สุชาติ สวัสดิ์ศรี

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

“ตอนที่ผมกลับมาที่นี่ มองดูความพินาศรอบๆ ตัว ผมบอกกับตัวเองเลยว่าต้องกู้บ้านก่อน กู้หนังสือทีหลัง หนังสือบางอย่างสามารถกู้ได้ แต่มันไม่มีสภาพเดิมแล้ว กลายเป็นซอมบี้ ผมพยายามนำหนังสือไปไว้ข้างบนให้มากที่สุด ที่ผมเอาขึ้นไปไว้ก็เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น พอน้ำมาชั้น 2 ก็ภาวนาอย่าให้ขึ้นมาถึงแต่ก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะที่ยืนอยู่ตรงนี้น้ำก็ขึ้นมาท่วมเลยหัว ในห้องชั้นล่างมีหนังสือทั้งนั้น ผมเก็บหนังสือซ้อนให้สูงที่สุด แต่บางส่วนไม่ก็รอด ข้าวของกระจัดกระจายไปหมดตอนนี้ผมก็ต่อเติมบ้าน เผื่อว่าน้ำจะมาอีก แต่ขอให้มาแค่ครึ่งเดียวจากที่ผ่านมาก็พอ 

“หนังสือของผมมีหลายประเภทนะ บางเล่มผมเชื่อว่าที่หอสมุดแห่งชาติก็อาจไม่มี หรือหนังสือในช่วงประมาณ 50 ปีที่แล้ว รวมๆ แล้วเป็นหนังสือทุกประเภท ผมคิดว่าหนังสือคือความทรงจำที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้ว่าบางเล่มเราจะเห็นว่ามันเป็นหนังสือน้ำเน่าก็แล้วแต่ แต่มันก็บอกความหมายอะไรบางอย่าง”

วันนี้เราจะคุยกับผู้ชายคนนี้ทั้งเรื่องหนังสือ ความคิด และชีวิตของคนวรรณกรรมคนนี้

เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” หรือ สุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงวรรณกรรม เขาเปรียบเสมือนปรมาจารย์ทางด้านวรรณศิลป์ จนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมานี่เอง เขาเป็นคนชอบทำกิจกรรมมากมายเกี่ยวกับศิลปะ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เป็นมาแล้วหลายอย่างทั้งครู นักเขียน บรรณาธิการนิตยสาร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ แต่สิ่งที่ทำให้เป็นที่รู้จักมากที่สุดงานหนึ่งก็คือบรรณาธิการโลกหนังสือรวมเรื่องสั้น หรือ ช่อการะเกด ทั้ง 3ยุค (ยุคที่ 1 พ.ศ.2521-2523 ยุคที่ 2 พ.ศ.2532-2542 ยุคที่ 3 พ.ศ.2550-2553) โดยช่อการะเกดนั้นมีรางวัลมอบให้สำหรับนักเขียนที่ชนะการประกวด และสร้างนักเขียนชื่อดังในยุคหลังออกมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น วินทร์เลียววาริณ, เรวัติ พันธุ์พิพัฒน์, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นับได้ว่าเขาคือคนสร้างคน และสร้างงานวรรณกรรมชั้นดีออกมาอย่างมีคุณภาพ 

“หนังสือที่ผมทำในช่วงนั้น ตลาดไม่ได้แข่งขันกันสูงมาก รุ่นผมยังใช้วิธีแบบโบราณทำหนังสืออยู่เช่น ใช้ตะกั่ว แท่นฉับแกละแล้วเริ่มเปลี่ยนมาเป็นออฟเซต ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นมาเป็นระบบดิจิตอล ผมผ่านมาหลายยุค รู้กระบวนการทำงานของหนังสือฉะนั้นผมจึงรู้ว่าการแข่งขันในสมัยก่อนน้อย หนังสือที่ผมทำจึงมุ่งไปที่ความเข้าใจของเราโดยตรง เน้นไปที่การเมืองเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเน้นไปที่วรรณกรรม หรือเน้นวาไรตี้หน่อยก็ตอนที่ผมไปทำหนังสือ บานไม่รู้โรย ให้กับมติชน หรือเฉพาะกลุ่มเรื่องสั้นก็ช่อการะเกด คือเนื้อหานำหน้ารูปแบบ รูปแบบเป็นส่วนรอง แต่ปัจจุบันรูปแบบเป็นตัวกำหนดเนื้อหา เพราะเป็นเรื่องของการแข่งขันอย่างไรให้อยู่รอด

“ในรุ่นของผม ผมเข้าใจว่าหนังสือคือบรรณาธิการ อย่างถ้าพูดถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็นึกถึงฟ้าเมืองไทย พูดถึงสตรีสารก็ต้อง นิลวรรณ ปิ่นทอง หรือในอดีต ถ้าพูดถึงสุภาพบุรุษ ก็ต้องกุหลาบ สายประดิษฐ์ คือบุคลิกของบรรณาธิการเป็นตัวกำหนดแต่ในยุคต่อมาผมเข้าใจว่ากลไกลตลาดในสมัยใหม่มากำหนดบรรณาธิการไม่มากก็น้อย

“ปัจจุบันวงการหนังสือเปลี่ยนไปมาก บางคนบอกว่าในยุคดิจิตอล หนังสือจะหายไปจากโลก แต่ผมว่าเป็นไปไม่ได้ มันยังอยู่ แต่ว่าจะอยู่ในลักษณะของคนเฉพาะกลุ่ม เหมือนหนังเมืองคานส์ แล้วจำนวนก็จะลดลง ลักษณะของการอ่านก็จะไม่เหมือนสมัยเมื่อ 50 ปี ที่มีหนังสือหนา 300 หน้า แล้วอ่านคืนเดียวจบ การอ่านมันเป็นการใช้สมาธิอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดอำนาจบางอย่างในตัวคน

 “ความจริงการทำหนังสือก็เหมือนการผลิตสินค้า คือให้คนได้ซื้อไปบริโภค ซึ่งจุดประสงค์ก็ไม่ได้ต่างกัน แต่บทบาทของหนังสือในยุคปัจจุบัน ผมว่ามันมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากำหนดบุคลิกของบรรณาธิการที่จำเป็นต้องร่วมกับคนอื่น เช่น CEOหรือฝ่ายการตลาดว่าจะขายได้มั้ย หนังสือรุ่นใหม่จะไม่เล่นกับความคิด แต่จะใช้รูปแบบนำ แต่ถึงอย่างไรผมก็เข้าใจว่าหนังสือแต่ละเล่มมันให้ประโยชน์กับผู้อ่าน ไม่มากก็น้อย”

อย่างที่บอกว่าบรรณาธิการในยุคก่อนนั้น หนังสือส่วนใหญ่ก็มาจากลักษณะตัวตนจริงจังหนักแน่นของบรรณาธิการ เขาจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของนิตยสาร และหนังสือเรียกได้ว่าเป็นสื่อทางเลือกหนึ่งในสมัยนั้น มีแฟนหนังสือติดตามและชื่นชมเป็นจำนวนมาก เพราะการทำงานที่มีความคิดเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน เป็นตัวอย่างดีที่ของบรรณาธิการและนักเขียนในรุ่นต่อๆ มา 

“การเป็นบรรณาธิการมีสิทธิ์ที่จะแก้ไขงานเขียนได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปรื้อโครงสร้างของเขา คือพระเอกตายก็ให้เขาตาย แต่อาจจะช่วยแนะนำเรื่องของภาษาซึ่งเป็นหน้าที่ของบรรณาธิการหลังจากนั้น ผู้ที่ได้ตีพิมพ์เขาก็เหมือนได้แจ้งเกิดแล้ว เพียงแต่คนอ่านไม่เห็นเบื้องหลังว่ามีการแก้อย่างไร 

“ผมไม่มีโรงเรียนสอน แต่ผมให้ปฏิบัติเลย ถ้าคุณอยากว่ายน้ำเป็น ก็ต้องกระโจนลงน้ำ ไม่ต้องไปหาตำราสอนว่ายน้ำ เหมือนกันกับการทำงานศิลปะแนวใดก็ตาม ถ้าอยากทำ ให้ลองดูเลยพบไม่พบไม่เป็นไร ล้มก็เอาใหม่ วัยหนุ่มวัยสาวต้องเป็นวัยที่แสวงหา ต้องทดลอง ถึงจะค้นไม่พบก็ยังมีทางอื่นอยู่ บางทีอาจไม่ใช่ทางถนัดของเรา แต่บางทีอาจจะใช่ก็ได้

“อย่างตอนที่ผมเป็นบรรณาธิการช่อการะเกด พอมีต้นฉบับเข้ามา ผมจะเก็บต้นฉบับของเขาไว้ทุกคน ไม่เคยทิ้งเลย ผมมีต้นฉบับของนักเขียนที่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียง แต่ตอนหลังมีชื่อเสียง ผมก็เก็บไว้หมด 

“ต้นฉบับผมจะจัดไว้ 3 ประเภทคือ ผ่านเลย ผ่านรอ และผ่านเกิด ผมเก็บต้นฉบับที่ส่งมาไม่ได้ลงมันก็จบไป อันนี้คือผ่านเลยส่วนผ่านรอ คือไม่ได้ลง แต่บรรณาธิการอาจจะเห็นแวว เลยเขียนจดหมายไปบอกว่าควรแก้อีกสักหน่อย หรือมีคำพูดที่ค่อนข้างให้กำลังใจอย่าง ขอดูเรื่องใหม่อีกสักเรื่องหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกสิบเปอร์เซ็นต์ก็จะได้ลง นั่นคือผ่านเกิด 

“แต่ทั้ง 12 ถึง 15 เรื่องที่ได้ลงจะมีรอยแก้ไขของผม เมื่อเขาได้ตีพิมพ์ผมจะส่งหนังสือไปให้เขาพร้อมกับต้นฉบับที่มีรอยแก้ให้เขาช้ำใจเล่น (หัวเราะ) บางคนอาจจะเก็บเอาไว้ใส่กรอบ” 

โลกหนังสือรวมเรื่องสั้น หรือ ช่อการะเกด ที่เขาเป็นบรรณาธิการนั้น ถือว่ามีชื่อเสียงและเป็นหนังสือที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร เป็นที่น่าเสียดายว่าในที่สุดก็ปิดตัวลงไปอีกครั้งเมื่อสองปีที่แล้ว กลายเป็นตำนานอีกหนึ่งบทของแวดวงวรรณกรรมไทย

“เล่มสุดท้ายอย่างที่เห็น ผมเขียนโดยใช้คำพูดของกุหลาบสายประดิษฐ์ว่า ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ ก็หวังว่าช่อการะเกดจะกลับมาได้ ผมอยากเห็นพื้นที่ของคนเขียนหนังสือในลักษณะนี้ เพราะช่อการะเกดเป็นพื้นที่เริ่มต้นของนักเขียน ซึ่งถ้าเขาเอาจริงต่อไป เขาจะเป็นนักเขียนที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ได้ 

“ที่ผ่านมาผมก็รู้สึกสนุกไปกับมัน แล้วนักเขียนที่เขาส่งเรื่องสั้นมาเขาก็นับถือเรา รวมทั้งเขาอยากจะท้าทายเราด้วย บางคนก็คิดว่าถ้าหากผ่านช่อการะเกดแล้วก็จะได้รับการยอมรับ มันเป็นพื้นที่ของการให้ความสำคัญของการเขียนเรื่องสั้น ผมคิดว่าเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือไม้ประดับ แต่เป็นส่วนทั้งหมด 

“ทุกวันนี้ผมก็ยังติดตามนักเขียนมือใหม่ๆ ที่ยังเขียนเรื่องสั้นอยู่แล้วก็ยังดีใจที่มีพื้นที่ของเรื่องสั้นอยู่ตามนิตยสารอื่นๆ แม้การให้ความสำคัญเต็มพื้นที่แบบช่อการเกดจะไม่มีแล้วก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าจะมีตัวตายตัวแทน แล้วก็จะมีนักเขียนหน้าใหม่ๆ ที่ไม่ได้ผ่านช่อการะเกด แต่สามารถเขียนหนังสือมีชื่อเสียงได้ เพียงแต่แนวโน้มสมาชิกแบบเมื่อ 50 ปีก่อนจะน้อยลง นักเขียนบ้านเราค่อนข้างอาภัพ ผมยังสงสัยว่าวัฒนธรรมการอ่านของบ้านเรามันมีรึเปล่า คือมีหนังสืออยู่จริง แต่เรื่องของการอ่านผมยังสงสัยอยู่ ผมคิดว่าวัฒนธรรมการอ่านของเรายังไม่เข้มแข็งพอ 

“งานบรรณาธิการของผมต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ต้องอ่านต้นฉบับทั้งหมด แล้วทำออกมาให้ทันตามกำหนด มันต้องใช้เวลา เมื่อ 30 ปีก่อนอาจจะได้อยู่ แต่ช่วงหลังสายตาผมก็แย่ลง ก็สมควรแก่เวลา แต่ก็ยังมีความหวังว่าช่อการะเกดจะกลับมา แต่ถ้าจะให้กลับไปทำอีกในลักษณะเดิม ผมคงไม่กลับไปถ้ากลับมาได้คงมีบรรณาธิการคนอื่น ส่วนผมคงเป็นคนชี้แนะแนวทางให้มากกว่า”

นอกจากงานเขียนหนังสือและงานในแวดวงวรรณกรรมแล้วสุชาติ สวัสดิ์ศรี ยังเป็นนักศิลปะที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่เพียงตัวอักษร เขาหยิบภาพต่างๆ ที่เป็นผลงานการวาดของตัวเองออกมาจากห้องที่เก็บไว้หนีน้ำเพื่อให้เราได้ชม งานหลายชิ้นจัดแสดงตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2549  ได้มีการจัดแสดงเป็นผลงานชุด20 กว่าชิ้น ด้วยชื่อนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์ส่วนตัว’ ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ และยังมีงานอีกมากมายที่สร้างสรรค์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้เปิดเผยให้ใครชม

เขาบอกว่าตัวเองเริ่มต้นการเขียนภาพเมื่ออายุ 50 ปี ทำให้การวาดภาพตามหลักการนั้นเป็นไปได้ยาก งานหลายชิ้นจึงเน้นถึงอารมณ์ความรู้สึกในแนวนามธรรมมากกว่าเรื่องของเทคนิคและความสมจริงของการเขียนภาพ

“มันมาจากการอ่าน การดู การจำ ครูพักลักจำเอามากกว่าความจริงผมสนใจพร้อมๆ กับเรื่องของวรรณกรรม แต่มาลงมือทำก็ตอนยุติช่อการะเกดในยุคที่ 2 ผมใช้ทั้งพู่กัน แปรงสีฟันแปรงทาสี แล้วงานที่ปรากฏนั้นก็จะเป็นงานจินตนาการ เป็นความรู้สึกมากกว่าที่จะไปลงภาพเหมือนจริง

“ผมสรุปงานของผมง่ายๆ เลยคือเป็นก้อนเมฆ ก้อนหิน และมดลูก ก้อนเมฆสื่อถึงความอิสระที่ไม่มีใครสามารถจับมันได้ก้อนหินมีปริมาตร มีน้ำหนัก คือความนิ่ง 
ความมั่นคง ลักษณะของความจริง ส่วนมดลูกฟังดูอาจตื่นเต้นแต่ความหมายของมันคือการก่อเกิด นี่คือทฤษฎีกว้างๆ ของผม”

ในอีกมุมหนึ่ง เขาก็สนุกไปกับเรื่องราวของเทคโนโลยีที่สร้างงานศิลปะอย่าง “หนังสั้นเชิงทดลอง” ที่เคยออกแสดงงานมาแล้ว แม้จะเป็นงานที่ทำมานานพอสมควร แต่จากแววตาของเขาเหมือนกับเป็นเรื่องสนุกๆ ที่ได้ทดลองทำงานใหม่ๆ มากกว่าที่จะอยู่กับความจำเจเดิมๆ 

“หนังทดลองของผมมันไม่ต้องใช้พื้นที่มาก แต่เรื่องของเทคนิคอย่างการตัดต่อ ผมต้องพึ่งคนอื่น เพราะผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องโปรแกรม ผมก็ไปอยู่ข้างหลังเขา เตรียมไฟล์หนัง เพลง และคำพูดต่างๆ เอาไปให้เขาตัดต่อ ก็รู้สึกว่าเป็นโลกอีกหนึ่ง ซึ่งผมทำให้มันไม่ใช่เป็นแค่หนังสั้นเล่าเรื่อง เป็นคอนเส็ปต์ในงานศิลปะ”

“เราหาแรงบันดาลใจได้จากทุกเรื่อง มันอยู่ใกล้ๆ เรานี่แหละมันมีรายละเอียด แต่ถ้าห่างไกลไปรายละเอียดก็น้อยลงประสบการณ์ทางการอ่านคือประสบการณ์ทางอ้อม แต่ประสบการณ์ตรงคือสิ่งที่อยู่กับเรานี่แหละ ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องตั้งไว้ก็คือ ความฝันต้องตั้งไว้ให้ไกล แล้วเดินไปให้ถึง แต่ถ้าไปไม่ถึง ได้ครึ่งนึง มันก็มาได้ไกลแล้ว” 

Know Him!

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกิดเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2488 พื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากเป็นครูเขาเริ่มต้นอาชีพในแวดวงวรรณกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 จากการเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ จากนั้นปีพ.ศ.2513 จึงเป็นบรรณาธิการบทความ จตุรัส รายสัปดาห์

งานเขียนของเขามีที่น่าสนใจหลายเล่ม อย่างเรื่องสั้นชุด“ความเงียบ” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2515) “นักเขียนหนุ่ม”แปลจากผลงานของสตีเฟน สเปนเดอร์ (พิมพ์ครั้งแรกพ.ศ.2518) รวมเรื่องสั้น “รัสเซียก่อนโซเวียตล่มสลาย” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) ดาวเรืองบินข้ามครรภ์ฟ้า (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547)

ได้ข่าวว่าน้ำจะมาอีกรอบแล้ว หนังสือที่จมน้ำตั้งแต่ปีที่แล้วยังกองอยู่