มกุฏ อรฤดี
สัญญาในความทรงจำ
ว่ากันว่าความฝันในวัยเด็ก มันก็เป็นแค่ความอบอุ่นของความทรงจำเท่านั้น ในขณะที่วันเวลากำลังผ่านไป หลายคนอาจกำลังทำอะไรที่แม้แต่จุดหมายก็ยังไม่แน่ชัด แต่สำหรับครูแห่งวงการหนังสือคนนี้ เขาเลือกใช้ทุกลมหายใจเพื่อตัวหนังสือ เพื่อความฝัน และคำสัญญาในวัยเยาว์
“ความประทับใจแรกเริ่มตั้งแต่เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ มีเพื่อนแถวๆ บ้านเขามีหนังสือการ์ตูนเยอะมาก เพราะพี่ชายที่อยู่กรุงเทพฯ เขาชอบอ่านการ์ตูน พอเขากลับมาทีไรก็เป็นต้องหอบลังหนังสือกลับมาด้วยเสมอ ก็สังเกตเห็นว่าทุกครั้งเพื่อนคนนี้จะมีท่าทีร่าเริง ดูเขามีความสุขมาก ทั้งที่เมื่ออยู่ที่โรงเรียนก็ไม่เห็นว่าเพื่อนคนนี้จะเคยมีท่าทีแบบนี้เลย เลยนึกสงสัยว่าเขาอ่านอะไร ทำไมพอเปิดสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วก็ยิ้ม หัวเราะๆ อยู่อย่างนั้น วันหนึ่งผมทนไม่ได้ก็เข้าไปขอยืมหนังสือการ์ตูนเขามาอ่านบ้าง ซึ่งเล่มนั้นคือเรื่องขวานฟ้าหน้าดำ
“เมื่อได้ลองอ่าน ก็รู้สึกว่าสนุกจริงๆ นะ มันไม่เหมือนฟังครูเล่านิทานที่โรงเรียน เราอ่านเองก็จะเกิดจินตนาการแล้วเห็นภาพตามไปด้วย และถ้าเกิดครูเล่าแล้วเราฟังไม่ทัน เราไม่สามารถบอกให้ครูหยุดแล้วเล่าใหม่ได้ ถ้าอ่านเองแล้วจะอ่านออกบ้างไม่ออกบ้างเราก็สามารถย้อนกลับมาอ่านได้ทันที หนังสือการ์ตูนเล่มนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมรู้แล้วว่า ‘โตขึ้นเราต้องทำสิ่งนี้’ ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร แต่รู้สึกผูกพันเกี่ยวข้องกับชีวิตมาโดยตลอด
“นี่คือสิ่งที่ผมสัญญากับตัวเองไว้ แต่เชื่อไหมว่าเรื่องราวนี้มันไม่ได้ผุดขึ้นมาเพื่อชักจูงให้ตัวเองต้องทำตามสัญญาเลย แต่มันเป็นเพราะความชอบในหนังสือจริงๆ ต่างหาก ที่พาให้ผมได้ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ
“ช่วงที่มาเรียนวิทยาลัยครูที่สงขลา ปรากฏว่าผมเรียนดี วิชาฝึกสอนก็ได้เกรดดีด้วย ทุกคนเลยคิดว่าจบไปจะได้เป็นครู แต่ผมคิดแล้วต้องทำงานเกี่ยวกับหนังสือเท่านั้น เลยได้ลองเขียนบ้าง จากนั้นก็ส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์ ที่กรุงเทพฯ แล้วได้ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เกี่ยวกับคอลัมน์การเมือง จากนั้นก็คิดแล้วว่าแค่เขียนมันยังไม่พอ อยากรู้อยากเห็นว่าเขาทำหนังสือกันอย่างไร”
ก้าวที่กระโดด
เขาตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพาตัวเองไปเฉียดใกล้กับความฝัน ด้วยความใฝ่รู้ในสิ่งที่รัก และความมุ่งมั่นที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ความฝันได้กลายเป็นจริง เมื่อนิตยสารชื่อดังมอบตำแหน่ง ‘บรรณาธิการ’
“ตอนนั้นอายุได้เพียง 16-17 ปีเท่านั้น พอเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ไปสมัครงานจนได้งานที่หนังสือพิมพ์ ตอนนั้นเป็นช่วงการเมืองยุคถนอม -ประภาส (เรียกกันโดยทั่วไปว่า เป็นยุคของ ประชาธิปไตยครึ่งใบ) ซึ่งผมมีหน้าที่เขียนด่าจอมพลประภาสอย่างสนุกสนาน อันที่จริงตอนนั้นสื่อก็ไม่ค่อยมีอิสระในการเขียนสักเท่าไหร่ แต่บังเอิญผมได้ทำในสำนักพิมพ์ของพรรคการเมืองซึ่งเหมือนมีภูมิคุ้มกันไม่ทำให้เราวิตกกังวล แต่ระหว่างนั้นก็มีสันติบาลมาตรวจเป็นประจำ เขาถามหาว่าคนเขียนบทความนี้เป็นใคร บรรณาธิการก็บอก
เราไม่ต้องไปแสดงตัว ก็เขียนไปเรื่อยๆ พอดีว่าผมเองก็มีความสนใจในภาษารัสเซียเป็นพิเศษ เพราะชอบงานเขียนของ Maxim Gorky (นักประพันธ์ชาวรัสเซีย) ได้ไปเรียนภาษาที่สถานทูตอยู่พักหนึ่ง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ จึงต้องเลิกเรียนไป พอดีกับหนังสือพิมพ์ถูกปิดตัว
“จากนั้นมาทำนิตยสารชื่อ ‘ลลนา’ ที่คุณสุวรรณี สุคนธา เป็นบรรณาธิการ ตอนแรกก็ทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟรับจ้างเป็นรายวัน เป็นเรื่องบังเอิญที่ผมได้เข้ามาทำงานเพราะบรรณาธิการเห็นต้นฉบับผมมีฉากการปฏิวัติที่ประเทศรัสเซีย ก็เลยเข้าใจผิดคิดว่าผมเป็นเพื่อนของเขาที่เป็นผู้ประกาศข่าวของสถานีวิทยุเสียงมอสโคว์
(ภาคภาษาไทย) ที่อยู่รัสเซียคนนี้ เลยเรียกให้เข้ามาหาที่สำนักพิมพ์เพื่อที่จะสร้างความประหลาดใจ แต่พอผมเข้าไปปรากฏว่าไม่ใช่ ทีนี้เมื่อเขาดูหนังสือสมัครงาน ภาษา ลักษณะการเขียนแล้ว ก็เลยชวนให้มาทำงานด้วยกัน
“ตรวจปรู๊ฟตอนนั้นได้เงินวันละ 30 บาท พอทำได้ประมาณ 2 อาทิตย์ มีตำแหน่งว่างเลยได้รับเงินเป็นรายเดือนจากนั้นไม่นานคุณสุวรรณีป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้เรียกผมเข้าไปคุย ซึ่งท่านก็มอบหมายบอกว่าให้ทำงานแทนก่อน โดยต้องทำหน้าที่บรรณาธิการ คือต้องเขียนบทบรรณาธิการ ตอบจดหมายซึ่งพูดคุยสื่อสารผ่านตัวอักษร และดูแลความเรียบร้อยต่างๆ นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อในฐานะ “แทนบรรณาธิการ” ด้วยเพียงอายุ 23 ปี การเข้ารับหน้าที่บรรณาธิการของหนังสือชื่อดังในสมัยนั้น มันก็ดีใจนะ เพราะสิ่งนี้ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำ แต่พอถึงเวลาที่เราได้เข้ามารับผิดชอบจริงๆ มันใหญ่นะ ความกลัวมันก็มี แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะคิดว่าเราต้องทำได้
“สมัยอยู่ที่ลลนา ผมทำงานหนักมากแต่ก็สนุกนะในช่วงแรกนั้นนอกจากตรวจปรู๊ฟ แล้วผมยังต้องยกหนังสือ ปั๊มตราหนังสือ เพราะนิตยสารนี้มันมีกลโกงกันมาก ตั้งแต่โรงพิมพ์กันแล้ว เราก็เลยต้องมีตราปั๊มสัญลักษณ์หลากรูปแบบซ่อนอยู่ในแต่หน้าของนิตยสาร เพื่อที่เวลาเขาคืนหนังสือกลับมาจากสายส่ง จะได้รู้ว่าเป็นนิตยสารในส่วนที่เราได้สั่งพิมพ์จริงหรือเปล่า”
บรรณาธิการติดหนวด
จากเด็กหนุ่มที่เพิ่งจะเริ่มใช้ชีวิตวัยรุ่นได้ไม่นาน แต่กลับต้องแบกรับหน้าที่และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เขาเลือกใช้เวลาที่หมดไปกับงานได้อย่างภาคภูมิใจ และติดคำว่าคุณภาพที่แท้จริงให้กับคำว่า ‘หนังสือ’
“อย่างลลนา มันก็มีช่วงที่เดินทางมาในระยะหนึ่งแล้วเริ่มจะรู้สึกว่าอยู่ในภาวะขาดทุน ทางบริษัทเขาก็บอกให้เราขึ้นราคา แต่ผมคิดว่าไม่ เพราะ ‘มันไม่ใช่วิสัยที่ดีที่จะผลักภาระไปให้ผู้อ่าน เราต้องยอมขาดทุนแต่ให้คนได้อ่านหนังสือ’ ก็เลยหาทางที่จะเอาลลนาออกมาทำเอง ซึ่งเมื่อทำได้สำเร็จ ผมก็ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และใช้เวลาส่วนตัวในการเขียนหนังสือ จนได้ต้นฉบับมา 2 เรื่อง คือทุ่งดอกไม้, ผีเสื้อและดอกไม้ ตอนนั้นพอเขียนหนังสือเสร็จ นิตยสารบีอาร์ Bangkok Reader (BR) เขาขาดผู้ช่วยบรรณาธิการก็เลยติดต่อมา ผมจึงได้กลับมาทำนิตยสารอีกครั้ง เป็นจังหวะดีทีเดียวที่นิยายสองเรื่องแรกได้ตีพิมพ์พอดี
“จริงๆ ความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับส่วนใหญ่จะมาจากการทำงานล้วนๆ เรียนจากการอาสา จากการฝึกฝน และทำงานหนัก และพอมาเป็นบรรณาธิการของบีอาร์เต็มตัว ก็ต้องรับผิดชอบงานในหลายๆ ด้านรวมทั้งโครงสร้างแผนงานทั้งหมด ตอนนั้นอายุ 25 ปี แต่ต้องทำงานกับผู้ที่มีอายุเยอะกว่าจึงเป็นสาเหตุเริ่มต้นไว้หนวดตั้งแต่นั้นมา (หัวเราะ)
“ช่วงนั้นนิตยสารสำหรับเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก คนจะนิยมอ่านนิยายมากกว่า นิตยสารที่เป็น 4 สี จะมีแค่สตรีสาร สกุลไทย และกุลสตรี ซึ่งเป็นนิตยสารที่เกี่ยวกับนวนิยาย ส่วนมากก็จะเป็นขาวดำแต่บีอาร์จะเป็นนิตยสารที่ทำเป็น 4 สีเล่มแรกที่เป็นนิตยสารสำหรับครอบครัวมีคอลัมน์ที่หลากหลาย เช่น ตกแต่งบ้าน ท่องเที่ยว ภาพยนตร์ แฟชั่น ช้อปปิ้ง รถยนต์ ถือเป็นนิตยสารที่รวมทุกอย่างไว้ครบครัน ส่วนลลนา นั้นเป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิง 4 สีทั้งฉบับ และสำหรับผู้ชายก็จะมีนิตยสาร แมน (นิตยสารสำหรับผู้ชายเล่มแรก) ซึ่งเป็นเครือเดียวกันกับบีอาร์
“หลังจากบีอาร์ ผมก็ได้มาทำนิตยสารอีกเล่มชื่อ กะรัต ทำอยู่ 9 ปี เริ่มได้รู้แล้วว่าการทำเป็นรายปักษ์หรือรายเดือน มันเป็นการทำงานเปลืองเวลามาก และตลอด 9 ปีขาดทุนมาตลอด แต่พอเข้า 10 ปี กลับเริ่มมีกำไร มีโฆษณาเข้ามาติดต่อมากขึ้น แต่ผมตัดสินใจเลิกทำนิตยสารกะรัตในปีนั้น ไม่เอาเลยเพราะรู้สึกว่าเหนื่อยมากโฆษณาตัวแรกของเดือนนั้น 3 แสนบาท ผมไม่เอาเลย นางแบบคนสุดท้ายของเรา คือคุณลีลาวดี วัชโรบล ตอนนั้นทำเพลทปก ทำอะไรเสร็จหมดแต่ไม่พิมพ์”
ความสวยงามที่ถาวร
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์สักระยะ ครูมกุฏเลือกที่จะหันมาทำสำนักพิมพ์อย่างเต็มตัว ด้วยเห็นถึงคุณสมบัติพิเศษของความงามของหนังสือ ร่วมมือกับอาจารย์ผกาวดี อุตตโมทย์ และคุณผุสดี นาวาวิจิต สองบุคคลผู้ทรงคุณค่าแห่งวงการวรรณกรรมเพื่อจัดตั้งสำนักพิมพ์เพื่อเยาวชน
“ในส่วนของชื่อสำนักพิมพ์นี้ มันมีการเดินทางที่ยาวนาน ตอนแรกที่ตั้งชื่อว่า ‘ดอกไม้’ แล้วผมกลับรู้สึกว่ามันอยู่กับที่ มันรู้สึกว่าอึดอัด มันไปไหนไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจ
เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘ผีเสื้อ’ เพราะรู้สึกถึงการมีอิสระ จะบินไปไหนก็ได้ ถึงวงจรชีวิตของผีเสื้อจะสั้นแต่มันก็เกิดใหม่ได้เสมอ
“สมัยเด็กๆ มีความคิดอยากซื้อหนังสือที่สวย ก็พยายามเลือกหนังสือที่ทำรูปเล่มออกมาสวยเสมอๆ เมื่อมาทำงานสำนักพิมพ์ก็เลยอยากให้ได้มาตรฐานตามหนังสือที่เราชอบก่อนเป็นอันดับแรก ‘สวย แข็งแรง รูปเล่มอยู่ได้นาน ทนทาน’ ที่สำคัญมันคือพื้นฐานความต้องการสำหรับคนจน ที่เวลาจะเลือกซื้อหาอะไรเขาก็นึกถึงความคุ้มค่าไว้เสมอ ผมอยากให้คนได้อ่านหนังสือดีๆ มากๆ ประเทศเรามีคนจนอยู่มาก ถ้าเขาได้อ่านหนังสือกัน ก็เท่ากับคนจำนวนมากในประเทศมีความรู้ขึ้น มีโอกาสขึ้นอีกสักนิด
“ผมมองว่าคนทำหนังสือมันก็คือคนทำงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ผมทำงานมา 40 กว่าปี มันมีความสวยงามตามแต่ละขั้นตอนของมันอย่างลงตัวและพอดี และผมก็ยังศึกษาอยู่เรื่อยๆ เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ ผมค้นหาฟ้อนท์ที่สวยงาม คิดหาวิธีการที่จะทำให้วรรคตอนนั้นพอดีกันได้อย่างลงตัว หรือทำอย่างไรให้การจัดหน้านั้นออกมาได้สวยอย่างที่ใจต้องการ สิ่งเหล่านี้มันคือชีวิตคนทำหนังสือ ‘ต้องทำสิ่งที่มันดีอยู่ให้มันดีขึ้นกว่าเดิม’ เพราะอาชีพคนทำหนังสือ ไม่ใช่เพียงแค่ตีพิมพ์เท่านั้น
“ผมเป็นคนไม่ชอบหยุดนิ่ง ก็คิดหาวิธีการต่างๆ อย่างเช่นกระดาษถนอมสายตา ผมคิดค้นและทำมาตั้งแต่พ.ศ.2527 ตอนนั้นเมื่อเริ่มใช้ใหม่ๆ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาว่า ‘บ้าหรือเปล่าเอากระดาษเหลืองๆ มาพิมพ์หนังสือ’ ผมก็พยายามอธิบายนะว่ากระดาษแบบนี้เนี่ย หากคุณนำไปอ่านในมุมแสงตกกระทบที่เท่ากันแล้วมันจะสะท้อนแสงเข้าตาน้อยกว่ากระดาษขาว มันจึงจะถนอมสายตามากกว่า
“ซึ่งผมเองก็สอนวิชาบรรณาธิการศึกษา ซึ่งเป็นศึกษาว่าด้วยหนังสือ เพื่อที่จะออกมาเป็นคนทำหนังสือเพราะงั้นผมจึงต้องคิดค้นวิธีการทำหนังสือที่ดี และการเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความประณีตต่างๆ บวกความรู้ที่ไม่รู้จบเช่นนี้ มันจะช่วยเพาะบ่มให้เมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็จะใฝ่หาแต่หนังสือดีๆ หรือเมื่อได้ทำหนังสือก็จะทำหนังสือดีๆ สวยๆ ออกมา หรือเมื่อได้หนังสือดีๆ มาก็ไม่อยากจะทิ้งขว้าง อยากเก็บไว้และส่งต่อกันต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเราทำหนังสือให้คนอ่าน ก็อยากให้แข็งแรง สวยงาม ถ้าทำไม่ดีเดี๋ยวคนอ่านจะว่าเราได้”
ผลักดัน ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’
“ครูมกุฏ” คือคนทำหนังสือด้วยชีวิต จากความหลงใหลในจินตนาการผ่านงานเขียน สู่ความฝันที่มากกว่าแค่ผู้ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านตัวอักษรเท่านั้น เขานำพาตัวเองให้ไปสู่จุดหมายที่มีองค์ประกอบมากกว่าแค่ความผูกพัน ด้วยหวังว่า “สถาบันหนังสือแห่งชาติ” อีกหนึ่งความหวังของการพัฒนาชาติจะเป็นความจริง
“เด็กมีความปรารถนาอยากเห็นอยากอ่าน ซึ่งแรงบันดาลใจนั้นก็เกิดขึ้นได้จากหลายสถานการณ์ ในต่างชาติ เช่นในญี่ปุ่น คือเขาปลูกฝังให้เด็กได้ใกล้ชิดได้สัมผัสกับหนังสือมาตั้งแต่เด็กไทยของเราเริ่มให้เด็กเห็นจากทีวี ดังนั้นเด็กไทยเมื่อเห็นหนังสือวางอยู่กับทีวี เด็กๆ ก็ต้องไปให้ความสนใจกับจอทีวีมากกว่า
“ที่ประกาศว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองอ่านหนังสือโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย มีขึ้นป้ายบอกว่าอ่านกันสนั่นเมือง แต่อ่านที่ไหน? อ่านเมื่อไหร่?
“ผมเดินหน้าทำเรื่องหนังสือนี้มานานนับสิบปี แม้จะยังผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดตั้งสถาบันหนังสือยังไม่สำเร็จ แต่ก็ไม้ท้อ ไม่หมดหวังที่จะทำต่อแน่นอน เพราะผมเชื่อว่าคนเราจะไม่ยอมโง่ ยิ่งพอเปิดอาเซียนจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้คนทั่วประเทศคิดว่า ‘ฉันต้องการความรู้’ เมื่อถึงเวลาที่เราจะได้มีโอกาสไปพูดคุยกับต่างชาติแล้วเราไม่สามารถไปพูดคุย โต้ตอบกับเขาได้ ยิ่งจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนเราโหยหาความรู้
“ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปทำโครงการที่กระบี่ ผมได้รับความร่วมมือจากมัสยิด 8 แห่ง ซึ่งผมได้เล็งเห็นความต้องการที่จะอ่านหนังสือของพวกเขาอย่างเต็มเปี่ยม เริ่มแรกผมก็เริ่มจากการสอบถามความต้องการ ว่าต้องการหนังสือรูปแบบไหน และเราก็มาจัดการในระบบของเรา คือทุกคนต้องได้อ่านหนังสือโดยเท่าเทียมกัน มีการแลกเปลี่ยนกันอ่านหมุนเวียนให้ได้อ่านครบทุกคน
“การที่เราวางแผนอย่างนี้เหมือนมันปลูกฝังให้เด็กเกิดความกระตือรือร้น เพราะถ้าเราใช้ระบบเวียนอ่าน เด็กก็จะรู้ว่าถ้าเรายังมัวช้าไม่รีบอ่านพอถึงคิวเวียนเราก็ต้องเวียนไปให้คนอื่น จากการทำการสำรวจภายในเวลา 1 ปี ประชาชนอ่านหนังสือเฉลี่ยตกคนละ 50 เล่ม ส่วนในกรุงเทพมหานครสิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือสำรวจภูมิศาสตร์ประชากรและมอบหมายว่าให้ใครทำ แบ่งเป็นเขตๆ แล้วต้องเจาะลึกไปอีกว่ากลุ่มคนในเขตเดียวกันนั้นมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
“อีกวิธีหนึ่งที่ผมได้เสนอไว้แล้วคือ เราควรไปร่วมมือกับร้านหนังสือเช่า เราก็เอาไปวางไว้ตามชั้นของเขา ถือว่าประหยัดงบประมาณไม่ต้องไปเสียเวลาสร้างตึก เราเรียกว่าหนังสือบริการพิเศษ เราอาจจะจัดเป็นค่าบัตรสมาชิก เล่มละ 5-10 บาท และรายได้ในส่วนนั้นก็ให้กับร้านเช่าหนังสือไป และก็จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ไปว่าหนังสือมีประเภทไหนบ้าง พอครบ 3 เดือน ก็เวียนหนังสือไปเรื่อยๆ แต่ ณ ตอนนี้มันเป็นเพียงโครงการที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ดังนั้นเราทุกคนควรจะช่วยบอกต่อไปปากต่อปาก
“อย่างไรก็ตามมันต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล สถาบันหนังสือแห่งชาติ ถ้าจะเกิดขึ้นก็ต้องได้รับงบประมาณจากส่วนรัฐ รวมถึงการควบคุมดูแลในการวางแผนต่างๆ โดยจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นกลางและยุติธรรม เพราะเราก็ไม่รู้ว่าถ้ามีการจัดตั้งสถาบันขึ้นมาโดยนิติบุคคล หรือเอกชนเราก็ไม่มีทางจะรู้ว่าเขาจะสุจริตหรือทุจริตเมื่อไหร่”
แม้ทุกวันนี้สิ่งที่ครูมกุฏกำลังทำอยู่นั้น จะเป็นการเดินหน้าอย่างโดดเดี่ยว แต่เพียงเพื่อการจัดตั้งโครงการแห่งความหวังอย่างสถาบันหนังสือแห่งชาติให้สมบูรณ์แล้ว เขาพร้อมยอมแลกกับทุกอย่าง เพราะเชื่อว่าความถูกต้องและความดีงามจะสามารถผลักดันสถาบันหนังสือแห่งชาติได้เกิดขึ้น แล้ววันหนึ่งคนไทยจะได้มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน “แล้วถ้าวันนั้นพระเจ้าบอกว่า ผมต้องตาย...ผมก็ยอม”