พรนฎา เตชะไพบูลย์
ความชื่นชอบในด้าน Product Design ของเธอ ทำให้เธอตัดสินใจเรียนในสาขานี้อย่างจริงจัง ช่วงเวลานั้นเธอได้แวดล้อมไปด้วยเวสป้าอย่างไม่รู้ตัว เพราะเพื่อนฝูงเองก็นิยมกันไม่น้อย รวมถึงเนื้อหาวิชาที่เรียนก็มีเจ้าสองล้อยี่ห้อนี้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ้างพอสมควร จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความผูกพันระหว่างเธอและเวสป้าขึ้นมาทีละน้อยๆ
เธอบอกว่าตัวเองเป็นคนชอบแบรนด์ที่ออกแบบมาและอยู่ได้นานๆ ซึ่งเอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้นกับการออกแบบอะไรสักอย่าง แล้วมีคนนิยมไปตลอด ช่วงอายุสินค้าตัวหนึ่งจะมีเวลาเพียง 3-5 ปี หรืออย่างมากก็ 10 ปี ถ้าสามารถอยู่ได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่เวสป้าอยู่มา 60 กว่าปี มันจึงทำให้เธอประทับใจในประวัติศาสตร์ และยังสามารถเปลี่ยนลุคให้กลับมาดังในสมัยนี้ได้ ก่อนที่เธอจะสรุปสั้นๆ ว่า
“เรื่องราวของเวสป้าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพราะเป็นไลฟ์สไตล์ เป็นอะไรที่มากกว่ายานพาหนะ สามารถสร้าง Emotional Value ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ในอิตาลีสมัยก่อน ผู้ชายที่เลือกขี่เวสป้าก็เพราะอยากให้ผู้หญิงขึ้นซ้อนท้าย แล้วความรู้สึกตรงนี้ก็อยู่มาเรื่อยๆ จนกลายเป็นมูลค่าคู่กันมาถึงทุกวันนี้”
กระทั่งเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว ความชอบส่วนตัวที่มีต่อเวสป้า ได้ถูกกลั่นจนกลายมาเป็นธุรกิจนำเข้าสกู๊ตเตอร์จากอิตาลีเพื่อจำหน่ายในประเทศ พร้อมสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คือ คุณวิสุทธิ์ เตชะไพบูลย์ (สามี) และ คุณพีท ประณิธาน พรประภา ที่ทั้งคู่ก็ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ทั้งหมดจึงลงความเห็นและตัดสินใจเลือกแบรนด์นี้เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย
“ทีแรกไม่คิดว่าจะเปิดเป็นธุรกิจถึงขนาดนี้เลย แค่อยากจะเปิดร้านนำเข้ามอเตอร์ไซค์พวกบิ๊กไบค์ เพราะดิฉันกับสามีและคุณพีทนั้นชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์ในสนามกันอยู่แล้ว ทีนี้ก็เริ่มมองหาแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ จนมาลงตัวกับเวสป้า เพราะตัวเองก็ชอบและคลุกคลีในกลุ่มเพื่อนฝูงมาตั้งแต่เรียนอยู่เมืองนอก ตอนหลังก็กลายเป็นโปรเจกต์ที่ทุกคนหันมาสนใจ แล้วลองติดต่อกับบริษัทแม่ที่เมืองนอก แล้วทางนู้นก็ยินดีตอบตกลง มันค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มต้นจากความชอบส่วนตัว”
ซึ่งการเข้ามาในธุรกิจรถจักรยานยนต์ที่แม้ตลาดจะมีความต้องการสูง เห็นได้จากยอดขายเมื่อปีก่อนประมาณ 2 ล้านคันนั้นคือสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า เจ้าใหญ่ในตลาดที่อยู่มาก่อนแข็งแรงมากในทุกด้าน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ที่มีฐานการผลิตในประเทศ แบรนด์นำเข้ายังเป็นส่วนน้อย จุดนี้จึงเป็นความท้าทายของเธอในฐานะน้องใหม่ในตลาด ที่ต้องช่วงชิงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ให้ได้
“ความยากในการทำการตลาดของเวสป้าคงอยู่ที่การสร้างให้เป็น Premium Mass ตอนเริ่มทำกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ราคามอเตอร์ไซค์ทั่วไปยังไม่สูงเท่าตอนนี้ หลายคนก็ถามว่าใครจะซื้อรถคันละเกือบแสนบาท เราโดนถามแบบนี้เยอะมาก โชคดีว่าหลังจากนั้นไม่นานราคารถญี่ปุ่นก็เริ่มสูงขึ้น หลายค่ายเริ่มส่งรถราคา 7-8 หมื่นออกมาตีตลาด เมื่อพอเปรียบเทียบกันแล้ว ภาพของเราก็ออกมาดีกว่าความรู้สึกของคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในทีแรก
“เพราะถ้าบอกว่ารถมอเตอร์ไซค์คันละแสนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ความรู้สึกของคนจะต่างกับตอนนี้มาก จนเมื่อคนเริ่มเข้าใจ ก็ดันให้ยอดขายของเราโตขึ้นทุกปีตามภาพรวมของตลาด แต่ในปีแรกที่เข้ามาถือว่ายากพอสมควร”
เมื่อย้อนดูตัวเลขจากยอดขายรวมกัน 3 ปี ทั้งหมดประมาณหนึ่งหมื่นคัน เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ แต่นั่นเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เพราะเธอกำลังนำพาองค์กรให้ขึ้นไปยืนในจุดที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา
“ใน 3 ปีแรกเราตั้งเป้าไว้ว่าต้องการให้เวสป้าเป็นผู้นำแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์นำเข้า ซึ่งเราก็เดินไปถึงตรงนั้นได้ และเป้าหมายต่อที่ต้องทำให้ได้ในปีนี้คือ ตั้งยอดขายไว้น่าจะเกินหนึ่งหมื่นคัน เขยิบจากปีก่อนๆ ที่ตั้งเป้าเพียงแค่หลักพัน
“ส่วนตัวดิฉันเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การตั้งเป้าให้เอื้อมไม่ถึงไว้ก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ดี มันจะทำให้รู้สึกมีแรงขับเคลื่อนว่าต้องไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ความอันตรายของคนเราก็คือการตั้งเป้าที่เอื้อมถึง ซึ่งเราอาจจะพลาดอะไรบางอย่างไป ทั้งที่สามารถไปไกลกว่าที่คาดเอาไว้มาก”
บนเส้นทางที่เธอกำลังมุ่งหน้า การขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่นเป็นดั่งคันเร่งไปให้ถึงจุดหมาย ช้าหรือเร็วไม่ใช่คำตอบ สำคัญแค่อย่าหยุดที่จะก้าวเดินต่อไป