อนุสิทธิ์ เรสลี

อนุสิทธิ์ เรสลี

จากเด็กหนุ่มที่รักในการเล่นไวโอลินตั้งแต่อายุ 18 ถึงวันนี้เขากลายมาเป็นนักสร้างไวโอลินที่ได้รับการยอมรับทั้งในเมืองไทยและเวทีโลก แน่นอนว่านั่นไม่ใช่เรื่องง่ายกับการจะก้าวขึ้นมาอย่างทุกวันนี้ เส้นทางชีวิตของเขานั้นแทบไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการเป็นนักสร้างไวโอลินได้แม้แต่น้อย 

เขาบอกว่าคนที่จะทำไวโอลินได้ต้องเล่นไวโอลินเป็นต้องเป็นช่างไม้ครุภัณฑ์ชั้นดี มีความรู้ในเรื่องงานไม้ และต้องมีความรู้ในด้านศิลปะ บวกกับต้องมีความมุ่งมั่น เขาใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นและทักษะในการลองผิดลองถูกที่จะสร้างสร้างไวโอลินของตัวเองมานานถึง 14 ปี กว่าจะประสบผลสำเร็จเป็นไวโอลินคันแรกในชีวิตด้วยฝีมือตัวเองเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.  2546 โดยใช้ชื่อว่า ‘Reslee Violin No.1’ 

การลุกขึ้นมาทำไวโอลินอย่างจริงจังของอาจารย์อนุสิทธิ์ เกิดขึ้นจากภาวะบีบคั้นในชีวิตหลายอย่าง นั่นเองที่เป็นเหมือนเชื้อไฟชั้นดีที่ขับเคลื่อนใครสักคนให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง เขาบอกว่าไม่คิดว่าจะมาทำไวโอลินเป็นอาชีพ หลังจากที่ตัวเองลาออกจากราชการแผนกโสตฯ มาทำเฟอร์นิเจอร์ก็เจอพิษเศรษฐกิจตกต่ำจนต้องขายโรงงาน ตอนนั้นตัวเองก็ตัดสินใจขายไวโอลินที่มีทั้งหมด 4 ตัวเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัวและจ่ายค่าเทอมลูก เลยเป็นความกดดันให้เขาต้องสร้างไวโอลินเพื่อเล่นเองให้ได้ 

“ตอนที่ทำไวโอลินคันแรกสำเร็จมันเป็นความสะใจที่เราสามารถสร้างมันได้ เป็นความสุขที่ได้ปราบในสิ่งที่คนต่างบอกว่ายาก เพราะผมทำไวโอลินตามแบบของผม แล้วผมจะเป็นต้นแบบเหมือน Stradivari และ Guarneri ไม่ได้หรือ ช่วงแรกหลายคนก็เมินหน้าหนี จนกระทั่งไวโอลินของผมถูกหิ้วไปเล่นที่ในต่างประเทศ ก็สามารถล้มไวโอลินในแต่ละที่ได้หลายคัน”

หนึ่งในนั้นก็มีไวโอลินเบอร์ 81 ผลงานของอาจารย์อนุสิทธิ์ ซึ่งมีเด็กคนหนึ่งนำไปใช้เรียนไวโอลินที่เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ครูของเด็กคนนี้ก็พาไปร้านขายไวโอลินร้านหนึ่ง แล้วขอให้เจ้าของร้านหยิบไวโอลินคันที่แพงที่สุดออกมา คนขายเห็นเป็นคนเอเชียก็ไม่เต็มใจหยิบมาดู เด็กคนนี้จึงสีไวโอลินเบอร์ 81 คันนั้น เมื่อคนขายได้ฟังเสียงจึงเปลี่ยนใจหยิบไวโอลินคันที่แพงที่สุดมาให้เด็กคนนั้นลองสี เมื่อสีไปสักพักเขาก็วางลง เพราะคันที่ว่าแพงที่สุดราคาหลายล้านยังสู้เสียงไวโอลินเบอร์ 81 ไม่ได้เลย ไม่เท่านั้นไวโอลินฝีมือคนไทยยังเคยล้มไวโอลินจากประเทศต้นตำรับอย่างอิตาลีมาแล้วเช่นกัน

จุดเด่นของ Reslee Violin คือน้ำเสียงอันทรงพลัง ด้วยวิธีการทำแบบคลื่นความถี่สูง เมื่อนั่งฟังใกล้ๆ ก็ไพเราะ ถอยไปฟังไกลๆ เสียงไวโอลินจะวิ่งไปหาคนฟังได้ ตรงนี้ถือเป็นคาร์แร็กเตอร์ของไวโอลินโซโล ไวโอลินระดับสูงสุด ซึ่งความสุดยอดของเสียงขึ้นกับเทคนิคช่างแต่ละคน ที่ทำให้เสียงไวโอลินออกมามีพลังมากน้อยเพียงใด ไวโอลินจึงเป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวในโลกที่สามารถเล่นเพลงของแต่ละชนชาติได้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทย เพลงแขกเพลงฝรั่ง 

ขณะเดียวกันความพิถีพิถันในทุกรายละเอียดของงานไม้ที่นักทำผู้นี้บรรจงถ่ายทอดและทุ่มเทจิตวิญญาณทั้งหมดออกมานั้น เป็นปัจจัยทำให้ไวโอลินแต่ละคันของเขาเต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว รูปร่างหน้าตาอาจดูคล้ายกัน หากเรื่องราวและน้ำเสียงกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะก่อนที่ช่างผู้นี้จะสร้างผลงานให้ใคร เขาจะดูสรีระและลักษณะการเล่นของคนคนนั้นก่อน ไวโอลินทุกคันจึงแตกต่างไปตามผู้เป็นเจ้าของ ไม่เช่นนั้นเขาจะสร้างไวโอลินตามอารมณ์ความรู้สึก จะไม่วางแผนอะไรไว้ก่อนล่วงหน้า 

ไวโอลินระดับมาสเตอร์พีซของเขาจึงมีอยู่หลายคัน ล่าสุดคือ Reslee Violin No.109 ที่ได้รับการโหวตให้เป็น Best Of The Year 2012 

ทุกวันนี้เขาก็ยังต้องพัฒนาฝีมือตัวเองอยู่ตลอด อย่างการนำทรายจากทะเลเพื่อใช้ปรับแต่ง ‘ซาวด์โพสต์’ (เสาเล็กๆ ภายในไวโอลินที่มีผลต่อเสียงไวโอลิน) หรือวัตถุดิบหลักที่นำมาเป็นส่วนผสมของ ‘วาณิช’ (น้ำยาเคลือบที่ทำให้ไวโอลินมีสีสันสวยงาม) ก็ต้องเสาะหาแหล่งที่มาและคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้ไวโอลินเกิดความแตกต่าง

เมื่อถามถึงความสำเร็จ เขาตอบชัดว่า “เลยมานานแล้ว ตอนนี้ถึงจุดของการแบ่งปัน สำหรับผมตัวเงินไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ ความสำเร็จของผมคือความสุขของคนที่ได้ไวโอลินของผมไป มันเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนมากกว่าเงินทอง ผมบอกลูกเสมอว่า เรามีอาชีพสร้างของรักให้กับคนอื่น เวลาเขามีความสุขกับสิ่งที่เราสร้าง เขาก็จะนึกถึงเราเป็นคนแรก แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” 

ตัวตนที่หลายคนยกย่องให้เขาเป็นอาจารย์