ แม้แต่ประพาสต้นไทรโยกของรัชกาลที่ 5ก็มีบอกไว้ว่า เจ๊กไล่ยา เพราะคนจีนมันขึ้นมาตามแม่น้ำท่าจีน มาตามลำน้ำนครไชยศรี หลุดจากท่าจีนก็มาแม่กลอง สมุทรสงคราม มันก็มาตามลำน้ำแม่กลองรุ่นก๋งผมนี่แหละ

“เมืองกาญจนบุรีมีชื่อเสียงเรื่องใบยาสูบมาก อาก๋งผมก็ไปถึงพนมทวน ไปแต่งงานกับย่าของผม ท่านเป็นคนไทยชื่อย่าแปลกนามสกุลสิทธิศร เพราะเป็นลูกของหลวงสิทธิศร อยู่บ้านทุ่งสมร รกรากของตระกูลพงษ์ไพบูลย์ อยู่ที่ทุ่งสมร ย่าแปลกกับก๋งฮั้วน้องของก๋งฮั้วคือพ่อของดอกเตอร์พนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษา ลูกพี่ลูกน้องผม พ่อของผมแต่งงานกับแม่ที่พนมทวน ต่อมาพ่อผมมาตั้งโรงยาฝิ่น โรงเหล้า ขออนุญาตหลวงทำถูกต้องตามกฎหมาย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทุ่งนา มีบ่อปลา เวลาเครื่องบินพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิด เราก็วิ่งไปที่หลุมหลบภัยอยู่ใกล้ๆ บ้านเป็นเรื่องสนุกของเด็กๆ ผมจึงเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘ปี่ซังข้าวน้อย’ เล่าเรื่องชีวิตประวัติศาสตร์ สมัยผมเด็กๆ จะเล่นปืนก้านกล้วย เห็นเครื่องบินบินมาก็จะยิงด้วยปืนก้านกล้วย ทีนี้เครื่องบินมันดันยิงเรามาจริงๆ ก็วิ่งกันกระเจิง (หัวเราะ)

“ภาวะสงครามทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พ่อจึงให้แม่ ผม และน้องสาวอีกคนย้ายไปอยู่ในเมือง สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นค่ายญี่ปุ่นคุมขังเชลยศึก แม่น้ำแม่กลองหรือแควใหญ่มันก่อเกิดโรคระบาด น้องสาวผมลงไปอาบน้ำในแม่น้ำเป็นอหิวาตกโรค ไม่ถึง7 วันก็เสียชีวิต

“ชื่อของผมมาจากเรื่องสังข์ทอง พ่อชอบให้ท่องสังข์ทอง ตอนตีคลี ลูกคนแรกคือผมเองยังไม่ทันเกิดเลย ท่านก็ให้ชื่อเนาวรัตน์คนที่สองเป็นผู้หญิงชื่อชัชวาล พ่อผมชำนาญในการขี่ม้าจากพนมทวนเข้าเมืองกาญจนบุรี พอเสร็จสงคราม ก็พากันกลับไปที่เก่าเปิดโรงยาฝิ่น โรงเหล้า เหมือนเดิม ส่วนเรื่องหนังสือการอ่านการเขียนของผมมาจากพ่อ ถือว่าว่าพ่อเป็นครูคนแรกของบ้าน ท่านชอบเขียนโคลง กลอน ติดฝาผนังแล้วให้ผมท่อง ผมท่องไปเรื่อยๆ ทั้งที่อ่านไม่ออก เป็นโคลงสุภาษิต เช่น เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้วแหนงหนี หาง่ายหลายหมื่นมีมากได้ เพื่อนตายตายแทนชีวาหายาก ฝากผีไข้ยากแท้จักหา

“พ่อเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์และชอบเขียนกลอน ผมและน้องๆ ทุกคนอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ประถม 1 ล้วนมาจาก ก.ไก่ ของพ่อ ส่วนแม่ผมอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เมื่อมาแต่งงานกับพ่อก็อ่านออกเขียนได้ ท่านหัดให้ผมเป่าขลุ่ยด้วย พอไปเที่ยวที่ตลาดกับแม่ มีแม่ค้าหาบกระจาดหนังสือมาขาย แม่ก็จะซื้อหนังสือพวกนิทานแสนสนุก หนังสือแบบเรียน มาให้อ่าน ที่ถูกใจมากคือพวกเสือใบ เสือดำ ที่มีประวัติไม่ดี ปล้นฆ่า เรื่องเสือดำจึงเป็นประสบการณ์จริงๆ ตรงๆ ของผมอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากที่บ้านผมเป็นโรงเหล้า ก็จะมีพวกตำรวจนอกเครื่องแบบมากินเหล้ากันพร้อมๆ กับประชุมลับเพื่อปราบเสือดำ ตำรวจก็เอาหลานเสือดำมาเป็นสายตำรวจ มันก็สิงสถิตอยู่ที่บ้านผม เขาก็ไปประชุมที่โรงฝิ่นบ้านผมอีก ผมก็แอบฟัง ต่อมาจึงทราบว่าเขาปราบเสือดำด้วยวิธีนี้ เพราะช่วงนั้นเขาจัดงานแล้วห้ามคนที่เข้าไปในงานพกอาวุธเข้าไป มีด ปืน ไม่ได้เลย แต่พวกตำรวจเขาใช้วิธีปลอมเป็นคนหามหมูเข้าไปล้อมวงเสือดำ พอได้จังหวะก็เอาไม้หาบหมูตีเข้าก้านคอ ทุบเสือดำจนมันตายตรงนั้น เพราะเขาถือว่าเสือดำมันมีวิชาอาคม ต้องปราบด้วยวิธีนี้”

“ชวน” “สมัคร” ขับเสภา

“ผมท่องโคลง กลอนได้ตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องจุดตะเกียง อ่านตอนกลางคืน พ่อเป็นนักสะสมหนังสือก็หาหนังสือมาให้อ่านผมจึงได้อ่านหนังสือรามเกียรติ์ เมื่อมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนวิสุทธิรังสี ก็ได้อ่านลิลิตพระลอ, ลิลิตตะเลงพ่าย,กำสรวลศรีปราชญ์ ทั้ง 2 เล่มอ่านไม่รู้เรื่องเลย แต่มันชอบอ่าน มันเป็นจังหวะจะโคน ไม่เหมือนเราท่อง คำก็ขลังๆ แปลกๆ ดีจนกระทั่งขึ้นม.4 จึงมาอ่านนิราศนรินทร์ ภาษามันร่วมสมัยอ่านแล้วติดใจ พอโตเป็นหนุ่มเริ่มรักผู้หญิง จึงเขียนโคลงตามความเป็นจริงที่ว่า ‘คนเริ่มมีอารมณ์รักมักเป็นกวี…’เราเริ่มเห็นความงามของเพศตรงข้าม บทกวีที่เราท่องมันเริ่มแววหวานมาก ทำให้เราอยากเขียนเพลงยาว พรรณนาถึงเขา เขียนผิดๆ ถูกๆ และเริ่มเขียนสัมผัส พอมีประกวดโคลง กลอน ระหว่างโรงเรียนในจังหวัดจึงไปประกวด ก็ชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลมาเยอะแยะมากมาย เหมือนกับเริ่มรัก เริ่มเรียน เริ่มรู้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่อย่าไปปิดกั้นต้องช่วยแนะนำส่งเสริมเพราะเป็นวัยที่เริ่มค้นหาตัวเอง ผมจึงมุมานะเขียนโคลงอย่างเอาจริงเอาจัง ภูมิใจในตัวเองที่เขียนโคลงได้พอเราชอบ มันก็สร้างโอกาสได้ นิราศนรินทร์ผมท่องได้เกือบหมด ชั้นเชิงของโคลงสุภาษิตจึงเป็นแบบฝึกหัด แต่นิราศนรินทร์ถ้าเป็นภาษานาฏศิลป์ก็คือโคลงมนุษย์ มันสัมผัสได้ถึงชีวิต

“มาถึงลิลิตตะเลงพ่าย เป็นโคลงเทวดา มันเป็นอีกระดับหนึ่ง เป็นชั้นของโคลง ผมเรียนรู้จนกระทั่งเรียนจบ สมัยจบ ม.8 ใหม่ๆไปสอบเอนทรานซ์ ผมเลือกคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ แต่สอบเข้าไม่ได้ ผิดหวังเล็กน้อยเพราะเราเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนไม่ค่อยเก่ง มีคนเขาบอกว่าที่ธรรมศาสตร์ไม่ต้องสอบเข้า ปีนั้นเปิดเป็นปีสุดท้าย ผมเลยไปสมัครเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ปี พ.ศ. 2502พอเริ่มเรียนไป 1 ปีก็รู้สึกว่าดี แม้เนื้อที่มหาวิทยาลัยจะน้อย แต่ทุกตารางนิ้วมีเสรีภาพ ตอนหลังผมไม่ค่อยได้เรียนเท่าไร มัวแต่ทำกิจกรรม สมัยนั้นตึกศิลปะศาสตร์ยังไม่ได้สร้าง ตึกนิติศาสตร์กำลังก่อสร้าง เขาฝากให้ไปเรียนที่ตึกบัญชี จำได้เรียนอยู่ห้อง26 ผมตั้งชุมนุมดนตรีไทย ชุมนุมวรรณศิลป์ เป็นรุ่นแรก ตอนนั้นดนตรีไทยที่เกษตรศาสตร์ตั้งวงอยู่ก่อน บังเอิญผมรู้จักกับสาวจุฬาฯ เราจึงไปตั้งวงดนตรีไทยให้เขาด้วย จึงมีแค่ 3 สถาบันเท่านั้น ผมจัดดนตรีไทยอุดมศึกษาเป็นปฐมบทเป็นดนตรีอุดมศึกษาปัจจุบันมีอยู่ 10-20 วง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จมาเปิดที่ธรรมศาสตร์ เขาให้ผมเรียน 4 ปีจบ แต่ผมรักสถาบันเลยใช้เวลาเรียนถึง 7 ปีกว่าจะจบ (หัวเราะ) เพราะมัวแต่ทำกิจกรรมนี่แหละ

“ดารานักร้องสมัยวัยรุ่นที่ทุกคนคลั่งไคล้ตอนนั้นก็คือ เอลวิส เพรสลีย์ เจมส์ ดีน มาลอน แบรนโด ผมชอบทั้งหมด รายการวิทยุพอเปิดเพลงเอลวิสปั๊บ ดนตรีขึ้น ผมเปิดหนังสือ I.S. Song Hits รู้เลยว่าอยู่หน้าไหน ก่อนเอลวิสผมก็ร้องเพลงของ สมยศทัศนพันธ์ เพลงเรือของ ชาญ เย็นแข ผมเป็นประธานชุมนุมดนตรีไทยคนที่ 3 ผมเอางานเป็นหลัก เอาเงินเป็นรอง แต่วิธีการปัจจุบันกลับเอาเงินเป็นหลัก งานเป็นรอง การทำกิจกรรมจึงมีประโยชน์ในการทำงาน อดีตนายกชวน หลีกภัย เข้ามาเรียนปี พ.ศ. 2501 เพราะท่านเรียนช่างศิลป์มาก่อน 1 ปี คุณชวนเป็นเด็กเรียน ไม่ค่อยชอบทำกิจกรรมเท่าไร แต่เป็นคนเขียนบทงิ้วธรรมศาสตร์ ที่ทำกิจกรรมร่วมกันก็มีคุณสมัคร สุนทรเวช นี่แหละ ตอนผมอยู่ชุมนุมวรรณศิลป์ ผมจัดสักวาลอยเรือที่หน้าท่าพระจันทร์ เรื่องขุนช้างขุนแผน เชิญคุณสมัครมาเป็นพระวรรษา ตอนนั้นผมอยู่ปีหนึ่งคุณสมัคร อยู่ปี 4 ท่านเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนต่อมาก็มีการจัดดนตรีไทยสัญจร เพราะสมาคมธรรมศาสตร์มีอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นการเรียนนิติศาสตร์ถึงแม้จะไม่ได้นำวิชาความรู้ไปว่าความก็ตาม แต่การที่เราอ่านตัวบทกฎหมายแตก มันใช้เป็นประโยชน์ในการเขียนหนังสือคือ หนึ่ง จับประเด็นของเรื่องได้ 

สอง มันเป็นเรื่องของตรรกะ เราเขียนกลอน เขียนร้อยแก้ว ต่างๆ เราใช้ตรรกะของกฎหมายมาใช้ได้ ไม่ใช่อ่านพึมพำเพ้อพล่าม”

พระอภัยมณีขี่มอเตอร์ไซค์

“เพื่อนๆ ผมเรียนจบออกไปหมดแล้ว ผมเหลืออีกไม่กี่วิชา จึงเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ที่กองสหกรณ์ขายข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถวสะพานผ่านฟ้า ไปเป็นเสมียนได้เงินเดือนๆละ 450 บาท ทำอยู่ 1 ปี พอเรียนจบปั๊บ ผมก็กลับไปบวชโดยมุ่งหน้าศึกษาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี บวชอยู่10 เดือนได้แก่นแท้แก่นธรรมมาเยอะมาก เมื่อสึกออกมาได้มีโอกาสไปเล่นภาพยนตร์โทรทัศน์ของไชโยภาพยนตร์ โดยสมโภช แสงเดือนฉายเรื่องพระอภัยมณีได้เป็นพระเอกพระอภัยมณี มีทั้งหมด 60 ตอน ผมเล่นได้ 30 ตอน ตอนต่อไปเป็นตอนสินสมุทร สุดสาครเป็นเรื่องลูกของพระอภัยมณี พระอภัยก็ไปบวชยาวเลย จำได้ว่ามีดามพ์ ดัสกร คม อรรฆเดช เล่นเป็นสินสุวรรณ ปริม ประภาพรเล่นเป็นนางเงือก เป็นละครพูด มีขับเสภา ฉายทางโทรทัศน์ขาวดำ ตอนเย็นๆ ทางช่อง 7 เล่นเสร็จ ผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์ กลับบ้านที่เมืองกาญจนบุรีกับเพื่อน ก็จอดแวะเข้าไปในตลาด เพื่อนก็ลงไปซื้อของ พอหันกลับมา โอ้โห เด็กๆ เต็มหน้าร้านเลย เขาพูดว่าเฮ้ยๆ พระอภัยฯ มา! อีกคนก็บอกว่าไม่ใช่ๆ เด็กมันก็เถียงกันใหญ่ เราทำเป็นไม่สนใจ ขึ้นรถมอเตอร์ไซค์สตาร์ทเครื่องเสร็จ เด็กมันบอกว่า ว่าแล้วไม่ใช่หรอก พระอภัยฯ ที่ไหนจะมานั่งรถเครื่อง (หัวเราะ) เป็นพระเอกดารามันต้องนั่งรถเก๋ง

“ปัจจุบันผมทำงานแบงก์แต่ไม่ได้เป็นนายแบงก์นะ ผมตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ที่ธนาคารกรุงเทพ เขาจ้างในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ส่วนภรรยาผม อาจารย์ประคองกูล จบจิตรกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ได้สอนหนังสือแล้ว ก็มาเขียนรูป เขียนไว้เยอะแต่ไม่ได้จัดแสดงที่ไหน พร้อมกับตั้งสำนักพิมพ์เกี้ยว-เกล้าพิมพการ ให้ประคำกรอง หรือเกี้ยว ลูกสาวคนโตที่จบพรีดอกเตอร์ที่ฝรั่งเศสด้านการละครดูแลกับน้อง ตอนนี้คิงเพาเวอร์เขาต้องการตัวไปสร้างโรงละคร ส่วน แก้วเกล้าหรือเกล้า ลูกชายคนเล็ก จบด้านการถ่ายภาพที่อเมริกา งานเขียนยุคแรกๆ ของผม เรียกว่ายุคโรแมนติก ผมมีหนังสือชื่อ ‘คำหยาด’ เป็นหนังสือบทกวีที่มีชื่อเสียงปี พ.ศ. 2512 ผมเขียนกลอนสมัยที่ผมเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ จนจบการศึกษา มันสะท้อนอารมณ์ส่วนตัว เรื่องความรัก หลังๆ เป็นเรื่องธรรมะ เพราะเบื่อความรัก ต่อมาก็เริ่มยุคแสวงหา นักศึกษาแสวงหากันเยอะ อย่างหนังสือ ‘วันฆ่านกพิราบ’ เขียนช่วง 6 ตุลาคม 2519 ใน ‘คำหยาด’ จะมีอยู่ 3 ประเภทที่เรียกว่า อารมณ์ อุดมคติและบริสุทธิ์ อารมณ์คือกลอนรักเกี่ยวกับตัวเอง อุดมคติคือความใฝ่ฝัน บริสุทธิ์คือเริ่มมาสนใจธรรมะ บนเส้นทางของหนุ่มสาวเขาเริ่มกันอย่างนี้ทั้งนั้น ถ้าได้ทำกิจกรรมในที่สุดก็จะแสวงหาคำตอบ

“หนุ่มสาวสมัยนั้นสังคมมันบีบมันกดมากๆ ก็จะหาทางออกคนละอย่างกัน ส่วนใหญ่จะไปทางการเมือง จะมีสภานิสิตนักศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์เป็นจุดศูนย์กลาง จะมาประชุมจัดกิจกรรมกัน สุดท้ายคำหยาดของผมคือการสนใจธรรมะไปบวชที่สวนโมกฯ เพราะคิดว่าธรรมะคือคำตอบ พอสึกออกมาก็ไปที่ธรรมศาสตร์อีก มันเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเขียนบันทึกไว้ ในหนังสือ‘อาทิตย์ถึงจันทร์’ ได้รับรางวัลชมเชยพิเศษวรรณกรรมบัวหลวงจากธนาคารกรุงเทพ จึงได้คำตอบจากเหตุการณ์เดือนตุลาคมมาขยายขึ้นอีก เพราะโจทย์คือสังคม เลยทำให้หันมาสนใจการเมือง เพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง หนังสือ ‘เพียงความเคลื่อนไหว’ จึงเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 แล้วได้รับรางวัลซีไรท์ ส่วน ‘ชักม้าชมเมือง’ ได้รับรางวัลดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี พ.ศ. 2521 หากจะวกมาการเมือง คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นก็สนิทกับผม ผมรู้จักสมัยที่ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์คณะศิลปะศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ท่านก็มารับพร้อมผม นั่งเก้าอี้ติดกันเรียกผมว่า พี่เนาๆ พอจะถึงวันเปิดพรรคไทยรักไทย ก็ให้สุธรรม แสงปทุม มาบอกว่าให้ผมช่วยเขียนกลอนไปให้ ผมก็เขียนไปให้ มีอยู่วรรคหนึ่งเขียนว่า ‘ตาดูดาวเท้าติดดิน..’ เขาเลยเอาวรรคนี้ไปเลย เอาไปเขียนลงพ็อกเกตบุ๊ก ตอนหลังพอสิ้นปี เขาให้ผมเขียนกลอนอวยพรที่เชียงใหม่ ผมก็เลยเขียนอีก ‘ปีใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่’ คิดใหม่ทำใหม่จึงกลายเป็นนโยบายพรรคอีก ส่วนเพลง ‘ขลุ่ยผิว’ ผมเขียนลงในหนังสือสารคดี เขียนบรรยายภาพ คุณจำนง ศรีนวล เขาถ่ายรูปมาให้ดู รูปสวยๆ ทั้งนั้น แล้วให้ผมเลือกมา 50 รูปแล้วเขียนบรรยาย ก็กลายเป็นชื่อเพลงขลุ่ยผิว ส่วนตอนนี้ผมกำลังเขียนหนังสือธรรมะอยู่ ชื่อ ‘บอกบุญ’ ชื่อตลกมาก เป็นธรรมะง่ายๆ”

ประกาศก้องท่องแผ่นดิน

“เรื่อง ‘เขียนแผ่นดิน’ เป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น ก่อนหน้านั้นผมเขียน ‘ชักม้าชมเมือง’ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งห้ามออกหนังสือห้ามเขียนหนังสือ มีการเผาทำลายหนังสือจำนวนมาก พวกเราเป็นคนเขียนหนังสือ ทนไม่ได้ต้องเขียนผมจะเขียนในสิ่งที่เขาห้ามไม่ได้ ผมเขียนเรื่องวัดพระแก้ว (หัวเราะ) จะมาห้ามได้อย่างไร ที่วัดพระแก้วมีอะไรน่าเขียนเยอะแยะมีโคลงเรื่องรามเกียรติ์ ตั้ง 5,000 กว่าบท ภาพงานศิลป์ดูงดงาม นั่งที่วัดพระแก้วทุกเช้าจนถึงบ่าย เขียนได้วันละ 10 บท กลับบ้านมานั่งเขียนต่อตอนกลางคืนอีก ตอนนั้นสุจิตต์ วงษ์เทศ ทำสำนักพิมพ์การเวก ก็ให้ผมเขียนลง เขาต้องการ 500 บท ผมเขียนได้วันละ 30 บาท

จากนั้นผมก็ได้ไปย่ำดินแดนเสรีไปทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกากับแอ๊ด คาราบาว ทีนี้ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เขาพาผมไปแกรนด์แคนยอน ผมก็ไปดู โอ้โห ผมตื่นตะลึง เพราะมันมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่มาก กมลบอกให้ผมเขียนออกมาเป็นบทกลอนแกรนด์แคนยอน ผมบอกว่าผมเขียนไม่ได้หรอก มันหนาว เขียนไม่ออก ขอไปนั่งเขียนในห้องได้มั้ย เขาบอกไม่ได้ที่พามาดูเพื่อให้ศิลปินเขียนสดๆ กมลเขาเคยพาศิลปินมาเขียนรูปหลายคน เขียนไม่ได้เลย ถวัลย์ ดัชนี ประเทือง เอมเจริญเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ไม่มีใครเขียนได้เลยถามว่าทำไม เพราะว่าท่ามกลางแอ่งที่โลกมันถล่มแบบนี้ ลมมันแรง ลมพัดแรงเมฆมันก็ลอยเลือน เมฆลอยเลือนเงาของเมฆมันปาดป้ายไวมาก เงาปาดป้ายไว ศิลปินจับความเปลี่ยนแปลงของแสงสีไม่ได้เลยเขียนสีน้ำมันไม่ได้ นอกจากสเกตซ์ คร่าวๆ แต่มันท้าทายดี ผมนั่งอยู่อีกสักชั่วโมง โอ้โห เขียนออกมาได้ บทแรกผมเขียนว่า‘เต็มแผ่นดินเต็มฟ้าเต็มตาเห็น สลักเสลาสลับเล่นเป็นงานศิลป์ ถล่มโลกรวมเป็นฉากลับฟากดิน ชะลอหินที่เป็นฉากรับฟากฟ้า...’เขียนออกมาได้เข้าใจในสำนวนไทยมันเหมือนยกแกรนด์แคนยอนออกจากอกที่มันอึดอัดมหัศจรรย์ ทำให้เข้าใจเลยว่าศิลปินเวลาที่เขียนรูปเอ็กซเพรสเกิดขึ้นได้อย่างไร มันออกมาได้อย่างไร มันออกมาแล้วมันอิ่มใจมันได้บรรยาย พูดได้ แตะต้องมันได้

นั่นคือประสบการณ์แรกที่ผมได้จากการเขียนแผ่นดิน ผมตระเวนไปแกรนด์แคนยอนอีกรอบ ใครพาไปไหนเขียนหมด บางครั้งด้วยคำ 4 คำ เพราะโคลงจะต้องลงมาตรงนี้พอดี บางทีนั่งเป็นชั่วโมงๆ ได้มาคำเดียว “ ฉวัดรุ้งระวีฉาย” แค่นี้ใช้เวลานานมาก ‘ฉวัดรุ้งระวีฉาย รัดประกาย...’ เพื่อเป็นการบรรยายภาพให้คนอ่านนิดเดียว เขียนแผ่นดินก็เหมือนกัน คือเขียนจากความรู้สึก ไม่ได้เขียนจากความคิด ที่แล้วๆ มาเราเขียนจากความคิด เวลาเราเขียนจากความคิด เราจะตกเป็นเหยื่อของคำ จะต้องนึกหาคำมาใส่แต่เขียนจากความรู้สึกมันมาพร้อมกัน ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมบอกได้ว่าไม่ใช่เขียนจากความผิดหวัง อัดอั้นใจ เป็นการทดลองประสบการณ์ใหม่ เขียนความรู้สึกเหมือนศิลปินเขียนรูป ผมจึงดีใจ จากนั้นมาก็ตั้งโครงการเขียนแผ่นดินทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2536 แบงก์กรุงเทพอนุมัติให้ผมเขียนจังหวัดละ 4 แห่ง เพราะปี พ.ศ. 2536 เป็นปีฉลองเนื่องในวโรกาสครบ 60 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ แบงก์กรุงเทพจัดพิมพ์หนังสือด้วย ผมจึงถือโอกาสทูลเกล้าถวายความงามความสำคัญต่อพระแม่มิ่งขวัญของแผ่นดิน ทำให้มีโอกาสตระเวนไปทั่วประเทศ พอเขียนจบแล้วมันสนุก ก็เลยเขียนต่อตอนนี้ข้ามไปประเทศลาว เขียนจบแล้วนำไปทำรายการทางทีวี ผมเรียกว่าเขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ แล้วต่อด้วยเขียนแผ่นดินไทยหนังสือผมไม่มีวางจำหน่าย ที่พิมพ์อยู่เรื่อยๆ ก็มี เพียงความเคลื่อนไหว, คำหยาด, แผ่วผ่านธารน้ำไหล นอกนั้นก็มี ‘เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว’ เป็นผลงานที่เขียนลงในคอลัมน์ประจำที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เอามารวมพิมพ์ หรือ ‘จารึก รศ.200’ ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญตอนฉลองกรุงเทพฯ ครบ 200 ปี ผมเริ่มเขียนโดยเอาวัดพระแก้วฯ เป็นจุดศูนย์กลางเดินจากวัดพระแก้วขึ้นไปทางเหนือ ถึงสุดกรุงเทพฯ แถวเตาปูน บางซื่อ พบเจออะไร ตะวันตกไปไหน ใต้ไปไหน ตะวันออกไปไหน จึงกลายเป็นจารึกรศ.200 หรือหนังสือเรื่อง ‘ดาบที่หมกอยู่ในจีวร’ คล้ายๆ กับภิกษุสันดานกา เป็นคำที่อยู่ในพระไตรปิฎก ทั้งนั้น ผู้ถูกแมลงวันตอม เป็นคำที่ว่าภิกษุชั่ว ภิกษุทุศีล อาศัยผ้าเหลืองหากิน”

ยกโรงพักมาไว้ที่บ้าน

“เรื่องเพลงก็แต่งไว้เยอะ จำรัส เศวตาภรณ์ วงแกรนด์เอ๊กซ์ เคยนำกลอนบทหนึ่งของผมไปทำเป็นบทเพลง ตอนหลังมาแต่งเพลงกับ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เพลงทานตะวัน ผมแต่งเนื้อร้อง อาจารย์ ธนิสร์ แต่งทำนอง หงา คาราวาน ก็นำไปร้อง 2-3 เพลง ผมแต่งเพลงตั้งแต่สมัยทำวงดนตรีไทย ชื่อ ‘ต้นเกล้า’

“หากผมไม่กลับเมืองกาญจนบุรี ผมก็จะเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ริมคลอง-คันนายาว เป็นบ้านเรือนไทยเก่าๆสมัยก่อนโรงพักคันนายาวเป็นเรือนไม้สักเก่าเกือบ 100 ปี เขารื้อเพื่อจะทำโรงพักเป็นตึกให้ทันสมัย หากนึกออกโรงพักสมัยโบราณมีสองชั้นหลังคามุงกระเบื้องทรงปั้นหยา จะมีมุกเข้ามา มีบันไดขึ้น 2 ข้าง ด้านหลังเป็นลูกกรงขังนักโทษ ผมซื้อหลวงมาทั้งหลังเลย เอามาตั้งหน้าบ้าน ยังมีห้องแถวแถมมาอีก 4-5 ห้อง ทั้งหมดเอามาปลูกใหม่ ทีนี้ดันมีคนขับรถสิบล้อเลี้ยวเข้ามาที่บ้าน แล้วขึ้นมาแจ้งความว่าเอกสารหาย เพราะนึกว่าเป็นโรงพัก (หัวเราะ) พรรคพวกต่างพากันแซวว่า เดี๋ยวนี้อาจารย์ มีโรงพักเป็นของตัวเองแล้ว ใครจะแจ้งความให้มาที่นี่ ผมนำไม้ที่เขารื้อกองๆ ไว้ มาทำให้เหมือนเดิม มีห้องขัง เหมือนหมด ตอนนี้นำไปทำเป็นห้องสมุดเก็บหนังสือ ทำเป็นโกดังบ้าง เอาขังหนังสือบ้าง (หัวเราะ)

“ทุกวันนี้ เวลาของการสื่อสารสมัยใหม่มาแย่งชิงการอ่านหนังสือของเด็กไทยลงไปไม่เฉพาะเด็ก คนในวัยผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน คนไทยส่วนมากเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือกันอยู่แล้ว ก็เลยทำให้บทบาทการอ่านหนังสือน้อยเกินไป ซึ่งผมคิดว่าเป็นอันตรายเพราะไม่มีนวัตกรรมที่วิเศษและสร้างสรรค์เท่ากับหนังสือที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา ตั้งแต่มีโลก หนังสือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแล้วเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย คนต้องอ่านหนังสือ ถึงแม้จะมีเครื่องไม้ เครื่องมือให้เด็ก แต่มันก็ต้องใช้ในการบันทึกที่เป็นตัวหนังสือทั้งนั้น ผมมีนิยามในยุคสมัยที่ว่าการผลิตและการเผยแพร่กระจายวรรณกรรม มีอยู่ 3 ยุค ยุคแรกที่สังคมจะเสพคือ การคัดลอกอย่างสุนทรภู่จะบอกกลอนให้ลูกศิษย์คัดลอกต่อๆ กันไป การแพร่กระจาย คือการบอกเล่าด้วยการอ่านให้ฟัง สมัยโบราณก็เทศน์มหาชาติ เป็นอุบายให้คนมาฟังในสิ่งที่ควรจะฟัง จากคัดลอกบอกเล่า มาถึงยุคอุตสาหกรรมการผลิต มันเข้าแท่นพิมพ์แล้วแพร่กระจายเข้าไปสู่ร้านหนังสือ ฉะนั้นคำจำกัดความง่ายๆ สังคมเกษตรคือคัดลอกบอกเล่า สังคมอุตสาหกรรมคือเข้าแท่นแขวนแผงเข้าแท่นคือผลิต การแพร่กระจายคือแขวนแผง พอมาถึงยุคไฮเทคเปลี่ยนไปแล้ว การผลิตคือการแปลสาร การแพร่กระจายคือการผ่านเครื่องรับ รวมกันในแต่ละยุคคือ ‘คัดลอกบอกเล่า เข้าแท่นแขวนแผง แปลงสารผ่านเครื่อง’ นี่คือการผลิตและแพร่กระจายของหนังสือไม่ว่าจะอยู่รูปแบบใด ก็ตาม ความวิเศษของมันก็ยังคงอยู่”

กลั่นกรองความรู้สึก

“การอ่านหนังสือคือการอ่านความคิดของคนอื่น การเขียนหนังสือคือการอ่านความคิดของตัวเราเอง ทั้งเขียนทั้งอ่านคือการทำงานทางความคิดที่ดีที่สุด เพราะจิตของคนมันไม่มีเฉพาะความคิด มันมีความรู้สึกด้วย ความรู้สึกไปพ้นจากภาษา รู้สึกรักใครรู้สึกเกลียดใคร รู้สึกหิว มันมากกว่าคำ ตัวหนังสือมันไปพ้นจากชาติ ภาษา กาลเวลา มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ถ้ำหรือดาวอังคารก็ต้องหัวเราะร้องไห้เสียงเดียวกัน น้ำตาเม็ดเดียวกัน นั่นคือความเป็นสากลของความรู้สึก จิตของเรามันไม่ได้มีเฉพาะความคิด มันมีความรู้สึก มีจินตนาการ ความนึกคิดด้วย ภาษาไทยเรามีมาก ใช้คำว่ารู้สึกนึกคิด รู้สึกเป็นปัจจุบัน นึกเป็นอดีต คิดเป็นอนาคต 3อย่าง 3 กาลคือ สภาวะของจิตใจ จิตคนทำหน้าที่ 3 อย่างเท่านั้น จึงมาถึงร้อยแก้ว ร้อยกรอง เป็นภาษาทางศิลปะทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นวรรณศิลป์ การเขียนรูป ถ่ายรูป ปั้น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม

เรามาที่นี่เพื่อตามรอยฝันซึมซับสายน้ำหมึก