เสียมเรียบ

เสียมเรียบ

เรารู้จักกันมากน้อยเพียงใด ผมเองตั้งคำถามเหล่านี้ไว้เงียบๆ ระหว่างหนทางที่โอบคลุมด้วยนาข้าวต้นฤดูกำลังเริ่มแทรกปนไปด้วยสิ่งก่อสร้างประเภทโกดังสินค้า รองรับการมาเยือนของโลกแห่งการค้าและการติดต่อสัมพันธ์ที่ทุกประเทศตื่นเต้นในนามของ“ประชาคมอาเซียน” 

ข้ามผ่านการตรวจคนเข้าเมืองไม่นาน เราก็จมตัวเองไปในภาพการค้าที่ชายแดนปอยเปตกับสระแก้ว น่าทำความเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำยังคงดำเนินแม้ว่าโลกจะก้าวเข้าหากันมากมายสักเพียงใดก็ตาม บ่อนกาสิโนเรียงราย โอบล้อมด้วยตึกรามและชีวิตอันทันสมัย ขณะที่ขบวนพ่อค้าแม่ค้าและสินค้าเกษตร เครื่องหวาย เสื้อผ้ามือสอง ตลอดจนแรงงานที่มีแต่มือเปล่า พวกเขามาออกันอยู่ที่ด้านหน้าตั้งแต่รุ่งเช้า และพร้อมจะทะลักขบวนเข้าสู่ตลาดโรงเกลือด้วยเหตุผลเดียวคือ ค่าครองชีพและโอกาสค้าขายที่ค่อนข้างดีกว่า ไม่มีสิ่งใดเท่าเทียม ตราบเท่าที่โลกปัจจุบันยังคงขับเคลื่อนด้วยราคาของทุนนิยม

ทว่าภาพตรงหน้าก็น่าทึ่งกับการดิ้นรน รถเข็นไม้บางคันใหญ่โตเท่ารถบรรทุกหกล้อ พูนเพียบด้วยสินค้าก่ายกองที่ต้องห่อหุ้มไว้อย่างแน่นหนา และแรงคนนับสิบที่เข็นมันให้หมุนเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อเผชิญกับชีวิตค้าขายวันต่อวัน

ผ่านความโกลาหลทั้งการค้าชายแดน นักเสี่ยงโชคขวักไขว่ตามหย่อมย่านกาสิโนโอ่โถง ที่คิวรถโดยสารก็เหมือนจุดเริ่มต้นการเข้าสู่กัมพูชาของเรา แดดเช้าวาดระบายภาพตรงหน้าให้เป็นตัวของตัวเอง

เราพบกับเจ้าของประโยคต้นเรื่องในนาทีต่อๆ มา ด้วยวัยไม่ห่างกันนักประกอบกับความเป็นผู้ชาย เราทำความรู้จักและคุ้นเคยกันได้ในเวลาไม่นาน ผมกับ ซก กรอง ไกด์หนุ่มชาวเขมร ที่ต่อมาผมเรียกเขาว่า “กอง” ภายในห้องโดยสารของรถตู้คันโตที่มีเพียงเขาและกลุ่มของเรา รวมไปถึงลุงคนขับที่บดอัดล้อยางไปบนทางหลวงหมายเลข 6 อันแสนเก่าแก่

ฝุ่นดินหลุมบ่อที่เป็นเหมือนบทวัดใจของนักเดินทางหลังสงครามเย็นเลือนหายไปพร้อมกับการมาถึงของทางแอสฟัลต์เรียบกริบกองว่าเป็นผลงานของสัมปทานจากคนไทยที่เข้ามาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา

ระยะทาง 160 กิโลเมตร จากปอยเปตไปสู่เสียมเรียบ ที่ว่ากันว่าใช้เวลาราวครึ่งค่อนวันในอดีตเหลือเพียงร่วมสองชั่วโมงด้วยความเร็วปกติของรถยนต์ การไปมาหาสู่ที่สะดวกขึ้นของผู้คนท้องถิ่นดูเหมือนจะมีค่ามากกว่ารสชาติทรมานบันเทิงที่นักเดินทางผู้ชอบประกาศตัวตนกำลังอาลัยอาวรณ์

ผ่านศรีโสภณที่เป็นแยกใหญ่ของคนที่จะมุ่งสู่เสียมเรียบ หรือจะแยกลงผ่านไปทางพระตะบอง พนมเปญด้วยทางหลวงหมายเลข5 เมืองศรีโสภณเติบโตอย่างที่มันควรจะเป็น ผ่านการถือครองพื้นที่มาหลายสมัย ทั้งไทยและฝรั่งเศส จนวันที่โลกก้าวย่างไปร่วมกัน 

สีเขียวเริ่มเลือนหายเมื่อกองบอกว่าเรากำลังจะถึงเสียมเรียบ บางคนรวมทั้งผมซึ่งเห็นที่นี่เป็นครั้งแรกพานพบภาพแปลกใหม่ความพลุกพล่านของรถรามีให้เห็นในย่านซาจ๊ะหรือตลาดเก่า ที่กองบอกว่ามีแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ขวักไขว่กันในนี้ หากเป็นคนเสียมเรียบเอง ถ้าพานพบพวกเขาที่นี่ ก็ดูเหมือนจะมีอาชีพการงานที่เกี่ยวร้อยอยู่กับการท่องเที่ยว

“สามล้อ ร้านค้า พนักงานร้านอาหาร เรามีอะไรทำขึ้นเยอะ ไม่เหมือนแต่ก่อน” ภาษาไทยของเขาชัดเจน แม้จะผิดเพี้ยนไปบ้างในเรื่องของวรรณยุกต์ แต่มันไม่เคยเป็นปัญหา

เรากระจายกันไปในความพลุกพล่านที่ตลาดซาจ๊ะ ทั้งสี่ด้านของตลาดคือตึกโคโลเนียลเก่าแก่อันมีที่มาจากการถือครองอาณานิคมอันยาวนานในกัมพูชาของฝรั่งเศส มันเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปสู่ร้านอาหาร เกสต์เฮาส์ และร้านขายของที่ระลึกหลากหลายระดับ พร้อมภาพดื่มกินอันเป็นสิ่งควบคู่กับการมาถึงของนักท่องเที่ยวจากแดนตะวันตก 

ร้าน Red Piano โดดเด่นอยู่ตรงหัวมุม ภายใต้แสงสีแดงขรึมมีใครหลายคนนั่งจิบอะไรเย็นๆ เฝ้ามองภาพเปลี่ยนผ่านข้างนอกรายรอบไปด้วยสุ้มเสียงของการทำมาหากินที่วนเวียนไปมาระหว่างคนเขมรและนักท่องเที่ยวจากแดนไกล

ใครบางคนกล่าวว่า อาคารทรงฝรั่งคือหนึ่งในตัวแทนให้คนเขมรรำลึกถึงห้วงยามที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองกัมพูชาอยู่เกือบ 80 ปีไม่เพียงรากฐานทางการปกครอง ระบบการศึกษา หรือบางแง่มุมของชีวิตวัฒนธรรม ทว่าความงดงามของตึกศิลปะนีโอคลาสสิกยังคงสวยงามอยู่ด้วยงานตกแต่งตามซุ้มขอบประตู บานหน้าต่าง รวมไปถึงสัดส่วนของเสาและลวดลายปูนปั้น

เส้นทางในเสียมเรียบไร้ซึ่งความซับซ้อน ถนนหลักอย่าง สีวัตถา และ สีสุวัต ขีดแบ่งเมืองให้เป็นบล็อกเป็นกลุ่มตามผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวราว 1.5 กิโลเมตร แม่น้ำเสียมเรียบไหลเรื่อยเคียงคู่ ความเป็นเมืองเก่าค่อยๆ กลืนหายไปกับรถราและชีวิตสมัยใหม่ที่ดำเนินไปอย่างที่มันควรจะเป็นโดยเท่าเทียม

จมอยู่ในมิติของเสียมเรียบได้พักใหญ่ กองก็พาเรามาอยู่เหนือยอดเขาพนมบาแค็ง เขาว่าอยากให้เรามายัง “ศูนย์กลาง” ของนครหลวง และน่าจะเริ่มทำความรู้จักความเป็นเขมรโบราณจากที่นี่

เหนือลานหินของปราสาทบาแค็ง ศาสนสถานไศวนิกายหลังแรกของเมืองยโสธรปุระที่พระเจ้ายโสวรมันที่ 1 ทรงสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาในลัทธิเทวราชา ปราสาททั้ง 5 องค์บนฐานทรงพีรามิดคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว เสียงพูดคุยชี้ชวนดูเบื้องล่างรอบทิศทั้งผืนป่าและตัวเมืองเสียมเรียบ บารายตะวันตก แหล่งน้ำจากแรงมือของบรรพชนที่ไม่เคยเหือดแห้งนับพันปี หรือเรือนยอดของนครวัดที่คล้ายเป็นจุดหมายหลักของทุกคนที่มาเยือน

ฝนโปรยละอองเยียบเย็น ภาพกระจ่างตาของเสียมเรียบค่อยๆ เลือนไปพร้อมความมืดที่เริ่มโรยตัว ยุคสมัยของ “ขแมร์กรอม”หรือเขมรโบราณที่ตกทอดมานับพันปีคล้ายถูกหลอมรวมไปกับความมืดของเสียมเรียบ ไร้กาลเวลา

กองมารอผมแต่รุ่งเช้า หลังจากฝนกระหน่ำตลอดค่ำคืน เสียมเรียบในวันฟ้าทึมเทาไม่ได้แตกต่างจากเมื่อวานที่มาถึง ผู้คนในยามเช้าคือเจ้าของผืนแผ่นดินอย่างแท้จริง หลังพระสงฆ์คล้อยหลังไปจากแม่เฒ่าอิ่มบุญในแววตา ความคึกคักตามตลาดเช้าก็ดำเนิน

เสียมเรียบในยามสายคือปัจจุบันอันผสมผสาน เมืองที่มีที่มาของชื่อในบันทึกประวัติศาสตร์ว่า “เสียมราบ” บ่งบอกถึงการพ่ายแพ้แตกทัพของสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางนั้น เริ่มคึกคัก ขบวนนักท่องเที่ยวเริ่มบ่ายหน้าทำความรู้จักหลายแง่มุมของนครโบราณแห่งนี้เท่าที่ตัวเองจะทำได้

นับพันปีตั้งพระเจ้าภววรมันเริ่มต้นประวัติศาสตร์เขมรจากยุคก่อนเมืองพระนคร แตกย่อยตัวเองออกมาจากฟูนัน ราวปีพ.ศ.1093-1345 ห้วงยามที่เขมรถูกแบ่งออกเป็นเจินละบกและเจินละน้ำ ก่อนการรวบรวมทั้งสองเข้าด้วยกันในสมัยพระนครโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ยาวไกลถ่ายทอดความคิดความเชื่อทั้งฮินดูและพุทธมานับพันปี เปลี่ยนผ่านกษัตริย์ผู้เป็นต้นทางแห่งมนต์ขลังของปราสาทหินนับร้อยหลัง ผืนแผ่นดินจารึกนามกษัตริย์หลากพระนาม จนสิ้นสุดอาณาจักรเขมรโบราณในปีพ.ศ.1870 จากนั้นศึกสงครามก็ลุกลามเปลี่ยนเขมรให้มีแต่การสู้รบ กลายเป็นเมืองในปกครองของสยามยาวนานร่วม 400 ปี

ห้วงเวลาแห่งการสู้รบเปลี่ยนผู้คนหลากเชื้อชาติเข้าสู่แผ่นดินเขมร การมาถึงของชาติอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสสืบเนื่องต่อยอด นักเดินทางแสวงโชค นักประวัติศาสตร์ พ่อค้า หรือบาทหลวง บ่ายหน้าขึ้นฝั่งเพื่อตื่นตะลึงกับนครโบราณอันหลบเร้น รวมไปถึงทรัพยากรหลากหลายที่เป็นเหมือนแหล่งดื่มกิน จากนั้นเมื่อผ่านพ้นการมีเอกราช การสู้รบภายในประเทศจากความแตกต่างทั้งการปกครอง ความคิดความเชื่อ ก็ดำเนินเป็นสงครามอันโหดร้ายภายในดินแดนที่สิ้นสุดลงอย่างแท้จริงก็เมื่อราว พ.ศ.2535

อากาศชื่นในเช้าหลังฝนส่งผลให้หน้าเมืองนครธมเต็มไปด้วยผู้คน สะพานรุ้งใหญ่โตเรียงรายด้วยรูปจำหลักอสูรและเทวดาฝั่งละ54 รูป ที่ต่างก็ยุดยื้อพญานาคไปตามความเชื่อเรื่องการกวนเกษียรสมุทรและเขาพระสุเมรุ

เราเข้าสู่เมืองนครธมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กันที่ประตูด้านทิศใต้ ผ่านพ้นเมืองโบราณอันแสนใหญ่โตที่สร้างทับเมืองยโสธรปุระ ความหลากหลายทั้งฮินดูและพุทธได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ทบซ้อนอยู่ในหมู่ปราสาทหลากหลายที่ต้องใช้เวลาผ่านพ้นนับชั่วโมง

ระเบียงคดปราสาทบายนมากมายด้วยภาพจำหลักอันละเอียดงดงามตามระเบียงคดแทบทุกทิศ การศึกสงครามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นหินทราย รวมไปถึงเรื่องราวปลีกย่อยหลากหลายที่ฉายชัดภาพสังคมนับพันปี ภาพยุทธนาวีที่ต๊วนเลซาบนั้นแสนตราตรึงในความยิ่งใหญ่ เห็นทั้งทัพเขมรและทัพจาม กองกำลังช่วยรบชาวจีน ไล่เลยไปถึงชีวิตธรรมดาสามัญอย่างการปิ้งปลา ต้มหมู หรือกัดหมูของคนเขมรและคนจีน

เมื่อขึ้นมาสู่ชั้นที่ 3 ของปราสาท คำว่า “พระพักตร์แห่งบายน” ก็เต็มความรู้สึก มากไปด้วยบรรยากาศของคำว่าลึกลับ งดงามและอลังการ ผ่านพามาทางใบหน้า ดวงตา และรอยยิ้มนิ่งเย็น

ราวกับรอบด้านถูกเพ่งมองด้วยดวงตาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ใครก็ตามที่ได้มาตกอยู่ท่ามกลางปรางค์ทั้ง 54 องค์ คงไม่อาจปราศจากความรู้สึกเช่นนั้น คำว่ายิ่งใหญ่ก็อาจไม่เพียงพอจะนิยามภาพตรงหน้าให้ชัดเจน

ผ่านพ้นก้าวย่างในนครธม เราจ่อมจมอยู่อีกนานที่ลานหน้าพระราชวัง ลานดัมเร็ย (ลานช้าง) และลานพระเจ้าขี้เรื้อน อารมณ์และความรับรู้เปิดกว้างตามมุมมองที่ได้เห็น จินตนาการถึงการใช้ลานเหล่านี้ของพระราชวงศ์ เสนาบดี หมู่พราหมณ์ และแม่ทัพ อาจตั้งพลับพลาในการประกอบพระราชพิธีสำคัญ ที่ฐานหน้าลานดัมเร็ยสลักรูปนูนต่ำเกี่ยวกับช้างหลากหลาย ทั้งการคล้องช้างยุทธหัตถี หรือการใช้ช้างล่าสัตว์ ขณะที่ลานพระเจ้าขี้เรื้อนมีทางลงสู่กำแพงซ่อน เรียงรายด้วยงานจำหลักรูปอัปสรา เทวดา และเหล่าอสูร คร่ำคร่าเก่าขรึม ทว่าละเอียดลงลึกราวกับคำว่าเวลาและศรัทธานั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนในยุคสมัยนั้น 

เรากำลังอยู่บนแผ่นดินอันแสนอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ