สุทธิพงษ์ สุริยะ
เรานัดพูดคุยกับฟู้ดสไตลิสต์หนุ่มอารมณ์ดีในชุดเสื้อเชิ้ตส้มกางเกงขายาวที่ Karb Studio ซึ่งตั้งตามชื่อเล่นของเขา เขาเล่าว่าตัวเองเป็นคนชอบฟักทองสายพันธุ์อเมริกันที่ให้สีส้ม และสีนี้ยังเป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารได้มากที่สุด เสื้อตัวนี้จึงเหมือนเป็นเครื่องแบบของเขาไปโดยปริยาย
“ประสบการณ์ในการเป็นฟู้ดสไตลิสต์ของผมก็ประมาณ 15 ปีแล้วครับ ผมเริ่มต้นเป็นฟู้ดสไตลิสต์ในช่วง 8 ปีแรก จนได้ทำอะไรหลายๆ อย่างก็ต่อยอดแตกแขนงออกไปกระทั่งมาเปิดบริษัทจำกัด ลูกค้าที่เข้ามาหาเราตอนนี้เขาต้องการให้เราทำเบ็ดเสร็จครบวงจร จุดเด่นของเราไม่ว่าจะทำบรรจุภัณฑ์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือการสร้างแบรนด์ เริ่มต้นจากอาหารต้องสวยก่อนเสมอ
“การสร้างคุณค่าให้กับวัตถุดิบของอาหาร ไม่ใช่เพียงแค่จัดจานให้ดูสวยงาม เพราะการจัดจานให้สวยใครก็ทำได้ แต่ถ้ารู้ว่าคุณค่าของวัตถุดิบคืออะไรมันจะทำให้อาหารดูน่าสนใจกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำเอาศิลปะเข้ามาใช้ นั่นคือ คู่สีและรูปทรงวัตถุดิบของอาหาร เมื่อทุกอย่างที่ผ่านการเลือกสรรมารวมกัน ยังไงมันก็สวย นี่คือแก่นของคำว่าฟู้ดสไตลิสต์ เป็นความงามที่มาจากรากหมายความว่าจะเป็นความงามที่ยั่งยืนโดยที่พร็อพไม่ต้องมีเลย
“ผมพยายามทำให้งานตัวเองออกมาดูไม่มีอะไรเลย แก่นของมันก็คือ Simple is the Best ความเรียบง่ายคือความงาม ฉะนั้นงานทุกอย่างของผมจากที่เมื่อก่อนจะต้องมีอะไรเยอะๆ ไปหมด เดี๋ยวนี้จะนิ่งขึ้น แต่ในความนิ่งมันจะมีความสวยงามที่ลงตัวอยู่เมื่อทำทุกอย่างให้นิ่ง คุณค่าความงามมันก็จะโผล่ออกมา”
ฟู้ดสไตลิสต์หนุ่มเล่าถึงสิ่งที่เขารังสรรค์ให้กับอาหารในแต่ละจาน พร้อมกับอธิบายถึงกระบวนการคิดกว่าจะได้ผลงานที่สวยงามให้เห็น
“การเป็นฟู้ดสไตลิสต์ของผมจะเริ่มต้นจากก้นครัว ผมจะใช้พื้นฐานเดียวกับเชฟ เวลาทำอาหารสำหรับถ่ายรูปปัจจัยที่ขาดไม่ได้ก็คือ อาหารต้องกินได้จริง รสชาติก็ต้องอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ความสวยงามผมเอาไว้สุดท้ายเสมอ ซึ่งจะกลับกันกับคนที่ทำโฆษณาอาหารต้องสวยก่อน อย่างอื่นไม่ต้องสนใจ
“คอนเส็ปต์งานของผมจะคิดจากปลายเหตุไปสู่ต้นเหตุ สมมติลูกค้าทำธุรกิจที่เป็นไข่กุ้ง โจทย์ก็คือจะทำยังไงให้เมนูอาหารออกมาน่าสนใจ ผมก็จะเริ่มจากการจับคู่สีสากล ส้มคู่กับเขียว ผมจะใช้วิธีการให้ค่าสีร้อนเย็นก่อน จากนั้นถึงจะพัฒนาสูตรอาหารซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับผมเสมอ”
“หนังสือที่ผมทำให้กับโครงการหลวง ‘Royal Project Foundation โครงการหลวง 43 การสาธิตการประกอบอาหาร’ ถือเป็นผลงานมาสเตอร์พีช ผมทำด้วยใจตามวิชาชีพที่ผมถนัด ไม่มีค่าตอบแทน เหมือนได้ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและนำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในคนทั้งโลกได้รับรู้ ผมเริ่มทำตั้งแต่คิดค้นสูตรอาหารจากผลผลิตของโครงการออกแบบหน้าตาอาหาร ตลอดจนรูปเล่ม ในที่สุดก็ได้รางวัลเกียรติยศชนะเลิศระดับโลกประเภท Best Fund Raising, Charity and Community Cookbook on Asia รวมถึงรางวัลดีเด่นในประเภทหนังสือธุรกิจอาหาร Best Desserts Book Inspire by Princess และ ในประเภทหนังสือธุรกิจอาหาร Kraiserm รางวัลดีเด่น Best Photography Cookbook ครับ”
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของรางวัลที่เขาเคยได้รับและยกให้เป็นที่สุด เพราะก่อนหน้านั้นงานที่เขาทำให้กับเอกชนนั้นก็วาดรางวัลมานับไม่ถ้วน แต่งานชิ้นที่ทำด้วยจิตอาสา เขาบอกว่ามันใช่เลย
“ทุกเดือนผมจะอัพเดทแม็กกาซีนอาหารจากทั่วโลก จนได้ข้อสรุปขึ้นมาสองอย่างที่ต้องมีในการออกแบบอาหาร นั่นคือ Fresh & Simple เราต้องใช้แต่วัตถุดิบที่สดใหม่ นำเสนอผ่านรูปแบบที่เรียบง่าย แล้วความงามมันจะปรากฏเอง”