เฉลิมพล ปุณโณทก

เฉลิมพล ปุณโณทก

คงแทบจะไม่มีใครเชื่อ ถ้าไม่ได้มาฟังแนวความคิดของคุณเฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท CT Asia Robotics จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย 100% ที่พัฒนาหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเขาประกาศจุดยืนส่งออกหุ่นยนต์ไปขายที่ญี่ปุ่น

 

วันนี้เขาและทีมงานสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ได้แล้วจำนวน 3 รุ่น แต่สามารถเปิดตัวได้ 2 รุ่นคือ หุ่นยนต์ดินสอ ที่มีความรู้ด้านภาษาไทย สามารถแสดงอารมณ์และเคลื่อนไหวได้ และรุ่นที่สองคือหุ่นยนต์ MK สุกี้ มีอยู่ 10 ตัว 10 สี โดยสามารถเอ็นเทอร์เทนลูกค้าในร้านได้เป็นอย่างดี

 

ในระยะอันใกล้ เราจะเลือกทำหุ่นยนต์ไปขาย โดยเลือกทำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุและหุ่นยนต์ในเชิงการแพทย์เข้ามาด้วย ซึ่งกำลังวิจัยอยู่ ทีมวิศวกรที่เข้ามาทำงานกับผมเคยผ่านประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยมาแล้ว พอมาร่วมกันทำงานก็มีการคุยกันเรื่องการทำหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์ เพียงปีกว่าก็ได้ออกมาหนึ่งตัวแล้ว เป้าหมายของผมคืออยากให้มีหนึ่งบ้านหนึ่งหุ่นยนต์โดยฝีมือคนไทยและภายใน 15 ปีข้างหน้าจะมีหุ่นยนต์ขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป

 

ใครๆ ก็รู้ดีว่าประเทศที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเรื่องหุ่นยนต์ก็คือประเทศญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นการจะนำหุ่นยนต์ไปขายที่ญี่ปุ่นนั้นคนภายนอกอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับคุณเฉลิมพลแล้ว มันเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถอย่างมาก และปีหน้านี้เองที่เขามีแผนเตรียมส่งหุ่นยนต์ไปประเทศญี่ปุ่น

 

อันดับแรกคือต้องปลดชนวนทางความคิด ถ้าเกิดเริ่มคิดว่าทำไม่ได้มันก็จะไม่มีวันทำได้ แต่ถ้าเริ่มคิดว่าทำได้เอาอุปสรรควางไว้ แล้วคิดว่ามันมีช่องทางอะไรบ้าง ผมว่าไม่มีใครในโลกที่คิดจะแข่งกับญี่ปุ่น แค่ไม่กล้าคิดก็ไม่ต้องสู้แล้ว แต่สำหรับผมอันดับแรกต้องหาจุดอ่อน สิ่งที่ผมพบอย่างแรกเลยคือค่าจ้างวิศวกรเราต่ำกว่าของเขา 10 เท่า ข้อสองคือ หุ่นยนต์ของญี่ปุ่นเน้นโชว์ความเหนือชั้น เช่น ขี่จักรยานหรือวิ่งให้ดู ซึ่งจริงๆ แล้วผู้บริโภคต้องการหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้เอาความต้องการของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง แล้วผมก็พบว่าหุ่นยนต์ที่ขายใน MK บริษัทผมเป็นบริษัทแรกที่ทำ ส่วนที่เหลือยังเห็นโชว์ในงานเอ็กซ์โปอยู่เลย ก็เพราะมัวแต่โชว์ความเหนือชั้น ข้อสุดท้ายที่ผมสู้ญี่ปุ่นได้ก็คือผมว่าหุ่นยนต์เขาขาดอารมณ์

 

ไอน์สไตน์บอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ คือเรามีพื้นฐานเรื่องหุ่นยนต์กันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะเฉือนกันมันเรื่องของจินตนาการว่าเราสามารถจะมองหลักความคิดเรื่องการตลาดขาดหรือเปล่า แล้วที่สำคัญ คนไทยเก่ง แต่มักจะรอให้ต่างชาติมาสั่ง” 

 

พื้นฐานแนวความคิดของคุณเฉลิมพลนั้นมีมุมมองสมัยใหม่มาตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนกระทั่งเข้าทำงานบริษัทใหญ่อย่างบริษัทยูนิลิเวอร์ แต่มาแสดงให้เห็นเด่นชัดที่สุดในสมัยที่ทำงานกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สมัยนั้นกำลังเริ่มเปิด Lotus Super Center สาขาแรกที่ซีคอนสแควร์ มีจำนวนพนักงานเพียง 40 คน ส่วนเขารับตำแหน่งด้านการตลาดเป็นคนแรกของบริษัทในขณะที่มีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

 

เราทำการตลาดโดยไม่มีงบการตลาด ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี เพราะตอนนั้นมันเป็น Super Center ที่ไม่ใช่ Super Market ด้วย เราจึงต้องใช้สมองคิด ผมเองเป็นประเภทอย่ามาท้า ผมก็นั่งคิดว่าตอนนั้นแม่บ้านดูรายการโทรทัศน์ของใคร คำตอบก็คือรายการของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ กับรายการของคุณชายถนัดศรี ผมก็ไปหาทั้ง 2 ท่านนี้แล้วบอกว่าเป็นตัวแทนมาจากบริษัท จะเชิญมาทำรายการครอบจักรวาลใน Lotus ที่ยังไม่เคยเปิดให้ใครเห็นเลย แกก็รับข้อตกลง โดยคุณชายถนัดศรีท่านไม่ต้องจ่ายเงินผม ผมก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้ท่าน พอวันเปิดห้างคนเต็มเลย พอทำแบบสอบถามว่ารู้มาจากไหน 50% ตอบว่ารู้มาจากรายการครอบจักรวาล

 

แต่ด้วยการทำงานด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ประกอบกับเมื่อได้ดูภาพยนตร์เรื่องPretty Woman จึงเกิดแนวความคิดที่อยากจะเป็นนักธุรกิจที่เทคโอเวอร์บริษัทแบบตัวละครในภาพยนตร์ เขาจึงลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ภายหลัง เขารู้สึกว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมสักเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนแนวคิดตัวเองใหม่ว่าการเป็นนักธุรกิจที่ดีต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติด้วย

 

มีเรื่องที่ประหลาดอยู่ว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย ถ้าคุณจบแพทย์ เภสัช ครูหรือวิศวกร แล้วไปช่วยเหลือคนแถบถิ่นทุรกันดาร คุณคือศิษย์เก่าดีเด่นที่เสียสละเพื่อสังคม แต่ในคณะบริหารธุรกิจ ถ้าจบไปแล้วยิ่งโกยกำไรมากยิ่งเก่ง ยิ่งไปเอาจากสังคม คุณจะเป็นนักธุรกิจที่รวย คุณคือบัณฑิตตัวอย่างดีเด่น สิ่งที่เราเรียนเพื่อไปโกยมาเป็นเศรษฐีมันผิดนะถ้าไปเทียบกับคณะอื่น 

 

แล้วความคิดที่ถูกมันต้องทำอย่างไร ผมได้คำตอบโดยกลไกของโลกเสรี ไมโครซอฟท์รอรัฐบาลสหรัฐหรือเขาพึ่ง บิล เกตส์เขามีไอโฟนขึ้นมา เขาพึ่งรัฐบาลหรือพึ่ง สตีฟ จอบส์ ทุกสรรพสิ่งที่เราเห็นเอกชนสร้าง พวกเขาสร้างชาติได้ในมุมนี้ เราก็เป็นมุมนี้แล้วกัน มันจึงตกผลึกความคิดที่ว่าผมจะเป็นนักธุรกิจที่สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้ประเทศไทย

 

แรงผลักดันของเขาก็คืออยากเห็นความสง่างามของความเป็นไทยไปสู่บนเวทีสากลของโลก ถ้าเมื่อมองย้อนกลับมาสิ่งที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย อย่างเช่น มวยไทย วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ก็คือสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมาแล้วทั้งนั้น เขาจึงอยากสร้างมันขึ้นมาเองบ้าง

 

ผมอยากให้คนไทยลองให้คุณค่ากับสิ่งที่มากกว่าเปลือก บางคนให้คุณค่ากับการใส่นาฬิกาแพงๆ หรือคนที่ขับรถสปอร์ต ซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่มันลึกกว่าเปลือกก็คือความคิดกับการกระทำ อยากให้คนไทยมองทะลุลงไป บางครั้งเห็นเศรษฐีในบ้านเรามากมายที่มีความพร้อม แต่ศักยภาพที่มีมากมายทำได้แค่นี้เองเหรอ ความจริงผมชื่นชมคนที่ไม่ยอมแพ้ แล้วก็อยากพิสูจน์ว่าคุณค่าของเนื้อแท้มันอยู่ที่ศักยภาพมากกว่า เราจะทำให้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หลายครั้งเราทำไม่สุด บางคนเกือบจะเป็นแชมป์โลกแต่ดันหยุด แทนที่จะไปให้สุด จึงโอกาสดีๆ อย่างนี้ ”  

 

Know Him!

>> คุณเฉลิมพลจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขา International  Business Education and Research (IBEAR) จาก University of Southern  Californiaสหรัฐอเมริกา

>> นอกจากงานเรื่องหุ่นยนต์แล้ว เขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Computer Telephony  Asia ที่เป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ Call Centerที่มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยถึง 70% และยังมีลูกค้าทั้งในเวียดนาม ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

>> เขายังมีตำแหน่งอีกอย่างหนึ่งก็คือนายกสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP)

>> นอกจากจะเชี่ยวชาญทางด้านการตลาดแล้ว เขายังมีความสามารถในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านต่างๆ ที่ตัวเองเชี่ยวชาญรวมทั้งยังมีความสามารถในการเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย

คุณเชื่อหรือไม่ว่าในอนาคตหุ่นยนต์ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของคนชราได้?